เพื่อนบ้านที่เราต้องดูแล
  จำนวนคนเข้าชม  8488

 

เพื่อนบ้านที่เราต้องดูแล

 

โดย อาจารย์ อัดนาน เชื้อผู้ดี

 

         ศรัทธาชนที่รักและเคารพทั้งหลาย ขอเราและท่านทั้งหลายจงตั้งมั่นอยู่บนตักวา ยำเกรงต่อพระองค์อัลลอห์  ด้วยการปฏิบัติในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ ออกห่างละเว้นไม่กระทำในสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม 

 

          ศรัทธาชนที่รักและเคารพทั้งหลาย วันนี้เป็นวันศุกร์ เดือน เชาวาล เราและท่านทั้งหลาย ได้จากรอมาดอนมา ประมาณ 2 สัปดาห์ สิ่งที่อยากจะขอย้ำเตือนเรา และท่านทั้งหลายนั่นก็คือ ขอให้เราปฏิบัติในสิ่งที่เป็นความดีงาม รักษาอิบาดะห์อย่างมีอิสติกอมะห์(ต่อเนื่อง) ให้เรานำสิ่งที่เป็นความดีงามที่เราได้ทำในช่วงของเดือนรอมาดอนนำสู่การปฏิบัติในชีวิตที่เหลืออยู่ของเรา และสิ่งใดที่เราเคยออกห่าง ก็ขอให้เราอิสติกอมะห์ไม่กระทำต่อไป

 

         ท่านพี่น้องครับ 1 ปี มี 12 เดือน หาก 1 ปีเราดีแค่เดือนเดียว แล้วอีก 11 เดือนเราทำตัวตรงข้ามกับรอมาดอน ถ้าคิดเป็นอัตราส่วนมันไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แน่นอนความสมดุลมันก็คงเอียงไปทางใดทางหนึ่ง แต่ถ้าต้องให้เอียงก็ขอให้อยู่ทางด้านความดีงาม ขอให้เรารักษาความดีงามอย่างต่อเนื่อง นอกจากบางอย่างที่ไม่อนุญาตให้ทำนอกรอมาดอน เช่นละหมาดตารอเวียะห์เป็นต้น แต่อาม้าลอื่นๆเราทำได้ เช่นถือศีลอดสุนัต 

 

          ท่านพี่น้องทั้งหลายครับ ฉันใดที่รถยนต์ของเรา เมื่อเราเติมน้ำมันเต็มถังเราวิ่งไปซักระยะน้ำมันก็จะหมด เราจึงต้องเติมน้ำมันเชื้อเพลิง ฉันใดก็ฉันนั้น ชีวิตของเราเติมเต็มในช่วงของเดือนรอมาดอนในเรื่องของความดีงาม มันคงจะไม่ดีถ้าหากเราไม่เติมความดีงามหลังจากที่รอมาดอนจากไป ดังนั้นเป็นเหตุให้รถยนต์ของเราต้องจอดกลางทางเพราะเชื้อเพลิงหมด  

 

          ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่ไม่ได้เป็นศาสนาที่เน้นภาคพิธีกรรมเพียงอย่างเดียว อิสลามยังสอนให้เราปฏิบัติในมิติต่างๆของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเรากับพระองค์อัลลอห์  ไม่ว่าจะเป็นเรากับผู้เป็นมนุษย์ ซึ่งอาจจะแยกเป็นมนุษย์ที่เป็นพ่อแม่ ครูบาอาจารย์ ผู้อาวุโสหรือญาติพี่น้องใกล้ชิด อิสลามได้วางกฎระเบียบต่างๆ มากมายเกี่ยวกับเรื่องการดำเนินชีวิต ประเด็นสำคัญที่เราขอนำมาพูดถึงก็คือ ศาสนาอิสลามได้สอนในการอยู่ร่วมกันในสังคม ในฐานะที่เป็นเพื่อนบ้านต่อกัน โดยเฉพาะสังคมที่อยู่กันอย่างติดแน่น อยู่เคียงข้างกัน แทบจะไม่มีกำแพงล้อมรอบแต่ละบ้าน ด้วยความรัก ความผูกพัน อิสลามได้สอนให้เราเป็นผู้หนึ่งที่ต้องอยู่ร่วมกันในสังคม โดยเฉพาะเพื่อนบ้าน เราต้องอยู่ด้วยการมีคุณธรรมต่อกัน ห้ามสร้างความเดือดร้อนต่อกัน 

 

ท่านหะสัน บ่ะซอรี ได้เคยถูกถามว่า เพื่อนบ้านคือใคร ? มีขอบเขตแค่ไหน ? 

       ท่านฮะซันได้ตอบว่า เพื่อนบ้านก็คือเพื่อนที่อยู่หน้าบ้านเรา 40 หลังคาเรือน ด้านหลังบ้านเรา 40 หลังคาเรือน ทางด้านขวา และซ้ายอีกข้างละ 40 หลังคาเรือน 

        หากเราหลับตานึกภาพที่อยู่รอบๆ บ้านเราที่อยู่ถัดไป 40 หลังคาเรือน นั่นก็คือเพื่อนบ้านเราที่เราจะต้องรัก ช่วยเหลือกัน และต้องไม่ละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน ท่านคงจะได้ยินฮะดีษหลายๆต้นเกี่ยวกับเพื่อนบ้าน บางบทท่าน นบีมุฮัมมัดร่อซู้ลลุลลอห์  เล่าว่าท่าน 

"ญิบรีล ลงมาหาท่านมาพูดถึงเรื่องเพื่อนบ้าน จนกระทั่ง ฉันคิดว่าเพื่อนบ้านนั้นสามารถรับมรดกกันได้" 

          หมายถึงความใกล้ชิดของเพื่อนบ้าน ดังนั้นจึงอยากให้เราและท่านทั้งหลาย จงเป็นเพื่อนบ้านที่ดีต่อกัน ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กันและกัน ถ้าหากว่าเราทำในสิ่งที่ผิดต่อมารยาทของการเป็นเพื่อนที่ดี เราก็ควรที่จะขอมะอัฟ(ขออภัย) ซึ่งกันและกัน และถ้าหากว่าเพื่อนบ้านของเราปฏิบัติในสิ่งที่ละเมิดสิทธิของเรา ก็อยากให้เราและท่านทั้งหลายได้ มะอัฟ(ขออภัย) ให้แก่กันและกัน และก็พูดคุยกัน เพราะคนที่จะช่วยเราได้อย่างดีที่สุดและเร็วที่สุดเมื่อมีภัยมาถึงบ้านเรา ก็คือคนที่อยู่บ้านติดกับเรามากที่สุด 

ท่านพี่น้องที่เคารพ مراتب الجار (มะรอตีบุ้ลญ๊าร) ระดับของคนที่เป็นเพื่อนบ้านนั้นมีอยู่ 3 ขั้นด้วยกัน 

     1. เพื่อนบ้านที่มีสิทธิถึง 3 สิทธิด้วยกัน นั่นก็คือเพื่อนบ้านที่เป็นญาติใกล้ชิด เป็นมุสลิม และเป็นเพื่อนบ้านของเรา  ดังนั้นถ้าเพื่อนบ้านที่มีคุณสมบัติใน 3 ประการดังกล่าวนี้ เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำกับเขาอย่างดีที่สุด 

     2. เพื่อนบ้านในระดับรองลงมา คือเพื่อนบ้านที่เราต้องมอบให้กับเขาสองสิทธิ ก็คือสิทธิแห่งความเป็นเพื่อนบ้าน และสิทธิของการเป็นมุสลิมด้วยกัน นั่นก็คือเพื่อนบ้านที่ไม่ได้เป็นญาติทางสายเลือดกับเรา 

     3. และเพื่อนบ้านอีกประเภทหนึ่งก็คือเพื่อนบ้านที่ไม่ใช่มุสลิม อิสลามก็สอนให้เรานั้นจำเป็นต้องมอบสิทธิให้กับเขา ในฐานะที่เขาเป็นเพื่อนบ้านของเรา แม้นเขาจะไม่ใช่มุสลิมก็ตาม 

         ดังนั้นจากประเด็นตรงนี้ อิสลามไม่ได้ปิดกั้นหากว่าบ้านของเราใกล้กับผู้ที่ไม่ใช่มุสลิม จำเป็นที่เราต้องทำดีกับเขา ในฐานะที่เขาเป็นเพื่อนบ้านในระดับที่ 3 ได้มีบันทึกโดยท่านอิหม่ามบุคอรี และอิหม่ามมุสลิม จากท่านอบูฮุรอยเราะห์ แท้จริงท่านนบี  ได้กล่าวว่า 

"ขอสาบานต่อพระองค์อัลลอห์ ว่า เขาไม่ใช่ผู้ที่มีอีหม่านอย่างสมบูรณ์

ขอสาบานต่อพระองค์อัลลอห์ ว่า เขาไม่ใช่ผู้ที่มีอีหม่านอย่างสมบูรณ์

ขอสาบานต่อพระองค์อัลลฮ์ ว่าเขาไม่ใช่ผู้ที่มีอีหม่านอย่างสมบูรณ์ "
 

เหล่าอัครสาวกก็ถามว่า " ใครกัน โอ้ท่าน ร่อซูล  "

แล้วท่านนบี ก็ตอบว่า " คือคนที่เพื่อนบ้านของเขาไม่ได้รับความปลอดภัยจากความชั่วร้ายของเขา "

         การยืนยันด้วยการสาบานของท่านร่อซุล ถึง 3 ครั้ง ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของเพื่อนบ้าน และถือว่าเป็นผู้ที่ขาดคุณธรรม จากผู้ที่สร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่มีบ้านใกล้เรือนเคียง ท่านนบี  ได้กล่าวเตือนให้เราทราบว่า ผู้ที่สร้างความเดือดร้อนแก่เพื่อนบ้านคือผู้ที่ไม่มีอีมานต่อพระองค์อัลลอห์ และวันอาคิเราะห์อย่างสมบูรณ์ 

        มีอีกรายงานหนึ่งโดยท่านอบูฮุรอยเราะห์ได้เล่าว่า ท่านนบี  ได้เคยถูกถามถึง ผู้หญิงคนหนึ่งที่เป็นผู้ที่ทำอิบาดะห์ยามค่ำคืน์ กลางวันก็ถือศีลอดสุนัต นางทำการบริจาค แต่นางทำร้ายเพื่อนบ้านด้วยลิ้นของนาง 

ท่านนบี  ตอบเกี่ยวกับนางว่า " ไม่ถือเป็นความดีงามในตัวนาง  นางเป็นส่วนหนึ่งจากชาวนรก "

(รายงานโดยท่านอิมามบุคอรีย์) 

         จากตัวบทข้างต้น อยากให้เราได้พิจารณาความสำคัญที่ศาสนาอิสลามของเราได้ให้ความสำคัญต่อผู้ที่เป็นเพื่อนบ้านของเรา เราจะเห็นได้ว่าถึงขั้นที่ นบี ระบุชัดเจนว่า คนที่ปฏิบัติไม่ดีต่อผู้เป็นเพื่อนบ้านแม้จะด้วยวาจา แม้จะด้วยกับลิ้น ถือว่าเป็นชาวนรก ทั้งๆที่พฤติกรรมนั้นเป็นผู้ที่ปฏิบัติดียิ่ง อาม้าลกลางคืนทำตลอด บริจาคตลอด แต่ข้อเสียของนางนั้นทำร้ายเพื่อนบ้านด้วยกับลิ้นหรือวาจา นางถูกตัดสินลงนรก หากวันนี้เพื่อนบ้านเดือดร้อน ด้วยกับพฤติกรรมของเรา ด้วยกับเสียงเพลงที่เราเปิด ด้วยกับอะไรต่อมิอะไรที่ทำให้คนข้างๆนั้นรำคาญ อาม้าลอิบาดะห์ ยามค่ำคืนเราก็ไม่ได้ทำ บริจาคเราก็ไม่ได้ทำ แน่นอนชะตากรรมเลวร้ายยิ่งกว่าหญิงคนนี้ จึงอยากให้เราและท่านทั้งหลายลองตรวจสอบ ที่สำคัญการละเมิดต่อเพื่อนบ้านนั้น เป็นฮักกุ้ลอาดัม เป็นสิทธิที่ละเมิดต่อมนุษย์ด้วยกัน การเตาบะห์ การขออภัยโทษต่อพระองค์อัลลอฮ์  เพียงอย่างเดียวจะยังไม่ถือว่าครบถ้วน จนกว่าผู้ที่ถูกเราละเมิดนั้นของต้องยินดีให้กับเราต้อง มะอัฟ(อภัย)ให้กับเรา ดังนั้นที่ผ่านมาอาจจะผ่านไปแล้วแก้ไขไม่ได้ แต่สิ่งที่เราสามารถทำได้วันนี้ก็คือขอ มะอัฟ ซึ่งกันและกัน แล้วก็พยายามป้องกันตัวเองไม่ให้ตกไปในการกระทำที่ไม่ดีต่อเพื่อนบ้านในคราวต่อๆไป 

          จากคำสั่งเสียของท่านนบี  ของเราให้ทำดีต่อเพื่อนบ้าน พระองค์ไม่ได้แบ่งแยก ว่าเพื่อนบ้านคนนั้นเป็นมุสลิม หรือไม่ใช่มุสลิม จึงถือว่าทุกคนที่เป็นเพื่อนบ้านของเราต้องได้รับสิทธิ์ เราต้องปฏิบัติดีต้องมีคุณธรรมต่อทุกๆ คนที่เป็นเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่อยากจะฝากในประเด็นที่อาจจะกระทำโดยพลั้งพลาดไป ในกรณีที่เมื่อใดก็ตามที่เราจะต้องมีเสียงรบกวนเพื่อนบ้าน อย่างเช่นในกรณีที่จัดงานแต่งงานให้กับลูกของเรา จะต้องมีการตั้งลำโพง เครื่องเสียง ก็อยากให้เราลองพิจารณาดูด้วยว่า คนที่เป็นเพื่อนบ้านของเรา เขาจะรู้สึกอย่างไร โดยเฉพาะเพื่อนบ้านของเรามีคนที่ป่วย มีผู้อาวุโส ที่ต้องการความสงบ  ควรให้อยู่ในความพอดี ไม่ใช่มีสตางค์จ้างเครื่องเสียงดีๆ มาก็ไม่สนใจอะไรใครอื่น เพราะนี่เรากำลังแต่งงานที่เป็นซุนนะห์ แต่เรากำลังทำในสิ่งที่เป็นมะซียะห์ เข้ามาปะปนกับซุนนะห์ และพิธีกรรมของเรา ชีวิตของลูกเราในอนาคตมันจะมีบารอกัตได้อย่างไร ในเมื่อคนที่เป็นเพื่อนบ้านไม่ได้ขอดุอาอฺ ที่ดีให้กับเรา 

          ท่านพี่น้องครับ อยากให้เราและท่านทั้งหลายได้มีโอกาสที่จะได้ตรวจสอบตัวเอง เกี่ยวกับเรื่องปฏิบัติตัวของเรากับเพื่อนบ้าน อินชาอัลเลาะห์ ถ้าเรายึดมั่นในหลักธรรมคำสอนของศาสนา เรานำหลักคำสอนเกี่ยวกับเพื่อนบ้านจากกุรอานก็ดี จากหะดีษก็ดี เราก็จะเป็นคนหนึ่งที่อยู่ร่วมกันด้วยความรัก อาศัยอยู่ในสังคมเดียวกันผูกพันกัน มิใช่ด้วยความรู้สึกที่รังเกียจต่อกัน ขอให้เราท่านทั้งหลายได้รับ ฮิดายะห์ จากพระองค์อัลลอห์  เพื่อที่เราจะได้อยู่ในโลกดุนยานี้อย่างมีความสุข มีเพื่อนบ้านที่น่ารัก ปฏิบัติดีต่อกัน และในอาคิเราะห์เราจะเป็นผู้ที่ได้รับความเมตตาจากพระองค์อัลลอห์ 


คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ