จุดประกายอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  1847


จุดประกายอิสลาม

 

สมศักดิ์ มูหะหมัด

 

          นับเป็นความเมตตาของอัลลอฮฺ ประทานให้แก่มวลมุสลิมด้วยการกำหนดให้มีวันอีดแก่พวกเขา วันอีดแรกเป็นวันสำคัญประจำสัปดาห์ คือ วันญุมอะฮ์หรือวันศุกร์ เป็นวันครบรอบสัปดาห์ที่บรรดามุสลิมเสร็จสิ้นการปฏิบัติละหมาดฟัรฎู 5 เวลาในวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง อันเป็นการแสดงความภักดีต่ออัลลอฮฺ ส่วนวันอีดประจำปี คือ วันอีดิลฟิฎร์และวันอีดิลอัฎฮา วันอีดิลฟิฎร์มีมาภายหลังจากที่บรรดามุสลิมได้ปฏิบัติอิบาดะห์ประการสำคัญประจำปีเป็นเวลาถึง 1 เดือนเต็มคือ การถือศีลอดในเดือนรอมฎอนอันประเสริฐและทำการละหมาดกิยาม (ตะรอเวียะห์) พร้อมกับปฏิบัติคุณงามความดีประการอื่นๆ เช่น การอ่านทบทวนอัลกุรอาน การกล่าวซิกรุลลอฮฺ กล่าวซอละวาตนบี กล่าวขออภัยโทษในความผิด การทำซอดาเกาะฮ์ การประกอบพิธีอุมเราะห์ การเลี้ยงอาหารละศีลอด การแสดงความช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้ยากไร้ คนอนาถา เด็กกำพร้า หญิงหม้าย และคนชรา

 

          วันอีดเป็นวันที่มุสลิมแสดงความปลื้มปิติในชีวิตแห่งโลกดุนยา เป็นการแสดงความยินดีที่ได้สะสมความดีไว้สำหรับโลกอาคิเราะห์ ความปลาบปลื้มเช่นนี้ อัลลอฮฺทรงให้นบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม นำเสนอ โดยปรากฏอยู่ในซูเราะฮ์ยูนุส อายะฮ์ที่ 58 ว่า

 

     “จงกล่าวเถิด (มุฮัมมัด) ด้วยความโปรดปรานของอัลลอฮฺและด้วยความเมตตาของพระองค์ ดังกล่าวนั้น พวกเขาจงดีใจเถิด ซึ่งมันดียิ่งกว่าสิ่งที่พวกเขาได้สะสมไว้

 

          ความสำคัญของวันญุมอะฮฺหรือวันศุกร์มีรายงานสืบมา โดยเป็นหะดิษหลายบทระบุว่า วันที่ดีที่สุดในรอบสัปดาห์คือวันญุมอะฮฺ เพราะเป็นวันที่นบีอาดัมถูกบังเกิด ถูกให้พำนักอยู่ในสวรรค์ ถูกให้ออกจากสวรรค์ วันกิยามะฮฺจะเกิดในวันนี้ มีชั่วโมงหนึ่งที่ผู้ละหมาดขอสิ่งใดจากพระองค์อัลลอฮฺ พระองค์ก็จะประทานให้ ท่านร่อซูลุลลอฮฺให้กล่าวซอลาวาตแก่ท่านให้มาก

 

          วันอีดิลฟิฏร์ตรงกับวันที่ 1 เดือนเซาวาล เป็นวันที่แสดงถึงความสำเร็จของบรรดามุสลิมในการปฏิบัติอิบาดะฮฺ สามารถเอาชนะต่อตัณหาอารมณ์ ความใคร่อยากกินอยากดื่ม เป็นวันแห่งความเมตตากรุณา ท่านร่อซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม จึงเรียกวันนี้ว่าวันแห่งการประทานรางวัลโดยมีรายงานที่ท่านได้กล่าวกับญาบิร อัล อันซอรีย์ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮุ ว่า

 

     “เมื่อถึงวันที่ 1 เดือนเซาวาล มีผู้ประกาศว่า โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงออกมารับรางวัลของพวกท่านเถิด” 

     แล้วท่านกล่าวอีกว่า

     “โอ้ ญาบิร รางวัลของอัลลอฮฺไม่เหมือนกับรางวัลของผู้ยิ่งใหญ่ในโลกนี้ วันอีดเป็นวันประทานรางวัล จึงสมควรที่บุคคลจะมีความนอบน้อมถ่อมตนในวันอีด โดยหวังว่า อัลลอฮฺจะทรงรับภาคผลในการถือศีลอดของเขา และการปฏิบัติอิบาดะฮฺของเขาระหว่างเดือนรอมฎอน

 

มีรายงานจากอัฏฏอบรอนีย์ว่า

 

     “เมื่อถึงวันอีดิลฟิฏร์ บรรดามลาอิกะฮฺจะยืนอยู่ ต้นทางพลางประกาศว่า 

     โอ้ มุสลิมทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจงออกมายังพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเกียรติ ผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงประทานความดี และผู้ทรงตอบแทนที่ยิ่งใหญ่ 

     ท่านทั้งหลายถูกใช้ให้ละหมาดกิยาม ท่านทั้งหลายก็ละหมาด 

     ท่านทั้งหลายถูกใช้ให้ถือศีลอดในเดือนรอมฎอน ท่านทั้งหลายก็ถือศีลอด 

     ท่านทั้งหลายต่างภักดีต่อพระเจ้าของพวกท่าน ดังนั้น ท่านทั้งหลายจงมารับรางวัลของพวกท่านเถิด 

     เมื่อพวกเขาละหมาดอีด จะมีผู้ประกาศจากฟากฟ้าว่า 

     ท่านทั้งหลายจงกลับไปยังบ้านเรือนของพวกท่านโดยได้รับการนำทางที่ถูกต้อง 

     แท้จริง พระองค์ทรงอภัยโทษแก่พวกท่าน และวันนี้ได้ถูกตั้งชื่อในฟากฟ้าว่า เยามุลญะซาอ์วันแห่งการตอบแทน

 

          วันอีดในอิสลามมีความแตกต่างกับวันสำคัญของประชาชาติต่างๆ วันอีดิลฟิฏร์เป็นวันที่บรรดามุสลิมอำลาเดือนรอมฎอน บรรดามุสลิมทั่วโลกเริ่มวันอีดิลฟิฏร์ด้วยการกล่าวตักบีร เพื่อเทิดทูนความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺ อันเป็นการสนองคำบัญชาของพระองค์ที่ว่า

 

     “และเพื่อสูเจ้าทั้งหลายทำให้จำนวนวัน (ของเดือนรอมฎอน) ครบถ้วน และเพื่อเทิดทูนความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮฺที่ทรงนำทางพวกสูเจ้า เพื่อพวกสูเจ้าจะแสดงความขอบคุณ

(อัลบะเกาะเราะฮฺ 2 : 185)

 

          การกล่าวตักบีร เริ่มตั้งแต่เมื่อเห็นดวงจันทร์ค่ำแรกของเดือนเซาวาล โดยให้กล่าวมากๆ ไม่ว่าจะอยู่ตามลำพังหรืออยู่เป็นหมู่คณะ ไม่ว่าจะอยู่ตามถนนหนทาง ในบ้านเรือน ในมัสญิด ในชุมชน ให้กล่าวคำตักบีรจนกระทั่งอิมามเริ่มนำละหมาดอีด รูปแบบของถ้อยคำตักบีร นักวิชาการบางคนมีความเห็นว่า ให้กล่าว 3 ครั้ง คือ

 

อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่

 

          อิมามอันนะวาวีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสืออัล มัจมัวอ์ของท่านว่า รูปแบบของ การกล่าวถ้อยคำตักบีรที่ชอบให้ปฏิบัติคืออัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัรนี่เป็นถ้อยคำที่ประจักษ์จากอิมามอัซซาฟิอีย์ อิมามอันนะวาวีย์ได้กล่าวไว้ในหนังสือมินฮาณุฏฏอลิบีนอีกกว่ารูปแบบถ้อยคำการกล่าวตักบีรคือ

 

อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ ไม่มีพระเจ้าอื่นในนอกจากอัลลอฮฺ

และอัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ และมวลการสรรเสริญเป็นของอัลลอฮฺ

 

     อิมามอัซซาฟิอีย์ ร่อฮิมะฮุลลอฮฺ ได้กล่าวไว้ในหนังสืออัล อุมว่า ชอบให้กล่าวเสริมในถ้อยคำตักบีรว่า

 

     “อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ มวลการสรรเสริญอันมากมายเป็นของอัลลอฮฺมหาบริสุทธิ์เป็นของอัลลอฮฺทั้งยามเช้าและยามเย็น อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่ เราไม่เคารพอิบาดะฮ์ต่อผู้ใดนอกจากพระองค์ โดยมีความบริสุทธิ์ใจในศาสนาของพระองค์ และแม้ว่า บรรดาผู้ปฏิเสธจะเกลียดชังก็ตาม

     ไม่มีพระเจ้าใด นอกจากอัลลอฮฺองค์เดียว พระองค์ทรงสัจจริงตามคำสัญญา พระองค์ทรงช่วยเหลือบ่าวของพระองค์ พระองค์องค์เดียวทรงทำให้บรรดาพลพรรคต้องแพ้พ่าย ไม่มีพระเจ้าในนอกจากอัลลอฮฺ อัลลอฮฺทรงยิ่งใหญ่

 

     มีผู้กล่าวว่า ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม กล่าวเช่นนี้ ภูเขาอัศศอฟา เมื่อจะทำการเดิน สะแอ 

     นักวิชาการบางคนกล่าวว่า ที่ดีที่สุดให้กล่าวถ้อยคำตักบีร 2 ครั้ง อิบนิกุลามะฮ์ได้กล่าวไว้ในหนังสืออัล มุฆนีย์ว่า รูปแบบของถ้อยคำตักบีร คือ

 

     นี่เป็นถ้อยคำกล่าวตักบีรของท่านอุมัร ท่านอิบนิมัสอู๊ด ส่วนอิมามอัซซาฟิอีย์กล่าวคำตักบีร 3 ครั้ง โดยเป็นถ้อยคำกล่าวของท่านญาบิร

 

     วันอีดเป็นการแสดงออกถึงการขอบคุณในความเมตตาของอัลลอฮฺและการภักดีต่อพระองค์ ดังนั้น ชาวซอลีฮีนบางท่านจึงกล่าวว่า

     “วันอีดมิได้หมายถึง การสวมเสื้อผ้าใหม่ แต่อีด หมายถึง การเพิ่มพูนการภักดีต่ออัลลอฮฺ” 

อีกบางท่านกล่าวว่า

     “วันอีดมิได้หมายถึง การแต่งกายสวยงาม การมีพาหนะใหม่ แต่อีดหมายถึง ความหวังที่จะให้ความผิดของเขาถูกลบล้าง และเป็นการฟื้นฟูชีวิตใหม่ เพื่อภักดีต่ออัลลอฮฺ

           การที่ชาวซอลีฮีนกล่าวเช่นนั้น มิได้หมายความว่า พวกเขาตำหนิหรือปฏิเสธซุนนะฮฺที่ส่งเสริมให้สวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุดในวันอีด หากแต่พวกเขามีเจตนาที่จะสื่อความหมายว่า ถ้าหากว่าเป็นวันอีด การที่บุคคลจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยการละเมิดจากการทำความชั่วมาเป็นการประกอบความดี พร้อมกับ การเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดเก่ามาส่วนใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ 

 

อัล หะซัน อัล บัศรีย์ กล่าวว่า

     “ทุกวันที่บุคคลไม่ฝ่าฝืนคำสั่งของอัลลอฮฺ นั่นคือ วันอีด ทุกวันที่มุอฺมินตัดความยุ่งเหยิง ความวุ่นวายในโลกดุนยา เพื่อการอิบาดะฮฺต่ออัลลอฮฺ เพื่อการรำลึกถึงพระองค์ และเพื่อขอบคุณพระองค์ นั่นคือ วันอีด

 

          บัญญัติสำคัญในวันอีด ได้แก่ การละหมาดอีดร่วมกัน อันนำมาซึ่งเอกภาพของมุสลิม เป็น การแสดงออกถึงภาพลักษณ์แห่งความเท่าเทียมกัน ผู้ที่มีเกียรติยศก็ยืนเคียงคู่สามัญชน ผู้ที่มีตำแหน่งฐานะก็ยืนเคียงคู่ผู้ด้อยฐานะ ชาวอาหรับก็ยืนเคียงข้างผู้ที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ ผู้ที่พูดภาษาต่างกันก็ยืนเคียงข้างกัน โดยที่พวกเขาแสดงความรู้สึกถึงความเป็นพี่น้องกันภายใต้การเป็นบ่าวของอัลลอฮฺที่นับถือศาสนาเดียวกัน และแสดงออกถึงความรู้สึกที่ดีต่อกัน ไม่มีความรังเกียจเดียดฉันท์กัน เมื่อเสร็จสิ้นการละหมาด พวกเขาจะให้สลามกัน ขออภัยกัน แลกเปลี่ยนคำอวยพรซึ่งกันและกัน แม้ว่า พวกเขาจะพูดภาษาที่แตกต่างกัน อิสลามได้หลอมรวมหัวใจของพวกเขาให้มีความรู้สึกเดียวกันคือ ความหวังในการได้รับความดี ความเมตตา และการตอบแทนการงานจากอัลลอฮฺ เมื่อบรรดาซ่อฮาบะฮฺของท่านร่อซูล ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม พบปะกันในวันอีด พวกเขาจะกล่าวคำอวยพรซึ่งกันและกันว่า

 

ขออัลลอฮฺทรงรับ (การงาน) จากเราและจากท่านทั้งหลายด้วย

 

ตามธรรมเนียมของกลุ่มประเทศอาหรับบางประเทศจะใช้คำอวยพรว่า

 

ขอให้วันอีดของพวกท่านมีแต่ความจำเริญหรือขอให้ท่านทั้งหลายได้รับความดีงามทุกปี

 

          เนื่องจากวันอีดตามความหมายโดยทั่วไป เป็นวันรื่นเริง เป็นวันแสดงออกถึงความรู้สึกที่ดี และสร้างความสุข ศาสนาอิสลามจึงอนุญาตให้บรรดามุสลิมสนุกสนานกันได้ โดยอยู่ในกรอบบัญญัติ และถือว่า เป็นส่วนหนึ่งของศาสนา

     เมื่อนบีมุฮัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม เดินทางไปถึงมะดีนะฮฺ ท่านเห็นชาวเมืองสนุกสนานกันใน 2 วัน 

     ท่านจึงถามว่าวันทั้งสองนี้เป็นวันอะไร?” 

     พวกเขากล่าวว่าเป็นวันที่พวกเราสนุกสนานกันในสมัยญาฮิลียะฮฺ” 

     ท่านนบีกล่าวว่าแท้จริง อัลลอฮฺทรงเปลี่ยนแปลงวันทั้งสองให้แก่พวกท่านด้วยวันที่ดีกว่า วันอัล อัฎฮา และวันอัล ฟิฏร์

(บันทึกโดย อบู ดาวูด)

 

     มีรายงานจากอิยาฏ อัล อัชอะรีย์ ว่า เขาได้ร่วมวันอีดในเมืองอัล อันบาร์ (ในประเทศอิรักปัจจุบัน) เขากล่าวว่า

ฉันไม่เห็นท่านทั้งหลายเคาะกลอง ร้องเพลง (อะนาซีด) กันเลย แท้จริง ในสมัยของท่านร่อซูลมีการรื่นเริงเช่นนั้น

 

          มีรายงานจากท่านหญิงอาอิซะฮฺ ร่อฎิยัลลอฮุอันฮา กล่าวว่า ท่านอบูบักรฺ ได้เข้าไปหานาง ในวันอีดิลฟิฏร์หรือวันอีดิลอัฎฮา และท่านนบีก็อยู่กับนางด้วย ที่นางมีเด็กหญิง 2 คน กำลังร้องเพลง (อะนาซีด) กันอยู่ 

     ท่านอบูบักรฺ กล่าวว่าเพลงของชัยฏอนอยู่ ท่านร่อซูลุลลอฮฺหรือ?” 

     ท่านร่อซูลุลลอฮฺ กล่าวว่าโอ้ อบูบักรฺ จงปล่อยนางทั้งสองเถิด ทุกกลุ่มชนมีวันอีด แท้จริง วันอีดของเราคือ วันนี้

 

นี่คือ วันอีดในอิสลามที่บรรดามุสลิมทั่วโลกจัดเฉลิมฉลองพร้อมกันอย่างมีความสุข

 

 

ที่มา : วารสารมุสลิม กทม.