อัลกุรอานกับการตะดับบุร
  จำนวนคนเข้าชม  4352


อัลกุรอานกับการตะดับบุร

อับดุลสลาม เพชรทองคำ 

 

          การอ่านอัลกุรอานในทุกๆวัน โดยเฉพาะในเวลาค่ำคืนของเดือนเราะมะฎอน เราจะอ่านอัลกุรอาน บางคนก็ท่องจำอัลกุรอาน บางคนก็ตั้งเป้าหมายกับตัวเองว่าจะอ่านวันละกี่หน้า หรืออย่างในเดือนเราะมะฎอน บางคนก็ตั้งเป้าหมายไว้ว่า เราะมะฎอนปีนี้จะอ่านให้จบกี่รอบ จะท่องจำกี่ซูเราะฮฺ กี่อายะฮฺ

 

          การอ่านอัลกุรอานมีผลบุญอันยิ่งใหญ่ และการอ่านอัลกุรอานอย่างดีมีหลักตัจญวีดก็มีผลบุญที่ยิ่งใหญ่มากขึ้นไปอีก นอกจากให้เราอ่าน เราท่องจำอัลกุรอานแล้ว อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ยังทรงให้เราได้ตะดับบุรอัลกุรอานอีกด้วย การตะดับบุรอัลกุรอานจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของเรา 

อัลกุรอานในซูเราะฮฺศอด อายะฮฺที่ 29 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า 

كِتَابٌ أَنزَلْنَاهُ إِلَيْكَ مُبَارَكٌ لِّيَدَّبَّرُوا آيَاتِهِ وَلِيَتَذَكَّرَ أُوْلُوا الْأَلْبَابِ 

“คัมภีร์ (อัลกุรอาน)ซึ่งมีความจำเริญ ที่เราได้ประทานลงมาให้แก่เจ้า

เพื่อผู้คนทั้งหลายจะได้พินิจพิจารณาใคร่ครวญในอายะฮฺต่างๆของอัลกุรอานนี้

และเพื่อบรรดาผู้มีสติปัญญาจะได้ระลึกได้ (คือสำนึกได้ว่ามันมีบทเรียนอยู่ในนั้น)”

 

          อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเรียกร้องเราผู้เป็นบ่าวของพระองค์ว่า อัลกุรอานที่พระองค์ประทานลงมานั้น มีความจำเริญ เพราะมันจะมีประโยชน์อย่างที่สุดสำหรับเรา เป็นแนวทางการดำเนินชีวิตที่ดีที่สุด ใครที่ปฏิบัติตามอัลกุรอานก็จะมีแต่ได้กับได้ โดยไม่สูญเสียอะไรเลย นอกจากจะให้นำมาอ่าน มาท่องจำกันแล้ว ยังต้องนำมาสู่  لِّيَدَّبَّرُوا  นำมาสู่การตะดับบุร นั่นก็คือการใช้สติปัญญาที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงให้เรามา ให้เรานำมาใช้ในการพินิจพิจารณาใคร่ครวญ ทำความเข้าใจในแต่ละอายะฮฺ แต่ละซูเราะฮฺ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในความหมายจากถ้อยคำของอัลกุรอาน และคิดใคร่ครวญในสิ่งที่ถ้อยคำอัลกุรอานได้สื่อออกมา ทำให้ทราบถึงเป้าหมายที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ทรงต้องการให้เราปฏิบัติ และนำสิ่งที่ได้นั้นมาใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวัน 

 

          การอ่านอัลกุรอานแม้เพียงหนึ่งอายะฮฺอย่างพินิจพิจารณาใคร่ครวญ ย่อมทำให้เกิดความเข้าใจมากกว่าการอ่านเพียงอย่างเดียว การตะดับบุรอัลกุรอานจึงมีสถานะเป็นอิบาดะฮฺชนิดหนึ่งที่มีความยิ่งใหญ่ มีผลทำให้อีมานเพิ่มพูน ทำให้หัวใจเกิดความสงบและมีความสุข และเป็นตัวช่วยให้เราได้ปฏิบัติอะมัลอิบาดะฮฺอย่างง่ายดาย และถูกต้องตามแบบฉบับของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม

 

          อัลกุรอานถูกประทานลงมาเป็นภาษาอาหรับ เราเป็นคนไทย ไม่รู้ความหมายภาษาอาหรับ แต่เราเรียนการอ่านอัลกุรอาน เราอ่านได้ แต่เราไม่เข้าใจความหมายจากถ้อยคำของอัลกุรอาน เพราะเราไม่ได้เรียนมา เราจึงต้องพึ่งหนังสือแปลหรืออรรถาธิบายความหมายของอัลกุรอานที่มีผู้มีความรู้ได้แปลเป็นภาษาไทยเข้าช่วย เมื่อเราอ่านถ้อยคำของอัลกุรอานสักอายะฮฺหนึ่ง แล้วเราก็ตามด้วยการอ่านคำแปลหรือคำอธิบายที่มีการแปลเป็นภาษาไทย อย่างนี้เราก็สามารถพอจะทำความเข้าใจได้ 

 

           เราอาจจะตะดับบุรคนเดียว หรืออาจจะทำกันเป็นกลุ่มกับผู้ที่มีความรู้ หรือศึกษาจากสถานที่ต่างๆที่มีการเรียนการสอนในเรื่องนี้ แต่ก็ต้องพึงระมัดระวังแหล่งที่ศึกษาด้วยว่าต้องมาจากแหล่งความรู้ที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ว่าอยู่ในสายของอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ แล้วเราจะทราบได้อย่างไรว่า แหล่งไหนคือแหล่งความรู้ที่ถูกต้องและเชื่อถือได้ คำตอบก็คือ ให้เราขอดุอาอ์ต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาอย่างอิคลาศ อย่างจริงใจ ขอให้พระองค์ได้ประทานแหล่งความรู้ที่ถูกต้องให้แก่เรา เพื่อให้เราได้ดำรงตนเป็นบ่าวที่มีตักวาอย่างแท้จริง ขอให้เราได้รับฮิดายะฮฺ ให้ได้รับทางนำ เพื่อไปสู่ความใกล้ชิดต่อพระองค์ ในขณะเดียวกัน เราต้องตัดขาดจากการตะอัซซุบ ตัดขาดจากการเชื่อมั่นแต่ตัวเอง ตัดขาดจากการยึดติดกับตัวบุคคลบางคนจนเกินขอบเขต เมื่อนั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาก็จะประทานแหล่งความรู้ที่ถูกต้องให้แก่เรา โดยที่เราไม่คาดคิด อินชาอัลลอฮฺ

 

           ในเรื่องของการตะดับบุรอัลกุรอานนั้น ขอให้เราได้พินิจพิจารณาอัลกุรอานในซูเราะฮฺอันนะบะอ์ อายะฮฺที่ 40 ซึ่งเป็นอายะฮฺสุดท้ายของซูเราะฮฺนี้ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า

إِنَّآ أَنذَرۡنَٰكُمۡ عَذَابٗا قَرِيبٗا يَوۡمَ يَنظُرُ ٱلۡمَرۡءُ مَا قَدَّمَتۡ يَدَاهُ وَيَقُولُ ٱلۡكَافِرُ يَٰلَيۡتَنِي كُنتُ تُرَٰبَۢا 

           เราจะเห็นว่า เราอ่านอายะฮฺนี้ได้ แต่เราไม่ทราบความหมาย เราไม่เข้าใจว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงบอกอะไร เราจึงต้องหันไปพึ่งการแปลความหมายเป็นภาษาไทย เมื่อเราอ่านอัลกุรอาน เราได้ผลบุญจากการอ่าน แต่เมื่อเราได้มีการศึกษา ทำความเข้าใจจากความหมายภาษาไทย เราก็จะรู้ว่า อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ทรงบอกแก่เราว่า

 

“แท้จริง เราได้แจ้งเตือนพวกเจ้าถึงการลงโทษที่ใหญ่หลวง (ที่จะเกิดขึ้น)อันใกล้นี้

(คือการลงโทษในวันกิยามะฮฺ อันเป็น)วันที่ผู้คนจะมองไปยังสิ่งที่สองมือของเขาได้กระทำไว้

และบรรดาคนกาฟิรฺก็จะโอดครวญว่า โอ้ ถ้าตัวฉันเป็นเพียงแค่ฝุ่นดินเสียก็จะดี”

 

          เมื่อเราอ่านอายะฮฺนี้ แล้วเราหยุดคิดพินิจพิจารณา ลองนึกถึงภาพอันน่าสะพรึงกลัวของการลงโทษในวันกิยามะฮฺที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเตือนเราไว้ และให้เราได้ตระหนักถึงสิ่งที่สองมือของเราได้ทำไว้ หมายถึง ทุกๆเรื่องที่เราได้ประพฤติ ได้ปฏิบัติไว้ในโลกดุนยานี้ว่า ความดีที่เราทำแม้เพียงนิดเดียวก็จะได้รับรางวัลตอบแทน ในทางตรงข้าม สิ่งที่เราทำแม้เป็นความชั่วเพียงนิดเดียว เราก็จะถูกลงโทษเช่นกัน ดังนั้นคนที่เขาเป็นกาฟิร เป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา เป็นผู้ที่ฝ่าฝืน เขาย่อมต้องได้รับการลงโทษที่มันหนักหนาสาหัส เมื่อเขาได้ไปเห็นการลงโทษที่เขาจะได้รับในวันกิยามะฮฺ เขาก็จะโอดครวญว่า หากตัวเขากลายเป็นฝุ่นดินก็จะดี 

 

          เมื่อเราได้มีการตะดับบุร เราก็จะคิดได้ว่า เพราะเหตุใดในวันกิยามะฮฺ คนที่เป็นกาฟิรเขาถึงโอดครวญอยากจะกลายเป็นฝุ่นดิน คำตอบก็คือ เพราะการลงโทษของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลานั้นรุนแรงหนักหน่วงยิ่งนัก เขาจึงอยากกลายเป็นฝุ่นดินเพื่อที่จะได้ไม่ต้องได้รับการลงโทษ เมื่อเราตระหนักได้เช่นนี้ เราก็ย่อมจะคอยสำรวจตัวเอง คอยตักเตือนตัวเองไม่ให้ปฏิบัติในสิ่งที่เป็นการฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เพื่อตัวเราจะได้ไม่ต้องได้รับการลงโทษในวันกิยามะฮฺ นี่ก็คือผลของการตะดับบุรอัลกุรอาน

 

          ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่งในซูเราะฮฺอัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 266 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลตรัสว่า

أَيَوَدُّ أَحَدُكُمۡ أَن تَكُونَ لَهُۥ جَنَّةٞ مِّن نَّخِيلٖ وَأَعۡنَابٖ تَجۡرِي مِن تَحۡتِهَا ٱلۡأَنۡهَٰرُ لَهُۥ فِيهَا مِن كُلِّ ٱلثَّمَرَٰتِ وَأَصَابَهُ ٱلۡكِبَرُ وَلَهُۥ ذُرِّيَّةٞ ضُعَفَآءُ فَأَصَابَهَآ إِعۡصَارٞ فِيهِ نَارٞ فَٱحۡتَرَقَتۡۗ كَذَٰلِكَ يُبَيِّنُ ٱللَّهُ لَكُمُ ٱلۡأٓيَٰتِ لَعَلَّكُمۡ تَتَفَكَّرُونَ

          อายะฮฺนี้เป็นอีกอายะฮฺหนึ่งที่เราอ่านกันเป็นประจำ เราอ่านได้ แต่เราไม่ทราบว่าอัลลอฮฺทรงบอกเกี่ยวกับเรื่องอะไร เราจึงต้องพึ่งการอธิบายที่ผู้มีความรู้ได้แปลไว้เป็นภาษาไทย 

          “มีคนใดในหมู่พวกเจ้าชอบบ้างไหมที่เขาจะมีสวนอินทผลัมและสวนองุ่น ซึ่งเบื้องล่างของสวนนั้นมีลำน้ำหลายสายไหลผ่าน และผลไม้ทั้งหมดในสวนนั้นก็เป็นของเขา

          และเมื่อความชราได้ประสบแก่เขา (ก็คือเมื่อเขาบรรลุถึงวัยชรา) และเขาก็มีลูกๆ ที่ยังอ่อนแออยู่ ยังเล็กอยู่ ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

          แต่แล้วได้มีลมพายุซึ่งในลมพายุนั้นมีไฟด้วย มันได้พัดพามาถึงสวนของเขา แล้วมันก็ได้เผาสวนของเขาจนมอดไหม้ไปหมด

         ดังกล่าวนั้นแหละ อัลลอฮฺทรงแจกแจงอายะฮฺทั้งหลายให้พวกเจ้าทราบ เพื่อพวกเจ้าจะได้ใคร่ครวญ”

 

          อายะฮฺนี้เป็นอุทาหรณ์ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงยกมาถามเราว่า เราชอบไหมที่จะมีสวนขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้ต่างๆ ที่เจริญงอกงาม มีทั้งอินทผลัมและองุ่นต่างๆหลากหลายพันธุ์ หลากหลายประเภท แล้วยังมีผลหมากรากไม้อื่นๆ อีก ที่ต่างก็มีผลออกมาอย่างมากมายน่าอัศจรรย์ใจ ลองคิดดูสิว่าสวนนี้จะมีคุณค่า มีราคา มีความสำคัญมากขนาดไหนสำหรับเรา ? และเมื่อเราอยู่ในวัยเฒ่าชรา เราก็จะไม่มีเรี่ยวแรงที่จะทำงานได้อีกต่อไป ดังนั้นสวนดังกล่าวก็จะมีค่ากับเรามาก เพราะมันเป็นทุกอย่างสำหรับเรา เป็นริซกีที่เราจะได้ใช้ยามแก่เฒ่า เป็นแหล่งเงินที่จะใช้เลี้ยงชีพให้มีชีวิตอยู่ได้ เรามีอายุมากย่อมจะทำงานต่อไปไม่ไหวจึงได้แต่พึ่งสวนที่เหลืออยู่นี้เท่านั้น ไม่เพียงแค่นั้น อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลายังทรงบอกว่าเรายังมีลูกหลานตัวเล็กๆ หรือคนที่อ่อนแอเพราะพิการหรือคนป่วยที่เราต้องคอยเลี้ยงดูอีกด้วย ในขณะที่ตัวเราเองก็แก่ชราแล้วยังมีลูกหลานตัวเล็กๆที่ต้องดูแลอีก ลองคิดดูสิว่าสวนที่ว่านี้จะมีความจำเป็นต่อเราและลูกหลานของเรามากขนาดไหน ? ความหวังทั้งหมดของเราจึงอยู่ที่สวนแห่งนี้อย่างเดียวเท่านั้น แต่แล้ว จู่ๆ วันหนึ่งก็มีพายุพัดกระหน่ำมาที่สวนนั้น แล้วก็เกิดไฟไหม้จนสวนนั้นมอดไหม้ไปหมด ผลจะเป็นอย่างไร ? เราคงนึกภาพออก มันหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง แล้วเราจะใช้ชีวิตต่อไปได้อย่างไร ?

 

          อายะฮฺนี้เป็นอุทาหรณ์ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงยกมาเพื่อประโยชน์อะไร ? นี่คือคำถาม ..ถามว่า.. อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงยกอุทาหรณ์นี้เพื่อประโยชน์อะไรกับเรา ถ้าหากเราได้มีการตะดับบุร ศึกษาหาความหมาย พินิจพิจารณาใคร่ครวญ ทำความเข้าใจในอายะฮฺนี้ เราก็จะพบคำตอบว่า มันเป็นอุทาหรณ์ถึงคนๆหนึ่งที่ทำอะมัลศอและฮฺ ทำอิบาดะฮฺ ทำการบริจาค ทำความดีต่างๆไว้อย่างมากมาย ซึ่งอะมัลศอและฮฺต่างๆเหล่านี้ที่เขาได้สะสมทำไว้นั้น เขามีความจำเป็นต้องใช้มันในวันกิยามะฮฺ เพื่อนำมาเสนอต่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เป็นการแสดงผลงานให้ตัวเองได้สอบผ่านในวันแห่งการสอบสวน เขาจะได้ไม่ต้องถูกลงโทษ

          แต่ปรากฏว่าผลงานต่างๆที่เขาสะสมทำไว้นั้น ในขณะที่เขาทำมันนั้น เขาได้ปล่อยให้ชัยฏอนมาล่อลวงเขาให้ทำมันด้วยความโอ้อวด ทำด้วยความหลงตัวเอง จนทำให้เขาเหลิงกับการกระทำของตัวเอง อะมัลศอและฮฺของเขาจึงไม่อิคลาศ ไม่บริสุทธิ์ใจเพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาองค์เดียว  อะมัลต่างๆที่เขาสะสมทำไว้มันจึงไม่ถูกตอบรับ กลายเป็นโมฆะ ถูกทำลายลงไปด้วยการโอ้อวด ด้วยการทวงบุญคุณ หรือการที่เขาทำความดีไป ในขณะเดียวกันก็ด่าทอบริภาษคนนี้ พูดจานินทาใส่ร้ายคนนั้นคนนี้ พฤติกรรมต่างๆที่ไม่ดีเหล่านี้แหละ ที่มันจะมาทำให้อะมัลศอและฮฺต่างๆ ของเราเสียหาย เพราะในวันกิยามะฮฺ มันจะมีขั้นตอนของการคืนสิทธิให้แก่กัน 

     ♦ ใครที่เป็นหนี้สินแล้วไม่ยอมใช้ในดุนยานี้ เจ้าหนี้เขาก็จะไปทวงกันในวันนั้น 

     ♦ ใครที่ไปด่าทอ ให้ร้ายใครแล้วไม่ไปขอมะอัฟ ในวันนั้นก็จะมีการทวงสิทธิกัน 

     ♦ ใครที่ได้ซ่อเล็มกัน ได้อธรรมต่อกัน ถ้าไม่ขอมะอัฟ ไม่ชำระสะสางกันให้เสร็จเรียบร้อยเสียตั้งแต่ในดุนยา ในวันกิยามะฮฺก็ต้องไปคืนสิทธิกัน เอาความดีที่เรามีไปให้แก่คนนั้นคนนี้ ถ้าความดีของเราไม่พอชดใช้ ก็ต้องไปแบกรับความชั่วของเขาแทน

 

          นี่แหละครับ ถ้าหากเราได้ตะดับบุรอัลกุรอาน เราก็จะเข้าใจความหมายของอายะฮฺนี้ เมื่อเราทราบ เราก็จะพยายามที่จะหลีกเลี่ยงการกระทำที่จะทำให้การงานของเราสูญหาย เป็นโมฆะ เราก็จะระวังตัวให้เราทำอะมัลศอและฮฺแต่ละอย่างๆอย่างอิคลาศ เพื่ออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาเพียงองค์เดียว โดยไม่ให้มีชิริก ไม่ให้มีภาคี นี่ก็คือผลของการตะดับบุรอัลกุรอาน

 

          ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง ท่านนบียูซุฟ อะลัยฮิสสลามเป็นนบีและเป็นชายที่รูปงามที่สุด ในขณะที่ท่านยังเป็นเด็กหนุ่ม ท่านได้เผชิญหน้ากับฟิตนะฮฺอันเกิดจากการเชิญชวนของหญิงสูงศักดิ์ผู้มีความงามเป็นเลิศเช่นกัน นางได้เชิญชวนท่านให้ทำซินา ในเรื่องนี้ หากเราได้อ่านอัลกุรอานอย่างพินิจพิจารณาใคร่ครวญ เข้าใจความหมายของถ้อยคำของอัลกุรอาน เราก็จะทราบว่า ได้เกิดเรื่องราวอะไรกับท่านนบียูซุฟ และท่านได้จัดการกับปัญหาตรงหน้านั้นอย่างไร ?

 

          ในอัลกุรอานซูเราะฮฺยูซุฟ อายะฮฺที่ 33-34 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเล่าว่า

( قَالَ رَبِّ السِّجْنُ أَحَبُّ إِلَيَّ مِمَّا يَدْعُونَنِي إِلَيْهِ ۖ وَإِلَّا تَصْرِفْ عَنِّي كَيْدَهُنَّ أَصْبُ إِلَيْهِنَّ وَأَكُن مِّنَ الْجَاهِلِينَ )

ความหมายของอายะฮฺนี้ก็คือ

          ”เขา(คือท่านนบียูซุฟ)กล่าวว่า โอ้ พระเจ้าของข้าพระองค์ คุกนั้นเป็นที่รักยิ่งแก่ข้าพระองค์ มากกว่าสิ่งที่นางเรียกร้องข้าพระองค์ไปสู่มัน

          ดังนั้น หากพระองค์ไม่ทรงให้อุบายของนางพ้นไปจากข้าพระองค์แล้ว (แน่นอน) ข้าพระองค์อาจจะโน้มเอียงไปหานาง และข้าพระองค์ก็จะเป็นคนหนึ่งในหมู่ผู้โง่เขลา”

 

          สถานการณ์ในขณะนั้นก็คือ ท่านนบียูซุฟได้ถูกรายล้อมไปด้วยกับดักของชัยฏอน เพราะมีการยั่วยวนจากหญิงสาวมากมายที่หลงเสน่ห์ในความรูปงามของท่านนบียูซุฟ รวมถึงภรรยาผู้สูงศักดิ์และมีความงามเป็นเลิศของผู้มีอำนาจ ที่ท่านนบียูซุฟได้พักอาศัยและทำงานอยู่กับเขา นางได้เชิญชวนท่านให้ทำซินา เมื่อท่านนบียูซุฟได้เผชิญปัญหาตรงหน้า ท่านมีความกลัวในความอ่อนแอในความเป็นมนุษย์ของท่าน กลัวว่าตัวเองจะหลงไปทำความผิดเข้า ท่านจึงได้ยกมือขอดุอาอ์ให้ตัวท่านได้พ้นไปจากการกระทำความผิด และผลของดุอาอ์นั้นก็คือ

فَاسْتَجَابَ لَهُ رَبُّهُ فَصَرَفَ عَنْهُ كَيْدَهُنَّ ۚ إِنَّهُ هُوَ السَّمِيعُ الْعَلِيمُ

“ดังนั้น พระเจ้าของเขาได้ตอบรับ(ดุอาอ์ของ)เขา แล้วพระองค์ทรงให้อุบายของนางหันห่างไปจากเขา

แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงได้ยิน ผู้ทรงรอบรู้”

 

          ดังนั้น ท่ามกลางสภาพสังคมในยุคปัจจุบันที่มีฟิตนะฮฺเกิดขึ้นมากมาย โดยเฉพาะฟิตนะฮฺที่นำไปสู่การทำซินา หากเราเกิดต้องเผชิญต่อเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่ฟิตนะฮฺนั้น เราก็สามารถที่จะนำเอาอัลกุรอานอายะฮฺเหล่านี้มาเป็นตัวอย่างในการแก้ปัญหาของเราได้ ซึ่งมันจะทำให้เรารอดพ้นจากการเป็นผู้ที่ฝ่าฝืนต่อคำสั่งของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาได้ และนี่ก็คือผลของการตะดับบุรอัลกุรอาน

 

          การตะดับบุรอัลกุรอานเป็นสิ่งที่บรรดาเศาะฮาบะฮฺของท่านนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมให้ความสำคัญและจริงจังกับมันมาก เพราะมันช่วยเพิ่มพูนอีมาน และช่วยให้ผูกพันใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา เมื่อเราเข้าใจอัลกุรอานซึ่งเป็นคัมภีร์ของพระองค์มากเท่าไร เราก็จะผูกพันใกล้ชิดกับอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลามากเท่านั้น และใครก็ตามที่เข้าใจเป้าหมายของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลามากเท่าใด เขาก็จะรักพระองค์มากขึ้นเท่านั้น เมื่อเรารักอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา พระองค์ก็จะทรงรักเรา ทรงพอพระทัยต่อเรา ทรงเมตตาเรา ชีวิตของเราก็จะมีแต่บะเราะกะฮฺ มีแต่ความจำเริญ

 

           เมื่อการตะดับบุรอัลกุรอานมีความสำคัญเช่นนี้ ก็ขอให้การอ่านและการท่องจำอัลกุรอานของเรานั้น มีการตะดับบุรร่วมไปด้วย คือให้มีการพินิจพิจารณา ศึกษาใคร่ครวญให้เข้าใจในเป้าหมายของอายะฮฺแต่ละอายะฮฺ เมื่อเข้าใจแล้วจะได้นำมาสู่การปฏิบัติในชีวิตประจำวัน เพราะหากว่ารู้แล้ว ทราบแล้ว แต่ไม่นำมาปฏิบัติ ก็เกรงว่า เราจะมีสภาพเหมือนกลุ่มชนต่างๆก่อนหน้านี้ ที่อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงตำหนิพวกเขา ในอัลกุรอานซูเราะฮฺอัลญุมุอะฮฺ อายะฮฺที่ 5 อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาตรัสว่า 

مَثَلُ الَّذِينَ حُمِّلُوا التَّوْرَاةَ ثُمَّ لَمْ يَحْمِلُوهَا كَمَثَلِ الْحِمَارِ يَحْمِلُ أَسْفَارًا بِئْسَ مَثَلُ الْقَوْمِ الَّذِينَ كَذَّبُوا بِآيَاتِ اللهِ وَاللهُ لَا يَهْدِي الْقَوْمَ الظَّالِمِينَ 

“อุปไมยบรรดาผู้ที่ได้รับคัมภีร์เตารอฮฺ แล้วพวกเขาไม่ได้ปฏิบัติตามสิ่งที่พวกเขาได้รับมอบ

อุปมาดั่งลาที่แบกหนังสือจำนวนหนึ่ง ช่างชั่วช้าจริงๆ บรรดากลุ่มชนที่ปฏิเสธต่ออายะฮฺต่างๆ ของอัลลอฮฺนั้น

และอัลลอฮฺจะไม่ทรงชี้แนะทางแก่กลุ่มชนที่อธรรม”

 

           ความหมายก็คือ อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงเปรียบกลุ่มคนก่อนหน้าอิสลามที่เขาได้รับคัมภีร์เตารอฮฺ แต่ไม่ปฏิบัติตามในสิ่งที่เตารอฮฺได้บอกไว้ เหมือนกับลาที่แบกตำรับตำรา แบกหนังสือวิชาความรู้ไว้จำนวนหนึ่ง โดยที่ตัวของมันก็ไม่รู้ว่า มันแบกของมีค่าอยู่ แล้วมันก็ไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากของมีค่านั้นเลย ก็เหมือนกับคนที่ถือเตารอฮฺ พวกเขาอ่านเตารอฮฺ สอนเตารอฮฺ รู้ความหมายของเตารอฮฺอย่างดี แต่กลับหันห่างออกจากคำสอนในเตารอฮฺนั้น ไม่ยอมปฏิบัติตาม อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาจึงทรงตำหนิพวกเขาว่า เป็นพวกที่ชั่วช้าจริงๆ และพระองค์ก็จะไม่ทรงแนะนำทางแก่พวกเขา ดังนั้น เราต้องไม่เป็นแบบพวกเขา เมื่อเราเรียนรู้อะไรมาแล้วก็ต้องนำมาปฏิบัติให้เกิดผล

 

           สุดท้ายนี้ ขออัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาโปรดให้เราเป็นผู้หนึ่งที่อ่านและท่องจำอัลกุรอาน พร้อมทั้งได้มีการการตะดับบุร พินิจพิจารณาใคร่ครวญ และนำมาสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง ทำให้สุดกำลังความสามารถของเรา เพื่อให้การดำเนินชีวิตของเราเป็นที่พอพระทัยของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลามากที่สุด   

 

 

 

( ที่มา...การบรรยายประจำสัปดาห์ มัสยิดดารุ้ลอิหฺซาน บางอ้อ )