เมตตาเอ็นดูต่อสัตว์
  จำนวนคนเข้าชม  6604

 

เมตตาเอ็นดูต่อสัตว์

 

เขียน ดร.อับดุลวาฮิด  บุชดัก


 

ประเด็นที่ห้า การเมตตาเอ็นดูต่อสัตว์ คืออารยธรรมของอิสลาม

        ไม่มีประชาชาติใดที่จะให้ความเมตตาเอ็นดูต่อสัตว์ให้มากไปกว่าประชาชาติของอิสลาม ท่านจะประจักษ์ว่าซอฮาบะฮ์บางท่าน เช่น อบูดัรดาอฺ รอฎิยัลลอฮุอันฮุ เขามีอูฐอยู่ตัวหนึ่ง และต่อมาอูฐของเขาได้ตาย เขาได้พูดกับอูฐของเขาว่า 

 
"ياأيها البعير لا تخاصمني إلى ربك فإني لم أكن أحملك فوق طاقتك" ـ من كلام أبي درداء رضي الله عنه
 

“โอ้ อูฐของฉันเอ๋ย เจ้าอย่าได้ไปฟ้องร้องฉัน ต่อพระผู้เป็นเจ้าของฉันเลย เพราะฉันไม่เคยบรรทุกเจ้าในสิ่งที่หนักเกินกำลังของเจ้าเลย” 
 

        แม้กระทั่งในภาวะสงครามในอิสลาม ท่านจะได้เห็นหลักธรรมแห่งความเมตตา อิสลามห้ามเผาเรือกสวนไร่นา ห้ามทำลายต้นไม้ ห้ามตัดขาสัตว์ ยกเว้นในกรณีที่มีความจำเป็น 

 

 

         ครั้งหนึ่ง ท่านอิมามอบูอิสหาก อัชชีรอซีย์ กำลังเดินอยู่บนท้องถนน พร้อมกับสหายบางท่านของท่าน ทันใดนั้นก็ได้มีสุนัขตัวหนึ่งขึ้นมาขวางเส้นทางเดินของท่าน เจ้าของสุนัขได้ไล่มันออกไป ท่านเชคอิมาม อบูอิสหาก อัชชีรอซีย์ ได้ห้ามไว้ และได้พูดกับเจ้าของสุนัขว่า

“ท่านรู้หรือไม่ว่า ถนนเส้นนี้มีสิทธิใช้ร่วมกันระหว่างเรา กับมัน(สุนัข)?” 

        ครั้งหนึ่งมีซอฮาบะฮฺท่านหนึ่งที่ชื่อว่า อะดี้ย์ อิบนุ หาติม รอฎิยัลลอฮฮุอันฮุ ผู้ซึ่งมีความเคยชินในการเอาขนมปังไปโรยให้มด และท่านก็ได้พูดว่า
 

"إنهن جارات لنا و لهن علينا حق"ـ من كلام عدي بن حاتم رضي الله عنه
 

“แท้จริงพวกมันคือบรรดาเพื่อนบ้านของเรา และพวกมันก็มีสิทธิบางอย่างที่จะได้รับจากพวกเรา”

          อิสลามได้กำชับให้มีคุณธรรมด้านการสงสารและเมตตาต่อสัตว์ เป็นผลให้ในโลกอิสลามได้มีการก่อสร้างสาธารณสมบัติ(เอากอฟ) ที่ปลูกสร้างขึ้นมาอย่างแพร่หลาย เพื่อบำบัดรักษาฟื้นฟูชีวิตสัตว์ การเลี้ยงดูและการบำบัดรักษาโรคให้กับสัตว์ ซึ่งถูกเรียกว่า “มุเราวิจญ์คอฎรออ์-สถาบันฟื้นฟูสีเขียว” สิ่งดังกล่าวเป็นตัวบ่งชี้ว่า ประชาชาติอิสลามได้ก้าวล้ำหน้าเหนือประชาชาติใดๆในโลกที่ได้ปลูกฝังความเมตตาต่อสัตว์ การให้สิทธิกับสัตว์ ก่อนที่ประชาชาติอื่นๆ จะลุกขึ้นมาเรียกร้องการปลูกฝังคุณธรรมดังกล่าว

         ท่านศาสนฑูตมูฮัมมัด ได้มีวจนะเกี่ยวกับการเรียกร้องอย่างชัดเจนให้มวลมนุษย์ได้ปกป้องสิทธิของสัตว์ไว้ดังนี้ 

«لاتتخذوا ظهور دوابكم كراسي» رواه الإمام أحمد   “ท่านทั้งหลาย อย่าได้ยึดเอาหลังของสัตว์เลี้ยงของพวกท่าน เป็นเก้าอี้” 

(บันทึกโดย อิมามอะหฺมัด) 

         ดังนั้นการนั่งบนหลังอูฐเป็นเวลานานในขณะที่มันยืนนั้น ถือเป็นสิ่งต้องห้ามในอิสลาม และเช่นเดียวกันการล่าสัตว์เพื่อความเพลิดเพลิน หรือเพื่อสนุกสนานถือเป็นสิ่งต้องห้ามเช่นกัน ดังที่มีวจนะของท่านศาสดามูฮัมมัด ว่า 

«من قتل عصفورا عبثا عج إلى الله عز و جل يوم القيامة يقول يا رب إن فلانا قتلني عبثا ولم يقتلني لمنفعة» رواه النسائي، رقم 4446

“ผู้ใดได้ฆ่านกเพื่อความเพลิดเพลิน ไร้สาระ ในวันสิ้นโลก นกตัวนั้นจะไปร้องเรียนต่อพระองค์อัลลอฮฺ พระผู้เป็นเจ้าว่า 
 

“โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน แท้จริงแล้วบุคคลผู้นี้ได้ฆ่าฉันอย่างไร้สาระ เขาไม่ได้ฆ่าฉันเพื่อสิ่งที่เป็นประโยชน์ใดๆเลย” 
 

(บันทึกโดย อันนะซาวีย์)

          อิสลามเป็นศาสนาแห่งความเมตตา เป็นความเมตตาที่แผ่ไปทั่วสรรพสิ่งทั้งปวง มนุษย์ สัตว์ และสิ่งอื่นๆ ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้กล่าวถึงความเมตตา โดยมีคำศัพท์ที่บ่งชี้ถึงความเมตตามากมายในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน หรือคำศัพท์ที่แตกกระจายคำตามหลักอักขระวิธีมาจากคำว่าความเมตตาซึ่งมีอยู่มากมาย หากไม่มีคำศัพท์ของคำว่าเมตตาโดยตรงก็จะปรากฏในรูปนัยทางสำนวนภาษาที่บ่งชี้ถึงความเมตตา ดังกล่าวเป็นสิ่งที่ชี้วัดได้ว่า คุณธรรมจริยธรรมในอิสลาม ตั้งอยู่บนบรรทัดฐานของความเมตตาเป็นหลัก

 

พระองค์อัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงตรัสไว้ความว่า 

“ความเมตตาของฉัน แผ่กว้างเหนือทุกสิ่ง ทุกอย่าง” 

(ซูเราะห์อัลอะฮ์รอฟ โองการที่ 156) 

พระองค์ตรัสความว่า

“พระองค์อัลลอฮฺ ผู้ทรงบันทึกเหนือพระองค์ เรื่องของความเมตตา พระองค์จะทรงรวบรวมสูเจ้าในวันสิ้นโลกอย่างแน่นอน ไม่มีข้อสงสัยใดๆทั้งสิ้น” 

(ซูเราะห์อัลอันอาม โองการที่ 121) 

พระองค์ทรงตรัสความว่า

“และเราได้ประทานอัลกุรอานลงมา ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถบำบัดโรคและเป็นความเมตตาให้กับบรรดาผู้ที่มีความศรัทธา” 

(ซูเราะห์อัลอิสรอฮฺ โองการที่ 82) 

พระองค์ทรงตรัสความว่า

“และเรา(อัลลอฮฺ) ไม่ได้ส่งเจ้า(มูฮัมมัด) มาเพื่ออื่นใด ยกเว้นเป็นความเมตตาแก่บรรดาประชาชาติทั้งมวล” 

(ซูเราะห์อัลอัมบิยาอฺ โองการที่ 107) 

และยังมีโองการอื่นๆอีกมากมาย ที่ได้ระบุถึงบทบัญญัติแห่งเมตตาธรรมในอิสลาม


 

แปลและเรียบเรียงโดย อ.มุหำหมัด  บินต่วน