เป้าหมายของสูเราะฮ์ฮูด
  จำนวนคนเข้าชม  3673

 

เป้าหมายของสูเราะฮ์ฮูด

โดย… ฟุอาด ซัยดาน
 

          มวลการสรรเสริญเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ ขอการสดุดีแห่งอัลลอฮฺและความสันติสุขจงมีแด่ท่านศาสนทูตของอัลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาเครือญาติตลอดจนบรรดาเศาะหาบะฮฺทั้งหลายของท่าน ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียว โดยไม่มีการตั้งภาคีใดๆ ต่อพระองค์ และข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดคือบ่าวและศาสนทูตของพระองค์


เป้าหมายของสูเราะฮฺฮูด

 

         จงทำหน้าที่ฟื้นฟูปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง โดยไม่บันดาลโทสะหรือสิ้นหวัง สูเราะฮฺนี้และสูเราะฮฺกลุ่มเดียวกันกับมันอีกสองสูเราะฮฺ นั่นคือ สูเราะฮฺยูนุสก่อนหน้านี้ และสูเราะฮฺยูสุฟ (ที่จะมาหลังจากนี้) คือสามสูเราะฮฺแรกที่เป็นชื่อบรรดานบี ซึ่งทุกชื่อสูเราะฮฺที่ใช้ชื่อนบีนั้น ก็จะเป็นที่เข้าใจว่าเรื่องราวของนบีคนนั้นคือเนื้อหาแก่นหลักของสูเราะฮฺ และในตอนท้ายของสูเราะฮฺก็จะมีอายะฮฺที่เป็นบทสรุปของเรื่องราวนั้นๆ จนดูประหนึ่งว่ามันเป็นกฎ (กออิดะฮฺ) ของทุกสูเราะฮฺที่ใช้ชื่อบรรดานบีเป็นชื่อสูเราะฮฺ

 

          สูเราะฮฺทั้งสามนี้ถูกประทานลงมาในช่วงเวลาเดียวกัน และเรียงลำดับการลงมาตรงตามที่ปรากฏในเล่มมุศหัฟ ซึ่งสูเราะฮฺทั้งสามนี้นั้น ถูกประทานลงมาหลังจากการเสียชีวิตของท่านหญิงเคาะดีญะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮา และหลังจากการเสียชีวิตของ อบูฏอลิบ ผู้เป็นลุงของท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และเป็นช่วงเวลาที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ถูกชาวฏออิฟทำร้าย และต่อต้านการดะอฺวะฮฺของท่าน เป็นช่วงเวลาที่เผ่าต่างๆ ของอาหรับปฏิเสธการช่วยเหลือและสนับสนุนท่าน ซึ่งช่วงเวลานั้นเองถือเป็นช่วงเวลาที่วิกฤติที่สุดสำหรับท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย

 

          ในเมืองมักกะฮฺ ภายหลังจากที่ผู้ศรัทธาถูกชาวมุชริกีนคุกคาม ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ก็มีคำสั่งให้พวกเขาบางคนอพยพไปยังเมืองหะบะชะฮฺหรืออบิสสิเนีย (เอธิโอเปียในปัจจุบัน) ส่วนบางคนก็ยังคงอยู่ในเมืองมักกะฮฺซึ่งต้องเผชิญกับภัยคุกคามต่างๆ และการกดขี่จากชาวกุฟฟารฺกุร็อยชฺ ดังนั้น ประหนึ่งว่าอัลลอฮฺ ได้ประทานโองการเหล่านี้ลงมาเพื่อเป็นการปลอบใจแก่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และคลี่คลายความวิตกกังวลให้แก่ท่าน 

 

          เพราะเนื้อหาของสูเราะฮฺเหล่านี้ได้เล่าถึงเรื่องราวที่บรรดาเราะสูลก่อนหน้านี้ที่ได้รับการทดสอบในรูปแบบต่าง ๆ นานา ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เอาเยี่ยงอย่างพวกเขาในการอดทนและยืนหยัดอย่างหนักแน่นมั่นคง และการมาของสูเราะฮฺนี้ ก็ได้บอกแก่เราว่า ผู้ใดก็ตามที่ได้เผชิญกับวิกฤตการณ์และบททดสอบเหล่านี้ โดยทั่วไปจะมีท่าทีอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้

 

1. สิ้นหวังและหยุดทำงาน

 

2. บันดาลโทสะ ฉุนเฉียว ขัดเคือง หันไปใช้วิธีรุนแรง แสดงพฤติกรรมที่เลยเถิดเกินคาดคิด หรือทำร้ายคนอื่น

 

       3. ยอมแพ้และสยบต่อฝ่ายที่มีอำนาจเหนือกว่า ยอมอยู่ภายใต้มัน ละทิ้งหน้าที่และภารกิจต่าง ๆ และจบบั้นปลายตัวเองด้วยวิถีของคนแพ้

          แต่สิ่งที่เราได้เห็นก็คือ บรรดาเราะสูลนั้นไม่ได้มีท่าทีใด เหมือนดังทั้งสามประการที่ว่านี้เลย ด้วยเหตุนี้เอง จึงมีหลายๆ อายะฮฺที่เรียกร้องท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม เพื่อไม่ให้มีท่าทีเหล่านั้นเช่นกัน

          โดยมีอายะฮฺหนึ่งเป็นแก่นหลักของสูเราะฮฺนี้ ซึ่งอายะฮฺอื่น ๆ ล้วนมีเนื้อหาวนเวียนสอดคล้องกับมันแทบทั้งสิ้น นั่นคืออายะฮฺที่ว่า

“เจ้าจงยึดมั่นอยู่ในความเที่ยงธรรมเช่นที่เจ้าถูกบัญชา พร้อม ๆ กับผู้ที่ได้ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ

และจงอย่าได้ละเมิด แท้จริงพระองค์ทรงรู้เห็นสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” 

(สูเราะฮฺ ฮูด : 112)

และ

“และพวกเจ้าอย่าได้สยบยอมต่อธรรมดาผู้อธรรม มิเช่นนั้นแล้ว ไฟนรกก็จะโดนกับพวกเจ้า

 และพวกเจ้าก็จะไม่มีผู้คุ้มครองใดๆ ให้รอดพ้นจากการลงโทษของอัลลอฮฺ แล้วพวกเจ้าก็จะไม่ได้รับความช่วยเหลือ”

 

(สูเราะฮฺ ฮูด : 113)

          อายะฮฺเหล่านี้ถือเป็นข้อแนะนำแก่ท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และบรรดาผู้ศรัทธาถึงวิธีเผชิญกับบททดสอบต่างๆ ที่ประสบกับพวกเขาในทุกที่และทุกเวลา และถือเป็นอายะฮฺที่ช่วยรักษาสภาพจิตใจของมนุษย์เมื่อต้องเผชิญกับวิกฤติที่หนักหน่วง ซึ่งการมาของอายะฮฺนี้ได้เริ่มต้นด้วย

♣ คำสั่งแรก คือ “ ۡمِقَتۡسٱ”  กล่าวคือ จงอดทนและจงทำหน้าที่ดะอฺวะฮฺต่อไป

♣ และตามมาด้วยคำสั่งที่สอง คือ “ لَ تَطۡغَوۡ ا ” กล่าวคือ จงอย่าก่อความหายนะและจงอย่าละเมิดขอบเขต

♣ และคำสั่งที่สามก็ตามมา คือ “ لَ تَرۡكَنُ و ا ”  หมายถึง จงอย่าใช้ชีวิตภายใต้อำนาจของฝ่ายที่อธรรมและยอมสยบเห็นชอบกับมัน

          จะเห็นได้ว่าคำสั่งทั้งสามนี้ ล้วนสวนทางกับท่าทีที่น่าจะเกิดขึ้นกับคนที่ประสบกับบททดสอบต่าง ๆ ดังที่ได้เสนอมาก่อนหน้านี้อย่างสิ้นเชิง

 

         ท่านอัล-หะสัน เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ ได้กล่าวว่า

          “มหาบริสุทธิ์ยิ่งอัลลอฮฺผู้ทรงให้ศาสนานี้อยู่ระหว่างสอง “ لا ” นั่นก็คือ “ لَ تَطۡغَوۡ ا ” หมายถึงอย่าละเมิดขอบเขตด้วยพฤติกรรมฉุนเฉียวหรือบันดาลโทสะ และ “ لَ تَرۡكَنُ و ا ” หมายถึงอย่าสิ้นหวังท้อแท้และยอมสยบต่อความอธรรม

         อายะฮฺต่างๆ ของสูเราะฮฺนี้ได้กล่าวถึงตัวอย่างของบรรดานบีที่ประสบกับบททดสอบและวิกฤตการณ์ต่างๆ ในช่วงเวลาที่พวกท่านทำหน้าที่เผยแผ่ศาสนาต่อกลุ่มชนของพวกท่าน อย่างไรก็ตาม พวกท่านทุกคนมีความอดทนและปฏิบัติตามคำสั่งทั้งสามนี้ ซึ่งตามจริง สูเราะฮฺนี้มีความสำคัญยิ่งสำหรับบรรดาผู้ศรัทธา 

         ด้วยเหตุนี้เองท่านเราะสูลุลลอฮฺ จึงกล่าวว่า “สูเราะฮฺฮูดและพี่น้องของมันทำให้ฉันผมหงอก”



แปลโดย : แวมูฮัมหมัดซาบรี แวยะโก๊ะ / Islam house