การคิดดีต่ออัลลอฮฺ
  จำนวนคนเข้าชม  10572


การคิดดีต่ออัลลอฮฺ

 

อุมมุอุ้ลยา แปลและเรียบเรียง

 

ส่วนหนึ่งจากคุตบะฮฺมัสยิดอันนะบะวีย์ โดยเชคอับดุลมุฮซิน บิน มุฮัมมัด อัลกอซิม ฮะฟิศ่อฮุ้ลลอฮฺ

 

           พี่น้องมุสลิมที่รัก  การให้เอกภาพแด่อัลลอฮฺ (อัตเตาฮีด) ถือเป็นสิทธิของพระองค์ที่พึงได้รับจากปวงบ่าวของพระองค์ และเนื่องเพราะอัตเตาฮีดนี้เองที่อัลลอฮฺ ตะอาลา ได้ทรงส่งบรรดาร่อซู้ลของพระองค์มา และทรงประทานคัมภีร์ของพระองค์ลงมา และแก่นแท้ของอัตเตาฮีดนั้น หมายถึง
การให้อัลลอฮฺ ตะอาลา เป็นผู้เดียวในการได้รับการเคารพภักดี  ซึ่งการเคารพภักดี  (อิบาดะฮฺ) นี้ หมายถึง คำนามที่ประมวลไว้ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่พระองค์ทรงพอพระทัย ทั้งจากคำพูดและการกระทำ ทั้งที่เปิดเผยและซ่อนเร้น

            สำหรับหัวใจแล้ว มีการทำอิบาดะฮฺที่จำเพาะเจาะจง ยิ่งใหญ่ มากมายและถาวรกว่าอิบาดะฮฺจากร่างกาย ศาสนาจะดำรงอยู่ได้ด้วยหัวใจที่มีศรัทธา ส่วนการปฏิบัติอื่นๆ นั้นเป็นสิ่งเสริมเติมเต็มให้สมบูรณ์ ซึ่งการงานจะไม่นับว่าดีงามและถูกตอบรับ นอกจากจะมาจากหัวใจที่ดี การงานของหัวใจจึงนับเป็นวิญญาณและแก่นแท้ของการภักดี และเมื่อพฤติกรรมภายนอกปราศจากหัวใจที่มีลักษณะเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมไม่ต่างอะไรกับร่างกายที่ไร้วิญญาณ ดังนั้น การมีหัวใจที่ดีงาม ร่างกายทั้งหมดก็จะพลอยดีงามตามไปด้วย 

ท่านร่อซู้ล  - عليه الصلاة والسلامกล่าวว่า :

«ألا وإن في الجسَد مُضغَة، إذا صلَحَت صلَحَ الجسَدُ كلُّه، وإذا فسَدَت فسَدَ الجسَدُ كلُّه، ألا وهي القلبُ»

     “พึงรู้เถิดว่า ในร่างกายนั้นมีเนื้ออยู่ก้อนหนึ่ง หากว่าเนื้อก้อนนั้นดี ร่างกายทั้งหมดก็จะดีตามไปด้วย และหากว่าเนื้อก้อนนั้นไม่ดี ร่างกายทั้งหมดก็จะไม่ดีตามไปด้วย พึงรู้เถิดว่า เนื้อก้อนนั้นก็คือ หัวใจนั่นเอง

متفق عليه 

           ผู้เป็นบ่าวทั้งหลาย คนเราจะเหลื่อมล้ำดีด้อยต่างกันก็ตรงที่ ความเหลื่อมล้ำของสิ่งที่อยู่ในหัวใจ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดถึงการงานว่าดีหรือด้อย และหัวใจนี่เองที่เป็นตำแหน่งที่พระเจ้าทรงมองบ่าวของพระองค์ 

 

ท่านร่อซู้ล  - عليه الصلاة والسلامกล่าวว่า :

«إن الله لا ينظرُ إلى أجسادِكم ولا إلى صُوركم، ولكن ينظُرُ إلى قلوبِكم وأعمالِكم»؛

     “แท้จริง อัลลอฮฺจะไม่ทรงมองที่ร่างกายและรูปลักษณ์ของพวกท่าน  หากแต่พระองค์จะทรงมองที่หัวใจและการงานของพวกท่าน

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)      

 

          และหนึ่งในหน้าที่การงานของหัวใจ ก็คือ การคิดดีต่ออัลลอฮฺ  ซึ่งถือเป็นหนึ่งในข้อบังคับของอิสลาม และเป็นหนึ่งในสิทธิของอัตเตาฮีด ความหมายของการคิดดีต่ออัลลอฮฺ  ก็คือ ความคิดทั้งหมดทั้งมวลที่เหมาะสมสอดคล้องกับพระองค์อัลลอฮฺ สอดคล้องกับพระนามและคุณลักษณะของพระองค์ 

 

           การคิดดีต่ออัลลอฮฺ ยังถือเป็นแขนงหนึ่งของการมีความรู้ในคุณลักษณะของพระองค์ รู้ว่าพระองค์มีพระเมตตาที่แผ่ไพศาล ทรงมีเกียรติ ทรงปรีชาสามารถ ทรงปรารถนาดี ทรงรอบรู้และทรงเลือกในสิ่งที่ดี เมื่อมีความตระหนักถึงคุณลักษณะเหล่านี้ของพระองค์ ย่อมส่งผลให้บ่าวคิดดีต่อพระองค์อย่างไม่ต้องสงสัย ทำนองเดียงกันการคิดดีต่ออัลลอฮฺ  อาจเกิดขึ้นได้จากการเข้าใจในพระนามและคุณลักษณะต่างๆ ของพระองค์ เพราะในแต่ละคุณลักษณะของพระองค์นั้น มีการอิบาดะฮฺที่เฉพาะเจาะจง และมีการคิดดีที่จำเพาะไปในแต่ละคุณลักษณะ ความเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบของพระองค์ ตลอดจนความวิจิตรงดงามและความประเสริฐเหนือทุกสรรพสิ่ง ล้วนทำให้ต้องคิดดีต่อพระองค์ 

 

ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงมีบัญชาในดำรัสของพระองค์ที่ว่า 

﴿وَأَحْسِنُوا إِنَّ اللَّهَ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ﴾

และพวกเจ้าจงทำดีเถิด แท้จริง อัลลอฮฺทรงรักบรรดาผู้กระทำดีทั้งหลาย

[البقرة: 195]

 

    ท่านซุฟยาน อัซเซารีย์ - رحمه اللهกล่าวว่า :  "أحسِنُوا الظنَّ بالله".     “ท่านทั้งหลายจงคิดดีต่ออัลลอฮฺเถิด

 

          ท่านนบี صلى الله عليه وسلم ได้ย้ำในเรื่องนี้ก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต เนื่องเพราะสิ่งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ดังที่ท่านญาบิร رضي الله عنه กล่าวว่า :ฉันได้ยินท่านร่อซูลุ้ลลอฮฺพูดก่อนที่ท่านจะเสียชีวิตสามวันว่า :

«لا يمُوتنَّ أحدُكم إلا وهو يُحسِنُ الظنَّ بالله - عزَّ وجل؛

คนหนึ่งคนใดในพวกท่านจงอย่าได้ตายเป็นอันขาด นอกจากจะเป็นผู้ที่คิดดีต่ออัลลอฮฺ

(บันทึกโดย อิมามมุสลิม)      

 

          อัลลอฮฺ ได้ทรงชื่นชมปวงบ่าวผู้นอบน้อม เนื่องเพราะการคิดดีต่ออัลลอฮฺของพวกเขา และทรงให้การคิดดีต่ออัลลอฮฺ  เป็นข่าวดี เป็นความสะดวกง่ายดายในการทำอิบาดะฮฺ และเป็นการช่วยเหลือพวกเขาในการทำอิบาดะฮฺ ดังที่พระองค์ตรัสว่า 

﴿وَاسْتَعِينُوا بِالصَّبْرِ وَالصَّلَاةِ وَإِنَّهَا لَكَبِيرَةٌ إِلَّا عَلَى الْخَاشِعِينَ (45) الَّذِينَ يَظُنُّونَ أَنَّهُمْ مُلَاقُو رَبِّهِمْ وَأَنَّهُمْ إِلَيْهِ رَاجِعُونَ﴾

     “พวกเจ้าจงขอความช่วยเหลือด้วยการอดทนและการละหมาดเถิด แท้จริงการละหมาดนั้นเป็นเรื่องหนักหนานอกจากกับบรรดาผู้ที่นอบน้อมเท่านั้น * คือ บรรดาผู้ที่คิดว่า พวกเขาจะต้องพบกับพระเจ้าของพวกเขา และยังพระองค์เท่านั้น ที่พวกเขาจะกลับไป”  

[البقرة: 45، 46]  

          บรรดาร่อซู้ล อะลัยฮิมุสสลาม ต่างก็ได้รับเกียรติอันสูงส่งจากการที่พวกท่านเหล่านั้นรู้จักอัลลอฮฺ พวกท่านมอบหมายต่อพระองค์ และคิดดีต่อพระองค์

      ท่านนบีอิบรอฮีม อลัยฮิสสลาม ต้องทิ้งพระนางฮาญัรกับลูกน้อยอิสมาอีลไว้ อัลบัยตฺ ซึ่งขณะนั้นเมืองมักกะฮฺยังไม่มีใครเลยสักคน ไม่มีแม้แต่น้ำ จากนั้น ท่านนบีอิบรอฮีมก็เดินหันหลังไป 

     ท่านหญิงฮาญัรตามไปถามว่าอิบรอฮีม ท่านจะไปไหนหรือ ท่านจะทิ้งเราไว้ที่หุบเขาที่ไม่มีคน ไม่มีอะไรเลยอย่างนั้นหรือ?! ท่านหญิงถามย้ำอยู่หลายครั้ง นบีอิบรอฮีมไม่เหลือบสายตาหันมามองนางเลย 

     นางกล่าวว่า : อัลลอฮฺทรงสั่งให้ท่านทำเช่นนี้ใช่หรือไม่

     ท่านนบีตอบว่า : ถูกต้องแล้ว

     ท่านหญิงกล่าวต่อว่า : เมื่อเป็นเช่นนั้น พระองค์จะไม่ทรงทอดทิ้งเรา” 

(บันทึกโดย อิมาม อัลบุคอรี)

            ผลจากการคิดดีต่ออัลลอฮฺ ยังให้เกิดตาน้ำที่มีความจำเริญผุดขึ้นมา กะฮบะฮฺถูกสร้างขึ้น เรื่องราวของท่านหญิงฮาญัรถูกรำลึกกล่าวขานถึงตลอดกาล และอิสมาอีลได้กลายเป็นนบี และจากเชื้อสายของท่านก็ได้มีนบีผู้เป็นนบีท่านสุดท้ายและเป็นผู้นำของบรรดาร่อซู้ลทั้งหลาย

 

      นบียะอฺกู๊บ อลัยฮิสสลาม เคยต้องสูญเสียลูกชายสองคน ท่านอดทนและมอบหมายต่อ อัลลอฮฺ ท่านกล่าวว่า 

﴿إِنَّمَا أَشْكُو بَثِّي وَحُزْنِي إِلَى اللَّهِ﴾

แท้จริง ฉันขอร้องเรียนความเศร้าสลดของฉัน และความทุกข์ระทมของฉันต่ออัลลอฮฺ

   (ยูซุฟ /  86)

      ท่านคงเหลือเพียงหัวใจที่เปี่ยมไปด้วยการคิดดีต่ออัลลอฮฺ ว่าพระองค์นั้น คือผู้ทรงให้การปกปักษ์คุ้มครองที่ดีที่สุด ท่านกล่าวอีกว่า

﴿عَسَى اللَّهُ أَنْ يَأْتِيَنِي بِهِمْ جَمِيعًا إِنَّهُ هُوَ الْعَلِيمُ الْحَكِيمُ﴾

หวังว่าอัลลอฮฺจะทรงนำพวกเขาทั้งหมดมาหาฉัน แท้จริง พระองค์นั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ

(ยูซุฟ /  83)

      แล้วท่านนบียะอฺกู๊บ อลัยฮิสสลามก็ยังกำชับลูกๆ ของท่านให้คิดดีต่ออัลลอฮฺ ดังอายะฮฺที่ว่า

﴿يَا بَنِيَّ اذْهَبُوا فَتَحَسَّسُوا مِنْ يُوسُفَ وَأَخِيهِ وَلَا تَيْأَسُوا مِنْ رَوْحِ اللَّهِ إِنَّهُ لَا يَيْأَسُ مِنْ رَوْحِ اللَّهِ إِلَّا الْقَوْمُ الْكَافِرُونَ﴾

     “โอ้ลูกรัก พวกเจ้าจงไปสืบข่าวของยูซุฟและน้องของเขา และพวกเจ้าอย่าได้เบื่อหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ

     แท้จริง ไม่มีผู้ใดเบื่อหน่ายต่อความเมตตาของอัลลอฮฺ นอกจากหมู่ชนผู้ปฏิเสธ

(ยูซุฟ /  87)

 

             ทำนองเดียวกันกับพวกบนีอิสรออีลที่มีภัยมาประชิดชนิดที่ไม่อาจต้านทาน แต่ถึงแม้จะวิตกกังวลมากมายเพียงใด ท่านนบีมูซา อลัยฮิสสลาม ก็ยังคงคิดดีต่ออัลลอฮฺ ท่านกล่าวแก่กลุ่มชนของท่านว่า 

﴿اسْتَعِينُوا بِاللَّهِ وَاصْبِرُوا إِنَّ الْأَرْضَ لِلَّهِ يُورِثُهَا مَنْ يَشَاءُ مِنْ عِبَادِهِ وَالْعَاقِبَةُ لِلْمُتَّقِينَ (128) قَالُوا أُوذِينَا مِنْ قَبْلِ أَنْ تَأْتِيَنَا وَمِنْ بَعْدِ مَا جِئْتَنَا قَالَ عَسَى رَبُّكُمْ أَنْ يُهْلِكَ عَدُوَّكُمْ وَيَسْتَخْلِفَكُمْ فِي الْأَرْضِ فَيَنْظُرَ كَيْفَ تَعْمَلُونَ﴾

จงขอความช่วยเหลือต่ออัลลอฮฺ และจงอดทนเถิด แท้จริง แผ่นดินนั้นเป็นสิทธิของอัลลอฮฺ

ซึ่งพระองค์จะทรงให้มันสืบทอดแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์จากปวงบ่าวของพระองค์

และบั้นปลายนั้นย่อมเป็นของผู้ยำเกรงทั้งหลาย *

     พวกเขากล่าวว่า พวกเราได้รับการทารุณทั้งก่อนหน้าที่ท่านจะมายังพวกเราและหลังจากที่ท่านได้มายังพวกเรา

     เขากล่าวว่า หวังว่าพระเจ้าของพวกท่านจะทรงทำลายศัตรูของพวกท่าน และจะทรงให้พวกท่านสืบช่วงแทนในแผ่นดิน แล้วพระองค์จะทรงดูว่าพวกท่านจะทำอย่างไร? “

[الأعراف: 128، 129].

 

           สถาณการณ์เริ่มทวีความตึงเครียด น้ำทะเลอยู่ตรงหน้าพวกเขา ส่วนฟิรเอาว์นกับพวกอยู่ทางด้านหลัง พวกของท่านนบีมูซาส่งเสียงว่า พวกเราต้องถูกตามทันอย่างแน่นอน ท่านนบีตอบกลับพวกเขาไปด้วยความมั่นใจในอัลลอฮฺและคิดดีต่อพระองค์ว่า 

قَالَ كَلَّا إِنَّ مَعِيَ رَبِّي سَيَهْدِين

เขากล่าวว่า หามิได้ แท้จริงฉันมีพระเจ้าของฉัน ซึ่งพระองค์จะทรงนำทางฉัน

[الشعراء: 62].

แล้วอัลลอฮฺ ตะอาลา ก็ได้ประทานวะฮีย์ลงมาโดยที่นบีมูซาไม่ได้คาดคิดว่า 

﴿فَأَوْحَيْنَا إِلَى مُوسَى أَنِ اضْرِبْ بِعَصَاكَ الْبَحْرَ فَانْفَلَقَ فَكَانَ كُلُّ فِرْقٍ كَالطَّوْدِ الْعَظِيمِ (63) وَأَزْلَفْنَا ثَمَّ الْآخَرِينَ (64) وَأَنْجَيْنَا مُوسَى وَمَنْ مَعَهُ أَجْمَعِينَ (65)
 
ثُمَّ أَغْرَقْنَا الْآخَرِينَ﴾

     "ดังนั้นเราได้ดลใจมูซาว่า จงฟาดทะเลด้วยไม้เท้าของเจ้า แล้วมันก็ได้แยกออก แต่ละข้างมีสภาพเหมือภูเขาใหญ่ 

     และเราได้ให้พวกอื่นให้เข้ามาใกล้ ที่นั้น และเราได้ให้มูซาและผู้ที่อยู่ร่วมกับเขาทั้งหมดรอดพ้นไป และหลังจากนั้นเราได้ให้พวกอื่นจมน้ำตาย"

   [الشعراء: 63- 66].

 

          สำหรับเรื่องราวของท่านนบีมุฮัมมัด صلى الله عليه وسلم แม้ว่าท่านจะอยู่ในสถาณการณ์ที่คับขันเพียงใด ท่านก็ไม่เคยละทิ้งการคิดดีต่ออัลลอฮฺ ดังเหตุการณ์ที่ท่านออกจากมักกะฮฺ และพักในถ้ำระหว่างทาง เพียงไม่นานพวกกุฟฟารก็ตามมาทันและอยู่ห้อมล้อมท่าน ท่านยังบอกกับสหายของท่านว่า 

﴿لَا تَحْزَنْ إِنَّ اللَّهَ مَعَنَا﴾

อย่าได้เศร้าเสียใจไปเลย แท้จริง อัลลอฮฺนั้นทรงอยู่กับเรา

 [التوبة: 40].

      ท่านอบูบักร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่าฉันบอกกับท่านนบี صلى الله عليه وسلم ขณะที่อยู่กับท่านในถ้ำว่า หากมีใครสักคนมองมาที่เท้าของตัวเอง เขาจะต้องเห็นพวกเราอย่างแน่นอน

     ท่านนบี صلى الله عليه وسلم จึงกล่าวว่า : “ ท่านคิดว่าเราอยู่กันแค่สองคนกระนั้นหรือ อัลลอฮฺนั้นทรงเป็นบุคคลที่สาม” 

 متفق عليه

            และถึงแม้ว่าท่านนบี صلى الله عليه وسلم จะต้องพบเจอกับอุปสรรค ความกลัดกลุ้ม และศึกรอบด้าน แต่ท่านก็ยังคงเชื่อมั่นว่าศาสนานี้จะขจรขจายแผ่ไพศาล ท่านกล่าวว่า :

«ليبلُغنَّ هذا الأمرُ - أي: دينُ الإسلام - ما بلغَ الليلُ والنهارُ، ولا يترُكُ الله بيتَ مَدَرٍ ولا وَبَرٍ إلا أدخلَه الله هذا الدين، بعِزٍّ عزيزٍ، أو بذُلِّ ذليلٍ»؛ 

แน่นอนเหลือเกินว่า ศาสนานี้จะแพร่กระจายออกไปดังที่กลางวันและกลางคืนแผ่ขยายไปถึง

และอัลลอฮฺจะไม่ทรงละทิ้งบ้านที่ทำจากดินหรือบ้านที่ทำจากขนสัตว์

เว้นเสียแต่พระองค์จะทรงทำให้บ้านนั้นได้เข้ามาสู่ศาสนานี้

ไม่ว่าจะเข้ามาอย่างผู้มีเกียรติ หรือผู้ต่ำต้อยก็ตาม"

رواه أحمد

          บรรดาศ่อฮาบะฮฺ - رضي الله عنهمเป็นบุคคลที่เชื่อมั่นในอัลลอฮฺอย่างแน่นแฟ้นที่สุด และคิดดีต่อพระองค์รองลงมาจากบรรดาอัมบิยาอฺ อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า 

﴿الَّذِينَ قَالَ لَهُمُ النَّاسُ إِنَّ النَّاسَ قَدْ جَمَعُوا لَكُمْ فَاخْشَوْهُمْ فَزَادَهُمْ إِيمَانًا وَقَالُوا حَسْبُنَا اللَّهُ وَنِعْمَ الْوَكِيلُ﴾

     “บรรดาผู้คนได้กล่าวแก่พวกเขาว่า แท้จริงมีผู้คนได้ชุมนุมรวมตัวสำหรับพวกท่าน ดังนั้น พวกท่านจงกลัวพวกเขาเถิด

     แล้วมันได้เพิ่มการอีมานให้แก่พวกเขา และพวกเขากล่าวว่า อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ที่พอเพียงแก่เราแล้ว และเป็นผู้รับมอบหมายที่ดีเยี่ยม “

[آل عمران: 173].

 

      ท่านอุมัร ร่อฎิยัลลอฮุอันฮฺ กล่าวว่า : มีอยู่วันหนึ่ง ท่านร่อซู้ล صلى الله عليه وسلم ได้ใช้ให้เราทำศ่อดาเกาะฮฺ วันนี้ฉันคงนำหน้าท่านอบูบักรได้ หากจะมีสักวันที่ฉันจะนำหน้าเขา ฉันจึงไปหาท่านร่อซู้ลด้วยกับทรัพย์ที่มีครึ่งหนึ่ง 

     ท่านร่อซู้ล صلى الله عليه وسلم ถามว่า :  “ ท่านเหลืออะไรไว้ให้ครอบครัวของท่านบ้าง?” 
     ฉันตอบว่า : เท่ากันนี้แหละครับ” 

     แล้วท่านอบูบักรก็เข้ามาพร้อมกับทรัพย์ที่มีทั้งหมด
     ท่านร่อซู้ล صلى الله عليه وسلم ถามว่า :  “ท่านเหลืออะไรไว้ให้ครอบครัวของท่านบ้าง?”
     ท่านตอบว่า :ฉันเหลืออัลลอฮฺและร่อซู้ลของพระองค์ไว้ให้แก่พวกเขา” 

  رواه أبو داود.

 

     ท่านสอี๊ด อิบนุ ญุบัยรฺ เคยขอดุอาอฺว่า : “ โอ้อัลลอฮฺ แท้จริงข้าพระองค์วอนขอความสัจจริงในการมอบหมายต่อพระองค์ และ การคิดดีต่อพระองค์ด้วยเถิด

 

          มุอฺมินสมควรเป็นผู้ที่คิดดีต่ออัลลอฮฺอยู่เสมอไม่ว่าอยู่ในเวลาหรือสถานการณ์ใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่วิงวอนขอดุอาอฺ ขอความรอดพ้นปลอดภัยจากอัลลอฮฺ ยิ่งต้องมั่นใจว่าพระองค์นั้นทรงอยู่ใกล้ ทรงตอบรับคำวิงวอน และไม่ทรงทำให้ผู้ที่หวังในพระองค์ต้องผิดหวัง และหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้การกลับเนื้อกลับตัวเป็นที่ตอบรับก็คือ การคิดดีต่ออัลลอฮฺ ดังที่ท่านร่อซู้ล صلى الله عليه وسلم กล่าวว่าใน ฮะดีสกุ๊ดซีย์ว่า :

. «أذنَبَ عبدِي ذنبًا، فعلِمَ أن له ربًّا يغفِرُ الذنبَ ويأخُذُ بالذنبِ، اعمَل ما شِئتَ فقد غفَرتُ لك»؛

     “บ่าวของฉันได้กระทำความผิด แล้วเขาก็รู้ว่าเขามีพระเจ้าที่ทรงอภัยโทษและทรงลงโทษตอบแทนในความผิด จงทำตามแต่ที่เจ้าต้องการเถิด ข้าได้อภัยโทษให้แก่เจ้าแล้ว” 

 رواه مسلم .

           อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงเมตตาปรานีต่อผู้ศรัทธาและประกอบคุณงามความดี มีความหวังที่จะได้รับความเอ็นดูเมตตาจากพระองค์ ท่านร่อซู้ล عليه الصلاة والسلام กล่าวว่า :

«لما خلَقَ الله الخلقَ كتبَ في كتابِه، فهو عندَه فوقَ العرشِ: إن رحمَتِي غلَبَت غضَبِي»

     “เมื่ออัลลอฮฺได้ทรงบังเกิดสรรพสิ่งต่างๆ พระองค์ได้ทรงบันทึกไว้ในคัมภีร์ของพระองค์ ซึ่งอยู่ ที่พระองค์เหนือบรรลังก์ว่า แท้จริงความเมตตาของข้านั้นอยู่นำหน้าความกริ้วโกรธของข้า

 متفق عليه.

          ใครที่รู้สึกว่ามีชีวิตความเป็นอยู่อึดอัดลำบากลำบน การคิดดีต่ออัลลอฮฺจะเป็นความสะดวกสบายและเป็นทางออกให้แก่เขา 

     ท่านศุเบร อิบนิ เอาวาม - رضي الله عنه บอกกับอับดุลลอฮฺลูกชายของท่านว่าลูกรัก หากเจ้าไม่มีความสามารถจะใช้หนี้พ่อ ก็จงขอความช่วยเหลือจากผู้เป็นเจ้านายของพ่อเถิด” 

     ท่านอับดุลลอฮฺกล่าวว่าฉันไม่รู้ว่าพ่อหมายถึงอะไร จนฉันถามพ่อว่า คุณพ่อครับ ใครหรือครับที่เป็นเจ้านายของพ่อ?” 

     ท่านศุเบรตอบว่าอัลลอฮฺ” 

     ท่านอับดุลลอฮฺกล่าวว่าขอสาบานต่ออัลลอฮฺ เวลาที่ฉันกังวลใจในเรื่องหนี้สิน ฉันจะกล่าวว่า โอ้ผู้เป็นเจ้านายของอัศศุเบร ได้โปรดทรงปลดเปลื้องหนี้สินที่มีด้วยเถิด แล้วพระองค์ก็ทรงปลดหนี้สินให้

 (บันทึกโดย อิมามอัลบุคอรี)

           พระองค์อัลลอฮฺ  คือผู้ที่ทรงอภัยและประทานให้อย่างมากมาย ผู้ใดที่คิดดีต่อความใจบุญ การอภัยของพระองค์ พระองค์ก็จะทรงประทานให้ในสิ่งที่ขอ ดังที่พระองค์จะทรงลงมาสู่ฟากฟ้าดุนยาในช่วงสุดท้ายของกลางคืนของทุกค่ำคืน พระองค์ตรัสว่า 

«مَن يدعُوني فأستَجِيبَ له؟ مَن يسألُني فأُعطِيَه؟ مَن يستغفِرُني فأغفِرَ له».

ใครที่วิงวอนขอจากข้า ข้าจะตอบรับ ใครที่ขอ ข้าจะให้ ใครที่ขออภัยโทษต่อข้า ข้าก็จะอภัยโทษให้แก่เขา

 

           พระองค์คือผู้ทรงตอบรับการเตาบะฮฺกลับตัวของปวงบ่าว ทรงแผ่พระหัตถ์ของพระองค์ในยามค่ำคืนเพื่อให้ผู้กระทำผิดในช่วงวันได้สำนึกผิดกลับตัว และทรงแผ่พระหัตถ์ของพระองค์ในเวลากลางวัน  เพื่อให้ผู้กระทำผิดในช่วงค่ำคืนได้สำนึกผิดกลับตัว และสถานการณ์ที่เรียกร้องให้บ่าวจำเป็นต้องคิดดีต่อพระองค์ที่สุดก็คือ เมื่ออะญัลได้ใกล้เข้ามา 

ดังที่ท่านร่อซู้ล  صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า :

«لا يمُوتنَّ أحدُكم إلا وهو يُحسِنُ الظنَّ بالله»؛

คนหนึ่งคนใดในพวกท่านอย่าได้ตายเป็นอันขาด จนกว่าเขาจะเป็นผู้ที่คืดดีต่ออัลลอฮฺ

 رواه مسلم.

«يقولُ الله: أنا عندَ ظنِّ عبدِي بي، وأنا معَه إذا ذكَرَني»؛

อัลลอฮฺตรัสว่า ข้าอยู่ ความนึกคิดของบ่าวของข้าที่มีต่อข้า และข้าจะอยู่กับเขาเมื่อเขารำลึกถึงข้า

 متفق عليه.

 

     ท่านอิบนุ มัสอู๊ด رضي الله عنه กล่าวว่า : “บ่าวคนใดที่คิดดีต่ออัลลอฮฺ อัลลอฮฺจะประทานให้ตามแต่ความคิดของเขา ทั้งนี้เพราะ ความดีงามทั้งมวลล้วนอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์” 

         เมื่อบ่าวมีความคิดในแง่ดีต่อพระองค์ พระองค์ก็จะทรงเปิดประตูแห่งความดีงามในศาสนาให้แก่เขา

 

     ท่านอิบนุ มัสอู๊ด رضي الله عنه  ยังกล่าวอีกว่า : “ขอสาบานต่อผู้ที่ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากพระองค์ ไม่มีสิ่งไหนเลยที่บ่าวพึงได้รับ ที่จะดียิ่งไปกว่า การคิดดีต่ออัลลอฮฺ

           การงานต่างๆ ของมนุษย์ ขึ้นอยู่กับระดับการคิดดีต่ออัลลอฮฺ ผู้ศรัทธาที่คิดดีต่ออัลลอฮฺ เขาก็จะประพฤติดี ผู้ปฏิเสธศรัทธาที่คิดไม่ดีต่อพระองค์ เขาก็จะประพฤติไม่ดี การคิดดีต่ออัลลอฮฺ จึงเป็นความดีงามของอิสลาม เป็นความสมบูรณ์ของอีหม่าน เป็นหนทางสู่สวรรค์ เป็นอิบาดะฮฺของหัวใจที่ส่งผลให้เกิดการมอบหมายต่ออัลลอฮฺและเชื่อมั่นในพระองค์ 

      อิมามอิบนุ้ล ก็อยยิม ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า : “ การที่ท่านคิดดีต่ออัลลอฮฺและหวังในพระองค์มากแค่ไหน การมอบหมายของท่านที่มีต่อพระองค์ก็อยู่ในระดับนั้น" 

          ด้วยเหตุนี้ อุละมาอฺบางท่านจึงได้อธิบายความหมายของการมอบหมายว่าหมายถึง การคิดดีต่ออัลลอฮฺ ข้อเท็จจริง คือ การคิดดีต่ออัลลอฮฺนำไปสู่การมอบหมายต่อพระองค์ เพราะการตะวักกั้ลจะมีขึ้นไม่ได้ หากเป็นผู้ที่คิดไม่ดีต่อพระองค์ และการตะวักกั้ลจะไม่เกิดกับผู้ที่ไม่ได้หวังในพระองค์เป็นอันขาด

           ส่วนหนึ่งจากผลของการคิดดีต่ออัลลอฮฺ ก็คือ ความสงบใจ การเข้าหาพึ่งพิงอัลลอฮฺ การกลับเนื้อกลับตัวต่อพระองค์ เพราะรองจากอีหม่านแล้ว ไม่มีอะไรที่จะทำให้หัวใจอิ่มเอมเท่ากับการมีความเชื่อมั่นในอัลลอฮฺและหวังในพระองค์อีกแล้ว

     ท่านอัลฮิลมีย์ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮฺ กล่าวว่า : “การมองในแง่ร้าย ถือเป็นการคิดไม่ดีต่ออัลลอฮฺ และการมองในแง่ดี ถือเป็นการคิดดีต่ออัลลอฮฺ

 

ท่านร่อซู้ล  صلى الله عليه وسلم กล่าวว่า :

«أنا عند ظنِّ عبدِي بي، فليظُنَّ بي ما شاء؛ إن ظنَّ بِي خيرًا فله، وإن ظنَّ شرًّا فله»

     (อัลลอฮฺ ตะอล ตรัสว่า) “ข้าอยู่ ความคิดของบ่าวที่มีต่อข้า ดังนั้น เขาจงคิดกับข้าตามแต่ที่เขาปรารถนาเถิด หากเขาคิดดีกับข้ามันก็ได้กับเขา และหากเขาคิดไม่ดีกับข้ามันก็ได้กับเขา

؛ رواه أحمد.

 

           และเมื่อบ่าวคิดดีต่ออัลลอฮฺ แน่นอนพระองค์จะไม่ทรงทำให้เขาต้องผิดหวังเป็นอันขาด พระองค์จะตรัสแก่ผู้ที่คิดดีต่อพระองค์ในวันกิยามะฮฺว่า 

﴿هَاؤُمُ اقْرَءُوا كِتَابِيَهْ (19) إِنِّي ظَنَنْتُ أَنِّي مُلَاقٍ حِسَابِيَهْ (20) فَهُوَ فِي عِيشَةٍ رَاضِيَةٍ (21) فِي جَنَّةٍ عَالِيَةٍ﴾

     “ส่วนผู้ที่บันทึกของเขาถูกนำมายื่นให้ทางเบื้องขวาของเขา เขาจะกล่าวว่า มาอ่านบันทึกของฉันสิ * ความจริงฉันนึกทีเดียวว่า ฉันจะได้พบบัญชีของฉัน * แล้วเขาจะมีความเป็นอยู่อย่างสุขสำราญ * ในสวนสวรรค์อันสูงส่ง” 

[الحاقة: 19- 22].

 

            อัลลอฮฺ ตะอาลา ทรงใจบุญ ทรงยิ่งใหญ่เกรียงไกร และทรงอำนาจ เมื่อพระองค์ประสงค์ในสิ่งใด พระองค์จะตรัสว่าจงเป็นแล้วสิ่งนั้นก็จะเป็นขึ้น พระองค์ทรงสัญญาว่าจะพิทักษ์รักษาคัมภีร์ของพระองค์ ทรงช่วยเหลือศาสนาของพระองค์ และทรงให้ชัยชนะในบั้นปลายเป็นของบรรดาผู้ยำเกรง ทรงประทานริสกีให้แก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์อย่างที่มิอาจคำนวนนับ ทรงให้ทางออกแก่ผู้ที่พึ่งพิงพระองค์ และใครที่เพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับพระองค์ ความเชื่อมั่นในพระองค์ของเขาก็จะเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น และใครที่คิดไม่ดีกับพระองค์ นั่นก็เป็นเพราะความเขลา เกี่ยวกับความสมบูรณ์ของพระนามและคุณลักษณะของพระองค์ ซึ่งดังกล่าวถือเป็นลักษณะของพวกญาฮิลียะฮฺนั่นเอง

อัลลอฮฺ ตะอาลา ตรัสว่า :

﴿يَظُنُّونَ بِاللَّهِ غَيْرَ الْحَقِّ ظَنَّ الْجَاهِلِيَّةِ﴾

พวกเขาคิดกับอัลลอฮฺ โดยปราศจากความเป็นธรรม อันเป็นความคิดอย่างพวกสมัยงมงาย (ญาฮิลียะฮฺ)”

[آل عمران: 154]

           การศรัทธาต่อพระนามและคุณลักษณะของพระองค์ ยังส่งผลให้เกิดการคิดดีต่ออัลลอฮฺ ยึดพระองค์เป็นที่พึ่ง และมอบหมายกิจการทั้งมวลไว้กับพระองค์

.﴿فَمَا ظَنُّكُمْ بِرَبِّ الْعَالَمِينَ﴾

แล้วอันใดกันเล่าที่พวกเจ้านึกคิดต่อพระเจ้าแห่งสากลโลก

  [الصافات: 87].