มารยาทรับประทานอาหาร
  จำนวนคนเข้าชม  20867

 

มารยาทรับประทานอาหาร

 

โดย : ประสาน (ซารีฟ)  ศรีเจริญ

 

          อาหารเป็นพระเมตตาของพระเจ้าอันยิ่งใหญ่ ซึ่งพระองค์ทรงให้เป็นปัจจัยยังชีพแก่มนุษย์ทุกคน จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ต้องให้ความสำคัญต่ออาหารการกิน ไม่ตำหนิ ดูถูก ทำลาย และทิ้งขว้าง อีกทั้งต้องขอบพระคุณต่อพระผู้ประทานอาหารให้ คือ อัลลอฮฺตะอาลา พระองค์ตรัสในอัลกุรอานบท อะบะสะ โองการที่ 24-32 ความว่า

 

“ดังนั้น มนุษย์จงพิจารณาไปยังอาหารของเขาเถิด แท้จริงเราได้หลั่งน้ำฝนอันอุดมสมบูรณ์ให้ตกลงมา

หลังจากนั้น เราได้แยกแผ่นดินออกอย่างแท้จริงแล้วเราก็ให้เมล็ดพันธุ์พืชได้งอกงามขึ้นในนั้น

ทั้งองุ่น และผักนานาชนิด อีกทั้งมะกอกและอินทผลัมและบรรดาสวนอันหนาแน่น (ไปด้วยต้นไม้ต่าง ๆ)

ตลอดจนบรรดาผลไม้และหญ้า ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเจ้า และแก่ปศุสัตว์ของพวกเจ้า” 
 

(80/24-32)

 

        มุสลิมนั้น กินเพื่ออยู่มิใช่อยู่เพื่อกิน ดังนั้น ต้องกินอย่างพอเพียงแก่ความต้องการทางร่างกาย และกินเพื่อให้มีพลังในการปฏิบัติศาสนกิจต่ออัลลอฮฺ และปฏิบัติดีมีคุณธรรม โดยเหตุนี้ อัลลอฮฺทรงมีพระบัญชาแก่เหล่าศาสนทูตของพระองค์ในอัลกุรอาน บท อัลมุมินูน โองการที่ 51 ความว่า
 

“โอ้บรรดาศาสนทูตทั้งหลาย พวกเจ้าพึงบริโภคสิ่งที่ดี และพึงปฏิบัติการที่ดีเถิด” 

(23/51)

และพระองค์มีบัญชาแก่เหล่าศรัทธาชนในบทอัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 172 ความว่า

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย พวกเจ้าพึงบริโภคแต่อาหารที่ดี ที่เราได้อนุญาตแก่พวกเจ้าเถิด และจงขอบคุณต่ออัลลอฮฺ..” 

(2/172)

         การรับประทานอาหาร หากมีเจตนาเพื่อให้มีกำลังในการประกอบคุณงามความดีและสนองคำสั่งของ อัลลอฮฺ ก็ถือเป็นการปฏิบัติศาสนกิจ (อิบาดะห์) ด้วยเช่นกัน ซึ่งการปฏิบัติความดีงามนั้น ย่อมต้องมีระเบียบวินัยและมารยาท เพื่อให้กิจการนั้นได้รับผลสัมฤทธิ์ที่บริบูรณ์ และนี้คือ มารยาทบางส่วนของการรับประทานอาหาร

1. ล้างมือก่อนและหลังรับประทานอาหาร

       2. เริ่มต้นรับประทานอาหารด้วยการกล่าวพระนามอัลลอฮฺว่า “บิสมิลลาฮิรเราะฮฺมานนิรรอฮีม” และหากลืมกล่าวในตอนเริ่มต้นและนึกได้ขณะรับประทานอาหาร ให้กล่าวว่า “บิสมิลลาฮิ เอาวะลิฮี วะอาคิริฮี”

3. เลือกรับประทานแต่อาหารที่ดีและถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลามเท่านั้น

4. รับประทานอาหารที่สะอาด มีคุณค่าทางอาหาร และเป็นประโยชน์ต่อร่างกาย

5. รับประทานด้วยมือขวา และเก็บอาหารให้หมดจากมือ ช้อนและจาน

6. รับประทานอาหารที่อยู่ต่อหน้า ไม่ควรเอื้อมไปยังอาหารที่อยู่ต่อหน้าคนอื่น

7. รับประทานด้วยการเปิบหรือป้อนด้วยคำเล็กพอเหมาะ และเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืนหรือใส่คำใหม่เข้าไป

8. ควรละเว้นการเป่าอาหารที่ร้อน และไม่ควรรับประทานอาหารขณะที่อาหารนั้นร้อนจัดหรือเย็นจัด

9. ควรหลีกเลี่ยงที่จะนำปากไปใกล้กับภาชนะ เพื่อป้องกันอาหารในปากตกลงไป

10. ควรนั่งให้เรียบร้อย ในการรับประทานอาหาร ไม่ควรยืน หรือนอนรับประทาน

11. ไม่ควรตำหนิอาหาร หากอร่อยก็รับประทานให้มาก หากไม่อร่อยก็ทานให้น้อย

       12. ไม่ควรดูถูกอาหารแม้จะเป็นอาหารนิดหน่อย และต้องไม่นำอาหารทิ้งถึงขยะปะปนกับสิ่งปฏิกูล หากจะทิ้งเศษอาหารควรใส่ถุงต่างหากเสียก่อน

       13. รับประทานอาหารแต่เพียงพอควร ไม่ควรมากเกินไป จนถึงขั้นสุรุ่ยสุร่าย และการรับประทานอาหารเกินความพอดีอาจเป็นต้นเหตุแห่งการเกิดโรคได้

14. ไม่ควรสั่งอาหารหรือปรุงอาหารมากมายหลายอย่าง จนทำให้เกิดความน้อยใจของคนยากจน เมื่อเขามาพบเห็น

15. ขณะรับประทานอาหารสนทนากันได้ในเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและศาสนา

16. ไม่ควรหัวเราะ หรือล้อเล่น หรือมองหน้าผู้ร่วมวง ขณะรับประทานอาหาร

17. หลังรับประทานอาหารควรพักผ่อนเล็กน้อยก่อนทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น อาบน้ำ หรือนอน

18. ห้ามรับประทานอาหารด้วยภาชนะที่ทำด้วยทองและเงิน

19. ควรเริ่มรับประทานอาหารหลังผู้อาวุโสทั้งวัยวุฒิหรือคุณวุฒิได้เริ่มแล้ว

      20. ไม่ควรรับประทานอาหารคนเดียว หากมีโอกาสรับประทานอาหารร่วมกัน เพราะการรับประทานอาหารรวมจะเป็นสิริมงคล

       21. ให้กล่าวอัลฮัมดุลิลลาฮฺ เมื่อเสร็จจากการรับประทาน เป็นการขอบคุณอัลลอฮฺพระผู้ประทานอาหารให้แก่เรา รวมทั้งกล่าวขอพรว่า “อัลฮัมดุลิลลาฮิลละซี อัฏอะมะนา วะสะกอนา วะญะอะละนามุสลิมีน”