ความระทมทุกข์ ธรรมชาติของชีวิตในโลกนี้
  จำนวนคนเข้าชม  3039


ความระทมทุกข์ ธรรมชาติของชีวิตในโลกนี้


 

ชัยคฺ มุฮัมมัด ศอลิหฺ อัล มุนัจญิด
 


           ความทุกข์กังวลใจและความวิตกเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติของชีวิตแห่งดุนยา (โลกนี้) ที่มนุษย์นั้นต้องประสบกับมัน อันเนื่องจากโลกนี้เป็นดินแดนแห่งความระทมทุกข์ ความหนักหน่วงและความรันทด ด้วยเหตุนี้เองที่ส่วนหนึ่งจากลักษณะพิเศษของสวนสวรรค์ที่แตกต่างจากดุนยาก็คือ การปราศจากความวิตกกังวลและความทุกข์ ดังปรากฏในอัลกุรอานว่า


“ความเหนื่อยยากจะไม่ประสบแก่พวกเขาในนั้น และพวกเขาจะไม่ถูกนำออกจากที่นั้น” 

(15:48) 

ชาวสวรรค์จึงไม่ต้องประสบกับความทุกข์ยากใด ๆ แม้แต่เพียงแค่คำพูด

“ในสวนสวรรค์นั้นพวกเขาจะไม่ได้ยินคำพูดที่ไร้สาระ และเป็นบาป เว้นแต่คำกล่าวที่ว่า  ศานติ ศานติ ” 

(56:25-26) 

          ธรรมชาติของชีวิตในโลกนี้ก็คือ ความระทมทุกข์และความปวดร้าวที่มนุษย์ต่างต้องเผชิญหน้ากับมันในสภาวะและสภาพการณ์ต่างๆ อันหลากหลาย ดังเช่นที่พระดำรัสแห่งสัจจะได้ชี้ให้เห็นถึงเรื่องนี้เอา ไว้ว่า

“โดยแน่นอนเราได้บังเกิดมนุษย์มาเพื่อเผชิญความยากลำบาก”

 (90:4)

นั่นก็คือ ความเศร้าใจในสิ่งที่ได้ผ่านเลยไป ความวิตกกังวลในสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ความระทมทุกข์กับสภาพปัจจุบัน

          ความกดดันที่ปรากฏขึ้นในหัวใจ หากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมาก็ทำให้เกิดความเศร้าสลด หากว่าเป็นเรื่องในอนาคตก็จะเกิดความวิตกกังวล และหากว่าเป็นเรื่องในปัจจุบันก็จะเกิดความระทมทุกข์ หัวใจมีปฏิกิริยาที่แตกต่างกันต่อความวิตกกังวลและความระทมทุกข์ทั้งในแง่ความแข็งแกร่งและความอดกลั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสิ่งที่มีอยู่ในหัวใจนั้น อันได้แก่ อีหม่าน (ความศรัทธา) หรือการฝ่าฝืนและการละเมิด

หัวใจนั้นแบ่งได้สองชนิด

     ♥ หัวใจชนิดหนึ่งเป็น “อัรชฺ” (บัลลังก์) แห่งพระผู้ทรงเมตตา (อัลลอฮฺ) หัวใจชนิดนี้มีรัศมี ชีวิต ความปลื้มปิติ ความสุขใจ และมีคลังแห่งความดี

     ♥ หัวใจอีกชนิดหนึ่งเป็น “อัรชฺ” (บัลลังก์) แห่งชัยฏอน มันมีแต่ความคับแคบ ความมืดมน ความตาย ความเศร้าสลด ความระทมทุกข์ และความวิตกกังวล 

(อ้างจาก ฟะวาอิด ของอิบนุ กอยยิม)

          มนุษย์จึงมีความวิตกกังวลที่หลากหลายแตกต่างกันออกไปตามแรงจูงใจ ตามสภาพ และตามความรับผิดชอบที่ปัจเจกชนแต่ละคนได้แบกรับกันเอาไว้


ความระทมทุกข์รูปแบบแรกจัดว่าเป็นเรื่องดีเลิศ ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดีงาม อาทิ 


           ♣ ความวิตกกังวลของคนอาลิม (ผู้รู้) ที่มีต่อการแก้ไขประเด็นปัญหาที่ยุ่งยาก ซึ่งบรรดามุสลิมต่างปรารถนาที่จะได้รับคำตอบเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปัญหานั้นเป็นประเด็นที่มีทั้งความยุ่งยากซับซ้อนและความคลุมเครือ ในทำนองเดียวกันกับความกังวลใจของผู้นำมุสลิมที่มีต่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคลที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบ นี่เป็นสิ่งที่อุมัรทั้งสองท่าน (คือ อุมัร อิบนุ อัล ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ และอุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ) และคนอื่น ๆ ได้เกิดความกลัดกลุ้มใจ

          - อุมัรท่านแรก (อุมัร อิบนุ อัล ค็อฏฏอบ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ) นั้นได้คิดถึงการตระเตรียมกองทับในขณะละหมาด แล้วเขาได้ขออภัยโทษ (ต่ออัลลอฮฺ ) ในเรื่องนี้ และเขายังเคยเกิดความรู้สึกเป็นกังวลต่อ ปศุสัตว์ที่หกล้มในแผ่นดินอิรัก

           - อุมัรท่านที่สอง (อุมัร อิบนุ อับดุล อะซีซ) เคยแสดงความรู้สึกที่เกิดจากความปวดร้าวด้วยถ้อยคำที่ว่า “แท้จริงข้าพเจ้าต้องเข้าไปดูแลงานชิ้นหนึ่ง ที่ไม่มีผู้ใดช่วยเหลือได้เลย เว้นแต่อัลลอฮฺ  แน่แท้ ผู้อาวุโสได้มาถึงบั้นปลายแห่งชีวิตบนงานนี้ ส่วนผู้อ่อนเยาว์ก็เติบโตเป็นผู้ใหญ่บนงานนี้ คนที่มิใช่อาหรับก็ได้เรียนรู้ภาษาอาหรับที่ถูกต้องบนงานนี้ ส่วนชาวเบดูอินก็ได้อพยพ (สู่เมือง)บนงานนี้ (จนถึงขั้นที่ว่า) พวกเขาคิดว่างานนี้คือศาสนา พวกเขาไม่เห็นสัจจะในที่แห่งใดอีกเลย เว้นแต่ในงานชิ้นนี้” 

(อ้างจากซิเราะฮฺ อุมัร อิบนิ อับดิล อะซีซ ของ อิบนุ อัลดิล ฮะกัม หน้า 37)

           ยิ่งกว่านั้น หากว่าเรื่องที่ต้องตัดสินใจนั้นมีความเกี่ยวพันกับบั้นปลายของมุสลิมมากยิ่งขึ้นเท่าใด ความวิตกกังวลก็ยิ่งเพิ่มขึ้นมากยิ่งขึ้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองที่เมื่อท่านอับดุล เราะมาน อิบนุเอาฟฺ เราะฏิยัลลอฮุอันฮุ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้คัดสรรตำแหน่งคอลีฟะฮฺของบรรดามุสลิมหลังจากท่านอุมัร เราะฏิยัลลอฮุอันฮุ เขาไม่ได้หลับไม่ได้นอนเลย เพื่อที่จะทำการปรึกษาหารือกับบรรดามุสลิม แม้แต่ปรึกษากับหญิงชรา ก็ตาม

 (อ้างจากอัล บุคอรียฺ อัล ฟัตฮฺ 7207)


           รูปแบบอีกชนิดหนึ่งของความกังวลที่สมควรได้รับการยกย่องนั่นก็คือ ความกังวลใจของบรรดา ดาอียฺ (นักทำงานเพื่ออิสลาม) ในเรื่องเกี่ยวกับการเผยแผ่อิสลาม การแบกรับภาระแห่งสาสน์ และการนำผู้ที่พวกเขาเชิญชวนให้เข้าไปสู่เส้นทางแห่งฮิดายะฮฺ (ทางนำของอัลลอฮฺ )


           นอกจากนี้ยังมีความกังวลใจของอาบิด (ผู้เคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ) ในเรื่องการประกอบอิบาดะฮฺให้ถูกต้องทั้งในแง่เจตนารมณ์และการปฏิบัติดี อีกทั้งความกังวลใจของมุสลิมที่มีต่อสิ่งที่พี่น้องของเขาต้องประสบเคราะห์กรรมอยู่ในทั่วทุกหัวระแหง เป็นต้น

 


           รูปแบบของความระทมทุกข์อีกชนิดหนึ่งเกิดขึ้นเนื่องจากการกระทำบาป อาทิเช่น ความวิตกกังวลที่เกิดขึ้นกับผู้กระทำบาป หลังจากที่ได้กระทำบาปนั้นๆ ตัวอย่าง การเกิดความหวาดวิตกที่เกิดจากการละเมิดเลือดที่ต้องห้าม (ฆาตกรรม) หรือความวิตกของหญิงที่ทำซินา (ผิดประเวณี) ที่เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นมา



           รูปแบบความระทมทุกข์อีกชนิดหนึ่งเกิดจากการอธรรมต่อผู้อื่น อาทิเช่น การไปอธรรมต่อญาติสนิทเข้า ดังที่กวีท่านหนึ่งได้กล่าวว่า

“อธรรมต่อญาติใกล้ชิด ปวดร้าวในดวงจิต ยิ่งกว่าการฟาดฟันจากดาบที่ทรงพลังเสียอีก”


            รูปแบบของความระทมทุกข์อีกชนิดหนึ่งเกิดจากทุกข์ภัยแห่งดุนยา อาทิเช่น โรคเรื้อรังต่างๆ การดื้อดึงของลูกๆ ภรรยาที่วางอำนาจ และสามีที่ไม่อยู่กับร่องกับรอย



           รูปแบบของความระทมทุกข์อีกชนิดหนึ่งเกิดจากความหวาดกลัวต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และสิ่งที่ถูกซ่อนอยู่ภายใต้กาลเวลา อาทิเช่น ความวิตกกังวลของพ่อแม่ที่มีต่อลูกๆ หลังจากเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากว่าพวกเขายังอ่อนแออยู่ โดยที่เขาไม่มีอะไรที่จะทิ้งไว้ให้แก่พวกเขาไว้เบื้องหลัง

 


นี้เป็นการนำเสนอเพียงเล็กน้อยที่เกี่ยวกับรูปแบบต่างๆ ของความระทมทุกข์ 



หนังสือ "คลายทุกข์ด้วยคำสอนของอิสลาม"

ผู้แปล   อบุล ลัยษฺ