ประเภทของอัลวะลาอ์และอัลบะรออ์
  จำนวนคนเข้าชม  2493


ประเภทของอัลวะลาอ์และอัลบะรออ์


 

โดย ... อบู อับดุลลอฮ์

 


          เชคศอลิหฺ บิน เฟาซาน ได้แบ่งประเภทของความรักหรือความเกลียด ที่เราจะมอบให้กับคนที่อยู่ในดุนยานี้ ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมก็ตาม เป็น 3 ประเภท ดังนี้



 

ประเภทที่หนึ่ง 

 

          ผู้ที่เราจะต้องมอบความรักให้อย่างหมดเปลือก มอบความรักด้วยความบริสุทธิ์ใจ บุคคลเหล่านี้ก็คือ บรรดามุอ์มินผู้อิคลาศมีความบริสุทธิ์ใจอย่างแท้จริง จากบรรดานบี บรรดาชุฮะดาอ์ (บรรดาผผู้ตายชะฮีด) และบรรดาคนศอลิหฺผู้กระทำความดี บุคคลเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด อยู่แห่งหนตำบลใด ตระกูลใด ถ้าเราทราบว่าเขาเป็นคนดีอยู่ในหลักการของอิสลาม จำเป็นแก่เราที่จะต้องมอบความรักให้แก่เขาด้วยความจริงใจ 
 

อัลลอฮฺ  ได้กล่าวไว้ในซูเราะฮฺอัลหัชรฺ อายะฮฺที่ 10 ว่า

( وَالَّذِينَ جَاءُوا مِن بَعْدِهِمْ يَقُولُونَ رَبَّنَا اغْفِرْ لَنَا وَلِإِخْوَانِنَا الَّذِينَ سَبَقُونَا بِالْإِيمَانِ وَلَا تَجْعَلْ فِي قُلُوبِنَا غِلًّا لِّلَّذِينَ آمَنُوا رَبَّنَا إِنَّكَ رَءُوفٌ رَّحِيمٌ )

“และบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขา โดยพวกเขากล่าวว่า

ข้าแต่พระเจ้าของเราทรงโปรดอภัยให้แก่เราและพี่น้องของเราผู้ซึ่งได้ศรัทธา ก่อนหน้าเรา

และขอพระองค์อย่าได้มีการเคียดแค้นเกิดขึ้นในหัวใจของเราต่อบรรดาผู้ศรัทธา

ข้าแต่พระเจ้าของเราแท้จริงพระองค์ท่านเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ”


وَالَّذِينَ جَاءُوا مِن بَعْدِهِمْ และบรรดาผู้ซึ่งตามมาที่หลัง หมายถึงพวกที่มาในยุคหลัง  

 
يَقُولُونَ  พวกเขาเหล่านั้นกล่าวว่า หมายถึง บรรดามุอ์มินที่แท้จริง
 

 رَبَّنَا اغْفِرْ لَنَا وَلِإِخْوَانِنَا الَّذِينَ سَبَقُونَا بِالْإِيمَانِ   กล่าวว่า โอ้พระเจ้าของเรา โปรดทรงอภัยโทษให้เรา และบรรดามิตรสหาย บรรดาพี่น้องที่ล่วงลับไปก่อนหน้าเรา ที่ศรัทธาก่อนหน้าเรา คือ บรรดาบรรพชนในอดีต ตั้งแต่ยุคของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ จนถึงคนในยุคหลัง ที่มีความศรัทธาอย่างแท้จริง

          เพราะบุคคลประเภทนี้ เป็นบุคคลที่มีใจบริสุทธิ์ในศาสนา ดำเนินชีวิตในแนวทางที่ถูกต้องตามหลักอะกีดะฮฺอะฮฺลุซซุนนะฮฺวัลญะมาอะฮฺ ปฏิบัติตามแนวทางของท่านนบี จึงจำเป็นแก่เราที่ต้องมอบความรักและการช่วยเหลือให้แก่บุคคลเหล่านั้น


 

ประเภทที่สอง 

          ผู้ที่เราจะต้องแสดงท่าทีรังเกียจอย่างจริงจัง ได้แก่ บรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา พวกมุชริกีน พวกมุนาฟิกีน พวกตกมุรตัด (ผู้ที่ตกศาสนา) และพวกนอกลู่นอกทาง หันเหออกจากอิสลาม ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด สายใด ตระกูลใดก็ตาม คนที่เราทราบแน่นอนแล้วว่าเขาออกจากอิสลามแล้ว เราจะต้องมีท่าทีอัลบะรออ์ คือท่าทีที่ตีตัวออกห่าง แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องมีคำแนะนำ คำตักเตือนแก่เขาด้วย 

อัลลอฮฺ  ได้ตรัสไว้ในซูเราะฮฺอัลมุญาดะละฮฺ อายะฮฺที่ 22 ว่า


( لَّا تَجِدُ قَوْمًا يُؤْمِنُونَ بِاللَّهِ وَالْيَوْمِ الْآخِرِ يُوَادُّونَ مَنْ حَادَّ اللَّهَ وَرَسُولَهُ وَلَوْ كَانُوا آبَاءَهُمْ أَوْ أَبْنَاءَهُمْ أَوْ إِخْوَانَهُمْ أَوْ عَشِيرَتَهُمْ )

“เจ้าจะไม่พบหมู่ชนใดที่พวกเขาศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และวันปรโลกรักใคร่ชอบพอผู้ที่ต่อต้านอัลลอฮฺ และร่อซูลของพระองค์

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเป็นพ่อของพวกเขา หรือลูกหลานของพวกเขา หรือพี่น้องของพวกเขา หรือเครือญาติของพวกเขาก็ตาม”

           เจ้าจะไม่พบกลุ่มชนหนึ่งกลุ่มชนใดที่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ  ศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮฺแล้ว เขาจะมอบความรักให้กับผู้ที่เป็นปรปักษ์ ผู้ที่ฝ่าฝืน ผู้ที่ยืนตรงข้ามกับอัลลอฮฺ  และร่อซูลของพระองค์ ถึงแม้ว่าบุคคลเหล่านั้นจะเป็น เป็นบุพการี เป็นบิดามารดา เป็นลูกหลาน เป็นพี่น้อง หรือเป็นเชื้อสายตระกูลของเขาก็ตาม เมื่อใดที่เราทราบว่าเขาฝ่าฝืนอัลลอฮฺ  แล้ว เราก็ต้องเอาหลักการอัลบะรออ์มาใช้กับเขา


 

ประเภทที่สาม 

          ผู้ที่เราจะต้องรักเขาในบ้างเรื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องตีตนออกห่างในบางเรื่องด้วย ประเภทนี้คือกลุ่มที่รวมไว้ซึ่งความรักและความเกลียด เขาเหล่านั้นได้แก่ บรรดามุสลิม บรรดามุอ์มินที่เป็นผู้ที่ฝ่าฝืน โดยพวกเขาปฏิบัติบางสิ่งที่เป็นบาป ละเมิดคำสั่งใช้ คำสั่งห้ามที่อัลลอฮฺและร่อซูลของพระองค์ได้วางไว้ รักพวกเขาเพราะว่าพวกเขาเป็นผู้มีอีมาน มีศรัทธา และออกห่างเพราะพวกเขาปฏิบัติบางสิ่งที่เป็นบาป แต่ว่าบาปนั้นไม่ใช่การปฏิเสธหรือการตั้งภาคี

          ขอเสนอตัวอย่างเหตุการณ์ในสมัยท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ มีชายคนหนึ่งชื่อว่า อับดุลลอฮฺ บิน ฮิมารฺ ในรายงานบอกว่า บุคคลนี้เป็นเศาะฮาบะฮฺท่านหนึ่งของท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ แต่ในขณะเดียวกันเขาดื่มสุรา เขาจึงถูกนำตัวมาพบท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ เมื่อเขาถูกนำตัวมา เศาะฮาบะฮฺบางท่านก็ได้ประณามอับดุลลอฮฺ บิน ฮิมารฺ ด้วยถ้อยคำที่เสียหายเกินเลย ว่าเขาว่าสิ้นสภาพความเป็นมุสลิม ออกนอกอิสลาม 

แต่ท่านนบีมุฮัมมัด ﷺ ซึ่งอยู่ตรงนั้นได้บอกว่า อย่าประณามเขา เพราะแท้จริงเขายังมีความรักต่ออัลลอฮฺ  และร่อซูลของพระองค์ 

          ทั้งๆที่มีหะดีษหลายต้นระบุว่าท่านนบี ﷺ สาปแช่งผู้ที่ดื่มสุรา ผู้ที่ขายสุรา ผู้ที่คั้นสุราหรือผลิตสุรา หรือแม้กระทั่งผู้ที่ถือมา ไปหาสุรามา แต่ในขณะเดียวกันผู้ดื่มสุราท่านนี้ที่ถูกนำตัวมาพบท่านนบี ﷺ ท่านนบี ﷺ กลับบอกว่าอย่าไปประณามเขาแบบนั้น แต่ให้พูดตักเตือนเขา ให้สั่งสอนเขา ให้บอกถึงบทลงโทษที่เขาจะได้รับ


ที่มา อัล อิศลาห์สมาคม บางกอกน้อย