ข้อพึงระวังในการคบเพื่อน
  จำนวนคนเข้าชม  6397

 

ข้อพึงระวังในการคบเพื่อน

อุมมุ อาอิช

 

         หลังจากที่เราได้ทราบถึงผลดีของการรักกันเพื่ออัลลอฮฺตะอาลาแล้ว เพื่อความสมบูรณ์ของการแนะนำตักเตือน เราสมควรระวังสิ่งไม่ดีบางอย่าง ดังต่อไปนี้

 

1. เยี่ยมบ่อยเกินไป 

 

         การเยี่ยมและการคบหาในทำนองกระชับมิตรและเฮฮาให้สบายใจบ่อยเกินไป มากกว่าการเยี่ยมเพื่อรำลึกถึงอัลลอฮฺ หรือการตักเตือน หรือการร่วมมือเพื่อสนับสนุนการทำดีและห้ามปรามความชั่ว ถือเป็นสิ่งไม่ดีอีกประการหนึ่ง การเยี่ยมในลักษณะนี้ทำให้เสียเวลา เสื่อมความนับถือ และบางทีการพูดมากในงานนี้อาจสร้างความไม่พอใจแก่อัลลอฮฺ ท่านนบีมุหัมมัด -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า 
 

“ชนใดที่ผละตัวออกจากที่พบปะที่ไม่มีการรำลึกถึงอัลลอฮฺ ก็เสมือนกับได้ผละตัวออกจากซากศพของลาเน่า และพวกเขาต้องเสียใจในวันกิยามัต”
 

 (อัล-หากิม ระบุว่าหะดีษนี้เป็นหะดีษเศาะฮีหตามเงื่อนไขของอิหม่ามมุสลิม อัซ-ซะฮะบีย์และอัล-อัลบานีย์ก็เห็นด้วย)

 

อิบนุล ก็อยยิม เราะฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวในหนังสือ อัล-ฟะวาอิด ว่า การสังสรรค์เข้าสังคมกับเพื่อนนั้นมีสองแบบด้วยกัน คือ 
 

     หนึ่ง การร่วมสังสรรค์เพื่อปล่อยอารมณ์และฆ่าเวลา อันนี้โทษของมันมีมากกว่าประโยชน์ อย่างน้อยมันจะทำให้หัวใจด่างดำ ทำให้ต้องหมดเวลาอย่างไร้ประโยชน์  

     สอง การเข้าสังคมเพื่อหาทางรอดและพยายามตักเตือนในสิ่งที่ดีและให้กำลังใจเพื่อให้อดทน อันนี้ถือเป็นลาภอันประเสริฐที่มีค่ามหาศาล 


แต่มันยังแฝงด้วยข้อเสียสามประการ คือ  

หนึ่ง การประดับประดาตัวเองให้ดูดีและเอาหน้าระหว่างกัน  

สอง อาจทำให้เกิดคำพูดและการคลุกคลีเกินความจำเป็น  

สาม อาจทำให้การพบปะกลายเป็นนิสัยความเคยชินและธรรมเนียมปฏิบัติที่หันเหออกไปจุดประสงค์ที่ถูกต้อง

       กล่าวโดยสรุปแล้ว การพบปะและการคลุกคลีนั้นเปรียบเสมือนการผสมผสานกลมกลืนกันเฉกเช่นการผสมเกสร ซึ่งอาจจะเป็นไปเพื่อสนองอารมณ์ใฝ่ต่ำ(อันนัฟซุล อัมมาเราะฮฺ) หรือไม่ก็เพื่อหัวใจและอารมณ์ที่สุขุม (อันนัฟซุล มุฏมะอินนะฮฺ) โดยผลที่ได้รับนั้นย่อมมาจากการผสมผสานดังกล่าวนั่นเอง

         เกสรใดผสมกันได้ดีมันก็จะออกผลที่ดีให้ จิตใจคนเราก็เหมือนกัน ถ้าเป็นจิตใจที่ดีก็ถือว่าเป็นผลมาจากการผสมผสานของมลาอิกะฮฺ แต่ถ้าหากเป็นจิตใจไม่ดีก็ถือว่าเป็นผลมาจากการผสมผสานของชัยฏอน ซึ่งด้วยหิกมะฮฺอันลุ่มลึกของอัลลอฮฺ พระองค์ได้สร้างสิ่งดีๆ เพื่อสิ่งดี ๆ และสิ่งที่ไม่ดีก็คู่ควรกับสิ่งไม่ดี


2. อาจเลยเถิดในความรักและความชัง

       การเลยเถิดในความรู้สึกรักและชังถือเป็นข้อพึงระวังในการคบเพื่อนอีกประการหนึ่ง ซัยด์ บิน อัสลัม ได้เล่าจากพ่อของเขาว่า

     ท่านอุมัร บิน อัล-ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้กล่าวกับฉันว่า โอ้ อัสลัม เจ้าจงอย่าให้รักมาบีบคั้น อย่าให้ชังมาทำลาย

     ฉันถามว่า มันเป็นอย่างไรน่ะ

     ท่านตอบว่า เมื่อท่านรักชอบผู้ใดก็จงอย่าฝืนตัวเองเหมือนกับเด็กที่หมกมุ่นในสิ่งที่เขาชอบ และเมื่อเกลียดชังผู้ใดก็จงอย่าเกลียดโกรธแบบขอให้เพื่อนล้มละลายหายนะ 

        ท่านอะลีย์ บิน อบี ฏอลิบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุ ได้กล่าวว่า จงรักคนรักของท่านเบา ๆ หน่อย เผื่อว่าเขาอาจจะเป็นคนชังของท่านในสักวัน และจงเกลียดคนชังของท่านน้อย ๆ หน่อย เผื่อว่าเขาอาจจะเป็นคนรักของท่านในสักวัน  

        อบุล อัสวัด อัด-ดุอะลีย์ ได้กล่าวว่า รักเถอะเมื่อจะรัก แต่เพียงพอประมาณ เพราะท่านไม่ทราบว่าท่านจะถอนตัวเมื่อไร และเกลียดเถิดเมื่อจะเกลียด แต่อย่าให้ถึงกับแตกหัก เพราะท่านไม่ทราบว่าอาจมีสักวันที่ท่านต้องมาคืนดี

      ความหมายในที่นี้ก็คือให้คงความปานกลางในการรักและชัง เพราะการเลยเถิดในความรักและความชังจะนำพาให้เกิดความบกพร่อง ซึ่งบางทีคู่รักอาจเปลี่ยนเป็นคู่ชัง และคู่ชังอาจผันเป็นคู่รัก ดังนั้น อย่าเลยเถิดในการรักและโกรธเพราะอาจจะทำให้ท่านเสียใจในภายหลังได้ หัวใจนั้นพลิกแพลงไปมาเสมอ มันอาจจะเป็นเหตุให้เสียดายและอับอายได้

นักปราชญ์บางท่านได้กล่าวว่า ท่านจะอย่าคบเพื่อนมากเกินไปแล้วผละจาก จนทำให้คนรู้จักท่านว่าเป็นคนนิสัยแบบนั้น ด้วยการที่ท่านชอบทิ้งเพื่อน 

      นอกจากนั้น การมีความเลยเถิดในความรักเพื่อนอาจจะทำให้ต้องร่วมเห็นชอบในความชั่ว หรือละเว้นหน้าที่ต้องตักเตือนเพื่ออัลลอฮฺกับตัวเขา หรือบางที ความรักดังกล่าวจากจะแปรเปลี่ยนมาเป็นความชิงชังที่สุด ๆ  จนอาจทำให้ความลับต้องรั่วไหล ไม่มีความยุติธรรมและเป็นกลาง 

      อัล-หะสัน ได้กล่าวว่า จงรักเบาๆ จงชังค่อยๆ เพราะเคยมีคนหลายพวกที่เลยเถิดในความรักแล้วต้องพินาศ และเคยมีหลายกลุ่มที่เลยเถิดในความชังแล้วต้องหายนะ


3. การคบกับเพื่อนด้วยอารมณ์ตัณหา

        การเกิดอารมณ์ตัณหามาแทรกคั่นการคบเพื่อนเพื่ออัลลอฮฺ ก็เป็นข้อพึงระวังอีกประการหนึ่ง ซึ่งแทนที่เขาจะรักเพื่อนเพื่อภักดีต่อคำสั่งของอัลลอฮฺตะอาลา และยึดมั่นในบทบัญญัติของพระองค์ เขากลับรักเขาด้วยความหลงใหลในรูปร่างหน้าตาของเพื่อน หรือเพื่อผลประโยชน์ทางโลก และแทนที่จะหวังผลบุญและได้เข้าใกล้ชิดอัลลอฮฺในการคบหาเพื่อน เขากลับหวังที่จะใช้เพื่อนเป็นเพียงที่สนองความรู้สึกทางใจให้หายเหงา หรือให้ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ซึ่งความรักเช่นนี้มักจะอันตรธานหายไปเมื่อไม่มีมูลเหตุแห่งความปรารถนา หรือเมื่อเกิดความเหินห่างระหว่างกัน เพราะแท้จริงแล้ว สิ่งที่ทำเพื่ออัลลอฮฺจะคงอยู่ สิ่งที่ทำเพื่ออย่างอื่นจะไม่ถาวร ดังคำพูดที่ว่า 

ما كان لله دام واتّصل *** و ما كان لغير الله انقطع وانفصل
 

สิ่งที่ทำเพื่ออัลลอฮฺจะยังคงอยู่ยั่งยืน  และสิ่งที่ทำเพื่ออื่นจากพระองค์จะขาดสะบั้น

อัลลอฮฺตรัสว่า

“คนที่เคยเป็นเพื่อนสนิทกันมา ในวันนั้นจะกลายเป็นศัตรูกัน ยกเว้นบรรดาผู้ศรัทธา”

 (อัซ-ซุครุฟ 67) 

และพระองค์ได้ทรงกล่าวถึงเคาะลีลของพระองค์ (นบีอิบรอฮีม -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม) ว่าท่านได้กล่าวกับพวกของท่านว่า

        “และอิบรอฮีมได้กล่าวว่า ที่พวกท่านยกรูปปั้นมาบูชานอกเหนือจากอัลลอฮฺนั้นไซร้ เป็นเพียงสื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันในโลกนี้เท่านั้น ในภายภาคหน้าในวันกิยามะฮฺ พวกท่านจะต้องหมดศรัทธาระหว่างกันและจะต้องสาปแช่งกันไปมา และที่มั่นของพวกท่านจะเป็นนรก และไม่มีผู้ใดจะเป็นผู้ช่วยค้ำชูท่านได้เลย” 

(อัล-อันกะบูต 25) 

       ขอให้อัลลอฮฺทรงให้ความรักของเราต่อคนอื่นจงเป็นความรักเพื่อพระองค์ ให้มันเป็นสื่อสร้างความใกล้ชิดกับพระองค์และเป็นสะพานสู่สวรรค์อันสุขีนิรันดร และให้เป็นสิ่งที่สนับสนุนให้เราได้ทำความภักดีต่อพระองค์และปกป้องเราจากการละเมิดคำสั่งของพระองค์ด้วยเถิด


4. ต้องการเพิ่มจำนวนเพื่อน

       ข้อเสียอีกประการหนึ่งของการคบเพื่อนก็คือทำให้เกิดความอยากเพิ่มจำนวนเพื่อนจนทำให้ไม่สามารถทำหน้าที่และช่วยเหลือต่อพวกเขาในยามจำเป็น 

       ในหนังสือ “ตันบีฮุลฆอฟิลีน” มีระบุว่า มารยาทของชาวสะลัฟ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮุม อีกประการหนึ่งก็คือ พวกเขาจะคบเพื่อนเฉพาะคนที่พวกเขาสามารถจะปฏิบัติหน้าที่แห่งการเป็นเพื่อนกับเขาได้เท่านั้น เพราะเพื่อนของท่านหากท่านไม่สามารถทำหน้าที่ต่อเขาได้ เขาก็จะหมดหวังในตัวท่าน 

       อิบนุ หัซม์ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ กล่าวไว้ในหนังสือ “มุดาวาตุนนุฟูส” ว่า ไม่มีของดีใดๆ ที่ถูกนับว่าคล้ายกับของเสียน่าตำหนิ ที่หนักหนาเทียบเท่ากับการพยายามเพิ่มจำนวนเพื่อนและคนสนิท เพราะไม่สามารถที่จะมัดใจพวกเขาได้ นอกจากต้องใช้ความอ่อนโยน เอื้อเฟื้อ อดทน ทำจริง โอนอ่อน คบค้า ไม่ละโมบ ปกป้องเพื่อนด้วยวิธีการที่ดีที่สุด ต้องหมั่นศึกษาความรู้และทำทุกสิ่งที่เป็นความดีน่ายกย่อง หากแต่ยามใดที่คิดแต่จะเพิ่มจำนวนเพื่อน และอยากที่จะเอาใจพวกเขา หลอกหลวงในการคบหากับพวกเขาหรือการให้สิทธิที่พึงควรต่อพวกเขาเวลาพวกเขาตกทุกข์ ซึ่งวินาทีนั้น หากท่านบิดพลิ้วหรือปล่อยปะละเลยพวกเขา ท่านก็จะถูกสาปแช่งและถูกตำหนิ และหากท่านทำหน้าที่ตามสัญญา ท่านก็ต้องบีบคั้นจนอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง บางทีถึงขั้นต้องล้มตายก็มี ดังนั้น ความสุขนั้นเกิดขึ้นเพราะมีพวกเขา ไม่ใช่ด้วยความโศกเศร้าเจ็บปวดเพราะพวกเขา 

อัมร์ บิน อัล-อาศ กล่าวว่า เพื่อนเยอะก็เหมือนลูกหนี้เยอะ

อิบนุ อัร-รูมีย์ ได้กล่าวว่า 

عدوّك من صديقك مستفاد *** فلا تستكثرنّ من الصحاب
فإن الداء أكثر ما تراه *** يكون من الطعام أو الشراب
 

ศัตรูของท่านมักจะใช้ประโยชน์จากเพื่อนของท่าน ดังนั้นอย่าคบหาเพื่อนเยอะจนเกินเลย
 

เพราะโรคส่วนใหญ่ที่เราเห็น ก็มักจะเกิดจากอาหารการกินที่เราชอบทานกันนั่นแหละ


5. ความลับแตก

       ข้อเสียของการคบเพื่อนอีกประการหนึ่งก็คืออาจทำให้คนอื่นรู้ความลับเกี่ยวกับเรื่องศาสนา นิสัย มารยาท ความยากจน และสิ่งที่ควรปิดบังอื่น เพราะมนุษย์เรานั้นไม่มีใครที่บริสุทธิ์ผุดผ่องกันทุกคน ทั้งในเรื่องศาสนาและเรื่องชีวิตทั่วไป ซึ่งควรที่จะต้องปกปิดไว้ดีกว่า ดังที่อัลลอฮฺได้ทรงชื่นชมบรรดาผู้ปิดความลับว่า 

“คนไม่รู้จะคิดว่าพวกเขาเป็นคนรวย จากความไม่มักมากของพวกเขา” 

(อัล-บะเกาะเราะฮฺ 273)

         อัล-หะสัน ได้กล่าวว่า ฉันตั้งใจจะไปทำหัจญ์ แล้วษาบิต อัล-บุนานีย์ก็รู้ข่าว ซึ่งเขาเป็นวะลีย์ผู้ใกล้ชิดอัลลอฮฺคนหนึ่ง เขาบอกว่า ฉันได้รับข่าวว่าท่านจะไปหัจญ์ปีนี้ เลยฉันอยากจะไปเป็นเพื่อนด้วยกันกับท่าน

          อัล-หะสันเลยตอบว่า ไม่เอาน่ะ ปล่อยเราให้ได้อยู่ในแบบที่อัลลอฮฺปกปิดเรื่องของเราดีกว่า เพราะฉันกลัวว่าหากเราไปด้วยกันแล้ว เราอาจจะเห็นสิ่งไม่ดีของกันและกันซึ่งอาจจะนำมาสู่การโกรธเคืองกันได้

        ท่านอะหฺมัด ฟะรีด กล่าวว่า เรื่องนี้สำคัญมากโดยเฉพาะ กับคนที่ต้องทำหน้าที่คอยตักเตือนผู้คน เขาไม่ควรจะคบคนจนมากเกินไป หรือเข้าสังคมกับผู้คนจนเกินเขต แม้ในสิ่งที่เป็นสิ่งอนุมัติ เพื่อให้พวกเขาเหล่านั้นได้ใช้ประโยชน์จากคำตักเตือนอบรมของเขาอย่างเต็มที่ และให้เขาใช้ประโยชน์จากการปิดบังของอัลลอฮฺต่อตัวเขา ในบาปและความไม่ดีต่าง ๆ ที่เขาพลาดพลั้งกระทำลงไป ซึ่งถ้าผู้อื่นเห็นแล้วอาจจะไม่ถูกใจเขา ขออัลลอฮฺ ประทานอภัยโทษและความปลอดภัยในโลกดุนยาและอาคิเราะฮฺแก่เราด้วยเถิด  


6. อันนี้คือโรคที่เกิดเฉพาะกับคนที่คบกับคนรวย

        ในหลาย ๆ โรคที่เกิดกับคนคบคนรวยก็คือมองข้ามนิอฺมัตของอัลลอฮฺที่มีต่อตัวเขา การเกิดความคิดอยากได้ในหัวใจ บางทีไม่ได้ดั่งใจหวังจนทำให้เกิดความเศร้า ทั้งนี้ ผู้ใดที่เพ่งมองถึงความสุขสบายของโลกดุนยาเขาก็จะเกิดความลุ่มหลงและความละโมบ และท้ายที่สุดจะผิดหวังจนทำให้เกิดความทุกข์เพราะสิ่งนั้น มาตรว่าเขาปลีกตัวเขาก็จะไม่เห็น เมื่อไม่เห็นก็จะไม่อยากและไม่เกิดการคลุกคลี  ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺจึงมีบัญชาว่า 

“เจ้าจงอย่าทอดสองดวงตาเพ่งมองสิ่งที่เราได้มอบให้แก่พวกเขาบางคู่” 

(ฏอฮา 131)

ท่านนบีมุหัมมัด -ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ได้กล่าวว่า 

“พวกท่านจงดูคนที่ต่ำกว่าพวกท่าน และอย่าดูคนที่สูงกว่า

เพราะนั่นดีกว่า ที่จะไม่ชักพาให้พวกท่านลืมสำนึกในความกรุณาของอัลลอฮฺที่มีต่อพวกท่าน” 

(อัล-บุคอรีย์และมุสลิม)

        เอาน์ บิน อับดุลลอฮฺ ได้กล่าวว่า ฉันเคยคบกับคนร่ำรวย จนทำให้ฉันต้องเศร้าหมองตลอดเวลา ฉันเห็นเสื้อผ้าที่ดีกว่าเสื้อผ้าของตัวเอง และเห็นพาหนะที่ดีกว่าพาหนะของตัวเอง ต่อมาฉันได้คบกับคนจน ปรากฏว่าฉันโล่งใจเป็นที่สุด


7. การยุ่งกับคนอื่นเกินไป

       หนึ่งในข้อเสียของการคบคนก็คือ การต้องหมกมุ่นกับเพื่อน ๆ จนไม่สามารถสละเวลาและหัวใจเพื่อครุ่นคิดถึงอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่เป็นความปรารถนาอันดับหนึ่งของหัวใจ และเป็นมูลเหตุแห่งความสุขและความรอดพ้นที่สำคัญที่สุดสำหรับหัวใจอีกด้วย จนเกิดสำนวนว่า การหมกมุ่นกับมนุษย์คือสัญญาณแห่งความล้มละลาย

นักปราชญ์บางคนกล่าวว่า

          ที่มนุษย์รู้สึกว้าเหว่ นั่นเพราะตัวเขาขาดปัจจัยแห่งความดีงาม เขาจึงพยายามคบหาเพื่อนฝูงและสลัดความโดดเดี่ยวอ้างว้าง ด้วยการได้อยู่ร่วมกับพวกเขา ทว่า หากเขาเป็นผู้ที่มีสิ่งดีงามอยู่ในตัวแล้วไซร้ เขาก็จะโหยหาการอยู่คนเดียว เพราะจะได้ใช้ความเงียบสงบในการครุ่นคิด จนสามารถตกผลึกความรู้และวิทยปัญญาต่างๆ ออกมา


 

 

ผู้แปล: ซุกรีย์นูร จงรักศักดิ์, ซุฟอัม อุษมาน / Islamhouse