รีบร้อนในการแสวงหาความรู้
  จำนวนคนเข้าชม  2202


รีบร้อนในการแสวงหาความรู้

 

ยะห์ยา หัสการณ์บัญชา แปลเรียบเรียง

 

     การรีบร้อน(อัลอะญะละฮฺ)ในการแสวงหาวิชาความรู้(รีบร้อนวิชา,ชิงสุกก่อนห่าม) ถือเป็นพฤติกรรมที่ถูกตำหนิหรือถูกยกย่อง?

 

ชัยคฺสุไลมาน อัรรุฮัยลีย์ได้ตอบคำถามในประเด็นนี้ว่า 

 

          การรีบร้อน คือ การแสวงหาสิ่งหนึ่งก่อนที่จะถึงเวลาของมัน(ชิงสุกก่อนห่าม) ซึ่งถือเป็นพฤติกรรมที่ถูกตำหนิ ถึงแม้จะเป็นเรื่องการแสวงหาความรู้ก็ตาม

 

         นักศึกษาหาความรู้นั้นต้องการเวลาอันยาวนานในการแสวงหาความรู้ เพื่อจะใช้เวลาอันยาวนานนั้นไปในการรวบรวมความรู้เพียงส่วนหนึ่ง ดังนั้นการชิงสุกก่อนห่าม ก็คือการที่คนๆหนึ่งต้องการจะเป็นปราชญ์ผู้รู้ ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปี หรือสองปี หรือสามปี หรือสิบปี หรือแม้กระทั่งยี่สิบปี ! ซึ่งการรีบร้อน หรือชิงสุกก่อนห่ามนั้นถือเป็นพฤติกรรมที่ถูกตำหนิ และมันจะก่อให้เกิดสิ่งใดสิ่งหนึ่งจากสองสิ่งต่อไปนี้

 

     1. การรีบร้อนวิชานั้นจะทำให้คนๆนั้นตกอยู่ในความเบื่อหน่าย และละทิ้งการแสวงหาความรู้

 

     2. การรีบร้อนวิชาก็จะทำให้คนๆนั้นตกอยู่ในการออกตัวสอน ก่อนที่เขาจะได้รับการยืนยันจากปราชญ์ผู้รู้ ด้วยเหตุนี้คนรีบร้อนจึงได้รับความพินาศในด้านนามธรรม(ความหายนะจากทัศนคติและความคิดจิตใจ)จากพฤติกรรมรีบร้อนวิชาของเขา

 

          และการรีบร้อนวิชาหรือการชิงสุกก่อนห่าม คือ การที่นักศึกษาคนหนึ่งรีบร้อนอยากจะเป็นอาจารย์ หรือเป็นมุฟตีย์(นักตอบปัญหาศาสนา) ซึ่งถือว่าเป็นพฤติกรรมที่ถูกตำหนิ และการรีบร้อนวิชาจะนำพาไปสู่ความชั่วร้าย

 

     ส่วนการรีบเร่งทำความดีงามทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ ซึ่งการรีบเร่งนี้หมายถึง การทุ่มเทในเรื่องที่มีความสามารถเพื่อทำความดี

 

     ซึ่งคำว่ารีบเร่งในการทำความดีในที่นี้ ก็คือความหมายที่ผู้รู้บางท่านได้บอกไว้ว่า การรีบร้อน(,ชิงสุกก่อนห่าม)ในทุกๆเรื่องนั้นถือเป็นสิ่งที่น่าตำหนิ ยกเว้นในการทำความดี

 

และมีหะดีษเศาะเหียะหฺบทหนึ่งที่ท่านนบีได้กล่าวว่า

 

 "การใจเย็น(ไม่รีบเร่ง)ในทุกๆเรื่องนั้นเป็นสิ่งที่ดี ยกเว้นในเรื่องของโลกหน้า(อาคิเราะฮฺ)เท่านั้น

 

     (บันทึกโดยอิมามอบูดาวูด และอิมามอัลหากิม โดยท่านกล่าวว่าเป็นหะดีษระดับเศาะเหียะหฺตามเงื่อนไขอิมามอัลบุคอรีย์และอิมามมุสลิม และชัยคฺอัลบานีย์ก็ได้ตัดสินว่าหะดีษบทนี้เป็นหะดีษเศาะเหียะหฺ)

 

          ซึ่งเป้าหมายของการรีบเร่งที่ดีในที่นี้คือ การรีบเร่งในการทำความดีงามทั้งหลาย คือการที่เราแข่งขันกันทำความดี และไม่เกียจคร้าน และจะต้องไม่ปล่อยให้คนอื่นแซงหน้าเราเพื่อเข้าไปอยู่ในสรวงสวรรค์ แต่ทว่าเราจะต้องเป็นผู้ที่ขมักเขม้น แข่งขันกัน และรีบเร่งทำดีอยู่เป็นประจำเท่าที่เรามีความสามารถจะกระทำได้โดยตรงตามหลักบัญญัติต่างศาสนา

 

          ดังนั้นเราจะต้องกระทำการงานต่างๆ(ที่เป็นความดีงาม)เท่าที่เรามีความสามารถจะกระทำได้ และ เราจะไม่แบกรับ หรือฝืนทำในสิ่งที่เราไม่มีความสามารถที่จะกระทำมัน และเราจะไม่เกียจคร้านในสิ่งที่เรามีความสามารถจะกระทำได้

 

     “และการงานที่เป็นที่รักที่สุด สำหรับอัลลอฮฺนั้นก็คือ การงานที่ปฏิบัติอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าจะเป็นการงานที่เล็กน้อยก็ตาม"

 

          ดังนั้นขอให้เราทั้งหลายจงขวนขวายในการทำความดีอย่างสม่ำเสมอถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เล็กน้อยก็ตาม ซึ่งเราจะต้องไม่ละเลยต่อเรื่องนี้ และเช่นเดียวกัน เราจะต้องรีบเร่ง , ขยันขันแข็ง และแข่งขันกันในการทำความดี โดยต้องมีความรู้ เพราะพฤติกรรมนี้(ทำความดีโดยมีความรู้)เป็นสิ่งที่ต้องกระทำ ซึ่งมิใช่พฤติกรรมที่ถูกตำหนิแต่อย่างใด

 

บทความสรุปจากคำพูดของชัยคฺสุไลมาน อัรรุฮัยลีย์ จากบัญชีของท่านในเทเลแกรม