ความดีที่สมบูรณ์
  จำนวนคนเข้าชม  3433


ความดีที่สมบูรณ์

โดย อาจารย์ มูฮัมมัด แสงเราะหมัด 

 

 

           ท่านพี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทุกท่าน ขอย้ำเตือนพวกเราทั้งหลายในจุดยืนของเรา จุดยืนของผู้ศรัทธา ที่จะต้องยืนหยัดอยู่บนฐานแห่งการยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริง ที่เรานั้นจำเป็นต้องประพฤติปฏิบัติในสิ่งพระบัญชาใช้ของพระองค์อัลลอฮ์ อย่างเต็มความสามารถ ขณะเดียวกันต้องยับยั้ง ยุติ ไม่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เป็นพระบัญชาห้ามของพระองค์ 

 

          ท่านพี่น้องที่เคารพรัก เราคงไม่ปฏิเสธว่าที่พวกเราท่านทั้งหลายได้เกิดขึ้นมาบนโลกดุนยาใบนี้นั้น เกิดขึ้นมาเป็นไปตามพระประสงค์ของพระองค์อัลลอฮฺ พระองค์เป็นผู้ทรงกำหนดที่จะให้มนุษย์ ได้มาทำหน้าที่ในการเป็นตัวแทนของพระองค์บนหน้าผืนแผ่นดิน มีตำแหน่งเป็น ค่อลีฟะตุ้ลลอห์ กันทุกคน เป็นผู้แทน เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนั้นหน้าที่ของเราทุกคน จึงเป็นผู้ที่ทำหน้าที่ดำรงชีวิตให้เป็นไปตามแนวทางที่พระองค์ทรงกำหนดเอาไว้ เราเป็นตัวแทนก็ต้องทำในฐานะตัวแทน ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของสิทธิ์ที่แท้จริง มีพระประสงค์อย่างไร? เราก็ต้องทำหน้าที่ไปตามนั้น เราไม่มีหน้าที่ที่จะมาคิดมาประดิษฐ์ในแนวทางอื่น 

 

          ในฐานะที่เราเป็นตัวแทนนี้ มีหน้าที่ปฏิบัติให้เป็นไปตามพระบัญญัติของพระองค์ ปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมให้มากที่สุด เท่าที่จะสามารถทำได้ มีโองการในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน หลายๆ โองการได้แจกแจงหน้าที่ของเรา ในเรื่องอามั้ล การทำงานไม่ให้อยู่เฉยๆ มีภาคปฏิบัติที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของพระองค์ พระองค์จะทรงทดสอบดูว่าใครจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตัวแทนของพระองค์ ได้อย่างดีที่สุด หน้าที่ของเราคือทำการงานที่ดีจำเป็นที่เราจะต้องทำความเข้าใจเรื่องการปฏิบัติให้เป็นอย่างดี ว่าเราจะต้องทำในลักษณะใด จึงจะเป็นการงานที่พระองค์ทรงตอบรับ จึงจะเป็นการงานที่มักบู้ล (مقبول) เป็นที่ตอบรับ ไม่ใช่ถูกปฏิเสธ 

 

          ท่านพี่น้องที่เคารพ ในตำรา เอียะห์ยาอฺอูลูมิดดีน (احياءعلوم الدين)ท่านอิหม่าม อัลฆอซาลี ร่อฮิม่าฮู้ลลอห์ ได้พูดถึงเรื่อง การงานที่เราพึงปฏิบัติแล้วได้รับการตอบรับจากพระองค์อัลลอฮฺ ในตำราเล่มนี้ได้บอกว่า การปฏิบัติ อามั้ล ของมนุษย์นั้น จะไม่มีความสมบูรณ์ เว้นแต่จะต้องประกอบด้วย สิ่งสามประการ ดังต่อไปนี้

 

     ♦ 1. ทุกๆครั้งที่ทำ อามั้ล นั้นจะต้องมีความรู้สึก อิสติสฆอรู่ฮู ( استصغاره ) คือ จะต้องคิดว่า การงานที่ทำนั้นมีจำนวนน้อยนิดเหลือเกิน เมื่อเทียบกับวันเวลา ที่พระองค์ประทานให้เรา เมื่อเทียบกับ เนียะมัต ที่พระองค์ประทานให้เราในชีวิตเรา โดยเฉพาะสวรรค์ที่พระองค์ประทานให้เรา ความรู้สึกนี้จะเป็นตัวผลักดันให้เราทำสิ่งดีให้มากขึ้น สมกับรางวัลที่พระองค์ประทานให้ เพื่อที่เราจะได้ไม่หลงตัวเอง คนที่คิดว่าตัวเองได้ทำ อามั้ล มากมายเหลือเกินนั้น จะเกิดอาการ อุยุบ (عجب) เกิดความรู้สึก คิดว่าตัวทำมากแล้ว มากกว่าใครๆทั้งหมด ซึ่งเป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง พึงตระหนักอยู่เสมอว่า ทุกๆครั้งที่ทำความดีนั้นจะต้องมีความรู้สึก ว่ามีจำนวนน้อยนิดเหลือเกิน

 

     ♦ 2. จะต้องมี อิสเตี้ยะญาลู่ฮู ( استعجاله ) คือจะต้องรีบเร่งในการทำ ไม่มีการผลัดวัน ประกันพรุ่ง ทำทันทีเมื่อถึงเวลา เมื่อมีความพร้อม เมื่อมีคุณสมบัติครบตามที่ศาสนากำหนด ละหมาดเมื่อถึงเวลาเข้าละหมาด ให้ตระหนักถึงเวลาข้างหน้า เราจะยังคงมีชีวิตอยู่หรือไม่? เรื่องความตายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ไม่มีผู้ใดรู้ล่วงหน้า ฉะนั้นให้เราทำ อามั้ล ทันทีเมื่อถึงเวลา เมื่อมีความพร้อม เมื่อมีคุณสมบัติครบตามที่ศาสนากำหนด สิ่งนี้เป็นตัวสะท้อนถึง อิหม่านของเราในการกระตือรือร้นในการปฏิบัติของเรา มีโองการในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน บอกว่า

 

وَسَارِعُوا إِلَىٰ مَغْفِرَةٍ مِّن رَّبِّكُمْ وَجَنَّةٍ عَرْضُهَا السَّمَاوَاتُ وَالْأَرْضُ أُعِدَّتْ لِلْمُتَّقِينَ

 

พวกท่านทั้งหลาย จงรีบเร่งในการที่จะได้รับการอภัยโทษจากพระองค์อัลลอฮฺ ให้เร็วที่สุด

 

           คือการ เตาบัต การอิสติฆฟ้าร ทำคุณงามความดี เพื่อรีบเร่งสู่สวนสวรรค์ มีการ ตออัต จงรักภัคดีต่อพระองค์อัลลอฮฺ และปฏิบัติตามท่านนบีมูฮัมมัด ร่อซูลุ้ลลอฮ ของเรา โดยไม่ฝ่าฝืนใดๆเลย สวรรค์ที่มีความกว้างขวาง มีความวิจิตรตระการตานั้น ทุกคนมีความปรารถนา ที่ซึ่งพระองค์อัลลอฮฺ  ได้เตรียมไว้แล้วสำหรับผู้ศรัทธาทุกคน 

 

          ท่านพี่น้องที่เคารพ สวรรค์ของพระองค์อัลลอฮฺ นั้นประเมินค่ามิได้ ฉะนั้นการงานที่ทำไว้ของเราเพื่อหวังสิ่งตอบแทนนี้ มันคู่ควรหรือ? นอกจากความเมตตาของพระองค์ เป็นเพราะความโปรดปรานของพระองค์ ท่านนบีมูฮัมมัด ร่อซูลุ้ลลอฮ ของเราได้บอกว่า

 

لَنْ يَدْخُلَ الجَنَّةَ أَحَدٌمِنْكُمْ بِعَمَلُهُ ، قَالُوا: وَلاَ أَنْتَ يَا رَسُولَ اللَّهِ؟ قَالَ: "لا، وَلا أَنَا، إِلَّا أَنْ يَتَغَمَّدَنِي اللَّهُ بِفَضْلٍ مِنْهُ وَرَحْمَةٍ

 

     “ไม่มีคนหนึ่งคนใดจากพวกเจ้าที่จะได้เข้าสวรรค์ด้วยกับอามั้ลที่เขาปฏิบัติ

     ซอฮาบะห์ สงสัยว่าเป็นไปตามนี้รวมทั้งตัวของท่านนบี ﷺ ด้วยหรือ

    ท่านนบี ﷺ บอกว่า ใช่ เว้นแต่เหตุที่ท่านได้เข้าสวรรค์ด้วยกับสาเหตุที่ว่าพระองค์อัลลอฮฺ นั้นได้หลั่งพระเมตตา ความโปรดปรานมาให้เท่านั้น

 

     ♦ 3. อิสติสตารู่ฮู (استستاره) ต้องปกปิดเป็นความลับในการปฏิบัติความดีของเรา มันเป็นเรื่องระหว่างตัวเรากับพระองค์อัลลอฮฺ เท่านั้น พระองค์ทรงรู้ พระองค์ทรงเห็น พระองค์ทรงเป็นสักขีพยานเป็นการเพียงพอแล้ว เป็นการปฏิบัติความดีที่ อิคลาศ ที่บริสุทธิ์ใจ 

 

          อิสลามสอนเรื่องการทำ ซอดาเกาะห์ การบริจาคด้วยมือขวาจ่ายออกไป โดยไม่ให้มือซ้ายรับรู้การบริจาคของเราว่าบริจาคให้ผู้ใด? เป็นจำนวนเท่าใด? ข้อสังเกต พึงสังวรเรื่อง Social Network อย่าได้พยายาม post เรื่อง อามั้ล ของเรา พระองค์อัลลอฮฺ เท่านั้นที่รับรู้ อามั้ล ของเรา ไม่ต้องให้มนุษย์บนโลกนี้รู้ 

 

          ท่าน นบีมูฮัมมัด ร่อซูลุ้ลลอฮ ของเราท่านกลัวคนข้างๆของท่านจะรู้การปฏิบัติอามั้ลของท่าน กลัวการรี่ยาอฺ(رياء)การโอ้อวด

 

فَمَن كَانَ يَرْجُو لِقَاءَ رَبِّهِ فَلْيَعْمَلْ عَمَلًا صَالِحًا وَلَا يُشْرِكْ بِعِبَادَةِ رَبِّهِ أَحَدًا

 

     “ผู้ใดปรารถนาที่จะได้รับความเมตตา ได้รับสวรรค์ ได้รับการตอบแทนจากพระองค์อัลลอฮฺ (ในวันกิยามะห์) เขาจงปฏิบัติ อามั้ล ที่ดี อามั้ล ที่ ซอและห์ โดยไม่เอาผู้ใด(หรือสิ่งใด)มาเป็นหุ้นส่วน มาเป็นภาคีใน(อามั้ล)อิบาดะห์ของเขาอย่างเด็ดขาด

 

          ทั้งสามประการข้างต้นนี้ ใคร่ขอฝากท่านทั้งหลายได้ทบทวน เพื่อที่การปฏิบัติ อามั้ล ของเรา จะได้สมบูรณ์แบบ ได้รับการตอบแทนจากพระองค์อัลลอฮฺ ในวัน กิยามะห์ ด้วยเถิด อินชาอัลลอฮฺ  

 

 

คุตบะห์วันศุกร์ มัสยิดท่าอิฐ