อิสลาม คือ ศาสนาสายกลาง
  จำนวนคนเข้าชม  4310


อิสลาม คือ ศาสนาสายกลาง

 

รวบรวม โดย อับดุลวาเฮด สุคนธา

 

          แท้จริงอัลลอฮฺ ตะอาลาได้กำหนดลักษณะที่โดดเด่นกับประชาชาติของท่านนบีมูฮัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นั่นคือ เส้นทางสายกลาง

 

          หลักทางสายกลาง มาจากภาษาอาหรับว่า وَسَط หรือ وَسَطِية มีความหมายทางภาษา คือ กลาง ตรงกลาง หรือท่ามกลาง

 

อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า 

" كَذَٰلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا لِّتَكُونُوا شُهَدَاءَ عَلَى النَّاسِ وَيَكُونَ الرَّسُولُ عَلَيْكُمْ شَهِيدًا "

          “และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าทั้งหลายเป็นประชาชาติสายกลาง เพื่อว่าเจ้าทั้งหลายจะได้เป็นสักขีพยานแก่มวลมนุษย์ และรอซูลก็จะเป็นสักขีพยานให้แก่พวกเจ้า

(ซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 143)

 

         คุณลักษณะของอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺอย่างหนึ่ง คือ พวกเขานั้นยึดมั่นอยู่บนหลักการอย่างเป็นธรรม อยู่ท่ามกลางความสมดุล (التوازُن) ระหว่างวัตถุกับจิตวิญญาณ และศาสนากับการดำเนินชีวิตอย่างเที่ยงตรง (الاستِقامَة) ไม่เอนเอียงออกนอกทาง

ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ได้กล่าวไว้ว่า

" لَا تَزَالُ طَائِفَةٌ مِنْ أُمَّتِي عَلَى الْحَقِّ ظَاهِرِينَ... "

 “ประชาชาติของฉันยังคงยืนอยู่บนสัจธรรมที่ถูกต้อง

 

         อะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺ ดำรงอยู่ด้วยกับความยุติธรรม เพราะความยุติธรรมอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย ไม่เอนเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง หรือขั้วใดขั้วหนึ่ง และเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด เพราะมันจะเป็นสิ่งที่ดีทั้งในเรื่องหลักศรัทธา การกำหนดบทบัญญัติอิสลาม เรื่องมารยาท อีกทั้งอะฮฺลุซซุนนะฮฺ วัลญะมาอะฮฺทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยความสุดโต่งและความเลยเถิดกับความละเลยและความผ่อนปรนในทุกๆ ด้านที่ได้เกิดขึ้น

 

นิยามของคำว่าสายกลางในอัลกุรอาน

 

          ความหมายทางด้านภาษาของคำว่า สายกลาง ที่มาจากคำภาษาอาหรับที่ว่า اَلْوَسَطُ (อัลวะซัฏ) ซึ่งหมายถึง "ตรงกลางสถานที่ กลางกลุ่มชนที่ให้ความเป็นธรรมระหว่างสองฝ่าย เที่ยงตรง มีความสัจจริง หรือหมายถึง สิ่งที่อยู่ระหว่างสองประการ"

" وَكَذَٰلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا "

 “และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าทั้งหลายเป็นประชาชาติสายกลาง

(ซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 143)

 

          ความหมายทางด้านวิชาการ คำว่า สายกลาง คือ ความยุติธรรมจะอยู่ตรงกลางระหว่างสองฝ่าย ไม่ลำเอียงไปทางด้านใดด้านหนึ่ง หรือขั้วใดขั้วหนึ่ง ถือเป็นประชาชาติที่ดีที่สุด ซึ่งคำว่าสายกลางปรากฏอยู่ในอัลกุรอานและซุนนะฮฺของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมมากมาย อาทิ

" وَكَذَٰلِكَ جَعَلْنَاكُمْ أُمَّةً وَسَطًا "

และในทำนองเดียวกัน เราได้ให้พวกเจ้าทั้งหลายเป็นประชาชาติสายกลาง” 

(ซูเราะฮฺ อัลบะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่ 143)

 

          ท่านอิบนุญะรีร ฏ็อบรี กล่าวว่า สายกลาง คือ ดำรงอยู่ระหว่างความสุดโต่งและความเลยเถิด (الغُلو والإفْراط) กับความละเลยและความหย่อนยานในด้านการปฏิบัติ (الجَفاء والتفْريط)

 

          ท่านอิบนุ กะซีร กล่าวว่า สายกลาง คือ สิ่งที่ดีที่สุด หรือสิ่งที่ประเสริฐที่สุด

" مِنْ أَوْسَطِ مَا تُطْعِمُونَ أَهْلِيكُم "

จากอาหารปานกลางของสิ่งที่พวกเจ้าให้เป็นอาหารแก่ครอบครัวของพวกเจ้า

( ซูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 189)

 

นิยามของคำว่าสายกลางในอัซซุนนะฮฺ

 

          บางตัวบทได้ใช้ถ้อยคำที่สื่อถึงเจตนารมณ์ของคำว่าสายกลาง ดังต่อไปนี้

" إذا سألتم اللهَ فاسْأَلوه الفِرْدّوسَ فإنه أَوْسَط الجَنَّة وأعْلَى الجَنة "

เมื่อพวกท่านขอต่ออัลลอฮ์ พวกท่านจงขอว่าอัลฟิรเดาส์ มันคือสวรรค์ชั้นเลิศสุด และสูงสุด” 

(บันทึกโดย บุคอรีย์)

" خَيْرُ الأمورِ أَوْساطُها "

 “กิจการที่ดีที่สุด คือปานกลาง (หมายถึง มีความพอเหมาะพอดี)

          รายงานจากท่านอิบนุ มัสอูดว่า ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมได้กล่าวว่า แท้จริง การขีดเส้นรูปสี่เหลี่ยม และขีดเส้นตรงกลางสี่เหลี่ยมและขีดเส้นข้างๆ เส้นตรงกลาง 

     แล้วท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ถามบรรดาเศาะฮาบะฮฺว่า พวกท่านรู้หรือไม่ ว่ามันคืออะไร 

     บรรดาเศาะฮาบะฮฺ ตอบว่า อัลลอฮฺและรอซูล ทรงรู้ดียิ่ง 

     ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัมตอบว่า เส้นตรงกลางคือมนุษย์ ส่วนเส้นข้างๆนั้น คือ ออกจากเส้นทางที่ถูกต้อง

 

♦ คุณสมบัติของหลักทางสายกลาง

 

     ♣ الاستِقامَة : ความเที่ยงตรง หมายถึง แนวทางและหลักคำสอนที่ไม่เอนเอียงไปจากแนวทางที่ถูกต้อง และหนึ่งคุณลักษณะของศาสนาอิสลามท่าน อิบนุก็อยยิม กล่าวว่า ความเที่ยงตรง คือ คำที่รวบรวมหลักการศาสนาของการปฏิบัติในเรื่องต่างๆ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

" فَاسْتَقِمْ كَمَا أُمِرْتَ وَمَن تَابَ مَعَكَ وَلاَ تَطْغَوْاْ إِنَّهُ بِمَا تَعْمَلُونَ بَصِيرٌ "

เจ้าจงอยู่ในความเที่ยงธรรมเช่นที่ถูกบัญชา และผู้ที่ขอลุโทษแก่เจ้า

และพวกท่านอย่าได้ละเมิด แท้จริงพระองค์ทรงรู้เห็นสิ่งที่พวกท่านกระทำ

(ซูเราะฮฺ ฮูด อายะฮฺที่ 112)

" إِنَّ الَّذِينَ قَالُوا رَبُّنَا اللَّهُ ثُمَّ اسْتَقَامُوا تَتَنَزَّلُ عَلَيْهِمُ الْمَلَائِكَةُ أَلَّا تَخَافُوا وَلَا تَحْزَنُوا "

          “แท้จริงบรรดาผู้ที่กล่าวว่า อัลลอฮฺคือ พระเจ้าของพวกเรา แล้วพวกเขาก็ยืนหยัด (ปฏิบัติ) ตามคำกล่าวนั้น จะไม่มีความหวาดกลัวใด แก่พวกเขา และพวกเขาก็จะไม่เศร้าสลดใจ” 

(ซูเราะฮฺ อัลกะฮฺก็อฟ อายะฮฺที่ 13)

" وَهَٰذَا صِرَاطُ رَبِّكَ مُسْتَقِيمًا "

และนี่แหละ คือ ทางแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้าโดยมีสภาพอันเที่ยงตรง

( ซูเราะฮฺ อันอาม อายะฮฺที่ 126)

 

          โดยเป็นความเที่ยงตรงที่ยึดติดอยู่กับอัลกุรอานและอัซซุนนะฮฺของท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม และยึดติดอยู่กับบทบัญญัติทางสายกลาง ซึ่งมีคำสอนว่า หลักศรัทธาของพวกท่านนั้นยังไม่เที่ยงตรง จนกว่าจิตใจจะเที่ยงตรง และจิตใจยังไม่เที่ยงตรงจนกว่า สิ้นชีวิตของพวกท่านนั้นซื่อสัตย์สุจริต

 

          จากท่านอบู อัมรฺ บางสายรายงานกล่าวว่า อบู อัมเราะฮฺ คือซุฟยาน อิบนุ อับดุลลอฮฺ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) ได้เล่าว่า ฉันได้กล่าวว่า

" قُلْتُ يَا رَسُوْلَ اللهِ قُلْ لِيْ فِيْ الإِسْلَامِ قَوْلاً لَا أَسْأَلُ عَنْهُ أَحَداً غَيْرَكَ ، قَالَ : " قُلْ آمَنْتُ بِاللهِ ، ثُمَّ اسْتَقِمْ" "

     “โอ้ท่านศาสนฑูตของอัลลอฮฺ ได้โปรดบอกฉันเกี่ยวกับอิสลามด้วยคำกล่าวที่ฉันไม่ต้องถามผู้อื่นอีก นอกจากท่านด้วยเถิด 

     ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงกล่าวว่า : “ท่านจงกล่าวเถิดว่า ฉันได้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺแล้ว หลังจากนั้นท่านก็จงยืนหยัดอยู่บนความถูกต้อง” 

(บันทึกโดย มุสลิม)

          อิสลามทางสายกลางจึงเป็นทางของมุสลิมผู้ยืนหยัด มิใช่ทางของผู้ที่เรียกตัวเองว่ามุสลิมสายกลาง หรือมุสลิมสากลที่พร้อมจะละทิ้งหลักการอิสลามเพื่อให้ตัวเองเข้ากับกลุ่มคนทุกกลุ่มบนโลกนี้

 

     ♣ الْخَيْرِيّة : ความดี หมายถึง ประชาชาติมุสลิมที่อัลลอฮฺได้กล่าวถึงไว้ในอัลกุรอานว่า

" كُنْتُمْ خَيْرَ أُمَّةٍ أُخْرِجَتْ لِلنَّاسِ"

          “พวกเจ้านั้น เป็นประชาชาติที่ดียิ่งที่อุบัติขึ้นสำหรับมนุษย์ชาติ โดยที่พวกเจ้าใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบ และห้ามสิ่งที่มิชอบ และศรัทธามั่นต่ออัลลอฮฺ

(ซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน อายะฮฺที่ 110)

" وَلْتَكُنْ مِنْكُمْ أُمَّةٌ يَدْعُونَ إِلَى الْخَيْرِ "

จงมีขึ้นในหมู่ประชาชาติของพวกท่าน ที่คนหนึ่งเรียกร้องไปสู่ความดี

คือการเรียกร้องไปสู่ความดีทั้งหลาย

 

     ♣ الأمان : ความสุข ความปลอดภัย สิ่งสำคัญของเส้นทางสายกลางคือ รักษาความยุติธรรม รอดพ้นจากแนวความคิดที่ไม่ดี ให้ยึดมั่นในหลักการที่ถูกต้องเพราะย่อมเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่ความสงบสุขที่แท้จริง รอดพ้นการเอารัดเอาเปรียบ ฉ้อโกง

 

     ♣ الْعَدْل : ความยุติธรรม หมายถึง ความยุติธรรมที่มิได้จำกัดอยู่เฉพาะมุสลิมเท่านั้น แต่เป็นสิทธิ์ของมนุษย์ทุกคนที่พึงจะได้รับ ดังที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

" يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُوا كُونُوا قَوَّامِينَ لِلَّهِ شُهَدَاءَ بِالْقِسْطِ وَلَا يَجْرِمَنَّكُمْ شَنَآنُ قَوْمٍ عَلَىٰ أَلَّا تَعْدِلُوا اعْدِلُوا هُوَ أَقْرَبُ لِلتَّقْوَىٰ "

          “ ผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงเป็นผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความดีเพื่ออัลลอฮฺ และเป็นพยานด้วยความเที่ยงธรรม และจงอย่าให้การเกลียดชังพวกหนึ่งพวกใดทำให้พวกเจ้าไม่ยุติธรรม จงยุติธรรมเถิด มันเป็นสิ่งที่ใกล้กับความยำเกรงยิ่งกว่า” 

(ซูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ อายะฮฺที่ 8)

 

     ♣ الْيُسْر ورَفْع الْحَرَج : ความสะดวกง่ายดาย หมายถึง ความไม่ลำบากในการปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติทางกายภาพในรูปของคำพูดและการกระทำหรือทางด้านจิตใจในรูปของความเชื่อความศรัทธา ที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของอัลลอฮฺที่พระองค์ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

وَمَا جَعَلَ عَلَيْكُمْ فِي الدِّينِ مِنْ حَرَجٍ "

 “ และอัลลอฮ์มิได้ทรงทำให้เรื่องของศาสนาเป็นการลำบากแก่พวกเจ้า

(ซูเราะฮฺ อัล-ฮัจญ์ 78)

อิสลาม คือ ศาสนาสายกลางที่ครอบคลุมในทุกด้านของการดำเนินชีวิต

 

♦ ด้านบทบัญญัติ

 

         เป็นความเมตตาของอัลลอฮฺ ตะอาลา ที่มีต่อปวงประชาชาติ ที่ส่งให้ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม มาเป็นแบบอย่างในการดำเนินชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้า

 

          ศาสนาอิสลามมิได้ให้มนุษย์ปฏิบัติอิบาดะฮฺมากเกิน หรือเหนือความสามารถของมนุษย์ โดยการบทบัญญัติลงมาทีเดียว อัลลอฮฺทรงกำหนดบทบัญญัติอิสลามมาแบบเป็นขั้น เป็นตอน เช่น เรื่องของการห้ามดื่มสุรา เป็นการประทานลงมาครั้งแรกที่บอกถึงอันตรายของการดื่มสุรา ครั้งที่สองประทานลงมา อย่าดื่มเมื่อจะละหมาด และครั้งสุดท้ายลงมาห้ามดื่มสุราเลย

ขั้นตอนการห้ามดื่มสุรา 

โองการแรกที่บอกถึงอันตรายของการดื่มสุรา

" يَسْأَلُونَكَ عَنِ الْخَمْرِ وَالْمَيْسِرِ قُلْ فِيهِمَا إِثْمٌ كَبِيرٌ وَمَنَافِعُ لِلنَّاسِ وَإِثْمُهُمَآ أَكْبَرُ مِن نَّفْعِهِمَا "

          “พวกเขาจะถามเจ้าเกี่ยวกับน้ำเมา และการพนัน จงกล่าวเถิดว่า ในทั้งสองนั้นมีโทษมากและมีคุณหลายอย่างแก่มนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้นมากกว่าคุณของมัน” 

(ซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่219)

โองการที่สองห้ามเข้าใกล้ละหมาดเวลาหากดื่มสุรา

" يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ لاَ تَقْرَبُواْ الصَّلاَةَ وَأَنتُمْ سُكَارَى حَتَّىَ تَعْلَمُواْ مَا تَقُولُونَ "

          “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย! จงอย่าเข้าใกล้การละหมาด ขณะที่พวกเจ้ากำลังมันเมาอยู่ จนกว่าพวกเจ้าจะรู้ สิ่งที่พวกเจ้าพูด” 

(ซูเราะฮฺ อัล-นิซาอฺ อายะฮฺที่ 43)

โองการที่สาม ห้ามดื่มสุรา นี้คือสิ่งมึนเมา

" يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آمَنُواْ إِنَّمَا الْخَمْرُ وَالْمَيْسِرُ وَالأَنصَابُ وَالأَزْلاَمُ رِجْسٌ مِّنْ عَمَلِ الشَّيْطَانِ فَاجْتَنِبُوهُ لَعَلَّكُمْ تُفْلِحُونَ "

          “ผู้ศรัทธาทั้งหลาย ที่จริงสุราและการพนันและแท่นหินสำหรับเชือดสัตว์บูชายัญ และการเสี่ยงติ้ว นั้นเป็นสิ่งโสมม อันเกิดจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้นพวกเจ้าจงห่างไกลจากมันเสียเพื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ

(ซูเราะฮฺ อัล-มาอิดะฮฺ 90)

 

          นี่คือความละเอียดอ่อนของศาสนาอิสลามที่เข้าใจการดำเนินชีวิตของมนุษย์ เข้าใจบทบัญญัติหลักการศาสนาเป็นขั้นตอนก็เพื่อให้มนุษย์สามารถปฏิบัติได้อย่างง่ายดาย ดังนั้นนักดาอีย์ทั้งหลาย จงดะวะฮฺอิสลามมาสู่การเชื่อมั่นต่ออัลลอฮฺ ด้วยรูปแบบที่ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยิวะซัลลัมได้ปฏิบัติไว้เป็นแบบอย่างเถิด

 

          ศาสนาอิสลามถือได้ว่า เป็นศาสนาที่ให้ความสะดวกง่ายดาย และไม่มีความลำบากในการปฏิบัติตามหลักการของศาสนา เช่น การละหมาด การถือศีลอด การจ่ายซะกาต เป็นต้น และอัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตัรสไว้ในอัลกุรอานว่า

" يُرِيدُ اللّهُ بِكُمُ الْيُسْرَ وَلاَ يُرِيدُ بِكُمُ الْعُسْرَ "

 “อัลลอฮฺทรงประสงค์ให้มีความสะดวกแก่พวกเจ้า และไม่ทรงให้มีความลำบากแก่พวกเจ้า

( ซูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺที่185)

" وَنُيَسِّرُكَ لِلْيُسْرَى "

และเราจะทำให้เป็นการง่ายดายแก่เจ้า ซึ่งบัญญัติศาสนาอันง่ายดาย

(ซูเราะฮฺ อัล-อะอฺลา อายะฮฺที่ 8)

และหลักฐานจากท่านรอซูล ศ็อลลัลฮุอะลัยฮิวะซัลลัม ที่ได้กล่าวไว้ว่า

" إِنَّ الدِّينَ يُسْرٌ "

ศาสนา คือ เรื่องง่ายดาย

" بَيْنَ أَمْرَيْنِ إِلَّا اخْتَارَ أَيْسَرَهُمَا "

หากมีสองอย่าง ท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เลือกที่จะทำสิ่งที่ง่ายก่อน

มีหลักของวิชาฟิกฮฺว่า

" المشقة تجلب التيسير"

เมื่อเกิดความยากลำบาก ความง่ายดายจะมาแทนที่

 

♦ การเผยแพร่อิสลาม 

 

           แท้จริงศาสนาอิสลามได้เรียกร้องมนุษย์ด้วยความอ่อนโยน นิ่มนวล สุภาพ ไม่ใช้กำลังหรือ การบีบบังคับให้เข้ารับศาสนาแต่อย่างใด

" ادْعُ إِلَىٰ سَبِيلِ رَبِّكَ بِالْحِكْمَةِ وَالْمَوْعِظَةِ الْحَسَنَةِ "

 “จงเรียกร้องเชิญชวนสู่หนทางแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้าด้วยวิทยปัญญา (ฮิกมะฮฺ)”

(ซูเราะฮฺ อัล-นะฮฺลุ 125)

 

          หลักการในศาสนาอิสลามที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงประทานลงมา ก็เพื่อเป็นแบบอย่างในการทำหน้าที่เรียกร้องเชิญชวนมนุษย์ไปสู่การเคารพภักดีต่อพระองค์แต่เพียงผู้เดียว และแน่นอนท่านรอซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม คือ แบบอย่างที่ดีงามของการดำเนินชีวิตและแบบอย่างของการดะวะฮฺไปสู่ศาสนาอิสลามโดยอาศัยวิทยปัญญา (วิทยปัญญาที่แฝงอยู่และสามารถนำมาอธิบายได้ในแง่ของคุณประโยชน์ได้)

     พึงทราบเถิดนักดาอีย์ทั้งหลาย จงยืนหยัดทำงานศาสนาด้วยวิธีที่มาจากศาสนฑูตของอัลลอฮฺ

" إِنْ عَلَيْكَ إِلَّا الْبَلَاغُ "

 “หน้าที่ของเจ้ามิใช่อื่นใดนอกจากการเผยแผ่เท่านั้น

(ซูเราะฮฺ อัช-ชูรอ 48)

          คุณสมบัติของนักดาอีย์ คือ การเรียกร้องด้วยวิธีการที่สุภาพนิ่มนวล ยึดหมั่นในเส้นทางสายกลางของทุกๆ ด้าน และหลีกห่างการสุดโต่ง และการหย่อนยานในศาสนา และอย่าได้เร่งรีบในการงาน แต่จงหวังความโปรดปรานของพระองค์

 

♦ มารยาทในการเชิญชวนไปสู่ศาสนาของพระองค์

 

          ศาสนาอิสลามเรียกร้องมนุษย์ทั้งหลายไปสู่การมีมารยาทที่ดีงามและละทิ้งจากอุปนิสัยที่ไม่ดี อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ตรัสไว้ในอัลกุรอานว่า

" لَقَدْ كَانَ لَكُمْ فِي رَسُولِ اللَّهِ أُسْوَةٌ حَسَنَةٌ لِمَنْ كَانَ يَرْجُو اللَّهَ وَالْيَوْمَ الآخِرَ وَذَكَرَ اللَّهَ كَثِيرًا "

          “แท้จริงแล้วในตัวของท่านรอซูลุลลอฮฺนั้น มีแบบอย่างที่ดีสำหรับผู้ที่หวัง (จะพบกับ) พระองค์อัลลอฮฺและวันอาคิเราะฮฺ และได้รำลึกถึงพระองค์อย่างมากมาย

(ซูเราะฮฺ อัล-อะฮฺซาบ)

และอัลลอฮฺ ตะอาลา ยังตรัสไว้ในอัลกุรอาน อีกว่า

" خُذِ الْعَفْوَ وَأْمُرْ بِالْعُرْفِ وَأَعْرِضْ عَنِ الْجَاهِلِينَ "

         “เจ้า (มุหัมมัด) จงยึดถือไว้ซึ่งการอภัย และจงใช้ให้ (ประชาชาติของเจ้า) ปฏิบัติในสิ่งที่ดี และจงหลีกห่างจากพวกเบาปัญญาทั้งหลาย

( ซูเราะฮฺ อัล-อะอฺรอฟ อายะฮฺที่ 199)

 

     จากอับดุลลอฮฺ บิน อัมร์ (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) ได้กล่าวว่า

" لَمْ يَكُنْ النبيُّ فَاحِشًا وَلاَ مُتَفَحِّشًا، وَقَالَ: قَالَ رَسُولُ اللَّهِ صَلَّى اللَّهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ: إِنَّ مِنْ أَخْيَرِكُمْ أَحْسَنَكُمْ خُلُقًا "

ท่านนบีไม่เคยเป็นคนหยาบช้า และไม่เคยเป็นคนที่พูดจาหยาบคาย

          และท่าน นบีกล่าวไว้ว่าแท้จริง ผู้ที่ดีที่สุดในหมู่สูเจ้า คือ ผู้ที่มีอุปนิสัยดีที่สุด

(บันทึกโดย บุคอรีย์และมุสลิม)

 

          มารยาทในอิสลาม คือ การรักษาสัญญา มีความชื่อสัตย์และยุติธรรม ไม่ฉ้อโกง บิดพลิ้ว โกหกหลอกลวงผู้อื่น ห้ามดื่มเหล้า และทำผิดประเวณี (ซินา)

 

          การเผยแผ่ศาสนาอิสลาม ต้องยืนหยัดอยู่บนทางสายกลาง อิสลามได้ดำรงการเผยแผ่และทำความเข้าใจด้วยกับความเป็นกลางอย่างที่สุด โดยเฉพาะในสภาวะของสังคมปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง ความสุดโต่งในหลักการศาสนาที่เลยเถิด และความเข้าใจผิดในเรื่องต่างๆ รวมถึงการสร้างความแตกแยกที่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ อย่างมากมาย ซึ่งมีให้เห็นจวบจนทุกวันนี้