ดวงตาริษยา
  จำนวนคนเข้าชม  13148

 

ดวงตาริษยา

 

ดร.อะมีน บิน อับดุลลอฮฺ อัช-ชะกอวีย์



          ผู้มีดวงตาริษยา (อัลอาอิน - العائن) กับผู้ที่มีความอิจฉา (อัลหาสิด - الحاسد) นั้นมีความเหมือนกันตรงที่บุคคลทั้งสองประเภทนี้ อยากที่จะเป็นหรือมีเหมือนผู้ที่เขาอิจฉา ผู้ที่มีดวงตาริษยาจะอิจฉาเมื่ออยู่ต่อหน้า หรือเมื่อพบเห็นสิ่งดังกล่าว ส่วนผู้ที่มีความอิจฉา จะอิจฉาทั้งต่อหน้าและลับหลัง

 

         ส่วนข้อแตกต่างก็คือ ผู้มีดวงตาริษยาอาจพุ่งสายตาจับจ้องและก่อให้เกิดผลเสียต่อ วัตถุ สัตว์ พืชผล หรือทรัพย์สิน ก็ได้ แม้ว่าในความเป็นจริงแล้วผู้ที่เขาอิจฉา คือผู้เป็นเจ้าของสิ่งเหล่านั้น  บางครั้งดวงตาริษยาอาจส่งผลเสียต่อตัวเขาเองด้วยซ้ำ เพราะการที่เขาจ้องมองสิ่งหนึ่งสิ่งใดด้วยความชื่นชอบและปลาบปลื้มอย่างมาก ก็อาจส่งผลเสียต่อสิ่งที่ถูกมองได้

นักอรรถาธิบายอัลกุรอานหลายท่านระบุว่าคำตรัสของอัลลอฮฺที่ว่า

 
﴿ وَإِن يَكَادُ ٱلَّذِينَ كَفَرُواْ لَيُزۡلِقُونَكَ بِأَبۡصَٰرِهِمۡ لَمَّا سَمِعُواْ ٱلذِّكۡرَ ﴾ [القلم: ٥١]  
 

 “และบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธานั้นแทบจะทำให้สายตาของพวกเขาจ้องเขม็งไปยังเจ้า เมื่อพวกเขาได้ยินอัลกุรอาน”
 

 (อัลเกาะลัม: 51)

 

         นั้นหมายถึงการประสบกับ อัลอัยนฺ (สายตาอาฆาตริษยา) โดยพวกเขาประสงค์จะให้ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ประสบกับพิษภัยของสายตาริษยา จึงให้คนกลุ่มหนึ่งที่มีดวงตาริษยาอาฆาตจับจ้องท่าน ซึ่งพวกเขาต่างกล่าวว่า “เราไม่เคยเห็นผู้ใดเหมือนเขาเลย”

         คนจำพวกนี้บางคนอาจพบเห็นวัวที่อ้วนท้วนสมบูรณ์ แล้วเกิดความริษยา จึงจับจ้องมองด้วยสายตาที่อาฆาต พร้อมบอกให้เด็กรับใช้เตรียมภาชนะกับเงินไว้ เพื่อไปซื้อเนื้อวัวดังกล่าวมา หลังจากนั้นไม่นานวัวตัวดังกล่าวก็ล้มป่วยลงและถูกเชือด 
 

(บะดาอิอฺ อัลฟะวาอิด เล่ม 2 หน้า 751-752)

ท่านอบูฮุร็อยเราะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
 

« العَيْنُ حَقٌّ » [رواه البخاري برقم 5740 مسلم برقم 2187]
 

 “อัลอัยนฺ (สายตาอาฆาตริษยา) นั้นเป็นสิ่งที่มีผลจริง” 
 

 

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 5740 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2187)

อัสมาอ์ บินตฺ อุมัยสฺ กล่าวแก่ท่านนบีว่า “โอ้ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ลูกหลานของญะอฺฟัรประสบกับอัลอัยนฺ เราควรจะรักษาพวกเขาไหม? 
 

ท่านนบีกล่าวตอบว่า
 

« نَعَمْ، فَلَوْ كَانَ شَيْءٌ يَسْبِقُ الْقَدَرَ لَسَبَقَتْهُ الْعَيْنُ» [رواه أحمد برقم 27470 والترمذي برقم 2059]
 

 “ใช่ เพราะถ้าหากจะมีสิ่งใดที่รุดหน้าก่อนกำหนดการณ์ของอัลลอฮฺ ก็คงเป็นอัลอัยนฺนี่แหละ” 
 

(บันทึกโดย อัลบุคอรีย์ หะดีษเลขที่ 27470 และมุสลิม หะดีษเลขที่ 2059)

ท่านญาบิรฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า

«إِنَّ الْعَيْنَ لَتُدْخِلُ الرَّجُلَ الْقَبْرَ، وَتُدْخِلُ الْجَمَلَ الْقِدْرَ» [رواه ابن عدي في الكامل 6/408]

“แท้จริง อัลอัยนฺ นั้นอาจทำให้คนคนหนึ่งเข้าหลุมศพ    (คือทำให้เขาตาย)

และทำให้อูฐลงหม้อได้ (คือทำให้อูฐเป็นโรค จนเจ้าของต้องเชือดมัน)

 (บันทึกโดย อิบนุ อะดีย์ 6/408)


         ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม จึงได้ชี้แนะผู้ศรัทธาว่า เมื่อพบเห็นสิ่งใดให้กล่าวขอให้อัลลอฮฺทรงประทานบะเราะกัตความจำเริญแก่สิ่งนั้น ดังที่มีรายงานจากท่านสะฮฺล์ บิน หะนีฟ เราะฎิยัลลอฮุอันฮฺ เล่าว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า


« عَلَامَ يَقْتُلُ أَحَدُكُمْ أَخَاهُ؟ هَلَّا إِذَا رَأَيْتَ مَا يُعْجِبُكَ بَرَّكْتَ؟ » [رواه أحمد برقم 15980]

“ด้วยเหตุอันใดเล่าที่คนใดคนหนึ่งในหมู่พวกท่านจะฆ่าพี่น้องของเขา? ทางที่ดีและสมควรอย่างยิ่งคือ 
 

เมื่อท่านเห็นสิ่งใดที่ท่านรู้สึกถูกใจ ให้ท่านกล่าวขอให้สิ่งนั้นมีบะเราะกัตและความจำเริญ” 
 

 

(บันทึกโดย อะหฺมัด หะดีษเลขที่ 15980)

 


แปลโดย : อุศนา พ่วงศิริ / Islamhouse