อธิบายสรุปตำราของชัยคฺมุฮัมมัด บุตรของ อับดุลวะฮาบ
  จำนวนคนเข้าชม  6027


อธิบายสรุปตำราของชัยคฺมุฮัมมัด บุตรของ อับดุลวะฮาบ


 

แปลและถ่ายทอด ยะหฺยา หัสการบัญชา

 

          อธิบายตำราสามเล่มของท่านชัยคฺมุฮัมมัด บุตรของ อับดุลวะฮาบ แบบสรุป ดังนี้ ตำรานะวากิฎุลอิสลาม , เกาะวาอิดุลอัรบะอะฮฺ , ตำราอุศูลุษษะลาษะฮฺ


 

1. ตำรานะวากิฎุลอิสลาม 

 

           สิ่งที่มาทำลายอิสลาม และทำให้สูญเสียอิสลาม (นะวากิฎุลอิสลาม) ซึ่งส่งผลให้ผู้ที่มีคุณลักษณะเหล่านี้เป็นผู้ปฏิเสธอิสลามหรือสิ้นสภาพจากการเป็นมุสลิม มีหลักๆ 10 อย่างดังนี้

     1. การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ  (ชิรกฺ)โดยเคารพบูชาสิ่งอื่นๆนอกจากอัลลอฮฺในรูปแบบต่างๆ เช่นการเชือดพลี ฯลฯ

     2. ผู้ที่สร้างสื่อกลางระหว่างตัวเขากับอัลลอฮฺ  ในการเคารพบูชาอัลลอฮฺ  ไม่ว่าจะเป็นการวิงวอนขอสิ่งต่างๆ, การขอความช่วยเหลือ โดยผ่านสื่อกลาง

     3. ผู้ที่ไม่ตัดสินผู้ปฏิเสธว่าเป็นผู้ปฏิเสธ หรือสงสัยในการปฏิเสธของเขา หรือทำให้แนวทางปฏิเสธนั้นเป็นแนวทางที่ถูกต้อง

     4. ผู้ที่เชื่อมั่นว่าแนวทางอื่นนั้นสมบูรณ์แบบกว่าแนวทางของท่านนบี  และเชื่อว่ากฎหมายหรือบทบัญญัติอื่นนั้นดีกว่ากฎหมายของท่านนบี 

     5. ผู้ที่รังเกียจสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ตามที่ท่านเราะสูล  ได้นำมาสอนสั่งและเผยแผ่ ถึงแม้ว่าเขาจะปฏิบัติและกระทำในสิ่งนั้นๆ(ที่ท่านนบี  สอน)ก็ตาม

     6. ผู้ที่ดูหมิ่น เหยียดหยาม เยาะเย้ยคำสอนของศาสนาอิสลามไม่ว่าจะในเรื่องหนึ่งเรื่องใดก็ตาม

     7. ไสยศาสตร์ โดยครอบคลุมทั้งผู้ที่กระทำรวมทั้งผู้ที่เชื่อและพอใจกับไสยศาสตร์

     8. การให้ความช่วยเหลือหรือออกตัวสนับสนุนผู้ปฏิเสธเพื่อมาทำร้ายมุสลิมผู้ศรัทธา

     9. ผู้ที่เชื่อมั่นว่ามีบุคคลบางกลุ่มที่อนุญาตและผ่อนผันให้เขาสามมารถละทิ้งการปฏิบัติตามแบบอย่างและแนวทางของท่านนบีมุฮัมมัด  รวมถึงบทบัญญัติของอิสลาม ดังที่นบีคิเฎรได้รับการผ่อนผันจากบทบัญญัติของท่านนบีมูซา

     10. การผินหลังให้กับศาสนาอิสลาม โดยไม่พยายามศึกษาเรียนรู้ และไม่กระทำตามคำสอนของอิสลาม

 

          โดยชัยคฺได้สรุปตอนท้ายว่า สิบอย่างนี้ถือเป็นสิ่งต่างๆที่แพร่กระจายอย่างมากมายในสังคม และถือเป็นบางส่วนของการทำให้สูญเสียอิสลามที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยมันจะครอบคลุมทุกคนที่กระทำสิบอย่างนี้ ทั้งผู้ที่ทำโดยตั้งใจ หรือล้อเล่น หรือหวาดกลัว นอกจากผู้ที่ถูกบังคับให้กระทำเท่านั้น(ที่จะได้รับการยกเว้น)


 

2. ตำรา เกาะวาอิดุลอัรบะอะฮฺ(กฎสี่ข้อ) 

 

          โดยชัยคฺได้เริ่มต้นตำราเล่มนี้ด้วยการชี้แจงให้เห็นถึงความสำคัญของการเคารพบูชาอัลลอฮฺ  (อิบาดะฮฺ)เพียงพระองค์เดียว และการกระทำอิบาดะฮฺใดๆก็ตามที่ไม่มีการให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺ  อยู่ในนั้น ถือว่าการงานนั้นไม่ถูกตอบรับ ณ ที่อัลลอฮฺ  จากนั้นชัยคฺได้ชี้แจงถึงภัยอันตรายของการตั้งภาคี(ชิริก)ต่ออัลลอฮฺ  และตักเตือนมุสลิมให้ออกห่างจากการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ   โดยได้สรุปกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้สี่ข้อดังนี้

 

กฎข้อที่หนึ่ง

 

          บรรดาผู้ปฏิเสธที่ท่านนบีมุฮัมมัด  ได้พยามยามเชิญชวนพวกเขาให้มาสู่การเคารพบูชาอัลลอฮฺเพียงองค์เดียว พวกเขาต่างยืนยันและยอมรับว่าอัลลอฮฺคือพระผู้สร้าง ผู้ทรงบริหารดูแลทุกสรรพสิ่ง แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังไม่ใช่มุสลิม 
 

          (บ่งบอกว่าการเป็นมุสลิมหรือเข้าสู่การนับถืออิสลามอย่างแท้จริงนั้นนอกจากจะต้องให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺในการสรรสร้างหรือที่เรียกว่าเตาฮีดรุบูบียะฮฺ แล้ว ก็จะต้องให้เอกภาพต่ออัลลอฮฺในการเคารพบูชาอัลลอฮฺ ที่เรียกว่าเตาฮีดอุลูฮียะฮฺเพียงพระองค์เดียวด้วยเช่นกัน)

 

กฎข้อที่สอง

 

           ข้ออ้างของบรรดาผู้ตั้งภาคีก็คือ พวกเขามิได้เคารพบูชาสิ่งอื่นจากอัลลอฮฺ  นอกจากเพียงเพื่อใช้สิ่งเหล่านี้เป็นสื่อกลางในการวิงวอนต่ออัลลอฮฺ  และขอความช่วยเหลือจากพระองค์ผ่านสิ่งเหล่านี้

 

          (บ่งบอกว่าการวิงวอนขอจากหลุมศพบรรดานบีหรือผู้ทรงคุณธรรมทั้งหลายโดยอ้างว่าเพื่อให้คนดีๆเหล่านี้เป็นสื่อกลางที่ช่วยให้ได้รับในสิ่งที่ขอจากอัลลอฮฺ  ถือเป็นส่วนหนึ่งจากการตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ )

 

กฎข้อที่สาม

 

          ท่านนบีมุฮัมมัด  ได้เผยแผ่อิสลามท่ามกลางมวลชนที่มีความหลากหลายในการเคารพบูชา โดยมีทั้งผู้ที่เคารพบูชาดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ , ผู้ที่บูชามลาอิกะฮฺ , ผู้ที่บูชาบรรดานบีและผู้ทรงคุณธรรม , ผู้ที่บูชาต้นไม้ โขดหิน ฯลฯ ซึ่งท่านนบี  มิได้ละเว้นหรือแบ่งแยกระหว่างมวลชนเหล่านี้ในการเชิญชวนพวกเขาไปสู่การเครพบูชาอัลลอฮฺ  เพียงพระองค์เดียว

          (บ่งบอกว่า การตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺนั้นมิได้จำกัดเฉพาะการบูชารูปปั้นเท่านั้น แต่รวมถึงการกราบไหว้บูชาทุกๆสิ่งนอกเหนือจากอัลลอฮฺ  โดยถือว่าการกระทำต่างๆในลักษณะนี้ถือเป็นการตั้งภาคีที่จะต้องเชิญชวนพวกเขาให้หันกลับมาสู่การเคารพบูชาอัลลอฮฺเพียงพระองค์เดียวอย่างแท้จริง)

กฎข้อที่สี่

          บรรดาผู้ตั้งภาคีในยุคนี้การตั้งภาคีของพวกเขาร้ายแรงยิ่งกว่าบรรดาผู้ตั้งภาคีในยุคก่อน เพราะผู้ตั้งภาคีในยุคก่อนพวกเขาจะตั้งภาคีในยามสุขสบาย ส่วนในยามทุกข์ยากพวกเขาจะเคารพกราบไหว้อัลลอฮฺ  เพียงพระองค์เดียว ส่วนผู้ตั้งภาคีในยุคนี้ไม่ว่าจะยามทุกข์หรือยามสุขพวกเขาก็ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ 


3. ตำราอุศูลุษษะลาษะฮฺ(รากฐานสามประการ) พร้อมหลักฐานอ้างอิง 

     โดยชัยคฺได้เริ่มด้วยการชี้แนะให้ทราบถึงหน้าที่พื้นฐานของมุสลิมมีสี่ประการด้วยกันดังนี้

1. ศึกษา 
2. ปฏิบัติ 
3. เผยแผ่ 
4. อดทนต่อภยันตรายต่างๆที่มาประสบในระหว่างการเผยแผ่


ส่วนรากฐานสามประการ ของการเป็นมุสลิมนั้นมีดังนี้

     1. การรู้จักอัลลอฮฺ ( รวมถึงเคารพบูชาพระองค์อย่างถูกต้องตามที่มีหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺระบุไว้)

     2. การรู้จักศาสนาอิสลาม (โดยรู้ถึงระดับขั้นต่างๆของอิสลาม ทั้งองค์ประกอบพื้นฐานของอิสลาม(รุก่น)ทั้งห้า องค์ประกอบพื้นฐานในการยึดมั่นศรัทธา(รุก่น)ทั้งหก และการเข้าถึงระดับของการมีคุณธรรมอย่างแท้จริง(อัลเอี๊ยะหฺซาน) คือการเคารพบูชาอัลลอฮฺ  เสมือนว่าท่านเห็นพระองค์ถึงแม้ว่าท่านจะไม่เห็นพระองค์แต่พระองค์ทรงเห็นท่าน และยึดมั่นปฏิบัติตามคำสอนของอิสลามอย่างถูกต้องตามที่มีหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺระบุไว้)

     3. การรู้จักท่านนบี  (รวมถึงชีวประวัติของท่าน , แบบอย่างและแนวทางของท่านอย่างถูกต้องตามที่มีหลักฐานจากอัลกุรอานและสุนนะฮฺระบุไว้)


วัลลอฮฺ อะอฺลัม


อ้างอิงจากตำรา มุตูน ฏอลิบิลอิลมฺ เล่มที่หนึ่ง ซึ่งรวบรวมและเรียบเรียงโดย ชัยคฺอับดุลมัวะหฺซิน อัลกอซิม(อิมามมัสญิดนะบะวีย์)



หมายเหตุ 

- ข้อความในวงเล็บคือคำอธิบายเพิ่มเติมจากผู้แปลถ่ายทอด

- การอธิบายไม่ได้ครอบคลุมทุกรายละเอียดในตำราทั้งสาม เพียงแต่สรุปประเด็นหลักจากทั้งสามตำราเท่านั้น ซึ่งใช้สำหรับการเข้าถึงใจกลางของตำราขั้นพื้นฐาน ส่วนรายละเอียดรวมถึงหลักฐานในแต่ละประเด็นให้ศึกษาและอ่านเพิ่มเติมจากตำราทั้งสามรวมถึงตำราของปราชญ์สะละฟีย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้อธิบายไว้ในตำรามากมาย เช่น ตำราของชัยคฺอับดุลอะซีซ บิน บาซ ชัยคฺมุฮัมมัด อัลอุษัยมีน ชัยคฺศอลิหฺ อัลเฟาซาน ฯลฯ