ข้อชี้แนะแด่ครูสอนท่องจำอัลกุรอ่าน
  จำนวนคนเข้าชม  10084

ข้อชี้แนะแด่ครูสอนท่องจำอัลกุรอ่าน

 

โดย เชค อะหมัด บิน อุมัร บาซมูล ฮะฟิซ่อฮุลลอฮ์


        ข้อชี้แนะของกระผมสำหรับบุคคลที่เป็นครูสอนการท่องจำอัลกุรอ่านที่ดำเนินตามแนวทางของชาวซะลัฟ ในประเด็นเกี่ยวกับการสอนท่องจำอัลกุรอ่านนั้น มีหลายเรื่องด้วยกัน


เรื่องแรก

        ครูผู้สอนต้องพยายามปลูกฝังให้เด็กมีความรักและให้เกียรติแก่อัลกุรอ่านและอธิบายให้เขารู้ถึงความสำคัญของอัลกุรอ่าน และรู้ว่าอัลกรอ่านนั้นคือคำพูดของอัลลอฮฺ อั้ซซะวะญั้ล

 

เรื่องที่สอง

        ต้องไม่ทำให้การเรียนการสอนมีจุดมุ่งหมายแค่เพียงการท่องจำเท่านั้น คือ อย่าใส่ใจในแง่ของจำนวนซูเราะฮ์ที่เด็กจะท่องได้มากกว่าในแง่ของการสอนให้เด็กมีความเข้าใจความหมายของอัลกุรอ่าน(ในกรณีที่เด็กอยู่ในวัยที่เหมาะสม) ซึ่งหากเป็นไปได้ครูผู้สอนควรนำตำราคำอรรถาธิบายอัลกุรอ่าน เช่น ตัฟซี้ร อั้สสะอฺดี้ มาสอนให้เด็กได้มีโอกาสเรียนรู้ด้วย ถ้าหากตัวครูผู้สอนเองนั้น เป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารให้การอธิบายได้อย่างถูกต้อง

 

เรื่องที่สาม

        ในกรณีที่นักเรียนเป็นเด็กเล็ก นอกเหนือไปจากการสอนให้เขาท่องจำอัลกุรอ่านแล้ว ครูผู้สอนควรสร้างความเข้าใจให้เด็กได้สำนึกถึงจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการเรียนอัลกุรอ่านอย่างต่อเนื่องด้วย อย่างเช่นคอยบอกกับเขาว่า

        “นี่หนู อินชาอัลลอฮฺนะครับ ตอนนี้หนูกำลังได้ท่องจำอัลกุรอ่าน แต่หนูควรรู้ไว้นะครับว่า เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องอยู่คู่กันกับการท่องจำอั้ลกุ้รอ่านเลยก็คือ การที่หนูต้องมีความเข้าใจในความหมายของอัลกุรอ่านและปฏิบัติตามอัลกุรอ่านด้วย หนูต้องพยายามทำให้อัลกุรอ่านมาเป็นพยานให้กับหนู ให้มาอยู่ข้างหนูให้ได้ อย่างปล่อยให้อัลกุรอ่านกลายเป็นฝ่ายตรงข้ามคอยเป็นพยานปรักปรำหนูเด็ดขาด”

        ซึ่งการทำเช่นนี้เท่ากับเป็นการปลูกฝังให้แนวคิดและความเข้าใจดังกล่าวได้หยั่งรากลึกลงในหัวใจของเด็กนั้นเอง ซึ่งถ้าเมื่อไรที่เขาโตขึ้นและมีความพร้อม หลังจากที่เขาสามารถท่องจำอัลกุรอ่านได้แล้ว เขาก็จะสามารถทำการค้นคว้าหาความเข้าใจในความหมายของอัลกุรอ่านจนนำไปสู่การปฏิบัติตัวตามแนวทางของอัลกุรอ่านได้ในที่สุดนั้นเอง

 

เรื่องที่สี่

         ไม่แนะนำให้ใช้การตีหรือใช้ท่าทีที่รุนแรงกับเด็กๆนักเรียน แต่สิ่งที่แนะนำคือให้พยามใช้วิธีที่นุ่มนวลใช้การพูดคุยสร้างความเข้าใจกับเด็กนักเรียนพยามใช้ประโยชน์จากอัลกุรอ่านก่อน แต่ถ้าหากมีเด็กคนไหนดื้ออาจจะคนหรือสองคนซึ่งต้องอาศัยวิธีที่ดูบ้างก็ทำได้  แต่ไม่ได้หมายความว่าให้แรงจนเลยความเหมาะสม จนทำให้เด็กไม่อยากท่องอัลกุรอ่านกันอีกเลย เช่นเดียวกันในการใช้ความนุ่มนวลก็ไม่ใช่นุ่มจนเหลวจนเด็กไม่ใส่ใจต่อการเรียน แต่ที่ถูกต้องก็คือต้องรู้จักความเหมาะสม โดยให้เริ่มต้นจากท่าทีที่ดูประนีประนอมก่อน ถ้ายังไม่ดีขึ้นค่อยปรับเปลี่ยนไปสู่ท่าทีที่อาจดูแข็งขึ้นไปตามแต่สถานการณ์

 

เรื่องที่ห้า

        ให้คุณครูพยามทำให้เด็กมีความคุ้นชินกับการไปรับฟังบรรยายเรื่องศาสนา หรืออาจจะถึงขั้นออกคำสั่งเลยก็เป็นสิ่งที่เห็นควร แต่ในขณะเดียวกันก็อยากให้คุณครูพยามเตือนเด็กๆ(ถ้าหากพวกเขาพอจะเข้าใจและรู้ว่าอะไรเป็นอะไร)ว่า ...

        คนที่ไว้เคราและใส่ชุดยาวเหนือตาตุ่มไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นคนดี เป็นคนที่อยู่บนหนทางที่ถูกต้องที่เราจะสามารถเดินร่วมทางกับเขาและผูกมิตรกับเขาได้เสมอไป หากแต่คนที่เหมาะสมจะยึดเขามาเป็นมิตรนั้นต้องเป็นคนที่ดีทั้งภายนอก ในเรื่องเคราเรื่องเสื้อผ้า และเช่นกันต้องเป็นคนดีในแง่ของวิถีทางที่เขาเลือกเดินด้วย กล่าวคือต้องเป็นบุคคลที่ดำรงตนอยู่บนหนทางที่ถูกต้องด้วยนั่นเอง

         ที่เตือนอย่างนี้นั้น เป็นเพราะพวกเราได้เคยถูกทดสอบและได้พบได้เจอกับกลุ่มต่างๆที่หลงผิดเหล่านี้มาแล้ว และได้เรียนรู้ว่าพวกนี้มักถือโอกาสชักชวนเด็กๆนักเรียนท่องจำอัลกุรอ่านให้มาร่วมอบรมและเรียนรู้ไปกับพวกเขาจนสุดท้ายพวกเขาก็กลืนเด็กๆพวกนี้ให้ไปเป็นพวกเดียวกับกันในที่สุด ซึ่งนักเรียนท่องจำอัลกุรอ่านเหล่านี้สำหรับพวกเขาแล้ว เปรียบได้ดั่งผลไม้สุกพร้อมกินที่สามารถเด็ดลงมาได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย แล้วสุดท้ายก็จะทำให้พวกเขากลายเป็นผลไม้เน่าๆไปในที่สุดนั้นเอง

         เอาละถ้าอย่างนั้นควรต้องทำอย่างไรดีตอนนี้ ? จะให้ทะนุถนอมเฝ้าดูแลผลไม้ผลนั้น คอยรดน้ำพรวนดิน แล้วปล่อยให้หมาป่ามาคาบไปเฉยๆอย่างนี้หรือ ? ต้องเก็บรักษาไว้ให้ได้ ต้องพยามรักษาผลไม้ผลนั้นเอาไว้ให้ได้ !

        แล้วจะปกปักรักษาพวกเขาไว้ยังไงดี ? ฉะนั้นเราต้องพยามรักษาเด็กๆไว้ โดยการบอกพวกเขาเตือนพวกเขาให้ระวังคนประเภทนี้ ต้องเตือนพวกเขาให้ระวังคนประเภทที่เห็นข้างนอกแล้วดูเป็นคนดีอยู่ในหนทางแต่ข้างในมันเบี้ยว มันเฉออกจากทางที่ถูกต้อง และจะต้องบอกให้พวกเขาได้ทราบถึงลักษณะที่เป็นข้อสังเกตุให้ได้รับทราบไว้ด้วย เช่นให้สังเกตุคำพูดของพวกนั้น ถ้าเห็นพวกนั้นกล่าวตำหนิผู้นำหรือผู้ปกครอง(มุสลิม) หรือถ้าเห็นพวกนั้นแอบไปรวมตัวกันในที่ลับตาก็ให้ระวังคนประเภทนี้ไว้ได้เลย

        ด้วยกับวิธีนี้นี่แหละที่พวกเราต้องบอกให้พวกเขารู้จักลักษณะที่พึงระวังเหล่านี้ และที่สำคัญการบอกการเตือนทั้งหมดนี้ ต้องเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจต่ออัลลอฮฺ อั้ซซะวะญั้ล และต้องเป็นไปตามบรรทัดฐานและแบบอย่างของท่านนบีศ็อลลัลลฮุอลัยฮิวะซั้ลลัมด้วย


        กระผมขอให้อัลลอฮฺ อั้ซซะวะญั้ล โปรดประทานความบริสุทธิ์ใจต่อพระองค์แด่พวกท่าน และขอให้พระองค์ทรงประทานความสำเร็จแก่พวกท่านในการสั่งสอนเด็กนักเรียนพวกนี้ด้วยเถิด


ที่มา http://www.sahab.net/forums/index.php?showtopic=137215

 

อาบีดีณ โยธาสมุทร  แปลและเรียบเรียง