ผู้หญิงแต่งงานโดยไม่มีวะลีย์ !
  จำนวนคนเข้าชม  13928


ผู้หญิงแต่งงานโดยไม่มีวะลีย์ !

 

เรียบเรียงโดย อิสมาอีล กอเซ็ม

 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก 

 

          การแต่งงานคือซุนนะห์อย่างหนึ่งที่อัลลอฮฺได้กำหนดให้เป็นเรื่องศาสนาที่มีบทบัญญัติจากอัลลอฮฺซุบหานาฮูวาตาอาลา และบรรดานบีและประชาชาติของท่านได้ดำเนินตามแบบอย่างนี้ตลอดมา อิสลามได้ส่งเสริมให้มีการแต่งงานซึ่งเป้าหมายมากมายที่จะเกิดขึ้นจากการแต่งงานตามบทบัญญัติของอิสลาม แต่ที่จะขอกล่าวถึง การที่ผู้หญิงแต่งงานโดยไม่มีวะลีย์ในการนิกาฮฺนั้นจะมีฮุกุมทางศาสนาอย่างไร ?

 

สำหรับวะลีย์ของผู้หญิงในการนิกาฮฺ 

 

          บุคคลที่สมควรเป็นวะลีย์ในการแต่งงานแก่ผู้หญิงมากที่สุด คือบิดาของนาง หลังจากนั้นก็คือปู่ของนาง และไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นบุตรชายของนาง หลังจากนั้นหลานชาย และไล่ลงไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นพี่ชายน้องชายพ่อแม่เดียวกัน และพี่ชายน้องชายต่างมารดา และไล่ลงไปเรื่อยๆ หลังจากนั้นก็คือลุง และคนที่ใกล้ชิดทางสายเลือดในการรับมรดกที่เหลือร่วมกัน 

 

          สำหรับประเด็นในการแต่งงานโดยไม่มีวะลีย์นั้นเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งในสังคมมุสลิม อาจจะเกิดจากหลายปัจจัย บางครั้งฝ่ายชายกลัวว่าเวลาไปสู่ขอวะลีย์ฝ่ายผู้หญิงอาจจะไม่ตอบรับการสู่ขอ หรือบางครั้งด้วยกับมะฮัรที่แพงจนฝ่ายชายไม่สามารถหามาได้ หรือบางครั้งอาจจะไม่รู้ฮุกุม ในประเด็นนี้นักวิชาการมีความเห็นแตกต่างกันออกไป 

 

     ประการแรก ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงทำการแต่งงานด้วยตัวเอง โดยไม่มีวะลีย์ เนื่องจากมีหะดีษที่ถูกต้องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะซัลลัม แท้จริงท่านนบีได้กล่าวว่า

لا نكاح إلا بولي " .

ไม่ถือว่าเป็นการนิกาฮฺ นอกจากจะต้องมีวะลีย์

 

 บันทึกโดย อบีดาวูด หมายเลขหะดีษ (2085) และท่านเชคอัลบานีย์ถือว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้อง ในหนังสือ อิรวาอุลอะลีล (1893)

 

เนื่องจากคำพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม 

" أيما امرأة نكحت بغير إذن وليها فنكاحها باطل فنكاحها باطل ، فنكاحها باطل

     “ผู้หญิงคนใดได้ทำการนิกาฮฺโดยไม่ได้รับการยินยอมจากวะลีย์ ดังนั้นการนิกาฮฺของนางใช้ไม่ได้ ดังนั้นการนิกาฮฺของนางใช้ไม่ได้ ดังนั้นการนิกาฮฺของนางใช้ไม่ได้

 

รายงานโดย อิหม่ามอะหมัด หมายเลขหะดีษ (24418) อบูดาวูด (2083) อัตติรมีซีย์ (1102) ท่านเชคอัลบานีย์ถือว่าเป็นหะดีษที่ถูกต้อง 

 

     ในหนังสือ ซอเอียะ อบีดาวุด ไม่มีการแบ่งแยกในเรื่องดังกล่าวระหว่างหญิงสาวโสด หรือหญิงหม้าย เนื่องจากคำพูดของท่านนบี ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะซัลลัมไม่มีการนิกาฮฺนอกจากจะต้องมีวะลีย์"

 

จากฟาตาวาเชค อิบนูบาส 21/39

 

          จากความเห็นของนักวิชาการส่วนมากถือว่าการนิกาฮฺโดยไม่มีวะลีย์ ใช้ไม่ได้ด้วยกับหลักฐานมากมายจากอัลหะดีษ แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นซินาสำหรับผู้ที่ไปนิกาฮฺโดยไม่มีวะลีย์ เพราะอาจจะเกิดจากความคลุมเครือในการเข้าใจหลักฐาน 

 

          ดังนั้นหญิงคนใดที่นางได้แต่งงานโดยไม่มีวะลีย์ การนิกาฮฺของนางนั้น บาติล(ใช้ไม่ได้) ตามความเห็นของนักวิชาการส่วนมาก และจำเป็นต้องนิกาฮฺใหม่ระหว่างวะลีย์และสามี และจะต้องมีพยานสองคนที่เป็นคนน่าเชื่อถือ แต่ไม่มีการลงโทษผู้หญิงที่นิกาฮฺด้วยกับตัวเอง ด้วยกับการลงโทษแก่ผู้ที่ทำซินา เพื่อให้เห็นว่าเป็นประเด็นความขัดแย้งของบรรดานักวิชาการฟิกฮฺของฮานาฟีย์ ที่พวกเขาถือว่าการนิกาฮฺโดยไม่มีวะลีย์ถูกต้อง 

 

     ประการที่สอง เป็นความเห็นของอบีฮานีฟะฮฺ รอฮิมาอุลลอฮฺ โดยยึดหลักฐานจากอัลกุรอ่านอายะห์ที่ว่า 

 

وَإِذَا طَلَّقْتُمُ النِّسَاءَ فَبَلَغْنَ أَجَلَهُنَّ فَأَمْسِكُوهُنَّ بِمَعْرُوفٍ أَوْ سَرِّحُوهُنَّ بِمَعْرُوفٍ ۚ وَلَا تُمْسِكُوهُنَّ ضِرَارًا لِّتَعْتَدُوا ۚ وَمَن يَفْعَلْ ذَٰلِكَ فَقَدْ ظَلَمَ نَفْسَهُ ۚ وَلَا تَتَّخِذُوا آيَاتِ اللَّهِ هُزُوًا ۚ وَاذْكُرُوا نِعْمَتَ اللَّهِ عَلَيْكُمْ وَمَا أَنزَلَ عَلَيْكُم مِّنَ الْكِتَابِ وَالْحِكْمَةِ يَعِظُكُم بِهِ ۚ وَاتَّقُوا اللَّهَ وَاعْلَمُوا أَنَّ اللَّهَ بِكُلِّ شَيْءٍ عَلِيمٌ ( 231 ) 

 

          “และเมื่อพวกเจ้าหย่าบรรดาหญิง แล้วพวกนางถึงกำหนดเวลา ของพวกนางแล้ว ก็จงยับยั้งนางไว้โดยชอบธรรม หรือไม่ก็จงปล่อยนางไปโดยชอบธรรม และพวกเจ้าจงอย่ายับยั้งพวกนางไว้โดยมุ่งก่อความเดือดร้อน เพื่อพวกเจ้าจะได้ข่มเหงรังแก และผู้ใดกระทำเช่นนั้น แน่นอนเขาก็ข่มเหงตนเอง

         และจงอย่าถือเอาโองการของอัลลอฮ์เป็นที่เย้ยหยัน และพึงรำลึกถึงความเมตตาของอัลลอฮ์ที่มีแก่พวกเจ้า และสิ่งที่พระองค์ได้ประทานลงมาแก่พวกเจ้า อันได้แก่คัมภีร์ และบทบัญญัติ(ที่มีอยู่ในคัมภีร์นั้น) ซึ่งพระองค์จะทรงใช้คัมภีร์นั้นแนะนำตักเตือนพวกเจ้า และพวกเจ้าพึงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และจงรู้ด้วยเถิดว่า แท้จริงอัลลอฮ์นั้นทรงรอบรู้ในทุกสิ่งทุกอย่าง

 

คำดำรัสของอัลลอฮฺ

حَتَّىٰ تَنكِحَ زَوْجًا غَيْرَهُ ۗ

จนกว่าจะแต่งงานกับสามีอื่นจากเขา

 

فَلَا جُنَاحَ عَلَيْكُمْ فِيمَا فَعَلْنَ فِي أَنفُسِهِنَّ بِالْمَعْرُوفِ ۗ 

ก็ไม่มีบาปใด แก่พวกเจ้า ในสิ่งที่พวกนางได้กระทำไปในส่วนตัวของพวกนางโดยชอบธรรม

 

     อายะห์นี้ท่านอิหม่ามอบูฮานีฟะฮฺรอฮิมาอุลลอฮฺ ถือว่าเป็นการสนทนากับผู้หญิง ไม่ใช่วะลีย์ผู้ปกครองของผู้หญิง จึงเป็นสิทธิ์ของผู้หญิงที่นางสามารถแต่งงานด้วยตัวของนางเองโดยไม่ต้องขออนุญาติผู้ปกครองของนาง

 

          สรุปที่ถูกต้องแล้ว การแต่งงานนั้นผู้หญิงต้องใช้วะลีย์เป็นผู้ปกครองของนาง ด้วยกับหลักฐานจากหะดีษที่ถูกต้อง และเหตุผลหลายๆประการ เช่น ผู้ปกครองได้ช่วยเลือกคู่ครองในการตัดสินใจ และการบอกผู้ปกครองจะนำมาซึ่งผลดีหลายๆประการ เช่นความสบายใจของทุกคนในครอบครัว แต่ผู้ปกครองก็ต้องส่งเสริมจัดการแต่งงานให้กับผู้หญิง หากมีคนดีที่ยึดมั่นในศาสนามาสู่ขออย่าได้ห้ามนางในการแต่งงาน เพราะบางทีการห้ามนางในการแต่งงานอาจจะทำให้เกิดผลเสียเกิดขึ้นอย่างมากมาย เช่น นางอาจจะไม่ได้แต่งงาน หรืออาจจะได้แต่งงานด้วยกับคนที่ไม่ดี และอีกมากมายจากผลเสียที่จะตามมา