การใช้สื่อเพื่อใกล้ชิดอัลลอฮ์
  จำนวนคนเข้าชม  7839


การใช้สื่อเพื่อใกล้ชิดอัลลอฮ์

 

คอเฏ็บ อับดุลสลาม เพชรทองคำ

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมที่รักทั้งหลายครับ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้เราให้มีความยำเกรงต่อพระองค์ เพราะการยำเกรงต่อพระองค์นั้น หากมีอยู่ในหัวใจของเราแล้ว มันก็จะเป็นเสมือนกำแพงที่ขวางกั้นเรา ไม่ให้ทำสิ่งที่เป็นชิริก สิ่งที่เป็นบิดอะฮฺ สิ่งที่เป็นมะอฺศิยะฮฺ สิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา และมันก็จะเป็นแรงผลักดันเราให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นอิบาดะฮฺ สิ่งที่เป็นอะมัลศอและฮฺต่างๆ 

          ซึ่งผลของการที่เรามีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็คือ การที่เราได้ปกป้องตัวของเราเองให้รอดพ้นจากการถูกทรมานในกุบูร และปกป้องเราจากการถูกลงโทษในไฟนรกในวันกิยามะฮฺ สำหรับในโลกดุนยานี้ เราก็จะได้รับชีวิตที่ดีงาม ส่วนในโลกอาคิเราะฮฺเราก็จะได้รับรางวัลตอบแทนด้วยสวนสวรรค์ และสิ่งพิเศษมากมายที่อยู่ภายในสวนสวรรค์นั้น

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมที่รักทั้งหลายครับ ในการใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันๆนั้น เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่า เราต้องพยายามดำเนินชีวิตให้อยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติของศาสนา แต่ว่าเราจะทำได้มากน้อยแค่ไหนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความตักวา หรือความยำเกรงที่มันอยู่ในหัวใจของแต่ละคนนะครับ ประกอบกับสังคมในทุกวันนี้มีสิ่งล่อลวงต่างๆมากมายที่พาให้ผู้คนเพลิดเพลินหลงใหลไปกับมัน เช่น การเข้าไปในเว็ปไซด์ต่างๆบนโลกโซเชียลเน็ตเวิร์คในเรื่องต่างๆที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องราวศาสนา มันก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราเพลิดเพลินไปกับมัน แทนที่จะใช้เวลาไปกับการทำเรื่องที่เป็นซุนนะฮฺ หรือเรื่องของการแสวงหาความรู้ในเรื่องราวของบทบัญญัติศาสนา นอกจากนี้มันก็อาจพาเราหลงเดินออกห่างจากทางนำอันถูกต้องดีงามทีละเล็กทีละน้อย จากเรื่องเล็กๆน้อยๆที่เราเห็นว่ามันไม่สำคัญ แล้วมันก็จะกลายไปสู่เรื่องใหญ่โตที่มีผลที่ทำให้เราหลุดออกจากแนวทางอันถูกต้องเที่ยงตรงได้

          ดังนั้น เราจึงต้องระมัดระวังการใช้ชีวิตในแต่ละวันๆของเราให้มากๆ ดังเช่นที่ครั้งหนึ่งท่านอุมัร อิบนุลค๊อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุ เคาะลีฟะฮฺอัรรอชิดีนท่านที่สองของอิสลามได้ถามท่านกะอฺบฺ ซึ่งเป็นเศาะฮาบะฮฺท่านหนึ่งว่า : ما التقوى؟การตักวาคืออะไร ? ”

          ท่านกะอฺบฺตอบท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรว่า : يا أمير المؤمنين أما سلكت طريقا فيه شوك؟โอ้ท่านผู้นำแห่งบรรดาผู้ศรัทธา ท่านเคยเดินไปในที่ที่มันมีหนามแหลมคมบ้างไหมครับ ?”

           ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรตอบว่า : نعم. “เคยสิ (ทำไมจะไม่เคย)”

           ท่านกะอฺบฺจึงถามต่อไปว่า : فماذا فعلت؟แล้วท่านทำอย่างไรเล่าครับ ? (เมื่อเวลาที่ท่านต้องเดินไปในที่มีหนามแหลมคมเช่นนั้น) ”

          ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรจึงได้ตอบว่า : أشمر عن ساقي، وانظر إلى مواضع قدمي وأقدم قدما وأؤخر أخرى مخافة أن تصيبني شوكة. “ฉันก็จะเตรียมพร้อมด้วยการกระชับเสื้อผ้าของฉันให้มันเรียบร้อย เมื่อเวลาที่ฉันก้าวเท้าเดิน ฉันก็จะมองที่เท้าของฉัน ไม่ให้ไปเหยียบโดนหนาม พอก้าวเท้าหนึ่งออกไปแล้ว ก็ต้องยั้งอีกข้างหนึ่ง ดูให้แน่ใจก่อนว่าไม่ไปเหยียบหนาม จึงจะก้าวเท้าออกไป

            ท่านกะอฺบฺจึงกล่าวว่า : تلك هي التقوىนั่นแหละครับคือการตักวา

 

           การตักวา จึงหมายถึงการที่เราใช้ชีวิตของเราในแต่ละวันๆของเราอย่างระมัดระวังที่สุด โดยพยายามให้มันอยู่ในขอบเขตของบทบัญญัติศาสนา เพราะถ้าเราก้าวพลาดแม้เพียงนิดเดียว เราก็อาจจะถูกหนามเกี่ยวได้ นั่นก็คือ ถ้าเราไปฝ่าฝืนทำในสิ่งที่มันผิดต่อบทบัญญัติศาสนา แม้เป็นเรื่องที่เราเห็นว่าเล็กน้อย มันก็จะทำให้เราต้องเจ็บตัว เพราะเราจะต้องถูกลงโทษจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องศึกษา แสวงหาความรู้อยู่เสมอว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ให้เราทำอะไรบ้าง ทรงสั่งห้ามเราจากการทำอะไรบ้าง

          เมื่อศึกษาแล้ว รู้แล้ว ทราบแล้ว ก็ให้เราพยายามปฏิบัติไปตามนั้นให้เต็มความสามารถของเราที่เราสามารถจะทำได้ สิ่งไหนที่ทำผิดพลาดพลั้งไปก็ให้รู้สำนึกตัวว่าทำผิดไปแล้ว ต้องรู้จักที่จะขออิสติฆฟาร ขออภัยโทษต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เรื่องไหนที่ต้องเตาบะฮฺก็ให้ขอเตาบะฮฺ พยายามทำตัวของเราให้สะอาดด้วยการทำอะมัลศอและฮฺ ทำอิบาดะฮฺที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งใช้ และมีแบบฉบับที่มาจากท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมเท่านั้น ในขณะเดียวกันก็ต้องละทิ้งสิ่งที่พระองค์ทรงสั่งห้าม และพยายามปลดเปลื้องบาปออกจากตัวให้มากที่สุดและ เร็วที่สุด เพราะเราก็ไม่ทราบว่าเราจะเสียชีวิตลงเมื่อใด หากเราเสียชีวิตโดยที่มีบาป มีความผิดติดตัวมากมายไปหมด นั่นก็คือเราทำให้ตัวเองต้องเจ็บตัวในวันกิยามะฮฺ ต้องได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง สาหัสสากรรจ์ตลอดไป จากการที่เราไปฝ่าฝืนทำในสิ่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงห้ามนะครับ

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมที่รักทั้งหลายครับ เรื่องๆหนึ่งที่มีความสำคัญที่เราต้องให้ความสนใจและพยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจให้มาก เพราะยังมีมุสลิมบางส่วนที่เขามีความเข้าใจผิด และปฏิบัติในสิ่งที่ไม่ตรงกับแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถ้าหากเราไม่สนใจ ไม่มีการตักเตือนกันในเรื่องเหล่านี้ เราก็อาจจะไม่ทันระมัดระวังตัวเรา และมันก็อาจจะแทรกซึมเข้ามาในชีวิตของเรา เราอาจจะหลงคล้อยตามและทำมันไปโดยที่เราไม่ทันรู้เนื้อรู้ตัว เรื่องๆนั้นก็คือเรื่องของการ”ตะวัซซุล”

 

          การตะวัซซุล คือการที่เราใช้สื่อกลางเพื่อให้นำไปสู่ความใกล้ชิดอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา หรือการใช้สื่อต่างๆเพื่อให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮุวะตะอาลาทรงช่วยเหลือเราในเรื่องต่างๆ หรือใช้สื่อต่างๆเพื่อให้พระองค์ทรงอภัยโทษให้กับเรา ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลมาอิดะฮฺ ส่วนต้นของอายะฮที่ 35 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا اتَّقُوا اللَّهَ وَابْتَغُوا إِلَيْهِ الْوَسِيلَةَ

บรรดาผู้ศรัทธา จงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด และจงแสวงหาสื่อไปสู่พระองค์..”

 

          คำว่า “อัลวะซีละฮฺ الْوَسِيلَةَ “ หมายถึงสื่อหรือช่องทางที่จะนำไปสู่ความใกล้ชิดอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อายะฮฺนี้เป็นคำสั่งที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงสั่งให้เราแสวงหาสื่อ เพื่อนำตัวเราไปสู่ความโปรดปราน ความเมตตาของพระองค์ หรือนำมาใช้เพื่อให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเมตตาเรา ทรงช่วยเหลือเมื่อเวลาที่เรามีความเดือดร้อน หรือมีความปรารถนาในเรื่องใดๆ ดังนั้นสื่อหรือช่องทางที่เราจะนำมาใช้นั้น นักมุฟัสสิรีนหรือนักอรรถาธิบายอัลกุรอานตามแนวทางของบรรดาสะละฟุศศอลิหฺบอกว่า ต้องเป็นสื่อที่อยู่ในความพึงพอพระทัยของพระองค์ ก็คืออยู่ในบทบัญญัติศาสนาเท่านั้น

          นักวิชาการจึงได้แบ่งการตะวัซซุลที่มุสลิมเราได้ปฏิบัติกันอยู่ในสังคมอย่างแพร่หลาย ออกเป็น 2 ประเภทคือ การตะวัซซุลที่ถูกต้องตรงตามบทบัญญัติศาสนา กับการตะวัซซุลที่ผิดบทบัญญัติศาสนา และห้ามทำโดยเด็ดขาด ขอให้เราพิจารณาดูว่า อะไรบ้างที่เราสามารถทำได้ และอะไรบ้างที่เราทำไม่ได้ เราจะได้ระมัดระวังตัวเรานะครับ

 

การตะวัซซุลที่ถูกต้องตรงตามบทบัญญัติศาสนา เป็นเรื่องที่อนุญาตให้ทำได้ มีอะไรบ้าง ?

 

หนึ่ง  

           การตะวัซซุลด้วยพระนามอันงดงามและคุณลักษณะอันสูงส่งของพระองค์ ก็คือ เมื่อเราต้องการจะให้พระองค์ทรงช่วยเหลือในเรื่องอะไร ก็ให้เราวิงวอนขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วยพระนามของพระองค์มาเป็นสื่อในการขอ หลักฐานในเรื่องนี้เช่นในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอะอฺร็อฟ อายะฮฺที่ 180 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

وَلِلَّهِ الْأَسْمَاءُ الْحُسْنَىٰ فَادْعُوهُ بِهَا

“และอัลลอฮฺทรงมีบรรดาพระนามอันงดงาม ดังนั้นพวกเจ้าจงเรียกหาพระองค์ด้วยพระนามเหล่านั้นเถิด”

           ตัวอย่างเช่น เรามีความเดือดร้อนในเรื่องปัจจัยยังชีพ ต้องจ่ายค่าเล่าเรียนของลูก ต้องจ่ายค่าอะไรต่อมิอะไรมากมาย แต่เรามีปัจจัยไม่เพียงพอในเรื่องนี้ เราก็ยกมือขอดุอาอ์ กล่าวว่า โอ้ อัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณาเมตตาอย่างเหลือหลาย อย่างกว้างขวาง ขอพระองค์ทรงให้ข้าพระองค์ได้มีหนทางในการแสวงหาปัจจัยยังชีพได้อย่างเพียงพอด้วยเถิด ขอดุอาอ์อย่างนี้แหละครับ ยกเอาพระนามอันงดงามของพระองค์ที่อัรเราะหฺมาน มาเป็นสื่อในการขอดุอาอ์ของเรา ง่ายๆอย่างนี้แหละครับ ไม่ต้องไปเซ่นไหว้ ไม่ต้องไปจุดธูปจุดเทียน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดต่อบทบัญญัติศาสนานะครับ

 

สอง 

          การตะวัซซุลด้วยการที่เรายกเอาความศรัทธาที่มั่นคงของเรา และ/หรือยกเอาการปฏิบัติอะมัลที่ศอลิหฺที่ดีงามที่เราได้ทำไว้อย่างอิคลาศมาเป็นสื่อ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเวลาที่เรามีความรู้สึกว่า เราได้ทำความผิดที่ใหญ่หลวง แล้วเราก็รู้สึกสำนึกผิด และต้องการกลับเนื้อกลับตัว ก็ให้เราขอดุอาอ์ ขอวิงวอนว่า โอ้อัลลอฮฺ ด้วยความศรัทธาที่ข้าพระองค์มีต่อพระองค์ และได้ปฏิบัติตามแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมอย่างเคร่งครัด ขอพระองค์ทรงอภัยโทษความผิดทั้งหมดให้แก่เราด้วย

     หลักฐานเรื่องนี้เช่นในอัลกุรอานซูเราะฮฺอาละอิมรอน อายะฮฺที่ 16 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

الَّذِينَ يَقُولُونَ رَبَّنَا إِنَّنَا آمَنَّا فَاغْفِرْ لَنَا ذُنُوبَنَا وَقِنَا عَذَابَ النَّارِ

“บรรดาผู้ที่กล่าวว่า โอ้พระเจ้าของเรา แท้จริงเราได้ศรัทธาต่อพระองค์แล้ว

ขอได้โปรดอภัยโทษในบาปต่างๆให้แก่เรา และโปรดปกป้องเราจากการลงโทษของไฟนรกด้วยเถิด”

 

          หรือการที่เราต้องการขอความช่วยเหลือในเรื่องใด อย่างในกรณีที่มีหลักฐานอยู่ในอัลหะดีษที่บันทึกของอิมามอัลบุคอรีย์และมุสลิม ที่เป็นเรื่องราวของชาวถ้ำสามคนที่เราคงเคยได้ยิน ที่พวกเขาหลบเข้าไปในถ้ำ แล้วก้อนหินขนาดใหญ่ได้ตกลงมาปิดปากถ้ำไว้ ทำให้พวกเขาไม่สามารถออกจากถ้ำได้ พวกเขาจึงวิงวอนต่ออัลลอฮฺขอให้พระองค์ทรงช่วยเหลือให้ได้ออกจากถ้ำ โดยพวกเขาได้ยกความดีต่างๆที่พวกเขาได้เคยทำไว้มาเป็นสื่อกลาง เพื่อให้อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงช่วยเหลือพวกเขา และแล้วพระองค์ ได้ทรงรับคำวิงวอนของพวกเขา ก้อนหินที่ปิดปากถ้ำจึงได้เคลื่อนออก ทำให้พวกเขารอดพ้นจากการติดอยู่ในถ้ำนะครับ

 

สาม 

           การตะวัซซุลต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาด้วยการยกเรื่องที่เรามีเอกภาพต่อพระองค์ โดยไม่ยอมให้มีภาคีใดๆเลยมาเป็นสื่อในการขอ หลักฐานในเรื่องนี้เช่นในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอัมบิยาอ์ อายะฮฺที่ 87 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

وَذَا النُّونِ إِذ ذَّهَبَ مُغَاضِبًا فَظَنَّ أَن لَّن نَّقْدِرَ عَلَيْهِ فَنَادَىٰ فِي الظُّلُمَاتِ أَن لَّا إِلَٰهَ إِلَّا أَنتَ سُبْحَانَكَ إِنِّي كُنتُ مِنَ الظَّالِمِينَ

     และจงรำลึกถึงเรื่องราวของซันนูน (คือผู้ที่อยู่ในท้องของวาฬหรือปลาวาฬ ซึ่งก็หมายถึงท่านนบียูนุส อะลัยฮิสสลาม) ขณะที่เขา(ท่านนบียูนุส)ออกไปด้วยความโกรธ (คือโกรธพวกพ้องของเขาที่ไม่ยอมศรัทธาในการเป็นนบีของเขา ไม่ยอมรับฟังคำตักเตือนของเขาว่าจะมีการลงโทษมายังพวกเขา หากพวกเขาไม่ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา)

      แล้วเขา(ท่านนบียูนุส)ก็คิดว่า เรา(อัลลอฮฺ)จะไม่ทำให้เขาประสบกับภาวะอันคับแค้นได้เลย (แต่ท่านนบียูนุสเข้าใจผิด และอัลลอฮฺก็ได้ทรงยับยั้งให้ท่านนบียูนุสอยู่ในท้องของวาฬ อยู่ท่ามกลางความมืดมิด (ซึ่งตามคำอธิบายของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ อับบาส เราะฎิยัลลอฮุอันฮุมาได้อธิบายความมืดมิดว่า หมายถึงความมืดมิดในเวลากลางคืน แล้วก็เป็นความมืดมิดในท้องทะเล แล้วก็เป็นความมืดมิดที่อยู่ในท้องของวาฬ)

      ดังนั้นท่านนบียูนุสจึงได้วิงวอนอยู่ท่ามกลางความมืดมิดว่า ไม่มีผู้ใดหรือสิ่งใดที่คู่ควรแก่การเคารพอิบาดะฮฺนอกจากพระองค์ ผู้ทรงมหาบริสุทธิ์ แท้จริง ข้าพระองค์เป็นคนหนึ่งในผู้อธรรมทั้งหลาย

 

          ท่านนบียูนุสได้ยกเอาการที่ท่านมีเตาฮีดต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลามาเป็นสื่อในการขอดุอาอ์ของท่าน ผลเป็นอย่างไร ? ในอายะฮฺที่ 88 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า 

فَاسْتَجَبْنَا لَهُ وَنَجَّيْنَاهُ مِنَ الْغَمِّ ۚ وَكَذَٰلِكَ نُنجِي الْمُؤْمِنِينَ ( 88 )

“ดังนั้นเราได้ตอบรับการวิงวอนขอของเขา และเราได้ช่วยให้เขารอดพ้นจากความทุกข์ระทม(ที่อยู่ในท้องของวาฬ)

และเราได้ช่วยบรรดาผู้ศรัทธาเช่นเดียวกันนี้”

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมที่รักทั้งหลายครับ การตะวัซซุลที่อนุญาตให้ทำได้เรื่องที่สี่ การตะวัซซุลด้วยการแสดงความอ่อนแอของตัวเรา และเราต้องการความช่วยเหลือจากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างแท้จริง หลักฐานอยู่ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอัมบิยาอ์ อายะฮฺที่ 83 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

وَأَيُّوبَ إِذْ نَادَىٰ رَبَّهُ أَنِّي مَسَّنِيَ الضُّرُّ وَأَنتَ أَرْحَمُ الرَّاحِمِينَ ( 83 )

และจงรำลึกถึงเรื่องราวของอัยยูบ เมื่อเขาได้วิงวอนต่อพระเจ้าของเขาว่า

แท้จริง ความทุกข์ยากได้ประสบกับข้าพระองค์ และพระองค์เท่านั้นเป็นผู้ทรงเมตตายิ่ง

ในบรรดาผู้เมตตา(ที่จะช่วยเหลือข้าพระองค์ได้)

 

  สี่  

           การตะวัซซุลด้วยการสารภาพความผิด ยอมรับในความผิดของตัวเอง หลักฐานเช่นในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลเกาะศ็อศ อายะฮฺที่ 16 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

قَالَ رَبِّ إِنِّي ظَلَمْتُ نَفْسِي فَاغْفِرْ لِي فَغَفَرَ لَهُ ۚ إِنَّهُ هُوَ الْغَفُورُ الرَّحِيمُ

“เขากล่าวว่า “ข้าแต่พระเจ้าของข้าพระองค์ แท้จริงข้าพระองค์ได้อธรรมต่อตนเอง

ดังนั้นขอพระองค์ทรงอภัยให้แก่ข้าพระองค์ด้วย แล้วพระองค์ก็ได้อภัยให้เขา

แท้จริงพระองค์เป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ”

 

  ห้า  

          การตะวัซซุลด้วยการขอร้องคนที่เป็นคนดีมีอีมาน หรือคนศอและฮฺที่ยังมีชีวิตอยู่ ขอให้เขาช่วยขอดุอาอ์ให้เรา ดังเช่นที่ บรรดาเศาะฮาบะฮฺได้เคยปฏิบัติในช่วงที่เกิดความแห้งแล้ง พวกเขาได้ไปขอท่านนบีให้ท่านช่วยขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทำให้ฝนตก ซึ่งอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็ได้ประทานฝนมาให้

          ครั้นเมื่อท่านนบีวะฟาต เสียชีวิตไปแล้ว บรรดาเศาะฮาบะฮฺ เมื่อมีเรื่องอะไรก็ได้ขอให้ท่านอับบาส ซึ่งเป็นลุงของท่านนบีที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ทำการขอดุอาอ์ให้แก่พวกเขาแทนต่อจากท่านนบีนะครับ ข้อสังเกตคือ บรรดาเศาะฮาบะฮฺไม่ได้ไปที่กุบูรของท่านนบี เพื่อไปขอดุอาอ์ที่นั่น แต่กลับเดินไปให้ท่านอับบาสทำการขอดุอาอ์ให้นะครับ

 

         ท่านพี่น้องมุสลิมที่รักทั้งหลายครับ ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นก็คือ การตะวัซซุลที่อนุญาตให้ทำได้ ซึ่งโดยสรุปเงื่อนไขของการตะวัซซุลก็คือ

     หนึ่ง ผู้ที่ทำการตะวัซซุลต้องเป็นคนดี มีอีมานมีความศรัทธา และปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮฺอย่างดีงาม อย่างอิคลาศ เพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูซะตะอาลาเพียงองค์เดียว โดยต้องไม่มีภาคีใดๆทั้งสิ้นต่อพระองค์ 

     สอง อะมัลอิบาดะฮฺนั้นจะต้องอยู่ในบทบัญญัติศาสนา

     สาม ในเรื่องที่เกี่ยวกับอิบาดะฮฺต้องตรงตามแบบอย่างของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมทุกประการ การกระทำอิบาดะฮฺที่เป็นอุตริกรรม หรือบิดอะฮฺ จะไม่สามารถนำมาใช้เป็นสื่อกลางได้นะครับ

 

          สำหรับการตะวัซซุลอีกประเภทหนึ่ง คือการตะวัซซุลที่ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนา นั่นก็หมายถึงว่า เป็นการใช้สื่อที่ไม่มีหลักฐานที่มาจากอัลกุรอานหรืออัลหะดีษเลย อีกทั้งบรรดาเศาะฮาบะฮฺก็ไม่เคยทำ ไม่มีแบบฉบับใดจากบรรดาสะละฟุศศอและฮฺได้ทำไว้เลยนะครับ แต่ก็ยังมีมุสลิมบางส่วนได้ปฏิบัติกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องรู้ไว้ เพื่อเป็นการป้องกันตัวเราเองและลูกหลาน ตลอดจนคนในสังคมให้รอดพ้นจากการกระทำในเรื่องเหล่านี้ด้วยนะครับ

 

การตะวัซซุลที่บทบัญญัติศาสนาห้ามกระทำอย่างเด็ดขาดก็ได้แก่

 

 หนึ่ง 

          การที่เราไปเคารพต่อกุบูรแล้วก็ขอดุอาอ์ หรือวิงวอนต่อผู้ที่ตายไปแล้ว ให้มาช่วยเหลือเราในเรื่องต่างๆ หรือมาช่วยแก้ไขปัญหาต่างๆให้แก่เรา อย่างนี้ทำไม่ได้ เพราะคนตายไม่มีความสามารถที่จะทำอะไรได้แล้ว อันนี้ตรงข้ามกับคนเป็น คนที่ยังมีชีวิตอยู่ที่เป็นคนดี คนศอลิหฺที่เราสามารถขอให้เขาช่วยขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาให้แก่เราได้ แต่ถ้าเป็นคนตาย ถึงแม้เขาจะเป็นคนดีแค่ไหนก็ตาม เราก็ไม่สามารถจะให้เขามาช่วยขอดุอาอ์ให้เรา หรือให้ช่วยเหลือในเรื่องอะไรๆ อย่างนี้ทำไม่ได้ ถือเป็นชิริก ทำไม่ได้เลย เรื่องอย่างนี้ เรายังเห็นมีคนทำกันอย่างแพร่หลายนะครับ เรื่องของโต๊ะตะเกี่ยก็จัดอยู่ในประเภทนี้นะครับ และจากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น เมื่อบรรดาเศาะฮาบะฮฺได้ให้ท่านนบีทำการตะวัซซุลขอฝนให้พวกเขา เมื่อเวลาเกิดความแห้งแล้ง แต่เมื่อท่านนบี  เสียชีวิตไปแล้ว เมื่อเวลาที่บรรดาเศาะฮาบะฮฺมีปัญหาเรื่องอะไร ก็ไม่ได้ไปขอต่อกุบูรท่านนบี   แต่ไปขอให้ลุงของท่านนบี  ที่ยังมีชีวิตอยู่ทำการขอดุอาอ์แทน นี่ก็คือหลักฐานอย่างหนึ่งในเรื่องนี้

 

 สอง 

          ก็คือการอ้างเอาบารมีของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม หรือผู้อื่นมาทำการตะวัซซุล อย่างนี้ทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด มีการอ้างเอาหะดีษที่บอกว่า เมื่อพวกท่านจะขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ก็จงขอต่อพระองค์ด้วยบารมีของท่านนบี ขอให้ทราบว่าหลักฐานนี้เป็นหลักฐานเท็จ ไม่มีบันทึกอยู่ในศอเหียะหฺใดๆเลย นักวิชาการหะดีษไม่มีใครกล่าวถึงเรื่องนี้เลย ดังนั้นหลักฐานในเรื่องนี้จึงใช้ไม่ได้ ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติศาสนา

 

 สาม 

          การตะวัซซุลด้วยเรือนร่างของสิ่งถูกสร้างต่างๆ เช่น การบนบานศาลกล่าว ขอความสิริมงคล ขอความช่วยเหลือจากต้นไม้ ก้อนหิน วัตถุต่างๆ การใช้เครื่องรางของขลัง หรือสิ่งต่างๆที่เป็นสิ่งถูกสร้างทั้งหมด ทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด

 

 สี่ 

          การตะวัซซุลด้วยการอ้างสิทธิของผู้ถูกสร้าง เช่น การขอดุอาอ์ว่า ข้าพระองค์ขอต่อพระองค์ด้วยสิทธิของผู้ขอทั้งหลาย ขออย่างนี้ไม่ได้ ไม่หลักฐานที่เชื่อถือได้มายืนยัน เพราะการขอเช่นนี้ มันเหมือนกับการที่มีใครมามีสิทธิ์บังคับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา อย่างนี้ทำไม่ได้ เพราะอัลลอฮฺ ซุบฮานฮูวะตะอาลาจะทรงให้มนุษย์เองตามที่พระองค์ทรงเห็นสมควร ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอันรูม ส่วนท้ายของอายะฮฺที่ 47 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

ۖ وَكَانَ حَقًّا عَلَيْنَا نَصْرُ الْمُؤْمِنِينَ

“...และหน้าที่ของเราคือการช่วยเหลือบรรดาผู้ศรัทธา”

 

          เฉพาะผู้ศรัทธา เฉพาะผู้ยำเกรงที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ ได้รับการตอบแทน ถือเป็นรางวัล และผู้ที่ได้รับก็มีคุณสมบัติสมควรที่จะได้รับเป็นพิเศษจากส่วนของความโปรดปรานที่พระองค์ทรงจัดให้ จะมากจะน้อย เราไม่มีสิทธิต่อรอง พระองค์จะทรงจัดให้ใครเท่าไร ? อย่างไร ? เป็นสิทธิของพระองค์ ไม่เกี่ยวกับผู้ใดทั้งสิ้น พระองค์ไม่ต้องรอให้ใครมายกมือเห็นด้วย ไม่ต้องรอให้ใครมาออกความเห็นคัดค้าน พระองค์ทรงให้เองตามที่พระองค์ทรงสัญญาไว้ด้วยความเต็มใจของพระองค์เอง ดังนั้น ไม่ต้องเอาการอ้างสิทธิของผู้ขอมาเป็นสื่อในการขอ

 

          ท่านพี่น้องมุสลิมที่รักทั้งหลายครับ เมื่อเราได้ทราบเรื่องราวของการตะวัซซุลแล้ว ก็ขอให้เราใช้การตะวัซซุลอย่างถูกวิธี และตัดขาดจากการตะวัซซุลที่ผิดบทบัญญัติศาสนาทั้งหมดนะครับ ขอให้เราใช้ชีวิตในแต่ละวันอย่างระมัดระวัง อย่าได้หลงลำพองใจว่า ฉันเป็นมุสลิมแล้ว ฉันมีอีมานแล้ว ฉันไม่มีวันหลงออกจากทางที่ถูกต้องอย่างแน่นอน อย่าได้วางใจตัวเองเช่นนี้อย่างเด็ดขาด เพราะสังคมรอบๆตัวเราทุกวันนี้มีสิ่งล่อลวงให้เราออกห่างจากบทบัญญัติศาสนาเต็มไปหมด และอย่าลืมด้วยว่า เรายังมีชัยฏอนมารร้ายที่คอยประกบตัวเรา คอยกระซิบตัวเราให้ทำมั๊วะศิยะฮฺ สิ่งที่ไม่ดีอยู่ตลอดเวลา

 

          สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงคุ้มครองเราทุกคนให้อยู่ในความเมตตาของพระองค์ และอยู่ในหนทางที่ถูกต้องตลอดไป อามีน