การถือศีลอดในเดือนชะบาน
  จำนวนคนเข้าชม  7309

 

การถือศีลอดในเดือนชะบาน

 

เรียบเรียงโดย อิสมาอีล กอเซ็ม

 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก
 

         วันเวลาที่ผ่านไปมันก็ทำให้อายุของเรามากขึ้น แต่เวลาที่จะประกอบคุณงามความดีนั้นกลับลดลงเรื่อยๆ การปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเวลานั้น ถือว่าเป็นความขาดทุนของคนเรา ดังนั้นการที่บุคคลได้เห็นคุณค่าของเวลาถือว่า เป็นความโปรดปรานที่เขาได้รับจากอัลลอฮฺ ในอัลกุรอานได้มีอายะห์ต่างๆมากมายที่ได้กล่าวถึงความสำคัญของเวลา


قال الله تعالى :
وَالْعَصْرِ ( 1 )
إِنَّ الْإِنسَانَ لَفِي خُسْرٍ ( 2 )
إِلَّا الَّذِينَ آمَنُوا وَعَمِلُوا الصَّالِحَاتِ وَتَوَاصَوْا بِالْحَقِّ وَتَوَاصَوْا بِالصَّبْرِ ( 3 )

"ขอสาบานด้วยกาลเวลา แท้จริงมนุษย์นั้น อยู่ในการขาดทุน  

นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและกระทำความดีทั้งหลาย และตักเตือนกันและกันในสิ่งที่เป็นสัจธรรม

และตักเตือนกันและกันให้มีความอดทน"

        จากอายะห์นี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเวลา ถึงบอกว่ามนุษย์ทั้งหมดอยู่ในความขาดทุน เว้นแต่ผู้ที่ได้ศรัทธา และพวกเขาได้ประกอบคุณงามความดี เรียกร้องตักเตือนกันในสิ่งที่เป็นคุณธรรม และตักเตือนกันในเรื่องของความอดทน ดังนั้นการเห็นคุณค่าของเวลา และใช้มันให้เกิดคุณค่ามากที่สุดนั้นถือว่าเป็นคุณลักษณะของผู้ศรัทธา ซึ่งในหะดีษของท่านนบี  ได้กล่าวถึงความสำคัญของเวลาเช่นเดียวกัน


عَنْ ابْنِ عَبَّاسٍ رَضِيَ اللَّهُ عَنْهُمَا، قَالَ: قَالَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: ((نِعْمَتَانِ مَغْبُونٌ فِيهِمَا كَثِيرٌ مِنَ النَّاسِ: الصِّحَّةُ وَالْفَرَاغُ)).

มีรายงานจาก อิบนู อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมา ได้กล่าวว่า ท่านนบี ได้กล่าวว่า 

"ความโปรดปรานสองอย่าง ที่มีคนจำนวนมากได้ปล่อยให้หมดไป ก็คือ สุขภาพที่ดี และเวลาว่าง"

        จากหะดีษที่กล่าวมา ใครที่มีสองประการถือว่าเป็นความโปรดปรานเป็นอย่างมาก อย่าได้ปล่อยให้สองประการนี้หมดไปโดยไม่ได้เอาประโยชน์จากเวลาที่ว่าง และร่างกายที่แข็งแรง ดังนั้นการงานที่ดีมีมากมายที่รอให้เรานำมาปฏิบัติ ไม่ว่าการงานที่เป็นภาคบังคับ(วาญิบ) และการงานที่เป็นซุนนะห์ ที่ไม่ได้บังคับ แต่ส่งเสริมให้กระทำ มุสลิมผู้ศรัทธาเขาจะต้องมีความกระตือรือร้นในการเจริญตามแบบอย่างของท่านนบี ไม่ว่าแบบอย่างที่เกี่ยวข้องกับภาคบังคับ ในการประกอบศาสนกิจ หรือ แบบอย่างที่ส่งเสริม (ซุนนะห์) 

       ประตูที่เราจะกระทำความดีนั้นมีมากมาย และก่อนที่เข้าสู่รอมาฎอนคือ เดือนชะบานเป็นเดือนหนึ่งที่เราจะพบว่าท่านนบี ได้ให้ความสำคัญในการถือศีลอด


في الصحيحين عن أمنا عائشة قالت" :ما رأيت رسول الله استكمل صيام شهر قط إلاّ رمضان، وما رأيته في شهر أكثر صياما منه في شعبان "وزاد البخاري"كان يصوم شعبان كلّه. "

มีรายงานในซอเอียะบุคอรีย์มและมุสลิม จากท่านหญิงอาฮิชะห์ จากมารดาของเรา  ได้กล่าวว่า 

"ฉันไม่เคยเห็น ท่านรอซูลุลลอฮฺ  จะถือศีลอดเต็มเดือนเลย นอกจากเดือนรอมาฎอน   และฉันไม่เคยเห็นท่านถือศีลอดมากให้เหมือนกับเดือนชะบาน"

และอิหม่ามอัลบุคอรีย์ได้เพิ่มสำนวนที่ว่า "ท่านเคยถือศีลอดเดือนชะบานทั้งหมด" 

       ในหะดีษนี้ได้ชี้ให้เห็นถึง การส่งเสริมให้มีการถือศีลอดในเดือนชะบาน เพราะท่านนบี มูฮัมหมัด  ได้ถือศีลอดส่วนมากของเดือนชะบาน แต่การถือศีลอดที่สมบูรณ์ทั้งเดือนนั้น ท่านถือเฉพาะเดือนรอมาฎอน ส่วนเดือนชะบานนั้น ท่านจะถือส่วนมากของเดือนชะบาน แต่ไม่ได้ถือทั้งเดือน  ส่วนสำนวนหะดีษที่ว่า ท่านเคยถือศีลอดเดือนชะบานทั้งหมด นักวิชาการได้อธิบายในประเด็นตรงนี้ว่า ไม่ได้หมายถึงการถือศีลอดทั้งเดือน แต่มันเป็นการบ่งบอกว่า ท่านนบี  ได้ถือศีลอดส่วนมากของเดือนชะบาน เช่นท่านอิบนูลมูบาร็อก รอฮิมาอุลลอฮฺ โดยที่ท่านได้นำหะดีษในซอเฮี๊ยะ มุสลิมมาเป็นหลักฐานในเรื่องนี้ หะดีษของท่านหญิง อาฮิชะห์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา ที่ว่า


وفي صحيح مسلم عن عائشة -رضي الله عنها- قالت: "ما علمته -تعني النبي صلى الله عليه وسلم- صام شهرًا كله إلا رمضان". رواية له أيضًا عنها قالت: "ما رأيته صام شهرًا كاملاً منذ قدم المدينة
إلا أن يكون رمضان".

" ฉันไม่เคยรู้เกี่ยวกับเขา (หมายถึงท่านนบี) ได้ถือศีลอดทั้งเดือน นอกจากเดือนรอมาฎอนเท่านั้น"

 และอีกสายรายงานของท่านหญิงอาฮิชะห์ เช่นเดียวกัน ท่านหญิงฮาอิชะห์ได้กล่าวว่า 

"ฉันไม่เคยเห็นท่านนบี ได้ถือศีลอดทั้งเดือน ตั้งแต่มายังมาดีนะห์ นอกจากเดือนรอมาฎอน"

       นี่ก็ถือว่าเป็นหะดีษหนึ่งที่มาระบุว่าท่านนบี  ไม่ได้ถือศีลอดในเดือนชะบานทั้งเดือน ท่านจะถือศีลอดทั้งเดือนเฉพาะเดือนรอมาฎอนเท่านั้น สำหรับเดือนชะบานท่านจะถือศีลอดในส่วนมากของเดือนชะบาน

        อีกประเด็นหนึ่งการถือศีลอดหลังจากเลยครึงเดือนของชะบานนั้น จะอนุญาตให้ถือศีลอดได้หรือไม่ เพราะมีหะดีษของท่านนบี  ได้ระบุไว้ว่า


عن أبي هريرة رضي الله عنه أن رسول الله صلى الله عليه وسلم قال « : إذا انتصف شعبان فلا تصوموا. صححه الألباني ] [ في صحيح الترمذي (590

มีรายงานจากท่านอะบีฮุรอยเราะห์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ แท้จริงท่านรอซูลุลอฮ  ได้กล่าวว่า 

"เมื่อถึงครึงเดือนชะบาน ดังนั้นพวกท่านอย่าได้ถือศีลอด"

 

       ท่านเชคอัลบานีย์ ได้ถือว่าหะดีษนี้เป็นหะดีษที่ถูกต้อง จากหนังสือ ซอเอียะ อัตตีรมีซีย์ หะดีษที่ 590 จากหะดีษนี้ถือว่าห้ามถือศีลอดในครึ่งหลังของเดือนชะบาน แต่ก็มีหะดีษที่ถูกต้องได้รายงานในการอนุญาตให้ถือศีลอดหลังจากครึ่งหลังของเดือนชะบาน ซึงมีปรากฏในซอเอียะอัลบุคอรีย์ หะดีษที่ 1941 และในซอเอียะมุสลิม หะดีษที่ 1082

عن أبي هريرة رضي الله عنه قال : قال رسول الله صلى الله عليه وسلم « : لا تقدموا رمضان ] [ بصوم يوم ولا يومين إلا رجل كان يصوم صوما فليصمه»

มีรายงานจากท่านอะบีฮุรอยเราะห์ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ท่านรอซูลุลอฮ  ได้กล่าวว่า 

"พวกท่านอย่าถือศีลอดก่อนรอมาฎอน หนึ่ง หรือว่า สองวัน เว้นแต่คนหนึ่ง ที่เขาเคยถือศีลอดอยู่ประจำ ดังนั้นเขาก็จงถือศีลอดนั้น"

        จากหะดีษนี้ท่านนบี  ได้ห้ามการถือศีลอด ก่อนรอมาฎอนวันหรือว่าสองวัน จากตรงนี้แสดงว่าการถือศีลอดหลังจากครึ่งหลังของเดือนชะบานเป็นที่อนุญาต ส่วนที่ห้ามคือ ห้ามถือศีลอด ก่อนรอมาฎอน วัน หรือว่าสองวัน ยกเว้นผู้ที่ถือศีลอดอยู่เป็นประจำ เช่น ผู้ที่ถือศีลอดซุนนะห์ จันทร์ พฤหัส หรือ ผู้ที่ถือศีลอดชดเชย

เมื่อหะดีษสองหะดีษมันมาขัดแย้งกัน เราก็ต้องหาข้อสรุปทางออก เกี่ยวกับเรื่องนี้

        สำหรับหะดีษ "เมื่อถึงครึงเดือนชะบาน ดังนั้นพวกท่านอย่าได้ถือศีลอด" ญุมฮูรนักวิชาการส่วนมาก ถือว่าหะดีษนี้เป็นหะดีษฎออีฟ ผู้ที่มีความเห็นว่าหะดีษนี้เป็นหะดีษฎออีฟ เช่น ท่านอิหม่ามอะหมัด ท่านอัลบัยฮากีย์ ท่านอิบนู มะอีน รอฮิมาอุลลอฮฺ และท่านเชค อุซัยมีนรอฮิมาอุลลอฮฺ ถือว่าหะดีษนี้เป็นหะดีษฎออีฟเช่นเดียวกัน

        แต่ท่านเชคอุซัยมีนได้กล่าวว่าไว้ในการอธิบายหนังสือ ริยาดุซซอลีหีน หากหะดีษดังกล่าวถูกต้อง การห้ามตรงนี้ ไม่ได้เป็นการห้ามปฏิบัติ แต่หมายถึงหากปฏิบัติมันเป็นเรื่องที่น่าเกลียด และเชค อัลบานีย์ เชค บินบาสรอฮิมาอุมุลลอฮฺ ได้เห็นว่า หะดีษดังกล่าวเป็นหะดีษที่ถูกต้อง

       เมื่อเราดูจากหะดีษทั้งสอง มีนักวิชาการบางส่วน ต่างเห็นว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้อง บางส่วนก็เห็นว่าเป็นหะดีษฎออีฟ จึงพอสรุปแนวทางปฏิบัติในเรื่องนี้ สำหรับผู้ที่ถือศีลอดตั้งแต่ช่วงแรกๆของเดือนชะบาน ก็ไม่เป็นที่ต้องห้ามที่เขาจะถือศีลอดในครึ่งหลังของเดือนชะบาน ส่วนการห้ามถือศีลอดในครึ่งหลังของเดือนชะบานนั้น ที่ห้ามสำหรับผู้ที่ไม่ได้เริ่มถือตั้งแต่ช่วงแรกๆ ของเดือนชะบาน แต่ไปเริ่มถือในครึ่งหลังของเดือนชะบาน

 

        ขออัลลอฮฺได้โปรดประทานความดีงามแก่บรรดามุสลิม และขอพระองค์ให้บรรดามุสลิมได้พบกับรอมาฎอนอีกครั้งหนึ่งด้วยเถิด...อามีน