สุจริตธรรมในการดำเนินชีวิต
  จำนวนคนเข้าชม  2048


สุจริตธรรมในการดำเนินชีวิต

 

โดย    อาจารย์ อัชร็อฟ ทับทิม

 

          ขอความสันติสุข ความผาสุก ความเราะห์มะห์ จงประสพแด่พี่น้องทุกท่านครับ ท่านพี่น้องครับ ขอพวกท่านจงยำเกรงต่ออัลลอฮ์ ให้มากๆ และขอให้มีระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดเท่าที่จะนานได้ ตราบเท่าช่วงอายุไขของท่าน พระองค์ประทานเนียะมะห์ อย่างไม่มีที่สิ้นสุดแล้ว บางครั้งพระองค์จะให้เกิดภัยพิบัติ หรือความทุกข์ต่อพวกเราได้เช่นกัน

 

          ทั้งนี้พระองค์มีเป้าประสงค์ให้คนเราสำนึกได้ว่า เราอย่าได้หยิ่งทะนงตน เราอย่าได้ลืมในสิ่งที่อัลลอฮ์ ประทานให้กับเรา เราะห์มัต นั้นมีมากมาย มีมาอยู่ตลอดเวลา ครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่าง ในขณะที่ภัยพิบัติจะมีมาบ้างเป็นบางเวลาเท่านั้น

อัลลอฮ์ ทรงกล่าวไว้ในคัมภีร์อัลกุรอาน สรุปความว่า

 

     “อัลลอฮ์กล่าวถึงเรื่องการลงโทษของพระองค์นั้น มักจะประสบกับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ แต่ว่าความเมตตาปราณีของพระองค์นั้นกว้างขวางทั่วทุกสิ่ง ซึ่งพระองค์จะกำหนดให้แก่บรรดาผู้ที่ยำเกรงต่อพระองค์ ผู้ที่จ่ายซะกาต และแก่บรรดาผู้ศรัทธาต่อโองการทั้งหมดของพระองค์

 

คำว่า สุจริตธรรม เป็นคำนามที่มีความหมายว่า ความประพฤติชอบ 

ส่วนคำว่า สุจริตใจ เป็นคำวิเศษณ์ หมายถึง การบริสุทธิ์ใจ จริงใจ 

 

           และความหมายจาก 2 คำศัพท์นี้ รวมอยู่ในศัพท์ภาษาอาหรับว่า อัลอะมานะห์ และ อัลอิคลาศ ซึ่งมีความหมายว่า การให้และรักษาสิทธิ์โดยสมบูรณ์ ทั้งสิทธิ์ของ อัลลอฮ์ ในการปฏิบัติศาสนกิจ และควบคุมทุกอวัยวะมิให้ล่วงล้ำสู่การต้องห้าม และสิทธิ์ของผู้อื่นที่ต้องคืนให้เจ้าของสิทธ์อย่างครบถ้วน 

 

          นอกจาก อัลลอฮ์ จะทรงบัญชาให้การปฏิบัติตามสิทธิ์ของตนและคืนสิทธิ์แก่เจ้าของสิทธิ์โดยสุจริตธรรมแล้ว ท่าน ร่อซูลุ้ลลอฮ ยังใช้ความสุจริตธรรมเป็นตัวชี้วัดความศรัทธาของรายบุคคลด้วย โดยท่านได้กล่าวว่า

 

ايمان لمن لا أمانة له [احمد] لا

 

ไม่ถือว่ามีศรัทธาอันสมบูรณ์ สำหรับผู้ที่ไม่มีความสุจริตธรรม

( รายงานโดยท่าน อะห์มัด)

 

          การมีสุจริตธรรม เป็นคุณธรรมและพื้นฐานสำคัญของอิสลาม ซึ่งต้องมีอยู่ในทุกกระบวนท่าของการดำรงชีพในโลกนี้ สำหรับศรัทธาชนที่แท้จริง เพราะสุจริตธรรมมีหลากหลาย ซึ่งจะขอนำเสนอบางตัวอย่าง ดังนี้

 

  •  สุจริตธรรมต่อศาสนกิจ 

 

          โดยปกติของมุสลิมต้องมีหน้าที่ปฏิบัติสิทธิของศาสนกิจ ต้องดำรงการละหมาด ถือศีลอด กตัญญูต่อบิดามารดา เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ถือเป็นภารกิจที่ อัลลอฮ์ ทรงมอบหมายไว้ จึงจำเป็นต้องคืนสิทธิ์อันบริบูรณ์แก่พระองค์

 

  •  สุจริตธรรมต่อร่างกาย 

 

          มุสลิมต้องระวังรักษาอวัยวะทุกส่วน ให้ถูกใช้ไปตามสิทธิ์อันชอบธรรมของมัน มิให้มันตกอยู่ในการต้องห้าม ดังนั้น ตา ต้องไม่ใช้มองสิ่งต้องห้าม หู ต้องไม่ใช้ฟังสิ่งไร้สาระและเป็นบาป มือ ต้องไม่ทำการสิ่งที่ผิดหลักการศาสนา ปาก ต้องไม่ใช้เพื่อการโกหก ให้การเป็นพยานเท็จและให้ร้ายผู้อื่น และ เท้า ต้องไม่ย่างกรายไปสู่การทำชั่ว เป็นต้น

 

  •  สุจริตธรรมต่อของฝาก 

 

          เมื่อมีผู้ไว้วางใจฝากของไว้ มุสลิมมีหน้าที่ดูแลรักษาของฝากนั้น มิให้บกพร่องหรือสูญหาย และต้องคืนของนั้นให้ครบถ้วนแก่ผู้เป็นเจ้าของ ดังตัวอย่างที่ ท่าน ร่อซูลุ้ลลอฮ ปฏิบัติต่อพวกมุชริกีน มักกะห์ ซึ่งพวกเขาเชื่อมั่นในความซื่อสัตย์สุจริตของ ท่าน ร่อซูลุ้ลลอฮ จึงได้ฝากของไว้เป็นจำนวนมาก และเมื่อท่าน ร่อซูลุ้ลลอฮ จำเป็นต้องอพยพไปเมืองมาดีนะห์ อย่างกะทันหัน ท่าน ร่อซูลุ้ลลอฮ จึงขอให้ท่านอะลี รอฏิยัลลอฮอันฮฺ อยู่ที่มักกะห์ก่อน เพื่อสะสางจัดคืนของฝากอันเป็นสิทธิ์ของชาวมักกะห์ แก่เจ้าของเสียก่อน

 

  •  สุจริตธรรมต่อคำพูด 

 

          คำพูดของเราเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งการที่เราจะรู้ว่า ใครดี หรือใครเลว อาจดูได้จากคำพูด มีสุภาษิตไทยกล่าวไว้ว่า สำเนียงส่อภาษา กิริยาส่อสกุล   อัลลอฮ์ ทรงกล่าวเป็นอุทาหรณ์ ในซูเราะห์ سورة إبراهيم อายะห์ที่ 24 ว่า

 

أَلَمْ تَرَ كَيْفَ ضَرَبَ اللَّهُ مَثَلًا كَلِمَةً طَيِّبَةً كَشَجَرَةٍ طَيِّبَةٍ أَصْلُهَا ثَابِتٌ وَفَرْعُهَا فِي السَّمَاءِ (24

 

ท่านเห็นแล้วมิใช่หรือ อัลลอฮ์ ทรงยกตัวอย่างคำพูดที่ดี เปรียบเสมือนต้นไม้ที่ดี

ที่รากของมันหยั่งลึกยึดแน่นมั่นคง และยอดของมันสูงชะลูดสู่ชั้นฟ้า

 

และพระองค์ได้กล่าวอีกในซูเราะห์ سورة إبراهيم อายะห์ที่ 26 ว่า

 

وَمَثَلُ كَلِمَةٍ خَبِيثَةٍ كَشَجَرَةٍ خَبِيثَةٍ اجْتُثَّتْ مِنْ فَوْقِ الْأَرْضِ مَا لَهَا مِنْ قَرَارٍ (26)

 

คำพูดที่เลว เปรียบเสมือนต้นไม้ที่เหี่ยวเฉา ซึ่งมีแต่ถูกถอนทิ้งจากพื้นดิน ไม่มีที่ยึด ที่มั่นคง

 

  •  สุจริตธรรมในการทำงาน 

 

          อิสลามใช้ให้เอาสุจริตธรรมไปใส่ไว้ในการทำงานด้วย ผู้มีหน้าที่การงานที่ต้องปฏิบัติ เขาต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด รับผิดชอบงานในหน้าที่อย่างเคร่งครัด มีความซื่อสัตย์สุจริตในหน้าที่ นักเรียนนักศึกษา ต้องทำหน้าที่การเรียนอย่างขยันขันแข็ง ไม่ทุจริตในการสอบ และต้องเชื่อฟังให้ความเคารพต่อครูบาอาจารย์ และบิดามารดา

          ดังนั้น การทำงานทุกอย่างโดยสุจริตที่มีแต่คนไว้วางใจ และขอพรให้ย่อมได้ดีมีแต่จำเริญ ทุกภาระหน้าที่ นอกจากจะมีการตรวจสอบจากหัวหน้างานแล้ว ทุกงานจะต้องได้รับการตรวจสอบจากอัลลอฮ์ ด้วย 

ท่าน ร่อซูลุ้ลลอฮ ได้กล่าวว่า

ทุกๆคนมีหน้าที่รับผิดชอบ และทุกๆคน จะต้องถูกสอบสวนในหน้าที่นั้น

พวกท่านทั้งหลาย ล้วนมีหน้าที่รับผิดชอบ และต้องตรวจสอบในหน้าที่นั้นๆ 

ดังนั้นผู้นำที่ปกครองปวงชน เขาก็จะถูกสอบสวน สิ่งที่เกี่ยวกับปวงชน 

สามีมีหน้าที่รับผิดชอบต่อครอบครัวของเขา เขาต้องถูกสอบสวนเกี่ยวกับครอบครัวของเขา 

ภรรยามีหน้าที่รับผิดชอบดูแลบ้านและลูกๆ เธอจะต้องถูกสอบสวนในหน้าที่ของเธอด้วย และ

คนรับใช้ก็มีหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของนายจ้าง เขาจะต้องถูกสอบสวนในหน้าที่ของเขาด้วย 

ดังนั้นพวกท่านทุกคนมีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ และพวกท่านจะต้องถูกสอบสวนต่อหน้าที่การงานที่ท่านรับผิดชอบ

 

  •  สุจริตธรรมในการค้าขาย 

 

          การค้าขายก็ต้องนำเอาหลักสุจริตธรรม สอดแทรกเข้าไปด้วย การค้าขายต้องมีการเกี่ยวข้องกับหมู่คนจำนวนมาก จึงต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่เอาเปรียบคดโกงลูกค้า การไม่สุจริตในการค้าขาย นอกจากจะเป็นการทำลายระบบเศรษฐกิจแล้ว ยังถือเป็นบาป ความผิดที่จะต้องถูกชดใช้ในโลกหน้าอีกด้วย

 

          ท่าน ร่อซูลุ้ลลอฮ เดินไปตามท้องตลาด เห็นพ่อค้าคนหนึ่ง นำสินค้ามาตั้งเป็นกองๆ ท่านเอามือของท่านล้วงไปใต้กองสินค้านั้น ปรากฏว่าสินค้านั้นเปียกแฉะ 

ท่าน ร่อซูลุ้ลลอฮ ถามคนขายว่า นี่มันอะไรกัน

คนขายตอบว่า มีฝนตกลงมาทำให้สินค้านี้เปียก 

ท่าน ร่อซูลุ้ลลอฮ จึงถามเชิงตำหนิว่า แล้วท่านทำไมไม่เอามันมากองให้ผู้คนได้เห็นชัดๆเล่า

พลางท่านกล่าวต่อไปอีกว่าผู้ที่หลอกลวง ไม่นับเป็นพวกของฉัน

 

 

คุตบะห์วันศุกร์ มัสยิดท่าอิฐ