พฤติกรรมที่ต้องห้าม
  จำนวนคนเข้าชม  5178


พฤติกรรมที่ต้องห้าม

 

ผศ. ดร. อับดุลเลาะ หนุ่มสุข

 

ซูเราะฮฺ อัล อิสรออฺ (บนีอิสรออีล)

 

 

(อายะฮฺที่ 31 – 39)

 

ความหมายของอายะฮฺ

 

อายะฮฺที่ 31

     “และพวกเจ้าอย่าฆ่าลูกๆ ของพวกเจ้า เพราะกลัวความยากจน เราให้ปัจจัยยังชีพแก่พวกเขาและแก่พวกเจ้าโดยเฉพาะ แท้จริงการฆ่าพวกเขานั้นเป็นความผิดอันร้ายแรง

 

อายะฮฺที่ 32

     “และพวกเจ้าอย่าเข้าใกล้การผิดประเวณี แท้จริงมันเป็นสิ่งลามก และทางชั่วช้า

 

อายะฮฺที่ 33

     “และพวกเจ้าอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ เว้นไว้แต่ด้วยสิทธิอันชอบธรรม และผู้ใดถูกฆ่าโดย ไม่เป็นธรรม ดังนั้น เราได้ให้อำนาจแก่ทายาทหรือผู้ปกครองของเขา (ที่จะดำเนินคดี) ฉะนั้นจงอย่าล่วงเกินขอบเขตในเรื่องการฆ่า แท้จริงเขา (ผู้ถูกอธรรม) จะได้รับการช่วยเหลือ

 

อายะฮฺที่ 34

     “และพวกเจ้าอย่าเข้าใกล้ทรัพย์สมบัติของเด็กกำพร้า เว้นแต่โดยวิธีที่ดียิ่ง จนกว่าเขาจะบรรลุ ความเป็นผู้ใหญ่ของเขา และจงปฏิบัติให้ครบตามสัญญา แท้จริงสัญญานั้นจะถูกสอบสวน

 

อายะฮฺที่ 35

     “และจงตวงให้เต็ม เมื่อพวกเจ้าตวง และจงชั่งด้วยตาชั่งที่เที่ยงตรง นั่นเป็นการดีและประเสริฐยิ่งในบั้นปลาย

 

อายะฮฺที่ 36

     “ทั้งหมดนั้น ความเลวของมันเป็นที่รังเกียจยิ่ง พระผู้อภิบาลของเจ้า

 

อายะฮฺที่ 37

     “และอย่าสัญจรบนแผ่นดินอย่างผู้ทะนง แท้จริงเจ้าไม่สามารถทำให้แผ่นดินแยก และเจ้าไม่สามารถยืดตนให้สูงเท่าภูเขาได้เลย

 

อายะฮฺที่ 38

     “ทั้งหมดนั้น ความเลวของมันเป็นที่รังเกียจยิ่ง พระผู้อภิบาลของเจ้า

 

อายะฮฺที่ 39

     “นั่นคือส่วนหนึ่งจากวิทยปัญญาที่พระผู้อภิบาลของเจ้าได้ทรงวะห์ยุแก่เจ้า และจงอย่าตั้งพระเจ้าอื่นใดมาเคียงคู่กับอัลลอฮฺ มิฉะนั้นเจ้าจะถูกโยนลงในนรก ในฐานะผู้ถูกประณาม ผู้ถูกขับไส

 

 

คำอธิบาย

 

          ซูเราะฮฺอัล อิสรออฺ หรือซูเราะฮฺบนีอิสรออีล อายะฮฺที่ 31 – 39 เน้นในเรื่องของสวัสดิภาพสังคม ครอบครัว การรักษาเกียรติของตนเองและผู้อื่น การรักษาสิทธิของเด็กกำพร้า การชั่งตวงที่ให้เป็นไปอย่างยุติธรรม รวมทั้งกำราบไม่ให้หยิ่งยโส ตลอดจนสั่งสอนให้มนุษย์ใส่ใจและใคร่ครวญเนื้อหาในอัลกุรอานให้ถ่องแท้ ไม่ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ ซึ่งเป็นการกระทำที่มีโทษหนักในอาคิเราะฮฺ

 

อายะฮฺที่ 31

     อิสลามห้ามฆ่าลูกเนื่องจากกลัวความยากจนหรือความละอาย ความยากจนไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว หรือเป็นอุปสรรคในการดำรงชีพ เพราะอัลลอฮฺเป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพแก่มนุษย์และบรรดาสิ่งที่มีชีวิตทั้งหลายในจักรวาล ดังนั้น การที่บิดามารดาฆ่าลูก เพราะกลัวความยากจนหรือความละอายนั้นเป็นความผิดบาปมหันต์

 

อายะฮฺที่ 32

     การผิดประเวณี (ซินา) นั้น เป็นเรื่องต้องห้ามตามกฎหมายอิสลาม เป็นการกระทำที่ชั่วช้าลามก ทำลายศีลธรรม ประเพณี ระบบครอบครัวและสร้างปัญหาสังคม อัลลอฮฺจะทรงลงโทษแก่ผู้ที่ทำผิดประเวณีอย่างรุนแรง

 

อายะฮฺที่ 33

     อัลลอฮฺทรงห้ามฆ่าชีวิตใดโดยไม่เป็นธรรม แต่ถ้าศาลได้พิสูจน์แล้วว่าฆาตกรมีความผิดจริงและ ถูกสั่งให้ประหารชีวิตตามบทบัญญัติกฎหมาย การฆ่าในกรณีนี้อิสลามถือว่าเป็นการฆ่าที่ชอบธรรม หากผู้ใดถูกฆ่าโดยไม่เป็นธรรม ทายาทหรือญาติผู้ตายมีสิทธิจะเรียกร้องความเป็นธรรมได้ และการฆ่าฆาตกรให้ตายตกตามไปนั้นจะต้องไม่เกินขอบเขต กล่าวคือ ไม่ใช่ไปฆ่าผิดตัวหรือไปฆ่าลูกหลานของเขาด้วย แท้จริงแล้ว อัลลอฮฺทรงช่วยเหลือผู้ได้รับความไม่เป็นธรรม

 

อายะฮฺที่ 34

     อิสลามเป็นระบบการดำเนินชีวิตที่สมบูรณ์ เป็นศาสนาที่ปลูกฝังศีลธรรมจรรยาอันดีงาม อิสลามให้ความคุ้มครองสิทธิแก่ทุกคน ห้ามโกงและทำลายทรัพย์สมบัติโดยเฉพาะทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของเด็กกำพร้าที่ยังไม่บรรลุศาสนภาวะ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สมบัติของเด็กกำพร้า หากมีการนำทรัพย์สมบัติเหล่านั้นไปลงทุนหรือดำเนินกิจการเพื่อเพิ่มพูนกำไรตามวิธีการของอิสลาม ก็เป็นสิ่งที่อนุมัติให้กระทำได้

     “และจงปฏิบัติให้ครบตามสัญญา แท้จริงสัญญานั้นจะถูกสอบสวนอายะฮฺนี้ อัลลอฮฺทรงสั่งให้มุสลิมระมัดระวังสัญญาต่างๆ เพราะการรักษาคำมั่นสัญญานั้นเป็นคุณสมบัติที่ดีในอัลกุรอาน ได้กล่าวเตือนและย้ำหลายครั้งให้ซื่อสัตย์และดำรงมั่นในสัญญา การไม่รักษาคำมั่นสัญญาถือเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ เพราะเป็นลักษณะของคนหน้าไหว้หลังหลอก (มุนาฟิก)

 

อายะฮฺที่ 35

     เรื่องการชั่ง ตวง วัด ให้ครบสมบูรณ์เป็นคำสอนที่อิสลามเน้นให้มนุษย์ปฏิบัติและให้หลีกเลี่ยง การคดโกงและหลอกลวงผู้อื่น เพราะเป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น ซึ่งทำให้ขาดความเชื่อถือและเป็นที่ น่ารังเกียจของสังคม

 

อายะฮฺที่ 36

     อิสลามสอนไม่ให้มนุษย์มองคนในแง่ร้าย ห้ามคิดและห้ามฟังในสิ่งที่ไม่ดีไม่งาม หรือสอดรู้สอดเห็นในเรื่องของผู้อื่น เพื่อจะเปิดเผยเรื่องส่วนตัวของเขาสู่สาธารณชน การฟัง การมองและการคิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจริงหรือเท็จ จะถูกสอบสวนในอาคิเราะฮฺ เพราะการกระทำดังกล่าวจะก่อให้เกิดปัญหาแก่ตนเองและสังคม

 

อายะฮฺที่ 37

     การแสดงกิริยาเย่อหยิ่งจองหอง เป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับคนที่หลงผิดคิดว่าตนเองเหนือกว่าบุคคลอื่น เป็นลักษณะที่น่ารังเกียจ ซึ่งอิสลามห้ามการกระทำดังกล่าวโดยเด็ดขาด เพราะไม่ว่าบุคคลนั้นจะทะนงตนสักเพียงใดก็ตาม เขาก็ไม่สามารถจะทำให้แผ่นดินแยกออกจากกันได้ และไม่สามารถยืดตนให้สูงทัดเทียมภูเขาได้

 

อายะฮฺที่ 39

     คำสอนที่ได้กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเป็นสัจธรรมที่ทุกคนต้องศึกษาใคร่ครวญและยึดถือปฏิบัติ และไม่นำสิ่งอื่นมาเป็นภาคีต่ออัลลอฮฺ ซึ่งต้องถูกลงโทษในอาคิเราะฮฺ โดยไม่ได้รับการอภัยโทษ

 

บทสรุป

 

     1. ห้ามฆ่าลูก เพราะกลัวยากจน อัลลอฮฺไดทรงยืนยันว่า พระองค์เป็นผู้ประทานปัจจัยยังชีพแก่ทุกชีวิตในโลกนี้ และการฆ่าลูกนั้นเป็นความผิดอย่างมหันต์

     2. ห้ามผิดประเวณีและสิ่งที่จะนำพาไปสู่การผิดประเวณี เพราะเป็นการผิดศีลธรรมและทำลายประเพณีอันดีงาม ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย

     3. ห้ามการฆ่าตัวตายและฆ่าผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม

     4. ลูกหลานหรือญาติผู้ใกล้ชิดของผู้ถูกฆ่าสามารถจะเรียกร้องความยุติธรรมจากกฎหมายของรัฐได้

     5. การฆ่าฆาตกรห้ามทำเกินขอบเขตที่ศาสนาบัญญัติไว้ การลงโทษฆาตกรหรือผู้กระทำผิด เป็นการชำระล้างมลทิน และเป็นการเตือนสติผู้อื่นไม่ให้กระทำเยี่ยงนั้นอีก ไม่ใช่ให้ฆ่าหรือลงโทษเพื่อล้างแค้น

     6. ห้ามทำลายหรือยักยอกทรัพย์สมบัติของเด็กกำพร้า แต่อนุญาตให้เพิ่มพูนทรัพย์นั้นให้มากยิ่งขึ้นตามกฎหมายที่อัลลอฮฺกำหนดไว้

     7. สำหรับผู้ที่รับผิดชอบดูแลทรัพย์สินและผลประโยชน์ต่างๆ ของเด็กกำพร้าเมื่อเขาบรรลุศาสนภาวะแล้วก็ให้มอบทรัพย์สมบัติของเด็กกำพร้าคืนให้เขาไป

     8. การรักษาคำมั่นสัญญา และการตรงต่อเวลา เป็นคุณสมบัติของมุสลิม

     9. การระมัดระวังเรื่องชั่ง ตวง วัด ให้สมบูรณ์ เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน เพราะผลประโยชน์จะกลับคืนไปสู่ผู้ปฏิบัติ

     10. ห้ามเปิดเผยความลับของผู้อื่น การนินทาเป็นสิ่งต้องห้ามโดยเด็ดขาด อีกทั้งเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจในสังคมเป็นอย่างยิ่ง

     11. การกระทำทุกอย่างจะถูกสอบสวนในอาคิเราะฮฺ

     12. ห้ามมุสลิมแสดงกิริยาเย่อหยิ่งจองหองหรือยกตนข่มท่าน

     13. ผู้ตั้งภาคีต่ออัลลอฮฺ จะได้รับโทษอย่างรุนแรงในอาคิเราะฮฺ

 

 

ที่มา : วารสารมุสลิม กทม.