การบรรเทาทุกข์
  จำนวนคนเข้าชม  3618


การบรรเทาทุกข์

 

โดย อาจารย์อัสวัด เลาะเฮาะ 

 

          ขอความรัก ความเมตตา จากเอกองค์ อัลลอฮ์ ซุบฮานาฮูว่าตาอาลา จงประสพแด่พี่น้องศรัทธาชนที่รักทุกท่าน ก่อนอื่นข้าพเจ้าใคร่ขอตักเตือนตัวข้าพเจ้าเอง และพี่น้องศรัทธาชนให้ตั้งมั่นอยู่ในความยำเกรง ต่อ อัลลอฮ์ ซุบฮานาฮูว่าตาอาลา ตลอดทั้งเช้าจรดเย็น ทั้งยามเป็นจนวันตาย โดยประพฤติปฏิบัติตนให้ระมัดระวังในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ และละเว้น ออกห่างในสิ่งที่พระองค์ทรงห้ามไว้ 

 

          พี่น้องที่รักทุกท่าน ศาสนาของ อัลลอฮ์ ซุบฮานาฮูว่าตาอาลา ได้ขจรขจายทั่วทุกมุมโลกดังที่เห็นในปัจจุบัน ซึ่งเราต่างรู้ดีว่ามีปัจจัยหลายๆปัจจัยในการเติบใหญ่ของอิสลาม แต่สิ่งที่เป็นประจักษ์สายตานั้นคือ คุณธรรม ที่ทำให้อิสลามเป็นที่รู้จักในหน้าประชาคมโลก อัลลอฮ์ ซุบฮานาฮูว่าตาอาลา ได้แต่งตั้งท่าน ร่อซูลุ้ลลอฮ มาประกาศศาสนาให้กับพวกเรา และได้สร้างต้นแบบอะไรต่อมิอะไรไว้มากมาย ในการสร้างอุปถัมภ์ อุมมะห์ ประชาชาติให้อยู่เย็นเป็นสุขทั้งในดุนยาและอาคีเราะห์ เรียกได้ว่าทำให้พวกเราเป็นบ่าวที่ดีทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

 

          พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพ อีกปัจจัยหนึ่งที่เป็นคุณธรรมพยุงสังคมอิสลาม นั้นก็คือ การบริจาคทาน คำว่า ซอดาเกาะห์ ตามความหมาย ซึ่งหลายท่านก็เข้าใจกันอยู่ แต่คำว่า ซอดาเกาะห์ ในความหมายของอิสลามการทำซอดาเกาะห์ นั้นเป็นที่รู้จักกันดีอยู่แล้ว ว่าสิ่งนั้นคือ สิ่งที่ได้บริจาคไปนั้นต่อผู้ที่มีความจำเป็น ต้องการเพื่อจะเติมเต็ม เพื่อให้ได้ใกล้ชิด อัลลอฮ์ ซุบฮานาฮูว่าตาอาลา และเพื่อแสวงหาความยินดี หรือเพื่อแสวงหาผลบุญจาก อัลลอฮ์ ซุบฮานาฮูว่าตาอาลา

 

          พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพ การทำ ซอดาเกาะห์ มีหลากหลายรูปแบบต่างๆนาๆกันไป ซึ่งบรรดานักวิชาการได้พยายามไล่เรียง จัดแบ่งประเภทต่างๆของมันไว้ ประเภทใหญ่ๆ ได้แก่

 

   ประเภทที่ . الصدقات المادية คือการ ซอดาเกาะห์ ประเภทวัตถุ ซึ่งครอบคลุม การหยิบยื่น ทรัพย์สิน ข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หรือกระทั่ง แพะ แกะ วัว ควาย

 

   ประเภทที่ الصدقات المعنوية คือการ ซอดาเกาะห์ แบบนามธรรม หมายถึง การกระทำที่สร้างความดีที่ตกกระทบกับผู้อื่น เช่น การยิ้มแย้มให้ การพูดที่ดี การมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน

 

   ประเภทที่ الصدقات الجارية การทำ ซอดาเกาะห์ ที่เป็นสาธารณะกุศล มีความจีรังยั่งยืน แม้ว่าผู้บริจาคเองจะสิ้นลมไปแล้วก็ตาม นั้นหมายความว่า อาคารมัสยิด โรงเรียน หรือการให้วิชาความรู้ สอนหนังสือ หรือการตั้งถังน้ำดื่มให้กับคนสัญจรได้ดื่ม เป็นต้น

 

          พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรัก อัลลอฮ์ ซุบฮานาฮูว่าตาอาลา ส่งเสริมให้พวกเราอุปถัมภ์ สงเคราะห์ให้การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยพระองค์ได้มีพระดำรัส ในวรรคหนึ่งว่า

 

مَثَلُ الَّذِينَ يُنْفِقُونَ أَمْوَالَهُمْ فِي سَبِيلِ اللَّهِ كَمَثَلِ حَبَّةٍ أَنْبَتَتْ سَبْعَ سَنَابِلَ فِي كُلِّ سُنْبُلَةٍ مِائَةُ حَبَّةٍ وَاللَّهُ يُضَاعِفُ لِمَنْ يَشَاءُ وَاللَّهُ وَاسِعٌ عَلِيمٌ (سورة البقرة 261)

 

     “อุปมาบรรดาผู้ที่ใช้จ่ายทรัพย์สินของพวกเขาไปในทางของ อัลลอฮ์ อุปมัยดุจเดียวกับเมล็ดพืชหนึ่งที่มันงอกออกมาเป็น รวง ในแต่ละรวงนั้นมีถึง ๑๐๐ เมล็ด และอัลลอฮ์ จะทรงทวีกุศลแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และ อัลลอฮ์ ทรงไพศาล และอีกทั้งยังทรงรอบรู้ยิ่ง

 

          พี่น้องที่เคารพรัก มีส่วนหนึ่งจากประวัติของเหล่าอัครสาวกของท่าน ร่อซูลุ้ลลอฮ ซึ่งถือว่าเป็นแบบอย่างที่ทรงคุณค่า และงดงามอย่างมาก ในเรื่องการตอบรับกระแสรับสั่ง ในอายะห์อัลกรุอ่าน ที่ผ่านมา และอีกหลายอายะห์ ที่ส่งเสริมในการทำซอดาเกาะห์ รวมถึงบรรดาฮาดีษอันทรงเกียรติ ซึ่งผลักดันในการทำซอดาเกาะห์ 

 

          ได้มีรายงานจากท่าน อุมัร อิบนุ ค็อตต็อบ ได้เล่าว่า ท่าน ร่อซูลุ้ลลอฮ ได้สั่งใช้ให้พวกเรานั้นทำ ซอดาเกาะห์ ฉะนั้น สิ่งดังกล่าว ได้ตรงใจกับมันในการบริจาคทรัพย์ ทันใดนั้นเอง 

     ฉันได้พูดว่า วันนี้แหละฉันจะเอาชนะ อบูบักรฺ หากจะเอาชนะได้สักวันหนึ่ง โดยท่านอุมัร ได้เล่าว่า ฉันได้นำทรัพย์ครึ่งหนึ่งจากทั้งหมดมา 

     ท่านร่อซูลุลลอฮ กล่าวถามฉันว่า ท่านได้เหลืออะไรให้ครอบครัวของท่านบ้าง ฉันกล่าวตอบพระองค์ว่า ทรัพย์สินที่เหลือไว้เท่ากันกับจำนวนนี้แหละ 

     ต่อมาท่าน อบูบักรฺ ได้นำทรัพย์สินทั้งหมดมาให้แก่ท่าน ร่อซูลุลลอฮ  

     ท่านร่อซู้ลลุลอฮ์ กล่าวถาม เป็นคำถามเดียวกันกับท่าน อุมัร 

     ท่านอบูบักรฺ ได้ตอบกับว่า ฉันได้เหลือ อัลลอฮ์ และ รอซูล ของพระองค์ให้กับพวกเขา 

     ท่านอุมัร ได้กล่าวว่า ขอสาบานต่อ อัลลอฮ์ ซุบฮานาฮูว่าตาอาลา ฉันมิอาจเอาชนะเขาได้เลยสักเรื่องเดียว

 

          พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรัก การทำ ซอดาเกาะห์ มันคือการบรรเทาทุกข์ ความเดือดร้อนเจ็บปวดเนื่องจากความจน ซึ่งประโยชน์ในการทำ ซอดาเกาะห์ ก็จะยังไปถึงพวกเขา และในความเป็นจริงแล้ว มันยังประโยชน์ทั้งผู้ให้และผู้รับด้วย ซึ่งบรรดานักวิชาการได้จัดลำดับของการทำ ซอดาเกาะห์ ไว้ ดังนี้

พระองค์ อัลลอฮ์ ซุบฮานาฮูว่าตาอาลา จะตอบแทนในการทำ ซอดาเกาะห์ ๑๐ เท่าทวี แก่ผู้ทำทาน

การทำ ซอดาเกาะห์ จะลบล้างความผิดบาปต่างๆให้หลุดล่วงไป

การทำ ซอดาเกาะห์ มันจะปกป้อง ศักดิ์ศรี และเกียรติยศ แก่ผู้ให้

การทำ ซอดาเกาะห์ สามารถดับเพลิงการพิโรธของอัลลอฮ์

การทำ ซอดาเกาะห์ จะเป็นร่มเงาให้เจ้าของมันในวัน อาคีเราะห์

การทำ ซอดาเกาะห์ จะปกป้องนายของมัน จากนรกภูมิ

การทำ ซอดาเกาะห์ เป็นโอสถ เยียวยาผู้ป่วย โดยที่มันสามารถยับยั้งการประสพกับโรคภัยต่างๆ

เหล่า มะลาอิกะห์ จะวิงวอน ภาวนา ขอความดีงามต่างๆ ให้กับผู้ที่ทำทานบริจาค

 

     สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ได้รับกับผู้บริจาคทาน และในส่วนของประโยชน์อื่นที่เป็นมิติทางสังคมโดยรวม พอที่จะมองได้ ดังนี้

. การขจัดความยากจนในสังคม ซึ่งเป็นบ่อเกิดนำพาไปสู่การสร้างสังคมสีขาว ปราศจากอาชญากรรม

. จิตวิญญาณของความรัก การช่วยเหลือ ย่อมเกิดขึ้นในเหล่าสมาชิกภายในสังคม

. ลดความรู้สึก ต้องการละเมิด ประทุษร้ายผู้อื่น

. มีการอำนวย ในการสร้างสังคม ในสภาวะของการทำซอดาเกาะห์

 

          คุณประโยชน์ของการทำ ซอดาเกาะห์ ตามที่เราได้เห็นนั้น แค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ยังมีอีกหลายประการที่ไม่อาจคณานับได้ การทำ ซอดาเกาะห์ ส่วนหนึ่งที่เราเห็นว่ามีความต้องการอย่างมาก ก็คือ ในขณะที่มีการเสียชีวิต วายิบ ต้องมีการจัดเตรียมศพ (تجهيز الميت) ซึ่งหลายๆครอบครัว ส่วนใหญ่จะยากจน ซึ่งภาระหน้าที่ตรงนี้ ก็ต้องวอนขอจากสังคม หันมาดู มาช่วยเหลือ และเป็นโอกาสสร้างกุศลให้พวกเรา เพื่อที่เราจะได้ช่วยเหลือ เยียวยาบ้านของเราให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข อีกทั้งเงินบริจาคที่ได้มานั้น แม้เพียงเล็กน้อย แต่มีค่ามากสำหรับคนยากจน ซึ่งบางทีผู้ที่ตายอาจเป็นหัวหน้าครอบครัว ทิ้งลูกที่ยังเล็กๆไว้ ดังนั้นการบริจาคเงินทอง ทรัพย์สินของท่าน อาจจะช่วยอุปถัมภ์ทายาทให้เติบโตและสร้างชีวิตของเขาได้ เราอย่ามองมันเป็นภาระของผู้อื่น แต่ขอให้เรามองว่า มันเป็นภาระของความเป็นพี่น้อง เพราะถ้าเรามองอย่างนี้ เมื่อเราตกยาก พี่น้องของเราก็จะมองภาระนี้เป็นภาระของเขาเช่นกัน

 

 

คุตบะฮ์ มัสยิดท่าอิฐ