หะดีษเฏาะอีฟและเมาฏูอฺในเดือนเราะญับที่ควรรู้
  จำนวนคนเข้าชม  4513


หะดีษเฏาะอีฟและเมาฏูอฺในเดือนเราะญับที่ควรรู้


 

มิฟตาฮุล-ค็อยรฺ เรียบเรียง


          บทความนี้จะนำเสนอบางส่วนจากหะดีษเฏาะอีฟ (อ่อน) และหะดีษเมาฏูอฺ (อุปโลกน์) ที่เกี่ยวกับความประเสริฐของเดือนเราะญับ เพื่อให้พี่น้องได้รับทราบถึงสถานะของหะดีษต่างๆ เหล่านั้น และเพื่อเป็นเกราะป้องกันการมีความเชื่อและการปฏิบัติที่ไม่ได้วางอยู่บนหลักฐานที่ถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หะดีษเมาฏูอฺ ซึ่งไม่อนุญาตนำมาใช้เป็นหลักฐานในเรื่องศาสนาแม้แต่น้อย เพราะไม่ใช่คำกล่าวของท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่อย่างใด ส่วนการนำหะดีษเฏาะอีฟมาใช้เป็นหลักฐานนั้น นักวิชาการมีความเห็น 2 ทัศนะใหญ่ๆ คือ 

 

     1. ไม่อนุญาตไม่ว่ากรณีใดๆ เป็นทัศนะของอิมามอัลบุคอรีย์ มุสลิม เป็นต้น 

 

     2. อนุญาตในบางกรณี โดยมีเงื่อนไข เช่น ต้องไม่เป็นหะดีษที่อ่อนมาก ไม่ใช่หะดีษที่กล่าวถึงหุกุมต่างๆ จะต้องไม่ปักเชื่ออย่างเด็ดขาดต่อหะดีษนั้น เพียงแต่เผื่อไว้เท่านั้น 

 

       สำหรับหะดีษเฏาะอีฟที่กล่าวถึงคุณค่าของการปฏิบัติอะมัลต่างๆ อะมัลดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้หลักมูลฐานเดิมที่มีอยู่ในหะดีษที่เศาะฮีหฺ เช่น ผลบุญของการละหมาดญะมาอะฮฺ เป็นต้น ดังกล่าวนี้ เป็นทัศนะของอิมามอิบนุ หะญัร อัลอัสเกาะลานียฺ เป็นต้น

        สำหรับหะดีษต่างๆ เกี่ยวกับความประเสริฐในเดือนเราะญับ ท่านอิบนุ หะญัร อัลอัศเกาะลานียฺ เราะฮิมะฮุลลอฮฺ เสียชีวิต ฮ.ศ. ที่ 852 ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ที่เชี่ยวชาญด้านหะดีษคนหนึ่ง และเป็นผู้ที่อธิบายหนังสือเศาะฮีหฺ อัลบุคอรียฺ และถือปฏิบัติทางตามมัซฮับอิมามอัชชาฟิอียฺ ได้กล่าวว่า

          “ไม่มีหลักฐานที่ถูกต้อง (ที่สามารถนำมาเป็นหลักฐาน) ในเรื่องความประเสริฐของเดือนเราะญับได้เลย ไม่ว่าจะเป็นการถือศีลอดในเดือนนี้ หรือการถือศีลอดในวันใดวันหนึ่งเป็นการเฉพาะ หรือความประเสริฐของการเจาะจงการละหมาดกลางคืนในบางค่ำคืน” 
 

(ตับยีนุลอุญับฯ: 6)

 

และท่านยังได้กล่าวอีกว่า
 

         “และสำหรับหะดีษต่างๆ ที่ได้รายงานถึงความประเสริฐของเดือนเราะญับ หรือความประเสริฐของการถือศีลอดในเดือนนี้ หรือการถือวันใดวันหนึ่งเป็นการเฉพาะเดือนนี้ (หะดีษดังกล่าวจะจัดอยู่ในสองประเภท) คือ หะดีษเฏาะอีฟและหะดีษเมาฏูอฺ”
 

 (ตับยีนุลอุญับฯ: 6)

 

ส่วนหนึ่งจากหะดีษเฏาะอีฟและหะดีษเมาฏูอฺเกี่ยวกับความประเสริฐในเดือนเราะญับ มีดังนี้

 

1.หะดีษเฏาะอีฟ

 

 หะดีษเกี่ยวกับการถือศีลอดโดยเจาะจงจำนวนวันหรือเจาะจงวันที่ มีด้วยกันหลายหะดีษ ส่วนหนึ่ง คือ

♦  صوم أول يوم من رجب كفارة ثلاث سنين، والثاني كفارة سنتين، والثالث كفارة سنة…


     “การถือศีลอดในวันที่หนึ่งของเดือนเราะญับ จะได้รับการลบล้างความผิด 3 ปี ถือศีลอดวันที่ 2 จะได้รับการลบล้าง 2 ปี และวันที่สามจะได้รับการลบล้างอีก 1 ปี…”

     ชัยค์ อัลอัลบานียฺ ได้กล่าวว่าหะดีษนี้ เฏาะอีฟ บันทึกในเฏาะอีฟ อัลญามิอฺ: 3500

 

♦  من صام ثلاثة أيام من شهرٍ حرامٍ الخميس والجمعة والسبت كتب الله له عبادة تسعمائة سنة


     “การถือศีลอดในสามวันในเดือนเราะญับ โดยถือวันพฤหัสบดี วันศุกร์ และวันเสาร์ อัลลอฮฺจะบันทึกแก่เขาให้เท่ากับการทำอิบาดะฮฺ 900 ปี”

     ชัยค์ อัลอัลบานียฺ ได้กล่าวว่าหะดีษนี้ เฏาะอีฟ บันทึกในเฏาะอีฟ อัลญามิอฺ: 5469

 

 

♦ และหะดีษเมากูฟหนึ่ง (คำกล่าวของเศาะหาบะฮฺ) ซึ่งท่านอะบู ฮูร็อยเราะฮฺ ได้กล่าวว่า

مَنْ صام يومَ سبعٍ وعشرينَ من رجبٍ كُتبَ له صيامُ ستِّينَ شهرًا وهو اليومُ الذي هبط فيه جبريلُ بالرِّسالةِ

     “ใครถือศีลอดในวันที่ 27 ของเดือนเราะญับ เขาได้รับการบันทึกเท่ากับการถือศีลอด 60 เดือน ซึ่งวันดังกล่าวคือวันแรกที่ญิบรีลนำสารจากอัลลอฮฺมามอบให้ท่านนบี”

     ท่านอิบนุหะญัร อัลอัสเกาะลานียฺ ได้กล่าวว่า สายรายงานของหะดีษนี้เฏาะอีฟ บันทึกใน ตับยีนุลอุญับฯ: 45

     นอกจากหะดีษเฏาะอีฟที่ระบุผลบุญของการถือศีลอดของเดือนเราะญับแล้ว คำดุอาอ์หนึ่งที่เราต่างวอนขอเมื่อเข้าสู่เดือนนี้ ก็เป็นหะดีษที่เฏาอีฟเช่นกัน 

 

♦    كانَ رسولُ اللَّهِ صلَّى اللَّهُ عليهِ وسلَّمَ إذا دخَلَ رجبٌ قالَ : اللَّهمَّ بارِكْ لَنا في رجَبٍ وشعبانَ ، وبلِّغنا رمضانَ 


     “เมื่อท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้เข้าสู่เดือนเราะญับ ท่านก็ได้กล่าวว่า อัลลอฮุมมะ บาริกละนา ฟี เราะญะบิน วะชะอฺบาน วะบัลลิฆนา เราะมะฏอน

     (โอ้ อัลลอฮฺ โปรดประทานความจำเริญแก่เราในเดือนเราะญับ และเดือนชะอฺบาน และโปรดให้เราบรรลุสู่เดือนเราะมะฏอนด้วยเถิด)”

          นักวิชาการหลายท่าน เช่น ท่านอิมามอันนะวียฺ ได้กล่าวว่า สายรายงานของหะดีษนี้เฏาะอีฟ ในหนังสืออัลอัซการ: 245 ท่านอิบนุ เราะญับ ได้กล่าวว่าสายรายงานของหะดีษนี้เฏาะอีฟเช่นกัน ในหนังสือละฏออิฟ อัลมะอาริฟ: 233 ท่านชัยค์ อัลอัลบานียฺ ได้กล่าวว่า หะดีษนี้เฏาะอีฟ บันทึกในหนังสือเฏาะอีฟ อัลญามิอฺ: 4395 เป็นต้น


 

2.หะดีษเมาฏูอฺ

 

2.1 เราะญับ เป็นชื่อแม่น้ำสายหนึ่งในสวรรค์

إن في الجنة نهرًا يقال له رجب ماؤه أشد بياضا من اللبن، وأحلى من العسل، من صام يومًا من رجب سقاه الله من ذلك النهر

“แท้จริง ในสวนสวรรค์มีแม่น้ำสายหนึ่ง กล่าวกันว่า ชื่อ “เราะญับ” น้ำของมันนั้นขาวยิ่งกว่าน้ำนม มีความหวานยิ่งกว่าน้ำผึ้ง และผู้ใดได้ถือศีลอดหนึ่งวันในเดือนเราะญับ อัลลอฮฺจะให้เขาได้ดื่มน้ำจากแม่น้ำสายนี้”

ชัยค์ อัลอัลบานียฺ ได้กล่าวว่าหะดีษนี้ บาฏิล (มดเท็จ) บันทึกในเฏาะอีฟ อัลญามิอฺ: 1902


 

2.2 การขอดุอาอ์ในค่ำคืนแรกของเดือนนี้จะได้รับการตอบรับ

خمس ليال لا ترد فيهن الدعوة أول ليلة من رجب ، وليلة النصف من شعبان، وليلة الجمعة، وليلة الفطر، وليلة النحر

“มีห้าค่ำคืนที่การขอดุอาอ์ในคืนดังกล่าวจะไม่ถูกปฏิเสธ (ได้รับการตอบรับจากอัลลอฮฺ) ได้แก่ คืนแรกของเดือนเราะญับ คืนนิศฟูชะอฺบาน ค่ำคืนของวันศุกร์ ค่ำคืนวันอีดีลฟิตรี และค่ำคืนวันเชือด (วันนะหฺ) ”

ชัยค์ อัลอัลบานียฺ ได้กล่าวว่าหะดีษนี้ เมาฏูอฺ บันทึกในเฏาะอีฟ อัลญามิอฺ: 2852 และในซิลซิละฮฺ อัฏฏออีฟะฮฺ: 1452


 

2.3 การถือศีลอดสุนนะฮฺในเดือนนี้

หะดีษเมาฏูอฺเกี่ยวกับการถือศีลอดมีด้วยกันหลายบท ที่ไม่เจาะจงจำนวนวันในการถือ ส่วนหนึ่งมีดังนี้

رجب شهر الله ، وشعبان شهري ، ورمضان شهر أمتي ، فمن صام رجب إيمانا واحتسابا استوجب رضوان الله الأكبر وأسكنه الفردوس الأعلى…

“เราะญับเป็นเดือนของอัลลอฮฺ ชะอฺบานเป็นเดือนของฉัน และเราะมะฏอนเป็นเดือนแห่งประชาชาติของฉัน ดังนั้น ผู้ใดที่ถือศีลอดในเดือนเราะญับ ด้วยความศรัทธาและคาดหวังว่าสมควรได้รับความโปรดปรานที่ยิ่งใหญ่จากอัลลอฮฺ และพระองค์จะให้เขาพำนักในสวรรค์ฟิรดาวส์ที่สูงส่งยิ่ง…”

ท่านอิบนุล เญาซียฺ กล่าวว่าหะดีษนี้ เมาฏูอฺ ในหนังสือ อัลเมาฏูอาต 2/576


และอีกหะดีษหนึ่ง

من صام يوماً من المحرم، فله بكلّ يومٍ ثلاثون حسنة
 

 “ผู้ใดถือศีลอดสุนนะฮฺหนึ่งวันในเดือนอัลมุหัรรอม เขาจะได้รับผลบุญในการถือ โดยที่ทุกๆ หนึ่งวัน จะเท่ากับ 30 ความดี”

ชัยค์ อัลอัลบานียฺ ได้กล่าวว่าหะดีษนี้ เมาฏูอฺ บันทึกในเฏาะอีฟ อัลญามิอฺ: 5654 และ ในซิลซิละฮฺ อัฏฏออีฟะฮฺ 413


 

          เดือนอัลมุหัรรอมหรือเดือนต้องห้ามทั้งหมดมีสี่เดือน และเราะญับ คือ หนึ่งในเดือนดังกล่าว สำหรับหะดีษที่ระบุถึงผลบุญของการถือศีลอดโดยเจาะจงจำนวนวัน ส่วนหนึ่งมีดังนี้

 

* ผลบุญของการถือศีลอด 1 วัน

إن شهر رجب شهر عظيم، من صام منه يومًا كتب الله له صوم ألف سنة…

 “แท้จริง เราะญับเป็นเดือนหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ ผู้ใดที่ได้ถือศีลอดสุนนะฮฺหนึ่งวันในเดือนนี้ อัลลอฮฺจะบันทึกแก่เขาเสมือนว่าได้ถือศีลอด 1,000 ปี…”
 

ท่านอิบนุล เญาซียฺ กล่าวว่าหะดีษนี้ เมาฏูอฺ ในหนังสือ อัลเมาฏูอาต 2/206-207


* ผลบุญของการถือศีลอด 3 และ 7 วัน

من صام ثلاثة أيام من رجب كتب الله له صيام شهر، ومن صام سبعة أيام أغلق عنه سبعة أبواب من النار

“ผู้ใดถือศีลอดสามวันในเดือนเราะญับ อัลลอฮฺจะบันทึกผลบุญแก่เขาเสมือนว่าถือศีลอดหนึ่งเดือน และผู้ใดถือศีลอดเจ็ดวันในเดือนนี้ ประตูต่างๆ ของนรกจะถูกปิดให้แก่เขา”

ท่านอิบนุล เญาซียฺ กล่าวว่าหะดีษนี้ เมาฏูอฺ ในหนังสือ อัลเมาฏูอาต 2/206



* ผลบุญของการถือศีลอด 15 วัน

ومن صامَ من رجبٍ خمسةَ عشرَ يومًا وقفَهُ اللهُ يومَ القيامَةِ موقفَ الآمنينَ

 “ผู้ใดถือศีลอด 15 วันในเดือนเราะญับ อัลลอฮฺจะทรงช่วยเหลือเขาให้ได้อยู่ในตำแหน่งที่ปลอดภัยในวันกิยามะฮฺ”

ท่านอิบนุ หะญัร อัลอัสเกาะลานียฺ ได้กล่าวว่า หะดีษนี้ บาฏิล (มดเท็จ) บันทึกใน ตับยีนุลอุญับฯ: 22


2.4 การละหมาดสุนนะฮฺในบางคืน

من صلى المغرب في أول ليلة من رجب ثم صلى بعدها عشرين ركعة يقرأ في كل ركعة بفاتحة الكتاب، وقل هو الله أحد مرة، ويسلم فيهن عشر تسليمات، أتدرون ما ثوابه؟ قال: حفظه الله في نفسه وأهله وماله وولده، وأجير من عذاب القبر، وجاز الصراط كالبرق بغير حساب ولا عذاب

 “ผู้ใดละหมาดมัฆริบในค่ำคืนแรกของเดือนเราะญับ หลังจากนั้นก็ละหมาดสุนนะฮฺต่ออีก 20 ร็อกอะฮฺ โดยอ่านสูเราะฮฺฟาติหะฮฺและกุลฮุวัลลอฮุอะหัด ทุกๆ ร็อกอะฮฺ และให้สลาม รวม 10 ครั้งระหว่าง 20 ร็อกอะฮฺนั้น (คือ สลามทุกๆ 2 ร็อกอะฮฺ) ท่านทราบหรือไม่ว่า อะไรคือผลบุญของการกระทำเหล่านั้น? คำตอบก็คือ อัลลอฮฺจะทรงปกปักษ์รักษาเขา ครอบครัวของเขา ทรัพย์สินและลูกหลานของเขา จะให้เขารอดพ้นจากบทลงโทษในกุบูรฺ และจะให้เดินผ่านสะพานศิรอตอย่างรวดเร็วเสมือนฟ้าแลบ โดยไม่ต้องถูกพิพากษาและถูกลงโทษใดๆ”

ท่านอิบนุล เญาซียฺ กล่าวว่าหะดีษนี้ เมาฏูอฺ ในหนังสือ อัลเมาฏูอาต 2/123


บทส่งท้าย

          สังเกตได้ว่า หะดีษที่ไม่เศาะฮีหฺที่กล่าวมาข้างต้นเป็นหะดีษที่จูงใจถึงผลบุญของการถือศีลอดเป็นส่วนใหญ่ สำหรับท่านที่รักในอิบาดะฮฺการถือศีลอด เพียงพอแล้วที่จะเชื่อมั่นต่อภาคผลของการดำเนินชีวิตตามแบบฉบับของท่านนบี  ที่ท่านได้ ถือศีลอดสุนนะฮฺทุกวันจันทร์และวันพฤหัส และถือศีลอดวันที่ 13-15 ของเดือนเป็นประจำ โดยไม่ต้องคาดหวังกับผลบุญที่ดูเลยเถิดและไม่ถูกต้องที่ปรากฏในหะดีษเฏาะอีฟหรือเมาฏูอฺข้างต้น

          อย่างไรก็ดี มีหะดีษที่เศาะฮีหฺบทหนึ่ง ที่ได้กล่าวถึงภาพรวมของการถือศีลอดที่ประเสริฐยิ่งถัดจากเดือนเราะมะฏอน นั่นก็คือ การถือศีลอดในเดือนต้องห้าม ดังที่ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า


أَفْضَلُ الصِّيَامِ بَعْدَ رَمَضَانَ شَهْرُ اللهِ المُحَرَّمُ

“การถือศีลอดที่ประเสริฐยิ่งหลังจากเดือนรอมฎอน คือ การถือศีลอดในเดือนของอัลลอฮฺที่ต้องห้าม (อัลมุหัรรอม)” 

(บันทึกโดยอิมามมุสลิม อะบูดาวูด และอัตติรมิซียฺ)

          เดือนเราะญับ เป็นหนึ่งในสี่เดือนต้องห้ามข้างต้น ดังนั้น เพียงพอแล้วที่หะดีษบทนี้จะทำให้เราขะมักเขม้นในการถือศีลอดให้มากขึ้น ตามแบบฉบับที่ท่านนบี  ได้ประพฤติปฏิบัติไว้ โดยไม่ต้องพึ่งรูปแบบการถือศีลอดที่กำหนดจำนวนวันและผลบุญที่อุปโลกน์ขึ้นเพื่อจูงใจแต่อย่างใด เพียงพอแล้วที่แบบอย่างของท่านนบี  จะทำให้ผู้ศรัทธามีพลังใจในการปฏิบัติความดี เพื่อหวังความเมตตาและการอภัยโทษจากอัลลอฮฺ สุบหานะฮุ วะตะอาลา

วัลลอฮุอะอฺลัม บิศเศาะวาบ