อุละมาอฺมัซฮับชาฟิอีย์ที่มีผลงานด้านอัสสุนนะฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  7828


อุละมาอฺมัซฮับชาฟิอีย์ที่มีผลงานด้านอัสสุนนะฮฺ

 

ดร.อาหมัด อัลฟารีตีย์

 

         อุละมาอฺมัซฮับชาฟิอีย์ที่มีผลงานด้านเชิดชูอัสสุนนะฮฺมีหลายท่านด้วยกัน แต่ผู้เขียนจะเลือกอุละมาอฺบางท่านเท่านั้นโดยเฉพาะอุละมาอฺที่มีผลงานอันประจักษ์ดังต่อไปนี้

หนึ่ง: อัลอิมามอันนะซาอีย์ 

          ท่านคืออบูอับดุรเราะฮฺมาน อะหมัด บิน ชุอัยบ์ บิน อาลี อันนะซาอีย์ เกิดปี ฮ.ศ.225 และเสียชีวิต ที่มักกะฮฺปี ฮ.ศ.303 ท่านเป็นอุละมาอฺหะดีษคนหนึ่งที่สังกัดมัซฮับชาฟิอีย์ มีหนังสือเกี่ยวกับมะนาสิกที่ท่านเขียนไว้ตามมัซฮับอิมามอัชชาฟิอีย์ ¹ 

           ในด้านสุนนะฮฺท่านเป็นอุละมาอฺที่อยู่ในระดับ หาฟิซฺ الحافظ หุจญะฮฺ الحجة มุตกิน ²  متقن เป็นนักวิพากษ์ และเป็นกอฎีด้วย ได้เรียนรู้ ฟังและรับหะดีษจากบรรดาอาจารย์อาวุโสหลายท่านที่เป็นนักจดจำหะดีษด้วย เช่นกุตัยบะฮฺ บิน สะอีด อิสหาก บิน รอฮาวัยฮ์ อับดุลเราะฮฺมาน บิน อิบรอฮีม อัดดิมัชกีย์ อบูดาวูด อัสสิญิสตานีย์ และตามการยืนยันของอัสสะคอวีย์ ท่านอันนะสาอีย์ได้รับหะดีษจากบุคอรีย์ด้วย

อัสสะคอวีย์บุฆยะฮฺ อัรรอฆิบ อัลมุตะมันนี ฟีคิตม์ อันนะสาอีย์อัรริยาฎหน้า105 ) 

แนวทางการตะอฺซีมหะดีษของอันนะสาอีย์

          การที่ท่านถูกเรียกว่าเป็นนักหะดีษที่อยู่ในระดับหาฟิซระดับหุจญะฮฺและมุตกิน เป็นที่เพียงพอที่จะยืนยันว่าท่านเป็นอุละมาอฺที่เอาใจใส่กับสุนนะฮฺของนบี ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ด้วยการเรียนรู้และจดจำหะดีษอันมากมายเป็นแสนๆหะดีษอย่างจริงจัง ใช้ความรู้และความสามารถในการวิเคราะห์หะดีษและนักรายงานหะดีษ นอกจากนั้นท่านได้ถ่ายทอดหะดีษให้แก่บรรดาสานุศิษย์ เพื่อให้พวกเขาได้เผยแพร่อัสสุนนะฮฺต่อไป ซึ่งจะเห็นได้ว่าลูกศิษย์ของท่านหลายคนที่มีชื่อเสียงด้านหะดีษที่ได้รับความรู้จากท่าน เช่น อบูอัลกอสิม อัฏเฏาะบะรอนีย์ อบูญะอฺฟัรอัฏเฏาะหาวีย์ อิบนุ อัสสุนนีย์ และอื่นๆ

          อัซซะฮะบีย์ได้กล่าวว่า อันนะสานีย์เป็นทะเลแห่งความรู้และความเข้าใจ ความละเอียดถี่ถ้วนและความเห็นที่กว้างขวาง ตำราที่เขาแต่งนั้นเป็นตำราที่ดีมาก ไม่มีคนอื่นที่จะมาเทียบกับเขาได้ และไม่มีใครคนใดเลยในรอบร้อยปีที่สามที่ท่องจำหะดีษมากกว่าเขา เขามีทักษะที่ดีมากในด้านหะดีษ รู้สาเหตุต่างๆของหะดีษ และรู้บรรดานักรายงานหะดีษมากกว่ามุสลิม อบูดาวูด และติรมิซีย์อีก และเขาเดินทางบนแนวทางของอัลบุคอรีย์ และ อบูซุรอะฮฺ (อัซซะฮะบีย์, สิยัร อะอฺลาม อันนุบะลาอ์, เล่มที่14 หน้า 127 และ133) นับว่าเขาเป็นอุละมาอฺที่มีความชำนาญในวิชาการหะดีษ และได้รับการยอมรับว่าเป็นหนึ่งในปราชญ์แห่งวิชาการหะะดีษโดยบันทึกหะดีษของท่านถูกจัดให้เป็นลำดับที่ 4 ในกุตุบซิตตา (บันทึกทั้งหก)

          ในขณะเดียวกัน ท่านได้แต่งตำราเกี่ยวกับหะดีษอีกด้วย ซึ่งตำราที่ถูกยอมรับในหมู่นักวิชาการและนักศึกษา ก็คือตำราสุนันอันนะสาอีย์ ประกอบด้วย อัสสุนันอัลกุบรอ และอัสสุนันอัศศุฆรอ หรือ อัลมุจญ์ตะวา ซึ่งท่านได้เลือกหะดีษที่ถือเป็นหะดีษเศาะหี๊หฺจากอัสสุนันอัลกุบรอ และอะมะลุลเยามิวัลลัยละฮฺ

 

สอง : อัลอิมามอัลบัยฮะกีย์ 

           ชื่อเต็มของท่านคือ อะหมัด บิน อัลหุซัยน์ บิน อาลี บิน มูซา อัลคุรอสานีย์ อัลบัยฮะกีย์ ซึ่งรู้จักด้วยนาม อัลบัยฮะกีย์ ท่านเกิดและเติบโตที่บ้านบัยฮัก ที่นัยซาบูร ในปี ..384 หลังจากนั้นท่านได้เดินทางไปแบกแดดและกูฟะฮฺ แล้วก็เดินทางไปมักกะฮฺ หลังจากนั้นก็กลับไปที่นัยซาบูร และพำนักอยู่ที่นั่นจนกระทั่งเสียชีวิตในปีฮ.. 458 และศพของเขาถูกเคลื่อนย้ายไปยังบัยฮัก ท่านถูกเรียกว่าเป็นอิมาม อาลิมมาก เป็นหาฟิซ มุหัดดิษ ฟะกีฮฺ

           อิมามอัลหะเราะมัยน์ได้กล่าวว่า "ไม่มีผู้ใดที่ยึดแนวทางชาฟิอีย์เว้นแต่อิมามชาฟิอีย์จะเหนือกว่าเขานอกจากอัลบัยฮะกีย์คนเดียว แท้จริงเขาจะเหนือกว่าชาฟิอีย์ เพราะผลงานของเขามีมากมายด้านแต่งตำราในการช่วยเหลือและปกป้องมัซฮับของชาฟีอีย์ และได้ขยายความสิ่งที่เป็นย่อพร้อมกับได้สนันสนุนบรรดาทัศนะของอิมามอัชชาฟิอีย์"

ท่านอิมามอัลซะฮะบีย์ได้กล่าวว่า

(لو شاء البيهقي أن يعمل لنفسه مذهبا يجتهد فيه لكان قادرا على ذلك لسعة علومه ومعرفته بالاختلاف).

           ถ้าหากอัลบัยฮะกีย์ต้องการสร้างมัซฮับสำหรับตนเองย่อมสามารถทำได้ เนื่องจากเขามีความรู้มากมายและความรู้เกี่ยวกับความขัดแย้งของบรรดาอุละมาอฺ ตำราที่เขาได้ทิ้งไว้มีมากมาย ซึ่งที่เกี่ยวข้องกับซุนนะฮฺ ส่วนหนึ่งมีดังนี้ อัซซุนันอัลกุบรอมี 10 เล่ม อัซซุนันอัศศุฆรอมี 4 เล่ม มะอฺริฟะฮฺ อัลซุนัน วา อัลอะษาร ชุอับ อัลอิมาม และมะนากิบ อัชชาฟิอีย์ เป็นต้น

ความแตกต่างระหว่าง อัสสุนันอัลกุบรอกับอัสสุนันอัศศุฆรอ

     1. สุนันกุบรออยู่ในจำพวกตำราแรกๆที่แต่งโดยอัลบัยฮะกีย์ ส่วนสุนันศุฆรออยู่ในจำพวกตำราท้ายๆของท่าน

     2. อัสสุนันอัศศุฆรอเป็นการย่อมาจากอัสสุนันอัลกุบรอ

     3. จำนวนหะดีษในอัสสุนันอัลกุบรอมีมากกว่า 20,000 ส่วนในอัสสุนันอัศศุฆรอมีมากกว่า 4,000 หะดีษ

     4. หะดีษในอัสสุนันอัลกุบรอมีสถานะที่หลากหลาย มีทั้งเศาะหี๊หฺ หะสัน และ เฎาะอีฟ ส่วนหะดีษในอัสสุนัน อัศศุฆรอมีสถานะที่เศาะหี๊หฺและ มีน้อยมากที่เป็นหะดีษเฎาะอีฟ

     5. ในอัสสุนันอัศศุฆรอท่านได้กล่าวถึงทัศนะของอิหม่ามชาฟิอีย์บ่อยครั้ง แสดงว่าท่านเอาใจใส่กับมัซฮับชาฟิอีย์อย่างมาก ซึ่งบางครั้งท่านจะถามว่า ทัศนะนี้เป็นทัศนะเกาะดีม หรือ ญะดีด?

 

สาม: อัลอิมามอัลบะเฆาะวีย์ 

          อิมามอัลบะเฆาะวีย์ เกิดที่บัฆ ซึ่งเป็นหมู่บ้านหนึ่งในคุรอสาน خراسان)) ท่านได้ใช้ชีวิต ณ ที่นี้สักพักหนึ่ง หลังจากนั้น ท่านได้ย้ายไปอยู่ที มัรว์อัรรูษฺ (مروالروذ) ณ ที่นี้ ท่านได้ศึกษาวิชาความรู้เกี่ยวกับฟิกฮฺ และวิชาเกี่ยวกับหะดีษ จากอาจารย์ผู้รู้ด้านฟิกฮฺชาฟิอีย์ คือ ท่านอัลกอฎีหุซัยน์ บิน มุหัมมัด พร้อมๆกับวิชาเกี่ยวกับหะดีษ ส่วนปีเกิดของท่าน ทัศนะของบรรดานักประวัติศาสตร์อิสลามมีความแตกต่างกัน บางท่านกล่าวว่า ในปี ฮ.ศ.433 บางท่านกล่าวว่า ในปีฮ.ศ. 436 บางท่านกล่าวว่า ในปี ฮ.ศ. 438 ³ เช่นเดียวกับปีการตายของท่าน บางท่านกล่าวว่า ในปี ฮ.ศ.510 บางท่านกล่าวว่าในปีฮ.ศ. 515 (4) บางท่านกล่าวว่า ในปี ฮ.ศ. 516

แนวทางของอัลอิมามอัลบะเฆาะวีย์ในการเชิดชูอัสสุนนะฮฺ

           ท่านเป็นที่รู้จักในบรรดาอุละมาอฺว่าเป็นผู้ฟื้นฟูอัสสุนนะฮฺทำให้อัสสุนนะฮฺกลับมีชีวิตชีวาและกลับมีบทบาทในแวดวงความรู้และวิชาการ เป็นอุละมาอฺร็อบบานีย์ ตามที่อิมามซุยูฏีย์ได้ยกย่องชมเชยเขาและได้รับสมญานามว่า รุกน์อัดดีน หมายถึงเสาหลักของศาสนา (เฏาะบะกอต อัลหุฟฟาซ,456 ) นอกจากนั้นท่านเป็นที่รู้จักว่าผู้ยึดมั่นในหลักการอะกีดะฮฺตามแนวทางของสลัฟด้วย 

(อิบนุ กอฎีชุฮบะฮฺเฏาะบะกอต อัชชาฟิอิยยะฮฺเบรูตอาลัมอัลกุตุบ,1987.หน้า 1/281)

          ด้วยความอาลิมของท่าน ท่านได้เขียนตำราเกี่ยวกับการอธิบายอัลกุรอานและอธิบายอัสสุนนะฮฺ ซึ่งท่านอิบนุ ค็อลลีกาน กล่าวว่า อิมามอัลบะเฆาะวีย์เป็นทะเลแห่งความรู้ต่างๆ เขาได้แต่งตำราในการอธิบายกะลามของอัลลอฮฺตะอาลา (อัลกุรอาน) และ ได้ทำการอธิบาย ชัรหฺ คำ หรือ สำนวนต่างๆของวัจนะของท่านนบีที่ความหมายไม่ปรากฏอย่างชัดเจน ท่านได้สอน และได้แต่งตำรามากมาย (วะฟะยาต อัลอะอฺยาน, 2/136) ตำราที่เกี่ยวข้องกับอัสสุนนะฮฺ เช่น ชัรหฺญามิอฺอัตตัรมีซีย์, อัลญัมอ์บัยน์อัศเศาะหีหัยน์, มะศอบีหฺอัซซุนนะฮฺ และ ชัรหฺอัซซุนนะฮฺเป็นต้น

          สำหรับหนังสือชัรหฺอัสสุนนะฮฺ เป็นหนังสือที่มีคุณค่า ท่านได้รวบรวมหะดีษต่างๆที่เป็นความต้องการของมุสลิม ที่ครอบคลุมด้าน อุศูลุดดีน ความสำคัญและความประเสริฐของความรู้ อิบาดะฮฺ มุอามะลาต ดะลาอิลุล อันนุบุยวะฮฺ และอื่น 

ส่วนประโยชน์สำหรับผู้เรียนรู้และศึกษาหนังสือนี้ก็มมีมากหมาย เป็นการสอนและแนะนำว่า

1. การอ้างอิงปัญหาทางบทบัญญัติควรใช้หลักฐานที่ถูกต้อง 

2. ให้มีการเชิดชูสุนนะฮิของท่านนบี 

3. ควรพัฒนาศักยภาพในการวิเคราะห์วินิฉัย

4. พยายามหาทางออกสำหรับตัวเองจากการที่เป็นผู้ตามหันมาเป็นผู้อิตติบะอฺด้วยการศึกษาและยึดหลักฐานเป็นหลัก

5. เคารพและให้เกียรติแก่อุละมาอฺ

6. ไม่ถือว่าปัญหาความเห็นต่างนั้นเป็นสาเหตุให้เกิดความแตกแยกและเป็นศัตรูกัน

 

สี่ : อัลอิมาม อันนะวะวีย์ 

          อัลอิมามอันนะวะวีย์ คือ อบู ซะกะริยา, มุหยิดดีน ยะหฺยา บิน ชัรฟฺ อันนะวะวีย์ เกิดที่ตำบล นะวา ในซีเรียปี 631 .. เป็นอุละมาอฺระดับอัลหาฟิซ ได้รับสมญานามเป็นชัยคุลอิสลาม เริ่มท่องจำอัลกุรอ่านเมื่ออายุ 10 ขวบ ต่อมาอ่านวิชาฟิกฮฺกับอุลามาอฺบางท่าน ในปี ..649 เดินทางพร้อมกับบิดาไปยังดามัสกัสเพื่อแสวงหาวิชาความรู้เพิ่ม ที่ โรงเรียนดารุลหะดีษ และต่ออีกที่อัลมัดเราะสะฮฺอัรเราะวาหียะฮฺที่อยู่ใกล้กับมัสญิดอัลอุมาวีย์ และในปี .. 651 ได้เดินทางไปเมกกะกับพ่อเพื่อประกอบหัจญ์ หลังจากนั้นได้กลับมายังดามัสกัสอีกครั้ง ซึ่ง ที่นี้ ท่านได้พยายามไปหาบรรดาอุละมาอฺเพื่อศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม มีรายงานว่า การเรียนรู้ของท่านได้เน้น 2 แนวทาง

1. เรียนกับอาจารย์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ คือ ในหนึ่งๆ วันจะต้องเรียนให้ได้ 12 วิชา

2. เน้นในการอ่านและอธิบายให้อาจารย์ฟังแล้วให้อาจารย์แก้ไขให้ถูกต้อง

ผลงานของอัลอิมามนะวะวีย์ 

        อัลอิมามนะวะวีย์เป็นเจ้าของตำราที่มีคุณค่ามากมายในหลากหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับตำราหะดีษโดยตรง อาทิ

          1. อัลอัรบะอีน อันนะวะวียะฮฺ ซึ่งตำรานี้เป็นที่รู้จักและยอมรับโดยมุสลิมทั่วโลก ในหนังสืออัลอัรบะอีน อันนะวะวียะฮฺ มีหะดีษส่วนใหญ่เป็นหะดีษอยู่ในระดับเศาะหี๊หฺ หลายหะดีษที่รายงานโดยอัลบุคอรีย์และมุสลิม เป็นตำราที่ได้รับความนิยมสูงในหมู่นักวิชาการและนักศึกษาในอดีตและปัจจุบัน มีการแปลบทหะดีษในหลายๆภาษาทั่วโลก มีอุละมาอฺหลายท่านได้ทำการอธิบายความ ถูกใช้เป็นวิชาหะดีษสอนคนทั่วไปในมัสญิดและสอนนักเรียนในโรงเรียน บางสถาบันกำหนดให้เป็นหลักสูตรวิชาหะดีษในการศึกษาแบบหะละเกาะฮฺควบคู่กับตัฟสีรอัลกุรอาน ซึ่งทั้งหมดนั้นเป็นวิธีที่น่าสนับสนุนเพราะเป็นส่วนหนึ่งในการเชิดชูและฟื้นฟูอัสสุนนะฮฺ

          2. ตำรา ริยาฎ อัศศอลิฮีน มิน กะลามซัยยิด อัลมุรสะลีน เป็นอีกตำราหะดีษที่มีคุณค่าพอๆ กับอัลอัรบะอีน อันนะวะวียะฮ มีหะดีษทั้งหมดในตำรานี้ 1986 หะดีษ เป็นตำราที่ถูกวิจารณ์น้อยที่สุด เหมาะสมกับมุสลิมทุกระดับ เป็นตำราที่ถูกพิมพ์มากที่สุดหลังจากอัลกุรอาน อัลกะรีม มีอุละมาอฺหลายท่านได้แต่งหนังสืออธิบายสำหรับริยาฎ อัศศอลิฮีน มากมาย เช่น “ดะลีล อัลฟาลิฮีน ลี ฏุรุก ริยาฎิศ ศอลิฮีน” โดย มุหัมมัด บิน อัลลาน อัศศิดดีกีย์ อัชชาฟิอีย์ และ “นุซฮะฮฺ อัลมุตตะกีน ชัรหฺ ริยาฎิศ ศอลิฮีน” โดย มุศเฏาะฟา อัลค็อน และคณะ เป็นต้น 

          กล่าวได้ว่าท่านอัลอิมามนะวะวีย์เป็นอุละมาอฺที่มีวิสัยทัศน์อันกว้างไกล เพราะว่าในการแต่งตำราหะดีษ ริยาฎุศศอลิฮีน เช่นเดียวกันกับตำราอัลอัซการ ท่านได้เลือกหะดีษจำนวนหนึ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับการตัรบิยะฮฺ คือ ส่วนใหญ่เป็นหะดีษที่มีลักษณะเชิงขัดเกลาจิตใจและส่งเสริมคุณธรรมที่ดีงาม มีหะดีษน้อยมากที่เกี่ยวกับอะห์กาม ซึ่งท่านได้แต่งตำราเกี่ยวกับอะห์กามมากพอสมควร ซึ่งเป็นตำราที่มีการสนับสนุนด้วยหลักฐานจากหะดีษด้วย เช่น อัลมัจญ์มูอฺ, เราเฎาะฮฺ อัฏฏอลิบีน และ อัลฟะตาวา เป็นต้น

          3. ชัรหฺ เศาะหี๊หฺ มุสลิม เป็นอีกตำราหนึ่งจากผลงานที่มีคุณค่ามหาศาลของอันนะวะวีย์คือ “ชัรหฺเศาะหี๊หฺ มุสลิม” เป็นตำราหะดีษที่มีความสำคัญมากสำหรับประชาชาติมุสลิมกลุ่มอะฮฺลุสสุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ เนื่องจากเป็นการอธิบายตำราหะดีษเศาะหี๊หฺที่ครองอันดับสาม นอกเหนือจากอัลกุรอาน และตำราเศาะหี๊หฺ อัลบุคอรีย์ และเป็นตำราที่ครอบคลุมหลายๆ ด้าน ทั้งด้านอะกีดะฮฺ หุก่มต่างๆ มารยาท ตัฟซีร ประวัติศาสตร์ และอื่นๆ ในตำรานี้มีหะดีษทั้งหมด 3,033 หะดีษ 

หุก่มหะดีษเฎาะอีฟในทัศนะของอิมามนะวะวีย์

          ท่านนะวะวีย์ได้แบ่งหะดีษในหนังสือ อัลมัจญ์มูอฺ ชัรหฺ อัลมุฮัซซับ ว่า หะดีษแบ่งออกเป็น 3 ประเภทคือ หะดีษเศาะหี๊หฺ หะดีษหะสัน และหะดีษเฎาะอีฟ และท่านมีทัศนะว่า หะดีษเศาะหี๊หฺ หะดีษหะสันใช้เป็นหลักฐานด้านอะกีดะฮฺและหุก่มได้ ส่วนหะดีษเฎาะอีฟใช้เป็นหลักฐานด้านอะกีดะฮฺ บทบัญญัติ หรือข้อกฎหมายไม่ได้ เนื่องจากเป็นหะดีษมีระดับต่ำสุดจากหะดีษเศาะหี๊หฺและหะดีษหะสัน แต่ใช้ในการปฏิบัติเกี่ยวกับฟะฎออิล อัลอะมาล ด้านความประเสริฐการงานต่างๆ และด้านจริยธรรมได้ (อันนะวะวีย์, อัมมัจญ์มูอฺ.ตัหฺกีกโดย มุหัมมัด นะญีบ อัลมุฏีอีย์, เล่มที่ 1 หน้าที่ 98) ซึ่งเป็นทัศนะที่ตรงกับอุละมาอฺชาฟิอีย์อื่นๆ

  

ห้า : อัลอิมาม อิบนุ กะษีร 

           ชื่อเต็มของ อิบนุ กะษีร คือ อิสมาอีล บิน อุมัร บิน กะษีร เกิดปี ..701 ที่บุศรอ แล้วย้ายไปอยู่ที่ดามัสกัส ท่านเสียชีวิตปี ..774 ที่ดามัสกัสเช่นกัน ท่านเป็นนักอรรถาธิบายอัลกุรอาน นักหะดีษ ฟะกีฮฺ และนักประวัติศาสตร์ด้วยเป็นที่รู้จักด้วยนาม อิบนุ กะษีร ท่านเป็นอุละมาอฺชาฟิอีย์ท่านหนึ่งที่ให้ความสำคัญต่ออัสสุนนะฮฺและมีจุดยืนที่ชัดเจนในการตะอฺซีมแนวทางของท่านเราะซูล ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จะเห็นได้ว่าในการอธิบายหลายอายะฮฺที่มีความเกี่ยวข้อง ท่านได้อธิบายเต็มด้วยความรักต่อสุนนะฮฺของนบี ตัวอย่าง เช่น ในการตัฟสีรส่วนหนึ่งของอายะฮฺที่ 30 ในสูเราะฮฺ อาลิ อิมรอน

 { قُلْ إِنْ كُنْتُمْ تُحِبُّوْنَ اللهَ فَاتَّبِعُوْنِيْ ...}

           อายะฮฺอันทรงเกียรติอันนี้เป็นการตัดสินชี้ขาดของอัลลอฮฺต่อผู้ที่อ้างตัวเองว่ารักอัลลอฮฺทั้งๆ ที่เขานั้นไม่ได้ปฏิบัติตามแนวทางของท่านเราะซูล ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม แท้จริงผู้นั้นย่อมโกหก(ตลอด)ในการอ้างของเขา จนกว่าเขาจะปฏิบัติตามแนวทางและศาสนาที่นำโดยมุหัมมัดในทุกๆ คำพูดและการกระทำของเขา ดังที่ปรากฏในหะดีษ เศาะหี๊หฺ จากท่านเราะซูล ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ว่า

(อิบนุ กะษีร,ตัฟสีร อัลกุรอาน อัลอะซีม,เล่มที่ 1 หน้า 384)

( مَنْ عَمِلَ عَمَلاً لَيْسَ عَلَيْهِ أَمْرُنَا فَهُوَ رَدٌّ )

"บุคคลใดก็ตามที่กระทำการงานหนึ่งการงานใด (ที่เกี่ยวข้องกับศาสนา) ซึ่งมันไม่มีในคำสั่งของเรา มันเป็นสิ่งที่ไม่ถูกตอบรับ (ณ ที่อัลลอฮฺ)"

(รายงานโดยมุสลิม, หมายเลข 1718 ) 

ในการอธิบายส่วนหนึ่งของอายัตที่ 59 ในสูเราะฮฺอันนิสาอฺ:

 { فَإِنْ تَنَازَعْتُمْ فِى شَيْءٍ فَرُدُّوْهُ إِلَى اللهِ وَالّرَسُوْلِ إِنْ كُنْتُمْ تُؤْمِنُوْنَ بِاللهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ }

          ท่านกล่าวว่า นี่คือคำสั่งจากอัลลอฮฺ อัซวะญัลล์ ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่มีการขัดแย้งกันในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลักการศาสนา (อะกีดะฮฺ) และข้อปลีกย่อย (เช่นบทบัญญัติเกี่ยวข้องกับฟิกฮฺ) จำเป็นต้องนำสิ่งนั้นกลับไปสู่ยังคัมภีร์(อัลกุรอาน)และอัสสุนนะฮฺ(ของท่านเราะซูล ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) ดังนั้น สิ่งที่อัลกุรอานและสุนนะฮฺได้กำหนดไว้และได้รับรองว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง สิ่งนั้นก็คือสัจธรรม และไม่มีแล้วหลังจากสัจธรรมนอกจากความหลงผิด ที่สังคมมุสลิมต้องให้ความสนใจและน่าพิจารณายิ่งคือ คำอธิบายของท่านที่ว่า บุคคลใดที่มิได้ใช้อัลกุรอานและสุนนะฮฺเป็นสิ่งชี้ขาดและตัดสินในความขัดแย้งของพวกเขา และไม่ได้กลับไปสู่ทั้งสองอย่างนี้เขาย่อมไม่ใช่ผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันอะคีเราะฮฺ

(อิบนุ กะษีร,ตัฟสีร อัลกุรอาน อัลอะซีม,เล่มที่ 1 หน้า 568)

สำหรับการอธิบายส่วนหนึ่งของอายะฮฺที่ 21 ในสูเราะฮฺ อัลอะห์ซาบ คือ

{ لَقَدْ كَانَ لَكُمْ فِى رَسُوْلِ اللهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ لِمَنْ كَانَ يَرْجُوا اللهَ وَالْيَوْمَ الآخِرَ }

         ท่านกล่าวว่า อายะฮฺนี้ คือเป็นหลักฐานยิ่งใหญ่ที่กำหนดให้เลียนแบบอย่างจากเราะซูลุลลอฮฺ  ทั้งบรรดาวจนะ การกระทำ และสภาพต่างๆ ของท่าน

(อิบนุ กะษีร,ตัฟสีร อัลกุรอาน อัลอะซีม,เล่มที่ 1 หน้า 483)

            สำหรับตำราที่เกี่ยวข้องกับหะดีษ ส่วนหนึ่งได้แก่ตัครีจญ์ อะหาดีษ อะดิลละฮฺ อัตตันบีฮ ฟี ฟุรูอฺ อัชชาฟิอียะฮฺ”, “ตัครีจญ์ อะหาดีษ มุคตะศอร อิบนิ อัลหาญิบ ฟี อุศูลุลฟิกฮฺ” , “อัลฮุดา วา อัสสุนัน ฟี อะหาดีษ อัลมะสานีด วา อัสสุนัน” , “ชัรหฺ เศาะหี๊หฺ อัลบุคอรีย์” (แต่งไม่เสร็จเสียชีวิตก่อน ) และมุคตะศ็อร อุลูมุล หะดีษ

 

หก : อัลอิมาม อัสสุยูฏีย์ 

          ท่านคือ ญะลาลุดดีน อบู อัลฟัฎล์ อับดุรเราะฮฺมาน บินกะมาล อบีบักร์ มุหัมมัด อัสสุยูฏีย์ เกิด ในปี ฮ.ศ. 849 ที่ อัสยูฏ ประเทศอียิปต์ ถึงแม้ว่าท่านเกิดมาเป็นกำพร้า แต่ท่านได้ท่องอัลกุรอานตอนที่มีอายุยังไม่ถึง 8 ขวบ ท่านเสียชีวิตใน ปี ฮ.ศ. 911 หลังจากได้สร้างผลงานด้านวิชาการอย่างมากมายมหาศาล และได้เชิดชู กิตาบุลลอฮฺ และสุนนะฮฺของท่านเราะซูล ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

ผลงานของอัลอิมาม อัสสะยูฏีย์

          เมื่อกล่าวถึงผลงานทางวิชาการของอิมามอัสสะยูฏีย์ บางคนอาจจะไม่เชื่อว่าอุละมาอฺคนนี้มีผลงานด้านการแต่งหนังสือจำนวนมหาศาล มากกว่า 1,000 เล่ม ซึ่งตามข้อมูลที่มีการศึกษาผลงานของท่านที่ได้ทราบชื่อเรื่องแล้วมีทั้งหมด 1,194 เรื่อง แบ่งเป็นที่ได้ตีพิมพ์แล้วจำนวน 331 เรื่อง ที่ยังเป็น มัคฏูฏอฏ (เมนูสคริปต์) จำนวน 431 เรื่อง ที่หายและไม่ทราบสถานที่าจำนวน 331 เรื่อง อาจจะไม่มีบุคคลใดที่มีผลงานมากกว่าท่าน นับว่าเป็นอุละมาอฺที่มีความสามารถพิเศษที่อัลลอฮฺทรงประทานให้แก่ท่าน 

          สำหรับหนังสือที่เกี่ยวข้องกับสุนนะฮฺก็มีอีกมากมาย ส่วนหนึ่งที่เป็นรู้จักกัน เช่น อัลญามิอฺ อัลกะบีร หรือ ที่เรียกว่า ญัมอฺ อัลญะวามิฮฺ ซึ่งเป็นหนังสือที่จำนวนหะดีษมีมากถึง 43,000 กว่าโดยท่านได้ตั้งใจรวบรวมหะดีษและแบ่งออกเป็นสองส่วน 

♦ ส่วนแรกเฉพาะหะดีษที่เกี่ยวข้องกับวจนะของท่านเราะซูล  อย่างเดียว ซึ่งในส่วนนี้มีจำนวนหะดีษทั้งสิ้น 26,568 หะดีษ 

♦ ส่วนหะดีษที่เกี่ยวข้องกับการกระทำของท่านเราะซูลมีทั้งหมด 17,000 หะดีษ 

           แสดงว่า ท่านมีความพยายามสูงยิ่งในการตะอฺซีมอัสสุนนะฮฺ ถึงแม้ว่าหะดีษต่างๆ ที่ท่านรวบรวมนั้นมีทั้งหะดีษเศาะหี๊หฺ หะสัน เฎาะอีฟ เฏาะอีฟญิดดัน และมีหะดีษเมาฎูอฺด้วย แต่เท่ากับเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการตะอฺซีมอัสสุนนะฮฺด้วยการให้เป็นหน้าที่ของอุละมาอฺอื่นๆ มาวิเคราะห์และพิสูจน์ให้ได้มาซึ่งหะดีษที่เศาะหี๊หฺ หะสัน เฎาะอีฟ และเมาฎูอฺ ดังที่เชคอัลอัลบานีย์ได้ทำกับหนังสือหะดีษของอัสสุยูฏีย์อีกเรื่องหนึ่งคืออัลญามิอฺ อัศเศาะฆีร มิน หะดีษ อัลบะชีร อันนะซีรซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 10,031 หะดีษ โดยอัลอัลบานีย์ตั้งชื่อว่าเศาะหี๊หฺ อัลญามิอฺ อัศเศาะฆีร วา ซิยาดะตุฮฺและเฏาะอีฟ อัลญามิอฺ อัศเศาะฆีร วา ซิยาดะตุฮฺ

           ในหนังสือมิฟตัหฺ อัลญันนะฮฺ ฟี อัลอิหฺติญาจญ์ บี อัสสุนนะฮฺ ของสุยูฏีย์ ท่านได้นำทัศนะต่างๆ ของอิหม่ามชาฟิอีย์จากสายรายงานของท่านอัลบัยฮะกีย์ซึ่งก็เป็นอุละมาอฺใหญ่ของมัซฮับชาฟิอีย์ และที่น่าสนใจ ท่านได้กล่าวถึงสาเหตุของการเขียนหนังสือนี้ว่า ในสมัยท่านนั้นมีทัศนะที่เลวร้ายมาก เกิดขึ้นและถูกเผยแพร่โดยชีอะฮฺรอฟีเฎาะฮฺผู้เป็นมุนาฟิก ซึ่งพวกเขาได้กล่าวอ้างบ่อยครั้งว่า อัสสุนนะฮฺ อันนะบะวิยยะฮฺ และหะดีษต่างๆ ที่ถูกรายงานนั้น ใช้เป็นหลักฐานไม่ได้และที่ใช้เป็นหลักฐานได้คืออัลกุรอานเท่านั้น จากคำกล่าวนี้ ท่านได้ประกาศให้ ทราบว่า 

          "จงรู้เถิดว่า ใครก็ตามที่ปฏิเสธ ไม่ยอมรับความเป็นหลักฐานของสุนนะฮฺ ไม่ว่าจะเป็นสุนนะฮฺที่เป็นคำพูด หรือ การกระทำของท่านนบี – ซึ่งถูกพิสูจน์ตามหลักการของมันแล้วว่าเป็นสุนนะฮฺจริง - คนผู้นั้นย่อมเป็นกาฟิรและออกจากโครงสร้างของอิสลาม และจะถูกรวมอยู่กับพวกยะฮูดีและนัศเราะนี หรือ กับพวกกาฟิรอื่นๆ ที่อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้อยู่กับพวกเขา"

(อัสสะยูฏีย์,มิฟตาหฺ อัลญันนะฮฺ ฟี อัลอิหฺติญาจญ์ บี อัสสุนนะฮฺ, หน้า 2 )

          ท่านได้กล่าวอีกว่า วันหนึ่งท่านอิมามชาฟิอีย์ได้รายงานหะดีษหนึ่งมา แล้วมีคนถามว่าท่านเห็นด้วยหรือกับหะดีษนั้น โอ้ อบู อัลดุลลอฮฺ ดังนั้น ท่านรู้สึกหวั่นไหว พร้อมตอบว่า โอ้ ท่านผู้นี้ คุณเห็นฉันเป็นคริสต์ที่ออกจากโบสถ์ หรือคุณเห็นตรงกลางของตัวฉันมีเข็มขัดของคริสต์หรือ คุณสงสัยว่า ฉันแค่รายงานหะดีษจากท่านนบี  อย่างเดียว และแล้วฉันไม่เห็นด้วยกับหะดีษนั้นหรือ ?

          แน่นอนว่า ต้นตอของทัศนะที่เลวร้ายอันนี้เกิดขึ้นโดยพวกซะนาดิเกาะฮฺ และกลุ่มหนึ่งของพวกชีอะฮฺที่สุดโต่งปฏิเสธและไม่ยอมรับอัสสุนนะฮฺเป็นหลักฐานทางศาสนา

(ดูอัสสะยูฏีย์,มิฟตาหฺ อัลญันนะฮฺ ฟี อัลอิหฺติญาจญ์ บี อัสสุนนะฮฺหน้า 27)

 

ข้อสรุป 

          จากการที่ได้นำเสนอเกี่ยวกับผลงานและแนวทางการเชิดชู อัสสุนนะฮฺ อันนะบะวียะฮฺ ของบรรดาอุละมาอฺที่มีชื่อเสียงจากสายมัซฮับชาฟิอีย์นั้น พอจะสรุปได้ว่า สุนนะฮฺของท่านเราะซูล ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั้นเป็นแหล่งที่มาของอิสลามที่สำคัญอย่างยิ่งอยู่ในลำดับแรกหลังจากอัลกุรอาน มุสลิมทุกคนมีหน้าที่ต้องศึกษาเรียนรู้ ตั้งใจยึดมั่นกับสุนนะฮฺอย่างจริงจังและพร้อมปฏิบัติตามตามความสามารถ ใช้เป็นวิถีชีวิตและทางออกสำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้น พร้อมที่จะเผยแพร่และเสียสละทุกอย่างเพื่อปกป้องและช่วยเหลืออัสสุนนะฮฺ ดังที่ท่านอิหม่ามชาฟิอีย์และบรรดาอุละมาอฺในมัซฮับของท่านได้ทำไว้เป็นแบบอย่างมาแล้ว ในขณะเดียวกัน ต้องร่วมมือร่วมใจในการทำงานเพื่อตะอฺซีมอัสสุนนะฮฺ คือการเชิดชูและเทิดทูนสุนนะฮฺอันเป็นจริยวัตรของท่านเราะซูล ศ็อลล็อลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เมื่อนั้นสิ่งที่เป็นสัจธรรมก็จะเกิดขึ้นและสิ่งที่ไม่ดีงาม โดยเฉพาะที่ขัดกันอัสสุนนะฮฺจะค่อยๆ หมดไป อินชาอัลลอฮฺ

 

 

 

 


 

 

1 อิบนุ อัลอะษีร, ญามิอฺ อัลอุศูล ฟีอะหาดีษ อัรเราะสูล, เล่มที่ 1หน้า196. บางคนกล่าวว่าท่านเป็นนักกฎหมายอิสลามในด้านหะดีษไม่ได้สังกัดมัซฮับหนึ่งมัซฮับใด แต่ท่านถูกยอมรับว่าทัศนะส่วนใหญ่ของท่านสอดคล้องกับมัซฮับชาฟิอีย์ และชื่อของท่านถูกบรรจุไว้เป็นประวัติในเฏาะบะกอต อัชชาฟิอียะฮฺ 

 

2 คำว่า อัลหาฟิซ (الحافظ) หมายถึง "ผู้ที่ท่องจำหะดีษ ตั้งแต่ 100,000 ขึ้นไป รวมทั้งมะตั่น (ตัวบท) และสายรายงาน (สะนัด) และมีความรู้ เกี่ยวกับประวัติ ของผู้รายงานหะดีษและสถานภาพของพวกเขา" ส่วนหุจญะฮฺ หมายถึง"ผู้ที่ท่องจำหะดีษ ตั้งแต่ 300,000 ขึ้นไปรวมทั้งมะตั่น (ตัวบท) และสายรายงาน (สะนัด)และมีความรู้เกี่ยวกับประวัติของผู้รายงานหะดีษ และสถานภาพของพวกเขา", คำว่า (متقن) "มุตกิน" หมายถึงเป็นผู้ที่มีความละเอียดถี่ถ้วน

  

3 มุหัมมัด อิบรอฮีม ชะรีฟ, อัลบะเฆาะวีย์ อัลฟัรรออฺ วะ ตัฟสีรุฮฺ ลี อัลกุรอานอัล กะรีม, มัฏบะอะฮฺ อัลมะดีนะฮฺ 1986 .หน้า 55 

 

4 ยูโซฟ บิน ตัฆรีย์บัรดีย์, อันนุญูม อัซซาฮิเราะฮฺ ฟี มุลูก มิศร์ วา อัลกอฮิเราะฮฺ, เบรูต: ดาร อัลกุตุบ อัลอิลมียะฮฺ,1992 หน้า 5/217