หลักเกณท์ที่ถูกตัองกับกลุ่มที่หลงทาง
  จำนวนคนเข้าชม  2529


หลักเกณท์ที่ถูกตัองกับกลุ่มที่หลงทาง



 

อาบีดีณ โยธาสมุทร แปลเรียบเรียง


 

           เมื่อวันที่ 9-6-ฮ.ศ.1437 (18-3-2016) ได้มีการอบรมวิชาการที่ทางสำนักพิมพ์ อั้ซซะละฟียะฮ์ แห่ง Birmingham จัดขึ้นในช่วงระหว่างวันที่ 15-19 มี.ค. โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ผู้ใฝ่ในความรู้ที่เดินทางมาทำอุมเราะฮฺ ทั้งที่มากับทางคณะผู้จัดการอบรมและคณะอื่นๆที่สนใจ ได้มีโอกาสเข้ามารับความรู้โดยตรงจากนักวิชาการที่เป็นที่น่าเชื่อถือ 


          ซึ่งในการอบรมครั้งนี้มีนักวิชาการชั้นนำหลายท่านด้วยกันที่เข้ามามีส่วนร่วมในการถ่ายทอดข้อมูลทางวิชาการให้แก่ผู้เข้าร่วมการอบรม อาทิเช่น ท่านเชคร่อเบี้ยะ อั้ลมัดค่อลี่, เชคมุฮัมหมัด อั้ลมัดค่อลี่, เชคอับดุลลอฮฺ อั้ลบุคอรียฺ -ฮะฟิศ่อฮุ้มุ้ลลอฮฺ- และท่านอื่นๆ


          หนึ่งในบรรดานักวิชาการที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมรับฟังข้อมูลการอบรมจากท่านก็ได้แก่ ท่านเชคอับดุลลอฮฺ อั้ซซุไฟรี่ ฮะฟิซ่อฮุ้ลลอฮฺ ซึ่งหัวขัอที่ท่านได้รับมอบหมายให้ทำการถ่ายทอดคือ การอธิบายบทความ เรื่องหลักเกณฑ์สี่ประการ ของท่านเชคมุฮัมหมัด อิบนุ อับดิลวะฮ้าบ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺในการบรรยายข้อมูลครั้งนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจอยู่หลายประเด็นด้วยกัน ซึ่งจะถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้มีโอกาสเรียนรู้ไปด้วยกันด้วยสำนวนง่ายๆ เพื่อให้สะดวกแก่การเข้าใจดังนี้


     1. หลายคนอาจจะสงสัยว่าหลักเกณฑ์ที่กำลังคุยกันอยู่นี้มันเป็นมายังไง ? มันต่างจากหลักเกณฑ์ที่พวกนอกลู่ ที่เดินอยู่นอกทางเค้าตั้งกันไว้หรือไม่ ? แล้วหลักเกณฑ์พวกนี้จะส่งผลอะไรกับชีวิตเราบ้าง ? คำถามนี้มีคำตอบ ซึ่งเราจะได้รับทราบไปด้วยกันหลังจากนี้ อินชาอัลลอฮฺ


      2. เชคได้อธิบายว่า การที่คนๆ หนึ่ง สามารถจับประเด็นสำคัญๆ ของศาสนาได้ถูกและมีความพยายามที่จะเข้าใจในเรื่องเหล่านั้นให้ได้ตรงและถูกต้องที่สุด ด้วยการดำเนินตามข้อมูลจากอัลกุรอ่านและซุนนะฮฺ และพยายามที่จะเข้าไปคลุกคลีอยู่กับบรรดานักวิชาการที่น่าเชื่อถือ ไปรับคำชี้แนะ รับความรู้และรับการถ่ายทอดข้อมูลที่ถูกต้องมาจากพวกท่าน สิ่งนี้เป็นหนทางที่จะนำพาคนๆนั้นไปสู่ความสำเร็จ อัลลอฮฺ จะทรงชี้นำและประทานความสำเร็จให้กับเขา


     3. เชคกล่าวว่า ข้อแตกต่างระหว่างหลักเกณฑ์ที่บรรดานักวิชาการที่มั่นคงอยู่บนแนวทางที่ถูกต้อง ได้สรุปกันออกมากับหลักเกณฑ์ที่พวกนอกลู่ได้วางกันไว้นั้น มีอยู่ด้วยกันสองข้อใหญ่ๆ ข้อที่หนึ่งคือ ที่มาที่ไปของหลักเกณฑ์เหล่านั้น และข้อสองคือ ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นจากหลักเกณฑ์ที่พูดถึง


     4. ข้อแตกต่างในเรื่องของที่มา

♦ - หลักเกณฑ์ของบรรดานักวิชาการมีที่มาจาก กิตาบุ้ลลอฮฺ ,ซุนนะฮฺ และแนวทางของบรรดาสะลัฟ

♦ - ส่วนหลักเกณฑ์ของพวกนอกลู่มีที่มาจาก การใช้ความคิด ,ตรรกะ, หลักเหตุผลและอารมณ์


     5. เมื่อที่มาต่างกัน ก็คงไม่ต้องสงสัยอะไรว่า ยังไงๆ ผลลัพธ์ที่ตามมาจากหลักเกณฑ์ทั้งสองจำพวกนี้ก็ย่อมแตกต่างกันอย่างแน่นอน แต่ที่บอกว่าแตกต่างกันนี่ แตกต่างกันยังไงและมีอะไรบ้าง ? 

คำตอบคือ...

          ♦ - หลักเกณฑ์ที่บรรดานักวิชาการผู้มั่นคงอยู่บนทางที่ถูกต้อง ได้ประมวลกันออกมาจากหลักฐาน ซึ่งจะส่งผลให้เราที่เป็นผู้รับข้อมูลและเป็นผู้ปฏิบัติตามคำแนะนำ เป็นผู้ที่มีความเชื่อที่ถูกต้อง มีการกระทำที่ถูกต้อง ดำเนินศาสนาได้อย่างเที่ยงตรงและมั่นคง และยังทำให้เป็น “คนดี” ตามมาตราฐานที่ อัลลอฮฺ  ทรงพอพระทัย ทำให้รู้จักที่จะรักกันเพื่ออัลลอฮฺ  และโกรธกันเพื่อพระองค์อย่างถูกต้อง เป็นระบบและเป็นรูปธรรม

         ♦ - ส่วนหลักเกณฑ์ของพวกนอกลู่นั้น จะส่งผลให้เรามีความเชื่อผิดๆ มีความเข้าใจเพี้ยนๆ มีพฤติกรรมที่เหลวไหลหันห่างออกจากทางนำ ยึดติดยู่กับผลประโยชน์ ไร้จุดยืน ไร้ความชัดเจน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมา กลายเป็นคนที่รักกันและโกรธกันเพื่ออัลลอฮฺ  ไม่เป็น แต่ถ้าจะให้รักกันเพื่อกลุ่มหรือรักกันเพื่อสถาบันและพวกพ้องอันนี้จะเชี่ยวชาญ ! และไม่สามารถยืนร่วมกันบนความถูกต้องและปลีกตัวจากกันบนความถูกต้อง อันนี้แทบจะทำไม่ได้ แต่จะหลับหูหลับตาจับมือกันเพราะมีผลประโยชน์ตรงกัน มาจากกลุ่มเดียวกัน หรือสถาบันเดียวกัน วั้ลลอฮุ้ลมุซตะอาน


     6. เชคยกตัวอย่างในเรื่องนี้ให้เราได้เห็นภาพกันอย่างกระจ่าง เพื่อที่เราจะได้วางตัวได้ถูกต้องและยืนอยู่ในจุดที่ปลอดภัย โดยท่านได้กล่าวถึงกลุ่มความคิดที่มีความผิดเพี้ยนหลายๆ กลุ่มไว้ให้พวกเราได้รับทราบและบันทึกเก็บไว้เป็นข้อมูลดังนี้

          6.1 ความคิดของพวกที่ลุ่มหลงในสติปัญญาของตัวเอง เช่น พวกมุ้อฺตะซิละฮฺ, พวกญะฮฺมียะฮฺและพวกอะชาอิเราะฮฺ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของความเชื่อ คนพวกนี้จะนำความคิดที่ว่า สติปัญญาต้องนำหน้า ปัญญาต้องมาก่อน เป็นมาตรฐานในการจะเชื่อหรือไม่เชื่อเรื่องอะไรก็แล้วแต่ พวกเขาจึงเลือกที่จะเอาสติปัญญาและการใช้เหตุผลที่กินกับปัญญา มาวางไว้ข้างหน้าข้อมูลจากพระเจ้าผู้ทรงสร้างสติปัญญามาให้พวกเขาได้ใช้กัน ไม่ว่าข้อมูลนั้นจะเป็นข้อมูลที่เป็นดำรัสของพระองค์ในอัลกุรอ่าน หรือเป็นข้อมูลที่พระองค์ทรงบัญชาให้ฑูตของพระองค์ทำหน้าที่ชี้แจง ในแบบฉบับหรือซุนนะฮฺของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอลัยฮิวะซั้ลลัม

           สิ่งนี้ส่งผลทำให้คนพวกนี้หลุดกรอปในหลากหลายประเด็นด้วยกัน เช่น ประเด็นเรื่องการปฏิเสธต่อพระนามและพระลักษณะของอัลลอฮฺ  ประเด็นเรื่องการอ้างว่าถ้อยดำรัสของพระเจ้าก็เป็นเพียงสิ่งถูกสร้างชนิดหนึ่งของพระองค์เท่านั้น และประเด็นเรื่อง การสำคัญประเด็นผิดในเรื่องที่ไม่ควรจะผิด ซึ่งได้แก่ การให้เครดิตต่อเฉพาะเรื่องการมอบเอกภาพแด่อัลลอฮฺ  ในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ทรงสร้าง พระผู้ทรงครอบครองและทรงบริบาลแต่เพียงประเด็นเดียว แต่เมื่อพูดถึงการมอบเอกภาพแด่อัลลอฮฺ  ในเรื่องสิทธิของพระองค์ที่ผู้เป็นบ่าวพึงต้องรักษา ซึ่งได้แก่ เรื่องที่เกี่ยวกับอิบาดะฮฺทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการมอบหมาย การหวัง การกลัวเกรง การเทิดทูน การวิงวอน การขอความช่วยเหลือ หรือขอความคุ้มครอง การบนบาน การก้มกราบ ฯลฯ คนพวกนี้กลับเบาความและมองว่า การบกพร่องในเรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็นแตกหักแต่อย่างใด เป็นอย่างมากก็แค่บาปใหญ่ธรรมดาๆ เท่านั้น

(ผู้แปล - ส่วนในมุมของอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺการศรัทธาของพวกเขามีที่มาจากแหล่งข้อมูลสามแหล่งด้วยกันคือ อัลกุรอ่าน ซุนนะฮฺและมติจากบรรดาสะลัฟ ส่วนการใช้สติปัญญานั้น ถือเป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งที่จะนำมาใช้ในการศึกษาข้อมูลต่างๆดังกล่าวที่ได้มาเท่านั้น ไม่ได้ให้อำนาจกับสติปัญญาจนเกินตัว แต่ก็ไม่ได้เพิกถอนหน้าที่ที่มันควรจะทำจนหมด แต่เป็นการใช้อย่างเหมาะสม กับเรื่องที่เหมาะสม และในขอบข่ายที่เหมาะสม)

          6.2 ความคิดของพวกที่หลับหูหลับตา จะเชิดชูความสามัคคีไว้เป็นที่หนึ่ง คลั่งไคล้ในความสมานฉันท์ ไม่ว่าจะยังไงพวกเราก็ต้องรักกันไว้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไว้ สำหรับชุดความคิดในเรื่องนี้นี้เชคพูดให้ฟังถึง 3 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่

1) พวกตับลีฆ 

          พวกนี้มีเป้าหมายอยู่ที่การดึงคนมาเข้ากลุ่ม รวมพลมาเป็นพวก และพยายามรักษาความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกกับตัวกลุ่มเอาไว้เป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไม่พยายามจะพูดเรื่องอะกีดะฮฺ และพยายามจะไม่ไปทักท้วงเวลามีคนทำผิดบัญญัติศาสนา เพราะมองว่าการเข้าไปวิจารญ์เรื่องพวกนี้เป็นบ่อเกิดของความแตกแยก !

 

2) พวกอิควาน 

          พวกนี้เป็นพวกฝักใฝ่ในอำนาจการปกครอง และมองว่าอะไรที่พาให้พวกเขาเข้าใกล้จุดหมายได้ก็จะพยายามทำ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การรวมมวลชน เมื่อเป็นแบบนี้พวกเขาจึงยึดหลักที่ว่า “เราจะจับมือกันในเรื่องที่พวกเราไปด้วยกันได้ และจะพยายามหาข้อแก้ตัวให้แก่กันและกันในเรื่องที่พวกเราเห็นต่างกัน” หลักเกณฑ์นี้ทำให้พวกเขาลืมเรื่องการรักกันและการโกรธกันเพื่ออัลลอฮฺ  ไปจนหมด  เหลือแค่เพียงการรักกันและการโกรธกันเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่ม 

          โดยมองว่าใครก็ตามที่สนับสนุนหรือสามารถสร้างประโยชน์ให้กับพวกตนได้ พวกเขาก็จะพยายามจับมือด้วยและจะพยายามออกมาปกป้องคนๆนั้น แม้ว่าคนๆนั้นจะเป็นพวกญะฮฺมียะฮฺ หรือเป็นชีอะฮฺรอฟิเฏาะฮ์ ก็ตาม และเนื่องจากการที่พวกเขามีเป้าหมายอยู่ที่เรื่องอำนาจปกครอง จึงพยายามลวงผู้คนให้เข้าใจผิดว่า การดำเนินงานของพวกเขา จริงๆแล้วเป็นการดำเนินงานที่เท่ากับเป็นการให้การยืนยันและสนับสนุนต่อคำปฏิญาณที่มุสลิมทุกคนได้ให้ไว้ ที่ว่า "ลาอิลาฮ่ะอิ้ลลั้ลลอฮฺ" พวกเขาได้ให้ความหมายประโยคดังกล่าวว่า หมายถึง ไม่มีผู้ปกครองนอกจากอัลลอฮฺเท่านั้น โดยมีเป้าประสงค์เพื่อต้องการจะถอดถอนอำนาจปกครองออกจากมือของผู้มีอำนาจทั้งหมด แล้วเอาอำนาจนั้นมารวมไว้ที่กลุ่มของตน โดยอ้างว่า พวกตนทำทั้งหมดไปเพื่ออัลลอฮฺ  !! 

          จากจุดนี้คงจะทำให้พวกเราพอจะมองกันออกบ้างว่า กลุ่มติดอาวุธต่างๆที่ออกมามีพฤติกรรมก่อกวนสร้างความเสื่อมเสียนานับครั้งจนยากจะจดจำได้นั้น มีต้นตอมาจากไหน ?


3) พวกตุร้อษ 

          ญาอียะฮฺ ตุรอษุ้ลอิสลามี อยู่ที่คูเวต สมาคมนี้ตอนแรกก็ดีไม่มีปัญหา แต่หลังจากที่ นายอับดุ้รเราะฮฺมาน อับดุ้ลคอลิก ชาวอียิปต์ ซึ่งเป็นอิควานแต่ไม่ออกตัว เข้ามาร่วมทำงานจึงพาสมาคมหลุดลู่ออกจากทางไป  โดยกลายไปเป็นกลุ่มที่เห็นดีเห็นงามและเป็นลิ่วล้อให้กับพวกอิควาน คิดอ่านตามพวกอิควาน ฝักใฝ่การเมือง ไม่แคร์จุดยืน พวกเขามีคติว่า จริงๆแล้วความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในแวดวงศาสนามันเป็นเพียงภาพลวงข้างนอกเท่านั้น แต่ข้างในจริงๆไม่ได้มีอะไรขัดกัน ทุกกลุ่มหวังจะทำประโยชน์ให้อิสลามทั้งนั้น เพียงแต่เริ่มกันคนละขั้น ให้ความสนใจไปกันคนละประเด็นเท่านั้นเอง แนวทางสะลัฟยกเรื่องเตาฮีดและเตือนคนให้ห่างจากบิดอะฮฺ พวกอิควานยกการเมือง พวกตับลีฆ ยกการบำเพ็ญตน ซึ่งทั้งหมดไม่ได้ขัดแย้งกันเลย ดีๆกันทั้งนั้น ถูกกันทั้งหมด เพราะคนกลุ่มนี้มีความคิดเช่นนี้ จึงจะเห็นได้ว่าพวกเขาจะเงียบกับพฤติกรรมของพวกอิความและออกมากล่าวชมเชยพวกตับลีฆ เพราะสำหรับพวกเขาทุกกลุ่มถูกหมด !! ซุบฮานั้ลลอฮฺ


          ( ผู้แปล - ข้อสังเกตหนึ่งที่ควรจะต้องทราบคือ ทุกกลุ่มที่ได้กล่าวถึงไป ไม่มีกลุ่มไหนชอบอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺผู้ดำเนินตนตามชาวสะลัฟเลยแม้แต่กลุ่มเดียว มีแต่จะวิจารณ์ในเชิงลบกล่าวหาสร้างภาพเสีย หาว่าเป็นพวกชอบสร้างความแตกแยกร้าวฉาน มือไม่พายเอาเท้าราน้ำ ดีแต่วิจารณ์... และทุกกลุ่มต่อต้านชาวซุนนะฮฺหรือชาวสะละฟี่ 
จริงๆ อะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺเอง ให้ความสำคัญกับเรื่องความสามัคคี แต่ความสามัคคีในมุมของอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺจะต้องเป็นความสามัคคีที่มีเงื่อนไข มีกรอบกำหนด ไม่ใช่สามัคคีฟรีสไตล์ ความสามัคคีของอะฮฺลุ้ซซุนนะฮฺ เป็นการมีความสมัครสมานกันบนความจริงบนความถูกต้อง บนข้อมูลจากบรรดาบรรพชนแห่งอุมมะฮฺ และคือการโกรธกันบนความจริง บนหลักฐานและบนข้อมูลที่ได้รับการรับรอง ซึ่งสิ่งนี้นี่เองที่ถูกเรียกว่า การรักกันเพื่ออัลลอฮฺ  และโกรธกันเพื่อพระองค์ )


          ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นการเตือนให้พวกเราได้รับรู้ว่า ใครก็ตามที่หลุดไปดำเนินตามหลักเกณฑ์ของพวกหลง เขาก็จะหลงไปกับคนพวกนั้นด้วย ส่วนใครที่มั่นคงอยู่ในหลักเกณฑ์ที่บรรดานักวิชาการได้รวบรวมและนำเสนอเอาไว้ เขาก็จะได้รับการอำนวยสู่ความสำเร็จทั้งดุนยาและอาคิเราะฮฺในที่สุดนั่นเอง -อินชาอัลลอฮฺ-

 



وصلى الله على محمد آله وصحبه

 


        ป.ล. ข้อความในวงเล็บเป็นข้อมูลที่นอกเหนือจากเนื้อหาการบรรยาย ผู้เรียบเรียง ได้ทำการเพิ่มเติมเข้าไปเพื่อขยายความให้เข้าใจเพราะมองว่าน่าจะเป็นประโยชน์ อินชาอัลลอฮฺ