การครองเรือนในอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  12942

 

การครองเรือนในอิสลาม


โดย ปริญญา ประหยัดทรัพย์


         มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ต่างยอมรับว่า เขาไม่อาจที่จะหนีกฎเกณฑ์ที่พระองค์อัลเลาะฮฺ  ทรงลิขิตและกำหนดไปได้ เริ่มตั้งแต่จากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ และความชราสู่จุดจบของชีวิต ทุกคนต้องกิน ต้องถ่าย ต้องสืบพันธ์ หากเราพิจารณาดูอย่างผิวเผินมนุษย์เราไม่มีอะไรต่างจากสิ่งมีชีวิตอย่างอื่นมากนัก และมนุษย์ก็ยังยอมรับว่า เขามีอะไร ๆ ที่ดีกว่าสิงสาราสัตว์อยู่มาก ตรงที่มีมันสมองไว้คิดสร้างสรรค์ มีปัญญาสามารถแยกแยะสิ่งที่ผิดและถูก และสิ่งที่ชั่วและดีได้ เหตุนี้จึงทำให้มนุษย์สำคัญว่า ตัวเองมีคุณค่า ความประเสริฐเลอเลิศกว่านานาสัตว์โลก ดังที่มีหลักฐานยืนยันจากอัล-กุรอาน ซูเราะห์ อัลอิซรออ์ อายะห์ที่ 70

"ขอยืนยัน แท้จริงเราได้ให้เกียรติมวลมนุษย์ทั้งหลาย และได้ให้พวกเขาขี่พาหนะในภาคพื้นดิน และท้องทะเล และเราได้ให้ปัจจัยยังชีพที่ดี ๆ แก่พวกเขา

 และเราได้ให้ความประเสริฐแก่เขาเหนือกว่าสรรพสิ่งทั้งหลายอันมากมายที่เราดลบันดาลไว้อย่างล้นเหลือ "

 

         สิ่งที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ การบริหารงานปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคนตามวงจรชีวิตของมนุษย์ พ่อแม่มีหน้าที่อบรมเลี้ยงดูลูก ครูมีหน้าที่แนะนำสั่งสอนลูกศิษย์ จากสังคมจุดเล็กไปสู่จุดใหญ่โยงใยเป็นลูกโซ่ หากช่วงหนึ่งช่วงใดขาดตอนลง การดำเนินชีวิตและการบริหารก็จะแปรปรวน เป็นเหตุให้เกิดความวุ่นวายไม่สงบสุข โดยเริ่มจากสังคมจุดเล็ก ๆ นี่เอง ด้วยเหตุนี้เอง อิสลามจึงเรียกร้องมนุษย์ชาติไปสู่การสร้างครอบครัวที่ดีงาม ด้วยการส่งเสริมให้มีการสมรสกับสตรีที่ดี เพื่อนางจะได้เป็นแม่พิมพ์ที่ดี และแบบฉบับอันดีงามแก่กุลบุตร กุลธิดา


         ในฐานะที่เราเป็นมุสลิมผู้ศรัทธา ควรหันมาพิจารณาแนวทางการสมรสที่อัลเลาะฮฺ และท่านนบีมูฮำหมัด  สั่งเสียไว้เป็นแบบอย่าง โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้ว การก่อร่างสร้างตัว และครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในอิสลาม อัลเลาะฮฺ ตรัสว่า

" และจงให้พวกเจ้าแต่งงานกับผู้เป็นโสดในหมู่พวกเจ้า และคนดี ๆ จากปวงบ่าวผู้ชายของพวกเจ้า และทาสหญิงของพวกเจ้า

 หากพวกเขายากจน อัลเลาะฮฺ จะทรงให้พวกเขาร่ำรวยขึ้นจากความโปรดปรานของพระองค์ และอัลเลาะฮฺ เป็นผู้ทรงไพบูลย์ และทรงรอบรู้ยิ่ง"

 (ซูเราะห์ อันนูร อายะห์ที่ 32 )

 

          ดังนั้น ปรัชญาการครองเรือนและเป้าหมายอันสำคัญในการสร้างกระบวนการชีวิตครอบครัวของอิสลาม คือ การสืบตระกูล การกำเนิดบุตร และโดยแก่นแท้แล้ว การแต่งงานอยู่ร่วมกัน ไม่ว่าชาติใด ศาสนาใด ก็เพื่อมีลูกหลานไว้เชยชม เป็นการคงไว้ซึ่งเผ่าพันธุ์มนุษย์มิให้สูญสลายไปจากโลกนี้ เป็นการปลูกฝังรากฐานให้แก่ชีวิต เป็นห่วงร้อยดวงใจบิดามารดา  ยิ่งกว่านั้นอีก การสมรสยังสร้างมุมมองปกป้องคุ้มครองให้พ้นจากมารร้าย จากการกระทำสิ่งที่ผิดศีลธรรม และสวนทางกับคุณธรรมในอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศาสนาอิสลามมีบทลงโทษไว้อย่างรุนแรงเกี่ยวกับผู้ผิดประเวณี (ทำซีนา) ดังที่อัลเลาะฮฺ ตรัสไว้

"หญิงและชายที่ผิดประเวณี (โดยที่เขาทั้งสองไม่เคยร่วมประเวณีจากการสมสู่ที่ถูกต้อง) พวกเจ้าจงเฆี่ยนตีเขาทั้งสองคน ๆ ละ 100 ครั้ง

และอย่าให้มีความสงสารต่อเขาทั้งสองในเรื่องศาสนาของอัลเลาะฮฺ"

 (ซูเราะห์ อัน-นูร อายะห์ที่ 2 )


         จะเห็นได้ว่า ท่านนบีมูฮำหมัด ได้วางรูปแบบครอบครัวไว้อย่างรัดกุมและแยบยล ท่านจึงส่งเสริมให้คนที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวมีความพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อครอบครัว เพราะบุคคลในวันนี้ไม่มีอะไรที่เป็นยอดปราถนายิ่งไปกว่าการมีหุ้นส่วนชีวิตซึ่งกันและกัน เป็นความสุขอันสุนทรีย์ที่ทุกคนใฝ่หา

          เป้าหมายอีกประการหนึ่งในการครองเรือนในทัศนะของอิสลาม นั่นก็คือ การรับภาระต่อชีวิตร่วมกัน การสมรสมิใช่การทดลองใช้ชีวิตร่วมกันชั่วคราวแล้วก็เลิกรากันไป หากแต่การสมรสโดยแท้จริงแล้วก็คือพันธะสัญญา สายใยแห่งจิตวิญญาณระหว่างคู่สมรส ว่าจะต้องรับผิดชอบและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันตลอดไป โดยเฉพาะสตรี นับว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเธอ โดยเหตุนี้เองพระองค์อัลเลาะฮฺ ผู้ทรงปรีชาญาณได้วางระบบครอบครัว โดยมีเป้าหมาย เพื่อให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข พระองค์อัลเลาะฮฺตรัสไว้ในอัลกุรอาน

 

"และ (หนึ่ง) ในสัญญาณทั้งหลายของพระองค์ คือ พระองค์ได้ทรงสร้างคู่ครองมาจากตัวของเจ้า เพื่อสูเจ้าจะได้มีใจสงบในตัวนาง

 และพระองค์ทรงบันดาลให้มีความรักและความเอ็นดูในระหว่างสูเจ้า (ให้สามีภรรยารักใคร่ เห็นใจกัน)

  แท้จริงในนั้น แน่นอน มีสัญญาณสำหรับหมู่ชนผู้ตรึกตรอง "

 (ซูเราะห์ อัรรูม อายะห์ที่ 21)

 

 

สำนักจุฬาราชมนตรี