ท่าทีของผู้ปฏิเสธ
  จำนวนคนเข้าชม  7991

ตัฟซีร์ อัลกุรอาน ซูเราะฮ์ยาซีน

บทที่ว่าด้วย "ท่าทีของผู้ปฏิเสธ"


โดย อาจารย์ มูนีร มูหะหมัด


อัลลอฮ์ ตรัสความว่า

     45- และเมื่อมีกล่าวกับพวกเขาว่า ท่านทั้งหลายจงระวังสิ่งที่อยู่ข้างหน้าพวกท่าน และสิ่งที่อยู่ข้างหลังพวกท่าน เพื่อพวกท่านจะได้รับความเมตตา

     46- และไม่มีสัญญาณใดจากบรรดาสัญญาณของพระเจ้าของพวกเขามายังพวกเขา นอกจากพวกเขาจะผินหลังให้มัน

     47- และเมื่อมีผู้กล่าวกับพวกเขาว่า ท่านทั้งหลายจงบริจาคที่อัลลอฮฺทรงประทานเป็นสิ่งยังชีพแก่พวกท่าน บรรดาผู้ปฏิเสธได้กล่าวแก่บรรดาผู้ที่ศรัทธาว่า เราจะให้อาหารแก่ผู้ที่ หากอัลลอฮฺทรงประสงค์ ก็จะทรงให้อาหารแก่พวกเขากระนั้นหรือ พวกท่านมิใช่ผู้ใดนอกจากอยู่ในความหลงผิดอย่างชัดแจ้ง


อธิบายความ

         หลังจากที่อัลลอฮฺ ทรงนำเสนอสัญญาณยืนยันถึงการมีอยู่ของพระองค์ผู้ทรงเป็นพระเจ้าองค์เดียว และแสดงถึงเดชานุภาพของพระองค์ พระองค์ก็จะทรงบอกถึงสถานภาพของบรรดาผู้ปฏิเสธว่า  แม้ว่าพวกเขาจะตระหนักและยอมรับในการมีพระเจ้าอย่างแท้จริง แต่พวกเขาก็ยังคงปากแข็ง ดื้อแพ่งปฏิเสธการมีอยู่ของพระองค์ ในอายะฮฺที่ 45 พระองค์ได้ตรัสโดยเป็นการเตือนพวกเขาถึงการปฏิเสธการมีของอัลลอฮฺว่า

          ท่านทั้งหลายจงระวังว่า จะต้องประสบกับความหายนะ ดังเช่น ประชาชาติในอดีตที่มีมาก่อนหน้าพวกสูเจ้า เช่น ประชาชาติของนบีนัวหฺ ชนชาติอ้าดที่ฏิเสธนบีฮูด ชนชาติษะมู้ด ที่ฏิเสธนบีซอและหฺ ฯลฯ ชนเหล่านี้ ต้องประสบกับความหายนะอย่างน่าอัปยศและจะต้องถูกลงโทษอย่างแสนสาหัสในโลกอาคิเราะฮฺ

         ดังที่ท่านเกาะตาดะฮฺได้อธิบายไว้ส่วนท่านสะอีด อิบนุญุเบร และท่านมญาฮิดกล่าวว่า คำว่า “สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าพวกท่านและสิ่งที่อยู่เบื้องหลังพวกท่าน” หมายถึง ความชั่วที่พวกท่านปฏิบัติมาก่อน และความชั่วที่พวกที่จะปฏิบัติภายภาคหน้า

         นักวิชาการบางคนกล่าวว่า “สิ่งที่อยู่เบื้องหน้าพวกท่านและสิ่งที่อยู่เบื้องหลังพวกท่าน” หมายถึง สิ่งที่พวกท่านประสบในโลกดุนยาจากความวิบัติและความเสียหาย และสิ่งที่พวกท่านจะต้องได้รับการลงทัณฑ์อย่างแสนสาหัสในโลกอาคิเราะฮฺ

         หรือหมายถึง สิ่งที่ปรากฏต่อหน้าพวกท่านและสิ่งที่ปิดบังพวกท่านซึ่งอยู่ลับหลัง พวกท่านจะต้องประสบกับความหายนะและความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสอย่างแน่นอน ในเมื่อพวกท่านยังยืนหยัดอยู่ในสภาพการปฏิเสธจนกระทั่งถึงแก่ชีวิตแต่พวกท่าน ก็ยังหวังว่า อัลลอฮฺ จะทรงโปรดเมตตาพวกท่านด้วยการอภัยโทษในความผิดของพวกท่าน และทรงปกป้องท่านให้พ้นจากการลงโทษของพระองค์ ซึ่งจะเป็นไปตามที่พวกท่านคาดคิดกระนั้นหรือ พวกท่านจะไม่โชคดีเช่นนั้นอย่างแน่นอน

          เพราะในอายะฮฺที่ 46 พระองค์ได้ตรัสถึง สามเหตุที่พวกเขาจะไม่ได้รับความเมตตา และไม่ได้รับการอภัยโทษเนื่องจากว่า ทุกครั้งที่มีสัญญาณแสดงถึงการเป็นพระเจ้าของอัลลอฮฺ และการทรงเดชานุภาพของพระองค์ ความสัจจริงในการเป็นร่อซูลของนบีมุฮัมมัด ปรากฏ พวกเขาก็ผินหลังให้ โดยไม่พิจารณาและไม่ทบทวนดูความถูกต้องของสัญญาณดังกล่าว อีกทั้งสิ่งที่นบีมุฮัมมัด และบรรดาผู้ศรัทธานำเสนอ พวกเขาก็ไม่สนใจ จึงเป็นเหตุให้มันปิดบังพลังความคิดมิให้ใคร่ครวญดูข้อเท็จจริงในการที่จะศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และศรัทธาต่อนบีมุฮัมมัด


         แล้วอัลลอฮฺ ได้ทรงเล่าถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เลวร้ายของบรรดาผู้ปฏิเสธ หลังจากที่พวกเขาได้รบการแนะนำให้ประกอบความดี ดังที่อัลลอฮฺ ตรัสว่า

“และเมื่อมีผู้กล่าวกับพวกเขาว่า ท่านทั้งหลายจงบริจาคสิ่งที่อัลลอฮฺ ประทานเป็นเครื่องยังชีพแก่พวกท่าน

บรรดาผู้ปฏิเสธได้กล่าวแก่บรรดาผู้ที่ศรัทธาว่า เราจะให้อาหารแก่ผู้ที่ หากอัลลอฮ์ทรงประสงค์ ก็จะทรงให้อาหารแก่พวกเขากระนั้นหรือ

พวกท่านมิใช่ผู้ใดนอกจากอยู่ในความหลงผิดอย่างชัดแจ้ง”

(ยาซีน/47)

       นักวิชาการกล่าวว่า สาเหตุของการประทานอายะฮฺนี้มีหลายรายงาน กล่าวคือ มีรายงานว่า ท่านอบูบักร ได้ให้อาหารแก่บรรดามุสลิมผู้ขัดสน อบู ญะฮฺลฺ ได้พบกับท่าน

เขาจึงกล่าวว่า “โอ้ อบูบักร ท่านอ้างว่า อัลลอฮฺทรงสามารถให้อาหารแก่พวกเขาไม่ใช่หรือ?

ท่านอบูบักร กล่าวว่า “ใช่”

อบู ญะฮฺลฺ กล่าวว่า “แล้วเหตุใด พระองค์จึงไม่ให้อาหารแก่พวกเขา”

       ท่านอบูบักร กล่าวว่า “อัลลอฮฺ ทรงทดสอบกลุ่มชนหนึ่งด้วยความยากจน และทรงทดสอบอีกกลุ่มชนหนึ่งด้วยความร่ำรวย พระองค์ทรงใช้ให้ผู้ยากจนมีความอดทน และทรงใช้ให้ผู้ร่ำรวยทำการบริจาคทาน”

       อบูญะฮฺลฺ กล่าวว่า “ขอสาบานด้วยอัลลอฮฺ โอ้ อบูบักร แท้จริง ท่านมิใช่ผู้ใด นอกจากอยู่ในการหลงผิดที่ชัดแจ้ง ท่านอ้างว่าอัลลอฮฺทรงสามารถให้อาหารแก่พวกเขา แต่ทว่า พระองค์มิได้ทรงให้อาหารแก่พวกเขาแต่อย่างใด ท่านกลับเป็นผู้ให้อาหารแก่พวกเขา”


แล้วอายะฮฺนี้ก็ถูกประทานลงมา มีผู้กล่าวว่า สาเหตุของการประทานอายะฮฺนี้ คือ

อัลอาศ อิบนิวาอิล เมื่อมีสกีนได้ขอเงินบริจาคของเขา เขากล่าวกับมิสกีนผู้นั้นว่า “ ท่านจงไปหาพระเจ้าของท่าน พระองค์เหมาะสมสำหรับท่านยิ่งกว่าฉัน”

และเขากล่าวต่อไปว่า “ อัลลอฮฺ ไม่ให้เขา แล้วฉันจะให้เขากระนั้นหรือ”

          เมื่อผู้ศรัทธากล่าวกับผู้ปฏิเสธว่าท่านทั้งหลายจงบริจาคทานให้แก่บรรดาผู้ขัดสนจากริสกีที่อัลลอฮฺ ประทานให้แก่พวกท่านเถิด บรรดาผู้ปฏิเสธได้กล่าวตอบในทำนองเย้ยหยันว่า ท่านทั้งหลายจะให้เราบริจาคให้พวกเขาหรือ ถ้าอัลลอฮฺทรงประสงค์ พระองค์ก็จะประทานอาหารให้แก่พวกเขา และทำให้พวกเขามีความร่ำรวย ดังที่พระองค์ทรงให้เรามีความร่ำรวยอย่างแน่นอน


         บรรดาผู้ศรัทธากล่าวว่า ผู้ประทานริสกีหรือ สิ่งดำรงชีพคือ อัลลอฮฺ์ พระองค์ คือ ผู้ทรงให้ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์มีความร่ำรวยและทรงให้ผู้ทรงประสงค์มีความยากจน เพื่อจะให้ผู้ปฏิเสธสำนึกว่า ความร่ำรวยที่เขามีอยู่เป็นความเมตตาจากอัลลอฮฺ ถ้าหากว่า พระองค์ไม่ทรงเมตตาพวกเขาจะไม่มีฐานะเช่นนี้อย่างแน่นอน ดังนั้น จึงเป็นการสมควรอย่างยิ่งที่พวกเขาจะแสดงออกถึงการขอบคุณอัลลอฮฺ ด้วยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ทรัพย์สินที่เขามีอยู่เพื่อช่วยเหลือเจือจุนแก่ผู้ที่ด้อยฐานะ แต่พวกเขาไม่มีความสำนึก กลับมีความหวงแหนในทรัพย์สิน และย้อนคำพูดว่า เป็นหน้าที่ของอัลลอฮฺ ที่จะให้อาหารแก่พวกเขา ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะต้องปฏิบัติเช่นนั้น แม้ว่า พวกเราจะมีความร่ำรวยก็ตาม คำกล่าวเช่นนี้เป็นคำกล่าวอ้างของผู้ที่ไร้มารยาทขาดคุณธรรม


          คำพูดสุดท้ายที่ผู้ปฏิเสธโต้แย้งกับบรรดาผู้ศรัทธาคือ การกล่าวหาว่าบรรดาผู้ศรัทธา เป็นผู้อยู่ในความหลงผิด แต่นักวิชาการบางท่านกล่าวว่า นี่เป็นคำตรัสของอัลลอฮฺ เพื่อตอบโต้ต่อบรรดาผู้ปฏิเสธ และเป็นการตำหนิพวกเขาอย่างรุนแรงว่า

“โอ้บรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหลาย พวกเจ้าคือ ผู้ที่หลงผิดอย่างชัดแจ้ง ที่ไม่ยอมบริจาค

และได้ย้อนคำพูดให้อัลลอฮฺ ทรงให้อาหารแก่ผู้ยากจนขัดสน ทั้งๆที่พระองค์เป็นผู้ทรงให้ความร่ำรวยแก่พวกเจ้า

พึงสังวรไว้เถิดว่า พวกเจ้าจะต้องถูกลงโทษอย่างแสนสาหัส อย่างแน่นอน”

 

 


ที่มา  : อัลอิศลาห์สมาคม