มากกว่าคำว่า “ งี บ ”
  จำนวนคนเข้าชม  7572

มากกว่าคำว่า “ งี บ 

 

โดย อาจารย์นดา อีซา ฮะกีมี

 

อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา กล่าวในคัมภีร์ของพระองค์ว่า

และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์ คือ การหลับนอนของพวกเจ้าในกลางคืนและกลางวัน (เวลาบ่าย)

และการแสวงหาของพวกเจ้าซึ่งความโปรดปราน (ริสกี) ของพระองค์

แท้จริง ในการนี้แน่นอน ย่อมเป็นสัญญาณแก่หมู่ชนผู้ฟังเพื่อใคร่ครวญ” 

(อัรรูม 30/23)

 

          การนอน เป็นหนึ่งในสัญญาณของอัลลอฮ์ในพื้นพิภพ เป็นพฤติกรรมหนึ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องทำเป็นประจำทุกวันอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 1 ใน 4 ของเวลาที่มีต่อวัน การนอนหลับจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ปฏิเสธไม่ได้ และไม่มีมนุษย์คนใดสามารถอดหลับอดนอนได้เป็นเวลาเกิน 7 วัน แม้กระทั่งบรรดาศาสนทูตของอัลลอฮ์

 

กอยลูละฮ์ คืออะไร

 

     ♦ กอยลูละฮ์ (การงีบ) คือ การหลับระยะเวลาหนึ่งในเวลากลางวันก่อนหรือหลังตะวันคล้อย

 

กอยลูละฮ์ในมุมมองอิสลาม

 

         ตำราซุนนะฮ์ของท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มีฮะดิษหลายบทที่ชี้ให้เห็นว่าการงีบเป็นหนึ่งในสิ่งที่ท่านนบี ซ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ทำเป็นประจำ อีกทั้งยังส่งเสริมให้เหล่าสาวก (ซอฮาบะฮ์) ของท่าน ตลอดจนประชาชาติของท่านทำ ดังนี้

 

1. มีรายงานจากท่านอนัส อิบนิ มาลิก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า 

ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้มาหาฉันในบ้าน และได้งีบหลับไปชั่วครู่หนึ่ง 

ขณะหลับมีเหงื่อออกจากตัวท่าน แม่ของฉัน (นางอุมมุสุไลม์) ได้นำขวดแก้วมารองเหงื่อของท่าน 

ทันใดนั้นท่านร่อซูลรู้สึกตัว จึงถามนางว่าทำอะไรอยู่ 

นางกล่าวว่า นี่คือเหงื่อของท่านเราจะเอาไปผสมกับเครื่องหอมของเรา เพื่อจะได้เป็นน้ำหอมชั้นเลิศ” 

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม 4/1815 เลขที่ 2331)

 

2. มีรายงานจากท่านอนัส อิบนิ มาลิก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านหญิงอุมุ ฮะรอม บินติ มิลฮาน ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา (น้าสาวของท่านอนัส ภรรยาของท่าน อุบาดะฮ์ อิบนนภอันฮา (น้าสาวของท่านอนัส ภรรยาของท่าน อุบาดะฮ์ อิบนิซซอมิต เล่าว่า

 “ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้งีบหลับวันหนึ่งที่บ้านของพวกเขา” 

(บันทึกโดย อิมามบุคอรีย์ ในซอเฮียะฮ์ของท่าน 3/1060 เลขที่ 2737)

 

3. ท่านอนัส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ เล่าว่า

 “พวกเราจะรีบไปมัสยิดเพื่อละหมาดวันศุกร์แต่เนิ่นๆ หลังจากนั้น เราก็งีบหลับ” 

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ 1/307 เลขที่ 863)

 

4. รายงานจากท่านอนัส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า 

ท่านทั้งหลายจงงีบกันเถิด เพราะแน่นอน ชัยฎอนนั้นมันไม่งีบ” 

(บันทึกโดย อัฏฏ็อบรอนีย์ ในหนังสืออัลมั๊วะซัม อัลเอาชัฏ เล่ม 1/13 เลขที่ 28)

 

5. มีรายงานจากท่าน ซะอ์ด ว่า 

พวกเราจะงีบหลับและรับประทานอาหารกลางวันหลังละหมาด วันศุกร์แล้ว” 

(บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรีย์ 1/318 เลขที่ 897)

 

การงีบหลับมีกี่ประเภท?

โดยรวมมีสามประเภท

1. งีบนาน มีระยะเวลา 30 นาที

2. งีบปานกลาง ระหว่าง 5-30 นาที

3. งีบเร็ว ไม่เกิน 5 นาที

          จากการค้นคว้าวิจัย พบว่า เวลาที่เหมาะสมที่สุด คือ ระหว่าง 10-20 นาที และเวลาที่ดีที่สุด คือ ช่วงเวลาระหว่าง 13.00-15.00 . เป็นช่วงเวลาที่พลังงานสมองและร่างกายอยู่ในระดับที่ต่ำสุด และเป็นช่วงเวลาที่สองของช่วงวันที่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์มากที่สุดรองลงมาจากช่วงกลางคืน ระหว่างช่วงตีสองถึง ตีห้า

 

ประโยชน์จากการงีบหลับ

     1. ลดความเครียด มีผลวิจัยทางการแพทย์ระบุว่า ช่วงเวลาที่งีบร่างกายจะได้รับการผ่อนคลาย เพราะเป็นช่วงที่ฮอร์โมนที่ก่อให้เกิดความเครียดลดลง

 

     2. ก่อนให้เกิดการตื่นตัวในการทำงาน นักวิทยาศาสตร์พบว่าการงีบหลับเพียง 10-20 นาที หลังจากที่เราตื่นมาแล้ว 8 ชั่วโมง จะช่วยเสริมพลังให้ร่างกาย ส่งผลให้เกิดความรู้สึกผ่อนคลายอย่างเต็มที่ และผลักดันให้พร้อมทำงานและรับผิดชอบต่อหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น

 

     3. เพิ่มความจำ การงีบในช่วงกลางวันจะช่วยเพิ่มความจำให้กับสมอง อีกทั้งจดจำสิ่งต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว และแม่นยำกว่าที่เคย

 

     4. ส่งผลดีต่อหัวใจ ผลการวิจัยพบว่า การงีบช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ โดยเฉพาะในหนุ่มๆ ที่มีสุขภาพดี การวิจัยดังกล่าวได้ศึกษาจากผู้คนกว่า 23,681 คนในประเทศกรีซ ซึ่งไม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจ การงีบหลับจะลดความเสี่ยงต่อการที่หัวใจจะหยุดเต้นได้ถึง 37%

 

     5. เรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เพิ่มขึ้น องค์การนาซ่าเคยทำการวิจัยพบว่า การงีบหลับช่วยเพิ่มความสามารถด้านการเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นกว่า 40% โดยทดลองให้อาสาสมัคร 1,000 คน ทำงานต่อเนื่องแบบ ไม่หยุดพักในช่วงกลางวัน ส่งผลให้ความจำของเขาลดลง เมื่อเทียบกับผู้ที่ได้งีบหลับ

 

     6. เกิดแรงกระตุ้นในการออกกำลังกาย อีกหนึ่งประโยชน์ที่มาพร้อมๆ กับการงีบหลับก็คือ เรื่องของการเพิ่มแรงกระตุ้นในการออกกำลังกาย ช่วยให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งได้เร็วและได้ระยะทางที่ไกลกว่าเดิม แถมยังทำให้จิตใจแจ่มใสได้ตลอดทั้งวันจนถึงตอนดึก

 

     7. ช่วยให้สมองโลดแล่น พร้อมสร้างสรรค์งานใหม่ๆ อยู่เสมอ ทั้งนี้เพราะสมองได้พักผ่อนนั่นเอง

 

     8. เกิดความกระตือรือร้น มหาวิทยาลัยชิคาโกได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายกับวัยรุ่น 11 คน พบว่าใครที่นอนเพียง 4 ชั่วโมงต่อวันนั้นจะมีอาการอินโรยอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อได้งีบหลับสัก 20 นาที อาการอิดโรยต่างๆ ก็หายไปโดยปลิดทิ้ง ไม่ต่างกับคนที่พักผ่อนอย่างเพียงพอ

 

     9. สุขภาพดีขึ้นไม่น้อย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การงีบหลับมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างมหาศาล เห็นได้จากการทำงานของหัวใจที่ดีขึ้น ช่วยปรับสมดุลฮอร์โมน ช่วยซ่อมบำรุงเซลล์ต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น

 

     10. ช่วยในเรื่องโรคนอนไม่หลับ การได้งีบหลับจะช่วยทดแทนเรื่องของการพักผ่อนได้ไม่เพียงพอ อันเกิดจากการนอนไม่หลับในยามค่ำคืน

 

          ดังกล่าวนี้คือประโยชน์จากการงีบหลับในด้านสุขภาพ โดยการค้นคว้าของนักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบัน แต่ในส่วนของการเสริมศรัทธานั้น มีดังนี้

 

ประโยชน์ในด้านศรัทธาจากการงีบหลับ


     1.
ทำให้ร่างกายผ่อนคลายไม่อิดโรย พร้อมทุกเมื่อในการทำอิบาดะฮ์ เช่น การละหมาดด้วยความ ตั้งอกตั้งใจ กระปี้กระเปร่า ไร้ความเหนื่อยหน่าย เฉื่อยชา

 

     2. ทำให้พร้อมที่จะลุกขึ้นมาละหมาดในยามค่ำคืนอย่างกระฉับกระเฉง มีรายงานจากท่านอิบนิ อับบ๊าส ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวว่า

จงรับประทานอาหารสะฮู้ร เพื่อช่วยท่านในการ (มีเรี่ยวแรง) ถือศีลอดในช่วงวัน

และจงงีบหลับในช่วงบ่าย (เพื่อมีเรี่ยวแรง) ในการลุกขึ้นมาละหมาดในช่วงดึก (ตะฮัจญุด)”

(บันทึกโดย อิมามอิบนิมาญะฮ์ และอัฎฎ็อบรอนีย์)

 

     3. การงีบหลับช่วยให้ถือศีลอดซุนนะฮ์ได้อย่างสม่ำเสมอ มีรายงานจากท่านกอตาดะฮ์ ว่า ฉันได้ยินท่านอนัส อิบนิ มาลิก ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ กล่าวว่า

สามประการที่ผู้ใดไหวทำได้ เขาก็ไหวที่จะถือศีลอด

รับประทานก่อนที่จะดื่ม รับประทานอาหารยามดึก (สะฮู้ร) และงีบหลับในตอนบ่าย” 

(บันทึกโดย ท่านอัลบัซซ๊าร)

 

     4. การงีบหลับเป็นลักษณะหนึ่งของคนซอและฮ์ บรรดาสลัฟใส่ใจและให้ความสำคัญกับการ กอยลูละฮ์มากเป็นพิเศษ และคอยเฝ้ากำชับสมาชิกในครอบครัว และคนงานของคนให้หมั่นกอยลูละฮ์

          ท่านมุญาฮิด กล่าวว่า เมื่อครั้งที่ท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ทราบว่า ข้าหลวงของท่านตามหัวเมืองกอยลูละฮ์กัน ท่านจะเขียนสาส์นไปถึงเขาทันทีว่า 

จงงีบหลับ เพราะเหล่าชัยฏอนจะไม่งีบหลับ

 

          ปัจจุบันมีคนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ตระหนักถึงประโยชน์ของการงีบหลับในช่วงบ่าย ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อันเกิดจากการค้นคว้าวิจัยและทดลอง ได้ลบล้างความเชื่อผิดๆ ในอดีตเกี่ยวกับการงีบหลับ ว่าเป็นตัวการของความเกียจคร้าน เฉี่อยชา ละเลยต่อหน้าที่ และบั่นทอนประสิทธิภาพในการทำงาน

 

           ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ เป็นการพิสูจน์ว่าแนวทางของอิสลามในการส่งเสริมให้งีบหลับนั้นนับเป็นแนวทางที่ล้ำหน้ากว่าการค้นพบทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ มากว่าหนึ่งพันสี่ร้อยปี ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่า อิสลามคือศาสนาที่แท้จริงที่มาจากอัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา

 

อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า 

แต่ทว่าอัลลอฮ์นั้นทรงยืนยันในสิ่งที่พระองค์ได้ประทานลงมา (อัลกุรอาน) แก่เจ้า (มุฮัมมัด)

ว่าพระองค์ได้ประทานสิ่งนั้นมาด้วยความรู้ของพระองค์ และมลาอิกะฮ์ก็ยืนยันด้วย

และพอเพียงแล้วที่อัลลอฮ์เป็นผู้ทรงยืนยัน

( อันนิซาอ์ 4/166)

 

 

ที่มา : วารสาร สายสัมพันธ์...♥