กรรมการมัสยิดกับปัญหายาเสพติดในชุมชน
  จำนวนคนเข้าชม  2429


กรรมการมัสยิดกับปัญหายาเสพติดในชุมชน 

ผศ.ดร.อับดุลเลาะ หนุ่มสุข

 

 บทนำ 

 

          การแพร่หลายของยาเสพติดนับเป็นปัญหาใหญ่ที่เกิดขึ้นในทุกชุมชนมุสลิม แทบจะพูดได้ว่าไม่มีชุมชนมุสลิมชุมชนใดที่ปลอดจากปัญหานี้ ไม่ว่าจะเป็นชุมชนมุสลิมภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคใต้ หรือภาคตะวันออก หรือแม้แต่ภาคอีสาน จนดูประหนึ่งว่าปัญหายาเสพติดกับชุมชนมุสลิมเป็นของคู่กัน แน่นอนมีสาเหตุและปัจจัยมากมายต่อกรณีดังกล่าว

          คำถามหนึ่งที่หลายๆ คนชอบถามคือใครคือผู้รับผิดชอบต่อปัญหานี้ ผู้นำ ครอบครัว ผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน หรือผู้นำรัฐบาล คำตอบที่ทุกคนสามารถตอบได้คือ ผู้นำทุกระดับจะต้องรับผิดชอบตามขอบข่ายของหน้าที่แต่ละคน ในส่วนของผู้นำศาสนาถือได้ว่ากรรมการมัสยิดคือกลุ่มผู้นำศาสนาที่คลุกคลีอยู่ในชุมชนจึงจำเป็นจะต้องรู้บทบาทและหน้าที่ของตนในการแก้ไขปัญหา บทความนี้จึงอยากมีส่วนร่วมในการจุดประกายให้กรรมการมัสยิดทุกท่านได้ตระหนักและสำนึกในหน้าที่ในฐานะผู้นำศาสนาระดับชุมชน

 

 บทบาทและหน้าที่กรรมการมัสยิดในฐานะผู้นำศาสนา 

 

กรรมการมัสยิดในฐานะผู้นำศาสนามีบทบาทและหน้าที่ตามที่ได้ระบุไว้ในอัลกุรอานและอัลฮะดิษดังนี้

1) อัลลอฮ์  ได้ตรัสว่า

          “บรรดาผู้ที่เราให้พวกเขามีอำนาจในแผ่นดิน พวกเขาดำรงการนมาซ และบริจาคซะกาตและ สั่งกันให้กระทำความดี และห้ามปรามกันให้ละเว้นความชั่ว และบั้นปลายของกิจการทั้งหลายย่อมกลับคืนสู่อัลลอฮ์ ” 

(22:41) 

          อัลกุรอานโองการนี้อัลลอฮ์  ได้พูดถึงคนกลุ่มหนึ่งที่อัลลอฮ์  ให้พวกเขามีอำนาจ มีบารมีในแผ่นดิน แล้วพวกเขาก็ยืนหยัดและส่งเสริมในเรื่องสำคัญ 4 เรื่องคือ

     1. เรื่องการละหมาด : ในที่นี้หมายถึงการประกอบศาสนกิจ และการทำอิบาดะฮ์ต่างๆ

     2. เรื่องซะกาต : ในที่นี้หมายถึงสวัสดิการสังคม และการประกอบอาชีพ เนื่องจากซะกาตจะทำให้เงินหมุนเวียนและทำให้ทุกคนมีอาชีพ

     3. เรื่องใช้กันให้ทำความดี : ในที่นี้หมายถึงการทำงานเผยแผ่อิสลาม

     4. เรื่องห้ามปรามกันให้ละเว้นความชั่ว : ในที่นี้หมายถึงการปราบปรามและการกำจัด ความชั่วออกจากสังคม

          ทั้งสี่เรื่องนี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญที่เป็นปัจจัยหลักในการดำรงอยู่ของสังคมมุสลิมโดยรวม ในเมื่อกรรมการมัสยิดเป็นผู้นำศาสนา มีอำนาจและบารมีระดับหนึ่งในชุมชน จึงมีหน้าที่โดยตรงใน การยืนหยัดและจรรโลงไว้ซึ่ง 4 ประการข้างต้น การละเลยต่อหน้าที่ดังกล่าวจะนำมาซึ่งปัญหามากมาย หนึ่งในนั้นก็คือการแพร่หลายของยาเสพติดในชุมชน

 

2) อัลลอฮ์  ได้ตรัสว่า

          “และจงให้มีขึ้นจากพวกเจ้า ซึ่งคณะหนึ่งที่จะเชิญชวนไปสู่ความดีและใช้ให้กระทำสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้กระทำสิ่งที่มิชอบและชนเหล่านี้แหละพวกเขาคือผู้ได้รับความสำเร็จ” 

(3:104) 

          อัลกุรอานโองการนี้ต้องการจะบอกว่าในแต่ละชุมชนนั้นจะต้องมีกลุ่มชนหนึ่งที่รับผิดชอบ ในเรื่องการดะฮ์วะฮ์ การเชิญชวนและกำชับให้ทำความดีและการห้ามปรามความชั่ว คนกลุ่มนี้จะต้องมีคุณสมบัติสองด้าน ด้านที่หนึ่งคือความรู้ ด้านที่สองคืออำนาจ คุณสมบัติทั้งสองด้านนี้จะพบได้ในหมู่กรรมการมัสยิดทั่วไป ตั้งแต่ตำแหน่งอีหม่าม ค่อเตบ บิลาล จนถึงกรรมการอื่นๆ ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงต้องรับผิดชอบในกิจการดะฮ์วะฮ์อิสลามในชุมชน

 

3) ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้พูดถึงการกำจัดมุงกัรซึ่งหมายถึงความชั่วต่างๆ ที่ปรากฏไว้ว่า

           “ผู้ใดพบเห็นสิ่งมุงกัร (สิ่งที่ผิดศาสนบัญญัติ) เขาจะต้องกำจัดมันด้วยมือหากไม่สามารถก็ต้องกำจัดด้วยวาจา และหากยังไม่สามารถก็ให้กำจัดด้วยใจ ซึ่งเป็นการกำจัดของผู้ที่มีศรัทธาที่อ่อนแอยิ่ง” 

(บันทึกโดยมุสลิม)

          ฮะดิษบทนี้เป็นฮะดิษแม่บทในเรื่องการกำจัดมุงกัรซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมากในอิสลาม บทบัญญัติของฮะดิษสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

     1. การกำจัดมุงกัรเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานะใด จะมีตำแหน่งหน้าที่หรือไม่อย่างไร

     2. มุสลิมทุกคนจะต้องรับผิดชอบต่อมุงกัรที่เกิดขึ้น มากน้อยขึ้นอยู่กับสถานะของแต่ละคน

     3. ระดับที่หนึ่งของการกำจัดมุงกัรคือการใช้มือซึ่งหมายถึงกำลังและอำนาจเป็นระดับที่ดีที่สุดของการกำจัดมุงกัร

     4. ระดับที่สองคือการใช้วาจาหรือการพูดซึ่งครอบคลุมถึงการเขียนและการสื่อสารเป็นข้อความหรือภาพหรืออื่นๆ เป็นระดับปานกลางของการกำจัดมุงกัร

     5. ระดับที่สามคือการกำจัดด้วยใจ หมายถึงมีใจที่เกลียดชังและต่อต้านการมุงกัร แต่ไม่สามารถทำอะไรได้ ระดับนี้เป็นระดับที่ต่ำที่สุด เนื่องจากไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อมุงกัร ทำให้มุงกัร ยังคงอยู่และยังแพร่หลายอยู่ต่อไป ด้วยเหตุนี้ท่านนบีศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมจึงประเมินว่าเป็นระดับของผู้ที่มีศรัทธาอ่อนแอมาก

     6. การแบ่งการกำจัดมุงกัรให้มีสามระดับดังกล่าว เป็นการคำนึงถึงความเป็นจริงของสถานะบุคคลซึ่งมีไม่เท่าเทียมกัน จริงอยู่ที่ศาสนาต้องการให้ทุกคนบรรลุสู่เป้าหมายแต่ถึงกระนั้นศาสนาก็ยังคำนึงถึงบริบทของแต่ละคนที่แตกต่างกัน

     7. การวางเงื่อนไขความสามารถในแต่ละระดับชี้แสดงว่าการกำจัดมุงกัรในสามระดับนั้นมิใช่เลือกทำตามสมัครใจ แต่ให้เรียงลำดับตามความสามารถซึ่งสอดคล้องกับอัลกุรอานที่อัลลอฮ์  ตรัสว่าจงกลัวอัลลอฮ์  เท่าที่สามารถ" ดังนั้น การกำจัดมุงกัรในแต่ละระดับจึงขึ้นอยู่กับความสามารถของ แต่ละคนที่ไม่เท่ากัน

 

          อย่างไรก็ตามถือว่ากรรมการมัสยิดเป็นผู้นำศาสนาที่มีอำนาจและบารมีในชุมชน มีศักยภาพ ในระดับหนึ่งที่จะกำจัดมุงกัรซึ่งในที่นี้หมายถึงยาเสพติดออกไปจากชุมชน ระดับของกรรมการมัสยิดนั้นควรจะอยู่ที่ระดับที่ 1 และที่ 2 ตามที่ปรากฏในฮะดิษ ไม่ควรอยู่ในระดับที่ 3 เป็นอย่างยิ่ง เพราะทำไปแล้ว ทำให้ชุมชนมัสยิดเต็มไปด้วยยาเสพติดและสิ่งมุงกัรอื่นๆ อีกมากมาย

 

กรรมการมัสยิดควรมีบทบาทอย่างไร ?

 

การแก้ไขปัญหายาเสพติดสามารถแบ่งได้ 3 ระดับคือ

 

1) การป้องกัน

 

           ในการป้องกันการแพร่หลายของยาเสพติด กรรมการมัสยิดควรมีบทบาทดังนี้ 

     1. การประสานและให้ความร่วมมือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในโครงการต่างๆ อาทิเช่น โครงการมัสยิดสีขาว และโครงการบ้านสีขาว เป็นต้น

     2. การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและการอบรมที่หลากหลายในรูปคุตบะฮ์และอื่นๆ โดยเน้นเนื้อหาที่เกี่ยวกับโทษของยาเสพติด และผลกระทบต่อครอบครัวและชุมชน

     3. การจัดค่ายเยาวชนภาคฤดูร้อนโดยประสานหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด

     4. การทำบัยอะฮ์ (สัตยาบัน) ร่วมกันในการป้องกันและต่อต้านยาเสพติด

 

2) การเยียวยา

 

          เมื่อทางราชการได้กำหนดให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วย กรรมการมัสยิดก็ควรสนองนโยบายด้วย การจัดโครงการค่ายบำบัดโดยใช้วิธีศาสนบำบัด และควรมีมาตรการในการบังคับให้ผู้เสพในชุมชนเข้าร่วมโครงการ แต่หากไม่สามารถจัดโครงการได้ก็ควรให้คำแนะนำผู้เสพไปบำบัดรักษายังสถานที่อื่นๆ ที่เหมาะสม กรรมการมัสยิดควรมีข้อมูลจำนวนผู้เสพในชุมชนเพื่อขึ้นทะเบียนในการบำบัด

 

3) การปราบปราม

 

          การปราบปรามยาเสพติดเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าหน้าที่บ้านเมือง กรรมการมัสยิดไม่มีอำนาจในการจับกุม กักขัง หรือดำเนินคดีกับพ่อค้ายาเสพติดในชุมชน สิ่งที่กรรมการมัสยิดจะทำได้และต้องทำ คือการว่ากล่าวตักเตือน และการหามาตรการต่างๆ เพื่อต่อต้านกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดในชุมชน มาตรการดังกล่าว ควรเริ่มจากเบาไปสู่หนัก อาทิเช่น

 

   1. การเชิญมาพูดคุยเป็นช่วงๆ ในลักษณะที่ไม่เปิดเผยและมีการทำทัณฑ์บนโดยบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร

   2. หากมาตรการที่ 1 ไม่เป็นผล ให้ที่ประชุมกรรมการมัสยิดมีมติห้ามคบค้าสมาคม ห้ามร่วมกิจกรรมในงานบุญและงานพิธีต่างๆ ตัดสิทธิ์ประโยชน์ต่างๆ อันพึงได้รับจากมัสยิดและแจ้งมติการประชุมให้สัปบุรุษทุกคนทราบ

   3. หากการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดียังไม่เกิดขึ้นได้ ที่ประชุมกรรมการมัสยิด มีมติคัดชื่อออกจากการเป็นสัปบุรุษของมัสยิด และแจ้งไปยังมัสยิดต่างๆ ทั้งนี้ผู้ที่ถูกคัดชื่อออกจากทะเบียนสัปบุรุษจะไม่ได้รับการบริการใดๆ จากมัสยิด ซึ่งอาจรวมถึงการฝังศพในกุโบร์ของมัสยิด แต่หากจำเป็นก็ควรแยกโซนหลุมศพของคนกลุ่มนี้ไว้เป็นการเฉพาะโดยไม่ปะปนกับใคร

 

          การดำเนินมาตรการเหล่านี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรรมการมัสยิดสามารถทำได้ คุณสมบัติที่สำคัญที่กรรมการมัสยิดทุกคนจะต้องมีเพื่อดำเนินมาตรการเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ คือความกล้าหาญ และการไม่เกรงกลัวใคร นอกจากอัลลอฮ์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้บริหารมัสยิดที่อัลลอฮ์  ได้ระบุไว้ในอัลกุรอานว่า

 

แท้จริงที่จะบูรณะบรรดามัสยิดของอัลลอฮ์  นั้นคือผู้ที่ศรัทธาต่ออัลลอฮ์  ศรัทธาต่อวันอาคิเราะฮ์

ดำรงไว้ซึ่งการละหมาด บริจาคทานซะกาต และไม่ยำเกรงผู้ใดนอกจากอัลลอฮ์  

ดังนั้นจึงหวังได้ว่า ชนเหล่านี้แหละจะเป็นผู้อยู่ในหมู่ผู้รับคำแนะนำ

 

          ขออัลลอฮ์ ได้ประทานความกล้าหาญให้กับกรรมการมัสยิดทุกท่าน และขอให้กรรมการมัสยิดทุกท่านได้ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชนของท่านตลอดไป

 

(อามีน)

 

วารสาร มุสลิม กทม.