พึงระวังทรัพย์สินที่ต้องห้าม
  จำนวนคนเข้าชม  3067

 

พึงระวังทรัพย์สินที่ต้องห้าม 

 

อิสมาอีล กอเซ็ม

 

มวลการสรรเสริญเป็นเอกสิทธิ์ของอัลลอฮฺผู้อภิบาลแห่งสากลโลก 

 

          อิสลามส่งเสริมให้มุสลิมทำการประกอบอาชีพที่ซื่อสัตย์สุจริต และให้ทำการบริโภคในสิ่งที่ดีๆ

     อัลลอฮฺตาอาลาได้ตรัสไว้ว่า 

 

يَا أَيُّهَا الرُّسُلُ كُلُوا مِنَ الطَّيِّبَاتِ وَاعْمَلُوا صَالِحًا ۖ إِنِّي بِمَا تَعْمَلُونَ عَلِيمٌ (51)

 

โอ้ บรรดาร่อซูลเอ๋ย ! พวกเจ้าจงบริโภคส่วนที่ดี (ฮะล้าล)

และจงกระทำความดีเถิดเพราะแท้จริง ข้ารอบรู้สิ่งพวกเจ้ากระทำ

(ซูเราะหฺอัลมุมินูน 51 )

 

فَكُلُوا مِمَّا غَنِمْتُمْ حَلَالًا طَيِّبًا ۚ وَاتَّقُوا اللَّهَ ۚ إِنَّ اللَّهَ غَفُورٌ رَّحِيمٌ ( 69 ) 

 

ดังนั้น พวกเจ้าจงบริโภคสิ่งอนุมัติที่ดีจากสิ่งที่พวกเจ้าได้มาจากการทำศึก

และพึงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นคือผู้ทรงอภัยโทษผู้ทรงเอ็นดูเมตตา

(อัลอันฟาล 69)

 

فَكُلُوا مِمَّا رَزَقَكُمُ اللَّهُ حَلَالًا طَيِّبًا وَاشْكُرُوا نِعْمَتَ اللَّهِ إِن كُنتُمْ إِيَّاهُ تَعْبُدُونَ ( 114 ) 

 

     “พวกเจ้าจงบริโภคในสิ่งที่อัลลอฮ์ประทานปัจจัยยังชีพแก่พวกเจ้า ซึ่งเป็นที่อนุมัติที่ดี และพวกเจ้าจงขอบคุณต่อความโปรดปรานของอัลลอฮ์ หากพวกเจ้าเคารพภักดีเฉพาะพระองค์เท่านั้น

(ซูเราะห์ อัลนะหฺล 114)

 

          นี่คือคำสั่งของอัลลอฮฺที่ได้ใช้แก่บรรดารอซูลของพระองค์ ให้ทำการบริโภคสิ่งที่ดีๆ ที่ศาสนาได้อนุมัติให้รับประทาน และรับประทานอาหารจากการแสวงหามาด้วยกับความถูกต้อง ไม่ได้ไปทำสิ่งที่ไม่ดี จนกลายเป็นรายได้นำมาใช้จ่ายและบริโภค 

 

          ซึ่งบรรดานบีและรอซูลของอัลลอฮฺต่างระวังในการบริโภคในสิ่งที่หะรอม และระวังจากการประกอบอาชีพที่หะรอมที่เป็นแหล่งที่มาของรายได้ เช่น การทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ย หรือการค้าขายสิ่งที่ศาสนาห้าม เช่น การขายเหล้า ยาเสพติดชนิดต่างๆ และอีกมากมายที่เป็นอาชีพที่ศาสนาได้ห้าม หรือการโกงทรัพย์สินของผู้อื่นมาเป็นทรัพย์สินของตัวเอง และนำทรัพย์สินที่หะรอมนั้นมาขยายประกอบธุรกิจจนเป็นที่มาของรายได้ หรือทรัพย์ที่ได้มาจากการโกงกินทรัพย์สินของเด็กกำพร้า โกงตราชั่งในการทำการค้า หรือยักยอกทรัพย์สินผู้อื่นมาเป็นของตัวเอง และอีกมากมายที่เป็นรูปแบบของการแสวงหาทรัพย์สินที่หะรอม

 

          การบริโภคหรือใช้สอยในทรัพย์สินที่หะรอมนั้น จะทำให้ชีวิตมีปัญหามากมาย จิตใจแข็งกระด้าง ห่างไกลการรำลึกถึงอัลลอฮฺ และคำวิงวอนที่ขอต่อพระองค์จะไม่ถูกตอบรับ ดังนั้นในยุคหนึ่งผู้คนจะไม่สนใจว่าทรัพย์สินที่ได้มา จะได้มาอย่างไร ขออย่างเดียวให้แค่ได้มาซึ่งทรัพย์สิน เช่น รัฐบาลมีนโยบายจะแจกเงินแก่คนที่รายได้ต่ำ แต่มีคนจำนวนหนึ่งไม่ได้อยู่ในจำพวกของบุคคลที่รายได้ต่ำ แต่ได้ทำข้อมูลเท็จแจ้งว่าตัวเองเป็นผู้หนึ่งที่รายได้ต่ำ และก็ได้รับบัตรสวัสดิการคนที่มีรายได้น้อย การกระทำเช่นนั้นก็เข้าข่ายการได้มาซึงทรัพย์สินที่หะรอม หรือการฉ้อโกงในการซื้อขาย หรือการสร้างเอกสารเท็จแล้วฟ้องไปยังศาลเพื่อต้องการชนะคดีความแล้วศาลตัดสินให้ทรัพย์นั้นเป็นของเขา โดยที่เขาก็รู้ดีว่าไม่ใช่ของเขา หรือการเอาของสาธารณะมาครอบครองเป็นของตัวเอง หรือการรับเงินจากการทำอิบาดะหฺ โดยที่ไม่มีที่มาจากศาสนา และอีกมากมายของการเอาทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิชอบธรรม

 

وَلَا تَأْكُلُوا أَمْوَالَكُم بَيْنَكُم بِالْبَاطِلِ وَتُدْلُوا بِهَا إِلَى الْحُكَّامِ لِتَأْكُلُوا فَرِيقًا مِّنْ أَمْوَالِ النَّاسِ بِالْإِثْمِ وَأَنتُمْ تَعْلَمُونَ (188) 

 

     “และพวกเจ้าจงอย่ากินทรัพย์ สมบัติของพวกเจ้า ระหว่างพวกเจ้าโดยมิชอบ และจงอย่าจ่ายมัน ให้แก่ผู้พิพากษา เพื่อที่พวกเจ้าจะได้กินส่วนหนึ่งจากทรัพย์สินสมบัติของผู้อื่น ด้วยการกระทำสิ่งที่เป็นบาป ทั้งๆ ที่พวกเจ้ารู้กันอยู่

(อัลบะเกาะเราะฮฺ 188)

 

สาเหตุที่บุคคลแสวงหาทรัพย์สินที่หะรอม

 

1. ไม่เกรงกลัวและละอายต่ออัลลอฮฺ

 

          ความเกรงกลัวและละอายต่ออัลลอฮฺ คือสาเหตุที่จะทำให้คนเราไม่เข้าใกล้สิ่งที่หะรอม ท่านนบีได้กล่าวไว้ในหะดีษหนึ่ง

 

عنْ عَبْدِ اللهِ بْنِ مَسْعُودٍ ، قَالَ : قَالَ رَسُولُ اللهِ صلى الله عليه وسلم:اسْتَحْيُوا مِنَ اللهِ حَقَّ الْحَيَاءِ ، قَالَ : قُلْنَا : يَا رَسُولَ اللهِ ، إِنَّا نَسْتَحْيِي وَالْحَمْدُ ِللهِ ، قَالَ : لَيْسَ ذَاكَ ، وَلكِنَّ الاِسْتِحْيَاءَ مِنَ اللهِ حَقَّ الْحَيَاءِ : أَنْ تَحْفَظَ الرَّاْسَ وَمَا وَعَى ، وَالْبَطْنَ وَمَا حَوَى ، وَلْتَذْكُرِ الْمَوْتَ وَالْبِلَى ، وَمَنْ أَرَادَ الآخِرَةَ تَرَكَ زِينَةَ الدُّنْيَا ، فَمَنْ فَعَلَ ذلِكَ ، فَقَدِ اسْتَحْيَا مِنَ اللهِ حَقَّ الْحَيَاءِ. أخرجه أحمد 1/387(3671) ( الترمذي 4/567 ) . قال الألباني : حديث حسن ، الروض النضير ( 601 ) ، المشكاة ( 1608 ) .

 

     มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนู มัสอูด ท่านได้กล่าวว่า 

     ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้กล่าวว่า พวกเจ้าจงละอายต่ออัลลอฮฺ เป็นการละอายอย่างแท้จริง 

     อิบนูมัสอูดได้กล่าว พวกเราได้ละอายอยู่แล้ว โอ้ ท่านรอซูลุลลอฮฺ แท้จริงเราต่างมีความละอาย อัลหัมดูลิลลาฮฺ 

     ท่านรอซูลกล่าวว่า ไม่ใช่ละอายแบบนั้น แต่ความละอายต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง ก็คือ

การที่ท่านรักษาศีรษะและสิ่งที่อยู่กับศีรษะ

และรักษาท้องและสิ่งที่อยู่กับท้อง

และจงรำลึกถึงความตายและการสูญสลาย

และใครต้องการโลกหน้า เขาจะละทิ้งสิ่งประดับประดาของโลกนี้

ใครสามารถกระทำตามที่กล่าวมาได้ แท้จริงเขาเป็นผู้ที่มีความละอายต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง

(บันทึกโดย อิหม่ามอะหมัด 1/387 (3671) อัตติรมีซีย์ 4/567 ท่านเชค อัลอัลบานีย์ได้กล่าวว่า สถานะหะดีษนี้อยู่ในระดับดี อัรเราเฎาะอันนะฎีร (601) อัลมิชกาฮฺ (1608)

 

     หะดีษนี้ท่านรอซูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮูอะลัยอิวะสัลลัม ได้อธิบายความหมายของความละอาย ก็คือ

     การรักษาศีรษะและที่อยู่กับศีรษะ ลิ้น ตา หู และอื่นจากนี้ ไม่ให้ไปกระทำในสิ่งที่อัลลอฮฺได้ห้าม ไม่ว่าการมอง การฟัง การกินดื่ม 

     และให้รักษาท้องและสิ่งที่อยู่กับท้อง คือ อวัยวะเพศ ไม่ให้ไปกระทำสิ่งที่ผิดประเวณี หรือท้องของเราต้องไมบริโภคสิ่งที่ศาสนาได้ห้ามเข้าไปในท้องของเรา 

     มือทั้งสอง เท้าทั้งสอง หัวใจ ซึงอวัยวะเหล่านี้คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับท้องที่เราจะรักษามัน ไม่ให้ไปทำสิ่งที่หะรอม หากเรารักษามันไม่ให้ไปยุ่งเกี่ยวกับสิ่งที่หะรอมนั่นคือการมีความละอายต่ออัลลอฮฺอย่างแท้จริง

 

2. อย่าอยากได้ทรัพย์สินมาครอบครองแบบรวดเร็วจึงยอมกระทำสิ่งที่หะรอม 

 

3. ไม่มีความสมถะ ไม่รู้จักพอเพียง มีความละโมบ จนเป็นเหตุให้กระทำสิ่งที่ต้องห้ามและแสวงหารายได้ที่มาจากสิ่งที่ต้องห้าม 

 

4. ขาดความรู้ความเข้าใจในบทบัญญัติของอัลลอฮฺ และไม่รู้ถึงผลลัพธ์ที่เลวร้ายจากการแสวงหาทรัพย์สินที่ได้มาจากสิ่งที่หะรอม ไม่ว่าความเลวร้ายที่จะเกิดขึ้นในโลกนี้และโลกหน้า 

 

          ดังนั้นบรรดาผู้ศรัทธาต้องตรวจสอบอาชีพ การงานที่เราได้มาซึ่งทรัพย์สินว่าได้มาโดยชอบธรรมหรือไม่ หรือให้ตรวจสอบสิ่งที่เราจะบริโภคเข้าไปว่าเป็นสิ่งที่ศาสนาห้ามหรือไม่ เพื่อให้เราเป็นผู้ที่ได้รับความจำเริญจากอัลลอฮฺทั้งโลกนี้ และโลกหน้า