นิฟาส (เลือดคลอดลูก)
  จำนวนคนเข้าชม  51652

 

นิฟาส (เลือดคลอดลูก)

           ก. คำนิยาม และเวลาของนิฟาส นิฟาสนั้นคือเลือดที่ออกมาจากมดลูกเนื่องจากการคลอดลูกและหลังคลอดลูกและเลือดที่เหลืออยู่ ที่ขังตัวอยู่ภายในมดลูก ในเวลาที่มีการอุ้มครรภ์ แล้วเมื่อคลอดลูกเลือดนี้จะออกมาทีละน้อย และสิ่งที่นางเห็นก่อนการคลอดจากการออกมาของเลือดพร้อมกับเครื่องหมายของการคลอดนั้น มันก็คือนิฟาส และบรรดาผู้ประกอบการวิชาฟิกฮฺได้กำหนดไว้ว่ามีเวลาสองวัน หรือสามวัน ก่อนการคลอด และส่วนใหญ่ระยะเริ่มต้นของมันจะเกิดขึ้นพร้อมกับการคลอด และสิ่งที่ยึดถือได้นั้น ก็คือการคลอดทารกที่มีรูปร่างคนอย่างชัดเจน เวลาที่น้อยที่สุดจะเห็นรูปร่างของทารกได้อย่างชัดเจนก็คือ แปดสิบเอ็ดวัน และเวลามากที่สุดคือ สามเดือน แล้วเมื่อมีสิ่งใดออกมาจากนางในระยะนี้และมีเลือดออกด้วย นางก็ไม่ต้องสนใจมัน ไม่ต้องหยุดการละหมาดและการถือศีลอด เนื่องจากสิ่งดังกล่าว เพราะว่ามันเป็นเลือดเสีย เลือดที่ออกมาผิดปรกติ ข้อชี้ขาดนั้นเป็นข้อชี้ขาดเดียวกับข้อชี้ขาดของสตรีที่มีเลือดเสีย ระยะเวลาที่มากที่สุดของเลือดคลอดลูกส่วนใหญ่แล้วสี่สิบวัน เริ่มจากเวลาคลอดหรือก่อนหน้านั้นสองวันหรือสามวัน เหมือนกับที่ได้ผ่านมา

เนื่องจากฮาดิษของอุมุซาลามะฮฺ รอดิยัลลอฮุอันฮา ที่ว่า

“พวกสตรีที่มีเลือดคลอดลูกนั้นจะพัก (หยุดการละหมาด) ในสมัยของท่าน รอซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม สี่สิบวัน” (รายงานโดย ติรมีซียฺและท่านอื่นๆ)

          นักวิชาการได้เห็นพ้องต้องกันในเรื่องดังกล่าว เหมือนกับที่ติรมีซียฺและท่านอื่นๆได้รายงานไว้ และเมื่อไหร่ที่นางสะอาดก่อนสี่สิบวัน ด้วยการที่เลือดได้ขาดหายไปจากนาง ก็จงชำระล้างร่างกาย และละหมาด เนื่องจากไม่มีขีดต่ำสุด เพราะว่าไม่มีการปรากฏเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เมื่อนางได้เวลาครบสี่สิบวัน และการไหลของเลือดนั้นก็ยังไม่หยุด และหากไปตรงกับรอบเดือนปรกติก็ถือว่าเป็นรอบเดือน และหากไม่ไปตรงกับรอบเดือนปรกติ ไหลต่อไปโดยไม่ขาดก็ถือว่าเป็นอิสติฮาเฏาะฮฺ นางจงอย่าพักการเคารพภักดี และหากว่าไหลเกินสี่สิบวันแต่ไม่ไหลตลอดไปและไม่ไปตรงกับรอบเดือน ตรงนั้นนักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันออกไป

           ข.  ข้อตัดสินที่เกี่ยวกับการคลอดลูก

 ข้อตัดสินของเลือดคลอดลูกนั้นเหมือนกับข้อตัดสินของเลือดรอบเดือนดังต่อไปนี้

1. ห้ามไม่ให้ร่วมประเวณีกับหญิงที่มีเลือดคลอดลูกเหมือนกับที่ห้ามไม่ให้ร่วมประเวณีกับสตรีที่มีประจำเดือน และอนุญาติให้หาความสุขที่ไม่มีการร่วมประเวณี

2. ห้ามสตรีที่มีเลือดคลอดลูกละหมาด และเวียนรอบไบตุลลอฮฺเหมือนกับสตรีที่มีเลือดประจำเดือน

3. ห้ามสตรีที่มีเลือดคลอดลูกสัมผัสอัลกุรอ่านและอ่านอัลกุรอ่าน ตราบใดที่นางไม่กลัวว่าจะลืมเหมือนกับสตรีที่มีรอบเดือน

4. จำเป็นต่อสตรีที่มีเลือดคลอดลูกที่จะต้องชดเชยการถือศีลอดวายิบที่นางได้หยุดพักในขณะที่นางมีนิฟาส ใช้เหมือนกับสตรีที่มีรอบเดือน

5. จำเป็นต่อสตรีที่มีเลือดคลอดลูก ที่จะต้องชำระล้างร่างกายในขณะที่สิ้นสุดจากเลือดคลอดลูกเหมือนกับสิ่งที่กล่าวจำเป็นต่อสตรีที่มีประจำเดือน และหลักฐานในเรื่องราวดังกล่าวนั้นมีมากมาย

 (1)   มีรายงานจากอุมมุซาลามะฮฺ รอดิยัลลอฮุอันฮาได้กล่าวว่า

“พวกสตรีที่มีเลือดคลอดลูกในสมัยท่านรอซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นจะหยุดพักสี่สิบวัน” (นักรายงานทั้งห้า ยกเว้นนะซาอี)

          อัลมุญัดดิด อิบนุ ไตยมียะฮฺ รอฮีมาฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ใน อัลมุนตะกอ เล่มที่ 1 หน้าที่ 184 ว่า

“ภรรยาคนหนึ่งของท่านรอซูล ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้หยุดพักในขณะที่มีนิฟาสเป็นเวลาสี่สิบคืน ท่านนบีซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ไม่ได้สั่งให้นางชดเชยละหมาดอันเนื่องมาจากมีเลือดคลอดลูกแต่ประการใด” (อบูดาวูด รายงาน)

ความรู้เพิ่มเติม

          เมื่อเลือดได้หยุดไหลจากสตรีที่มีนิฟาสสี่สิบวันและได้ชำระล้างร่างกาย ละหมาดและถือศีลอด หลังจากนั้นเลือดก็ย้อนกลับมามีแก่นางสี่สิบวัน ที่ถูกต้องนั้นก็คือให้ถือว่าเป็นเลือดคลอดลูกที่จะหยุดพักในช่วงนั้นและสิ่งที่นางได้ถือศีลอดไปในเวลาที่สะอาดที่ที่คั่นอยู่ มันก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง นางไม่ต้องถือศีลอดชดเชยแต่ประการใด โปรดดูมัจมั๊วฟัตตาวาของไชยคฺมุฮัมหมัดอิบรอฮีม เล่มที่ 2 หน้าที่102 และอัลฟัตตาวาของสะมาฮะตุซไชยคฺอับดุลอาซีซ บินบาซ ที่ได้มีการตีพิมพ์ในวารสารอัดดะวะฮฺ เล่มที่ 1 หน้าที่ 44 อธิบายท้ายเล่มของอิบนุก๊อยยิม ในการอธิบายอัซซ้าด เล่มที่ 1 หน้าที่ 405 สารฟิ๊ดดิมาอิฎเฎาะฮฺบีอีอียะฮฺ ลินนิซาอฺ หน้า55-56 และอัลฟัตตาวา วัสสะอฺดียะฮฺ หน้าที่ 137

ข้อควรรู้อีกอันหนึ่ง

           ไชยคฺอับดุลเราะฮฺมานอิบนุสะอฺดี รอฮิมาฮุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า “ก็เป็นที่ชัดเจนจากสิ่งที่กล่าวมาว่าเลือดคลอดลูกนั้นสาเหตุของมัน คือ การคลอดลูก เลือดเสียนั้น เป็นเลือดที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากการมีโรคและอื่นๆ และเลือดรอบเดือนนั้นคือ เลือดแท้ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้รู้ดีที่สุด” (กรุณาดูหนังสืออิรซาดุลอับซอร วัลอัลบ้าบ หน้าที่ 24)

การกินยา

          ไม่เป็นปัญหาอะไรที่สตรีจะกินยาที่ทำให้รอบเดือนขาดหายไปจากนางเมื่อไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของนาง แล้วเมื่อได้กินเข้าไปแล้วและรอบเดือนได้ขาดไปจากนาง นางนั้นก็จะถือศีลอด ละหมาดและเวียนรอบไบตุลลอฮฺ และสิ่งเหล่านี้ถือว่าใช้ได้สำหรับนางเหมือนกับสตรีที่ความสะอาดคนอื่นๆ


ข้อชี้ขาดของการทำแท้ง

           โอ้สตรีมุสลิมะฮฺเอ๋ย แท้จริงเธอนั้นเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจตามบทบัญญัติในสิ่งที่อัลลอฮฺได้สร้างขึ้นมาในมดลูกของเธอจากการอุ้มครรภ์ เธอก็อย่าได้ปกปิดมัน อัลลอฮ์ ตะอาลา ได้ตรัสไว้ว่า


“ และไม่เป็นที่อนุมัติสำหรับพวกนางในการที่พวกนางจะปกปิดสิ่งที่อัลลอฮฺได้สร้างขึ้นมาในมดลูกของพวกนางหากว่าพวกนางนั้นเป็นผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และวันสุดท้าย” (อัล-บากอเราะฮฺ 228)

        และเธออย่าได้ใช้เล่ห์กลในการขับมันออกมาและการสลัดมันทิ้งไป ด้วยวิธีใดก็ตาม แท้จริงอัลลอฮฺซุบบะฮานะฮูวะตาอาลานั้น ได้อนุญาติให้เธอละศีลอดในเดือนรอมฎอน เมื่อการถือศีลอดนั้นเป็นสิ่งยากลำบากแก่เธอในขณะที่มีการอุ้มครรภ์ หรือการถือศีลอดนั้นเป็นการทำให้เกิดอันตรายกับทารกในครรภ์ของเธอ และแท้จริงสิ่งที่แพร่หลายในสมัยนี้เกี่ยวกับทำแท้งนั้นมันเป็นสิ่งที่ต้องห้าม และเมื่อสิ่งที่อยู่ในครรภ์ถูกเป่าวิญญาณเข้าไปแล้วและได้ตายไปด้วยสาเหตุของการทำแท้ง แท้จริงนั้นถือว่าเป็นการฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺได้ทรงห้ามไว้ไม่ให้ฆ่า โดยความชอบธรรม และกำหนดให้มีข้อตัดสินของความรับผิดชอบทางด้านอาญาที่จะติดตามมาจากการกระทำดังกล่าว โดยที่จะต้องจ่ายค่าชดเชย (ดียะฮฺ) ตามการแจกแจงและจำเป็นต้องจ่ายค่าไถ่โทษ (กัฟฟาเราะฮฺ) ในทัศนะของอิหม่ามบางท่านคือ การปล่อยทาสที่ศรัทธา แล้วหากเขาไม่พบให้ถือศีลอดสองเดือนติดต่อกัน นักวิชาการบางท่านได้เรียกการกระทำนี้ว่า การฆ่าเด็กทั้งเป็นชนิดเล็ก


           ไชยคฺ มุฮัมหมัด อิบนุ อิบรอฮีม ได้กล่าวไว้ในมัจมั๊วฟัตตาวาของท่าน เล่มที่ 11 หน้าที่ 105 ว่า “ส่วนการใช้ความพยายามขับสิ่งที่มีอยู่ในครรภ์ออกมานั้นเป็นสิ่งต้องห้าม ตราบใดที่การตายของทารกยังไม่เป็นที่แน่นอน แต่ถ้าการตายเป็นที่แน่นอนแล้วมันก็เป็นสิ่งที่ทำได้” สภาคณะนักวิชาการระดับสูงได้มีมติ เลขที่ 140 วันที่ 20/6/1407 ออกมาดังต่อไปนี้

     1. ไม่อนุญาติให้ขับสิ่งที่มีอยู่ในครรภ์ออกมาในทุกระยะ นอกจากจะมีข้อผ่อนผันทางบทบัญญัติ และอยู่ในกรอบที่แคบมาก

     2. เมื่อทารกที่อยู่ในครรภ์ช่วงแรกนั้นคือระยะเวลาสี่สิบวัน และในการขับออกมาในระยะนี้มีผลดีทางบทบัญญัติหรือป้องกันอันตรายก็เป็นที่อนุญาติในการขับออกได้ แต่ถ้าการขับออกมาในช่วงนี้เนื่องจากกลัวความทุกข์ยากในการเลี้ยงลูก กลัวการที่ไม่สามารถจะเลี้ยงดูและให้ค่าครองชีพแก่พวกเขาและให้ความรู้แก่พวกเขาหรือเพื่ออนาคตของเขาหรือต้องการมีลูกในจำนวนจำกัด อันนี้ไม่ได้รับอนุญาติ

     3. ไม่อนุญาติให้ขับสิ่งที่มีอยู่ในครรภ์ออกมา เมื่อเป็นก้อนเลือดหรือก้อนเนื้อ จนกว่าคณะแพทย์ที่ไว้ใจได้ จะลงมติว่าการคงไว้นั้นเป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของแม่โดยเกรงว่าจะเกิดอันตรายแก่นางในการให้มันอยู่ในครรภ์ต่อไป อันนี้อนุญาติให้ขับออกได้ หลังจากที่ได้นำเอาสื่อต่างๆทั้งหมดมาใช้เพื่อขจัดอันตรายต่างๆเหล่านี้ให้หมดไป

     4. หลังจากระยะที่สามและหลังจากครบสี่เดือนของการตั้งครรภ์ ไม่อนุญาติให้ขับออกมา จนกว่าแพทย์กลุ่มหนึ่งที่ศึกษาเฉพาะทางที่เชื่อถือได้ ได้ลงมติว่าการคงทารกไว้ในครรภ์ของแม่นั้นจะทำให้แม่นั้นต้องเสียชีวิต และอันนั้นหลังจากใช้เครื่องมือต่างๆทั้งหมดแล้วเพื่อช่วยชีวิตของเขา และที่อนุญาติให้ขับออกมาได้ตามเงื่อนไขต่างๆเหล่านี้นั้น เพื่อขจัดอันตรายที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเพื่อให้ได้มาซึ่งผลประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด

            และสภานั้นหลังจากมีมติในสิ่งที่ผ่านมา ก็สั่งเสียให้มีความยำเกรงต่ออัลลอฮ์ และมีการไตร่ตรองและพิจารณาในเรื่องนี้ และอัลลอฮ์นั้นเป็นผู้ที่ประทานความสำเร็จ ขออัลลอฮ์นั้นทรงประทานพรแด่นบีของเรา มูฮัมหมัดและวงศ์วานของท่าน และบรรดาสาวกของท่าน และขอพระองค์ทรงประทานความสันติด้วยเถิด

        ในริซาละฮฺฟิดดิมาอิ๊ฎเฎาะบีอียะฮฺ ลินนิซาอฺ ของฟะดีละตุช ไชยคฺ มุฮัมหมัด อิบนุอุไซยมีน มีอยู่ว่า

“เมื่อมีการเจตนาทำลายสิ่งที่มีอยู่ในครรภ์จากการขับออกมา อันนี้หากมันเกิดขึ้นหลังจากการเป่าวิญญาณเข้าไปแล้วเป็นสิ่งที่ต้องห้ามโดยที่ไม่ต้องสงสัยใดๆ เพราะนั่นเป็นการฆ่าชีวิตโดยที่ไม่ชอบธรรม และการฆ่าชีวิตที่เป็นที่ต้องห้ามนั้นเป็นสิ่งที่ต้องห้ามโดยคัมภีร์ แนวทางและการเห็นพ้องต้องกันของปวงปราชญ์” (โปรดดูหน้าที่ 60 จากริซาละฮฺดังกล่าว)

  และอิมามอิบนุลเญาซียฺได้กล่าวไว้ในหนังสือ อะฮฺกามมุนนิซาอฺ หน้าที่ 108,109 ว่า

          เมื่อการแต่งงานเป็นไปเพื่อการให้ได้มาซึ่งลูก และลูกนั้นไม่สามารถจะเกิดขึ้นมาจากทุกน้ำได้ ดังนั้นเมื่อได้ก่อตัวขึ้นมาสิ่งที่ได้มุ่งหมายก็ได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นการที่ไปขับมันออกมานั้นเป็นการฝ่าฝืนจุดประสงค์ของวิทยาญาณ เว้นแต่ว่าอันนั้นเกิดขึ้นในตอนต้นของการตั้งครรภ์ก่อนที่จะมีการเป่าวิญญาณเข้าไป อันนี้ก็เป็นบาปใหญ่ เพราะได้ก้าวเข้าไปสู่ความสมบูรณ์ และกำลังเดินไปสู่ความครบถ้วน เว้นแต่ว่ามันจะมีบาปน้อยกว่าที่มีการเป่าวิญญาณเข้าไปแล้ว เมื่อได้ไปทำการขับออกมานั้นก็เหมือนสังหารผู้ศรัทธา ซึ่งพระองค์ได้ตรัสไว้ว่า...


“และเมื่อเด็กผู้หญิงที่ถูกฝังทั้งเป็นถูกถามว่า ด้วยบาปอันใดที่นางต้องถูกฆ่า” (อัตตักวีร 8-9)


           ดังนั้น โอ้สตรีมุสลิมะฮฺเอ๋ย เธอจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺและอย่าได้กระทำบาปนี้ ด้วยวัตถุประสงค์อันใดก็ตาม และอย่าได้หลงโฆษณาชวนเชื่อที่ทำให้หลงทาง และการเลียนแบบที่เสียหายที่ไม่มีการพึ่งพาปัญญาชน หรือศาสนาแต่อย่างใด

จากหนังสือ "คำเตือนที่เกี่ยวข้องกับบรรดาหญิงผู้ศรัทธา"