ผู้รู้ที่สมควรได้รับเกียรติ...
  จำนวนคนเข้าชม  10198

 

ผู้รู้ที่สมควรจะได้รับเกียรติ


โดย ...อุมมุ อุ้ลยา

 

 “แท้จริงสำหรับผู้มีความรู้ สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในชั้นฟ้าและแผ่นดิน แม้กระทั่งปลาที่อยู่ในน้ำ จะขออภัยโทษให้แก่เขา ,

แท้จริงผู้มีความรู้นั้น คือมรดกของบรรดาศาสดา , บรรดาศาสดาหาได้ทิ้งมรดกไว้เป็นเหรียญทองหรือเหรียญเงินไม่

หากแต่พวกท่านได้ทิ้งวิชาความรู้ไว้เป็นมรดก ดังนั้นใครที่ได้รับความรู้ ก็เท่ากับได้รับส่วนได้อย่างสมบูรณ์” 

(อัลฮะดีส)


          บทบาทอาชีพอันเป็นความหวัง เป็นที่พึ่งของสังคมในการพัฒนาศักยภาพบุคคล อบรมบ่มนิสัย และประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้ คงหนีไม่พ้นคำว่า ”ครู” คำๆนี้มีความหมาย และมีบทบาทมากมายต่อการทำนุบำรุงและรักษาสังคมมนุษย์


          อิสลามให้การยกย่องผู้มีความรู้และผู้แสวงหาความรู้ ผู้มีความรู้เปรียบเสมือนผู้สืบสายมรดกจากบรรดานบี  ฐานะตำแหน่งของผู้รู้ในอิสลามจึงมีคุณค่า และมีเกีรยติ ณ ที่พระองค์   แต่ผู้สมควรจะได้รับเกียรติ แห่งการสืบสายมรดกนี้ จะเป็นใครก็ได้ที่มีเพียงกระดาษแผ่นเดียวรับรองคุณวุฒิเท่านั้นหรือ ? แน่นอนนั่นไม่ใช่มาตรวัดความรู้ในระบอบอิสลาม เพราะอิสลามมีมาตรฐานรับรองอาชีพนี้ที่เหนือกว่า เข้มข้นกว่า และมีประสิทธิภาพกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้         


          ครูที่แท้ อย่างที่อิสลามเรียกร้อง ต้องมี “อิคลาศ” มีความบริสุทธิ์ใจ บริสุทธิ์ใจในการทำงานเพื่ออัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตาอาลา ไม่ใช่เพื่อเงินทอง เกียรติยศ ชื่อเสียง หรือต้องการเป็นที่ยกย่อง นับหน้าถือตาในสังคม การงานที่เริ่มต้นด้วยตั้งมั่นในใจว่าเพื่อพระองค์ เพื่อความพอพระทัยของพระองค์ย่อมไม่สูญเปล่า แม้จะไม่มีใครในสังคมที่มองเห็นคุณค่าเลยก็ตาม           

          ครูที่แท้ ต้องมี “ตักวา” ยำเกรงต่ออัลลอฮ์ เพราะความยำเกรงเท่านั้นที่จะทำให้บุคคลมีความรู้ ความเข้าใจในศาสนาของพระองค์

 อัลลอฮ์ ซุบฮานะฮูวะตะอาลา ตรัสว่า       

 "และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮ์เถิด และอัลลอฮ์จะทรงสอนพวกเจ้า" 

( อัล-บะกอเราะฮฺ 2:282 ) 


          ความยำเกรงจะหักห้ามบุคคล มิให้เข้าใกล้ความผิดและสิ่งที่เข้าข่ายความผิด ทำนองเดียวกันวิชาความรู้จากพระองค์จะไม่อยู่ร่วมกับการกระทำที่ฝ่าฝืนพระองค์เช่นกัน         

          ท่านมุญาฮิด บิน ญับรฺ ร่อฮิมะฮุ้ลลอฮ เคยบอกเราไว้ว่า

          “ คนที่มีความเข้าใจในศาสนา คือคนที่เกรงกลัวอัลลอฮ์ ตะอาลา ถึงแม้เขาจะไม่ได้มีความรู้มากมาย แต่คนที่โง่เขลา คือคนที่ทำการฝ่าฝืนพระองค์ ถึงแม้เขาจะมีความรู้ท่วมหัวก็ตาม ”            

 

          อิสลามไม่ได้มองว่าหน้าที่การเป็นครู คือการสื่อความรู้ผ่านทางภาษาเท่านั้น แต่ความรู้ที่มาจากการกระทำถือเป็นตัวอย่าง และ สื่อการสอนที่ดีที่สุด ครูจึงต้องเป็นผู้รักษาบทบาทหน้าที่การเป็นครู  หน้าที่ของผู้รับมรดกศาสดา ด้วยการประพฤติตนให้สมกับตำแหน่งที่มีเกียรตินี้  ร้อยคำพูดจึงไม่มีความหมายหากไม่สามารถสะท้อนออกมาในการกระทำ ดังนั้นการกระทำของผู้ทำหน้าที่ให้ความรู้จึงต้องไม่ขัดแย้งกับสิ่งที่ตนพร่ำสอน ความรู้จะมีประโยชน์ได้อย่างไร จะสามารถเปลี่ยนแปลง แนะนำศิษย์ได้อย่างไร หากผู้เป็นครูไม่สามารถนำความรู้มาเปลี่ยนแปลงตัวครูเอง?!  


 

" พวกเจ้า กำชับคนอื่นให้ปฏิบัติตามคุณธรรม แต่สูเจ้า กลับลืมตัวเองกระนั้นหรือ

ทั้งๆที่พวกเจ้าอ่านคัมภีร์ แล้วพวกเจ้ายังไม่ใช้ปัญญาอีกหรือ "

( อัล-บะกอเราะฮฺ 2:44 )


          ผู้ที่เพียรบอกทางคนอื่นทั้งๆที่ตนไม่อาจมองเห็นทางข้างหน้า ก็คงไม่ต่างจากแพทย์ที่เยียวยาคนไข้ทั้งๆที่ตนยังเจ็บป่วย ถ้อยคำที่ใช้เพียงปลายลิ้นสื่อความหมาย แต่ไม่ถูกกลั่นกรองจากหัวใจ ก็คงไม่ต่างอะไรกับเสียงที่ได้ยินผ่านปลายหูและลาจากไปเช่นกัน           


          อมานะฮ์(ความรับผิดชอบ) อันยิ่งใหญ่ของครู จึงไม่ใช่แค่การส่งศิษย์ให้ถึงฝั่งเท่านั้น แต่อมานะฮฺที่จำเป็นของครูคือการตรวจสอบตนเองอยู่เสมอ วัดมาตรฐานตัวเองด้วยมาตรวัดอันบริสุทธิ์ของอิสลาม เพื่อให้สมกับเกียติของผู้รู้ ในฐานะผู้สืบทอดมรดกศาสดาอย่างแท้จริง

 


"