อิสลามกับระบบการศึกษา
  จำนวนคนเข้าชม  70758

อิสลามกับระบบการศึกษา


                       เรียบเรียงโดย อ.มัสลัน มาหะมะ

        การศึกษาในอิสลามไม่ใช่แค่การถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์หรือทักษะจากชนรุ่นหนึ่งไปยังชนอีกรุ่นหนึ่ง แต่ในอิสลามการศึกษามีความหมายที่กว้างและครอบคลุมทุกด้าน  การศึกษาเป็นกระบวนการอบรมและบ่มเพาะสติปัญญา  ร่างกายและจิตวิญญาณ  เพื่อผลิตมนุษย์ที่สมบูรณ์ 

 การศึกษาในอิสลามจะมีความหมายที่ครอบคลุมดังต่อไปนี้

 1. ตัรบียะฮ์  หมายถึง  การอบรม  การขัดเกลาจิตใจ

 2. ตะอ์ลีม  หมายถึง  การถ่ายทอดความรู้  รวมถึงความรู้ทางศาสนาและความรู้ทางโลก

 3. ตะอ์ดีบ  หมายถึง  การอบรมบ่มนิสัยให้มีคุณธรรม  จริยธรรมและมีระเบียบวินัย

จากคำนิยามข้างต้น จะพบว่าการศึกษาในอิสลามมีลักษณะเฉพาะดังนี้

1. เป็นการศึกษาตลอดชีพ

2. เป็นการพัฒนาทุกส่วนของความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าด้านวิญญาณ  สติปัญญา  ร่างกายและสังคม

3. เป็นการสนองตอบวัตถุประสงค์ของการสร้างมนุษย์ คือเพื่อเป็นบ่าวของอัลลอฮ์และเป็นตัวแทนของพระองค์บนผืนแผ่นดิน

4. ทำให้สมาชิกของสังคมมีคุณธรรมและจริยธรรม มีความเจริญรุ่งเรือง


 เป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการศึกษา

บุรฮานุดดีน อัล ซัรนูญี กล่าวว่าการศึกษาในอิสลามมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1. แสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮ์

2. เพื่อชีวิตในอนาคต

3. ขจัดความไม่รู้

4. พิทักษ์รักษาศาสนา และ การคงอยู่ของอิสลาม

อัลเฆาะซาลี กล่าวว่าการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งอัคลาก(จริยธรรม)ที่ดี และเพื่อขจัดความไม่รู้

อิบนุ คอลดูน กล่าวว่าการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อ

1.ให้นักเรียนสามารถวางแผนที่จะตอบสนองความต้องการของสังคม

2. แสวงหาความรู้เพิ่มเติมที่อยู่เหนือความรู้ที่ได้มาจากประสาทสัมผัส

3. พัฒนาบุคลิกนิสัยให้สอดคล้องกับศาสนา  เพราะจะทำให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างสงบสุข
 
4. ให้นักเรียนมั่นใจกับวิถีการดำเนินชีวิต 

ซัยยิดนากิบ อัลอัตตาส กล่าวว่าการศึกษามีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตกัลญาณชน มนุษย์ที่ดีมีคุณธรรม(ศอลิห)นั้นคือบุคคลที่มีจรรยามารยาทอันงดงาม(อะดับ)

หะสัน ลังกุลง กล่าวว่าการศึกษามีเป้าหมายเพื่อผลิตบ่าวที่เคารพภักดีต่อพระองค์อัลลอฮ์  ในขณะเดียวกันแต่ละศาสตร์จะมีวัตถุประสงค์เฉพาะ ที่ผู้ศึกษาต้องบรรลุให้เกิดความเชี่ยวชาญในศาสตร์นั้นๆ

มูฮัมมัด อะฏียะฮ กล่าวว่าเป้าหมายแรกและเป้าหมายสูงสุดของการศึกษาอิสลามคือการขัดเกลาทางศีลธรรมและการอบรมทางจิตวิญญาณ ท่านมีทัศนะว่าจริยธรรมทางศาสนาเป็นอุดมการณ์ เป็นจริยธรรมที่สมบูรณ์และลักษณะอันสูงส่งนี้เป็นพื้นฐานของการศึกษาในอิสลาม

อับดุลลอฮ์  นะศิห อุลวาน ได้กล่าวไว้ในหนังสือ (تربية الأولاد) ว่าการให้การศึกษาต้องครอบคลุมด้านต่างๆ เช่น ด้านความศรัทธา  จริยธรรม  สรีระ  สติปัญญา และสังคม  สรุปแล้วการศึกษาที่สมบูรณ์ตามทัศนะของอับดุลลอฮ์  นะศิห อุลวานนั้นต้องครอบคลุม 4  ด้าน  คือ ด้านสรีระ  จิตใจ  สติปัญญา  และสังคม  

 สะฟัร อาลัม กล่าวว่าการศึกษามีเป้าหมายเพื่อ

1.ให้บุคคลได้ทำอิบาดะฮ์(เคารพภักดี)ต่อค์อัลลอฮ์  ดังเป้าหมายของการสร้างมนุษย์และญินดังดำรัสของอัลลอฮ์  ในอัลกุรอานความว่า

“และข้า (อัลลอฮ์) มิได้สร้างญินและมนุษย์เพื่ออื่นใด เว้นแต่ให้เคารพภักดีข้า”  (อัลกุรอาน51: 56)

2. เพื่อสร้างประชาชาติ(อุมมะฮ์)ที่ดี ดังดำรัสของอัลลอฮ์  ความว่า

“พวกเจ้านั้นเป็นประชาชาติที่ดียิ่งซึ่งถูกให้อุบัติขึ้นสำหรับมนุษยชาติโดยที่พวกเจ้าใช้ให้ปฏิบัติสิ่งที่ชอบ และห้ามมิให้ปฏิบัติสิ่งที่มิชอบ” (อัลกุรอาน 3 :110)

 3. เพื่อปลูกฝังคุณค่าของอิสลามในตัวมนุษย์

4. เพื่อชี้นำแนวทางที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับมุสลิม และการขอให้อัลลอฮ์  ทรงชี้แนวทางที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่มุสลิมวอนขออยู่เป็นกิจวัตรในทุกครั้งที่เขาละหมาด

         เป้าหมายที่ได้เสนอไว้ในการประชุมเกี่ยวกับการศึกษาอิสลามครั้งแรกที่เมืองเจดดะฮ์  ประเทศซาอุดิอารเบียในปีค.ศ. 1977  ได้เสนอว่า เพื่อการเจริญเติบโตทางบุคลิกภาพของมนุษย์ที่มีความสมดุล  โดยการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ  สติปัญญา  เหตุผล  ความรู้สึกและประสาทสัมผัส  การศึกษาของประเทศมุสลิมควรมุ่งเน้นให้มนุษย์เจริญเติบโตในทุก ๆ ด้าน  เช่น  ด้านจิตวิญญาณ  สติปัญญา  การจินตนาการ  สรีระ  วิทยาศาสตร์  ภาษาศาสตร์   ทั้งบุคคลและส่วนรวม  พร้อมทั้งโน้มน้าวและชักจูงเข้าสู่พระผู้เป็นเจ้า  เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาคือการมอบหมายต่ออัลลอฮ์  ทั้งในระดับบุคคล  สังคมและมนุษยชาติ   จากความหมายดังกล่าว การให้การศึกษาที่แท้จริงจะต้องทำให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการที่สมดุลในทุกด้าน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือเพื่อผลิตมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย  สังคม จิตใจ  วิญญาณ  และสติปัญญา 

          โดยสรุปแล้ว เป้าหมายของการศึกษาในอิสลามนั้นมีมากมาย แต่เป้าหมายสูงสุดของการศึกษาอิสลามคือการสร้างมนุษย์เพื่อการเคารพภักดี(อิบาดะฮ์)และการเป็นผู้แทน(เคาะลีฟะฮ์)ของพระองค์บนผืนแผ่นดิน การที่มนุษย์จะเป็นบ่าวที่เคารพภักดีต่ออัลลอฮ์และเป็นเคาะลีฟะฮ์ได้ ต้องเป็นมนุษย์ที่ศอลิห และสิ่งสำคัญที่จะทำให้มนุษย์เป็นบ่าวที่ดีของพระองค์นั้นคืออิสลาม การที่จะรู้จักและเข้าใจอิสลามต้องอาศัยการศึกษาเท่านั้น


หลักสูตรการศึกษาอิสลาม

 หลักสูตรของการศึกษาอิสลามมีลักษณะโดยสรุปดังนี้

1. เกี่ยวข้องกับการศรัทธาในความเอกภาพของอัลลอฮ์ (เตาฮีด) 

2. เกี่ยวเนื่องกับศาสนา

3. มีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนมนุษย์

4. สอดคล้องกับทุกชีวิตบนผืนแผ่นดิน


ระบบการศึกษาอิสลาม

           ในปัจจุบันประเทศมุสลิมส่วนใหญ่มีระบบการศึกษาอยู่สองระบบที่ได้รับความนิยมอย่างมาก  ทั้งสองระบบวางอยู่บนพื้นฐานปรัชญาที่ต่างกัน เป้าหมายทางการศึกษาจึงแตกต่างกันโดยปริยาย ระบบการศึกษาทั้งสองนี้คือ

(1) ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม  (Traditional System) 

(2) ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่  (Modern System)

         ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิม หรืออาจเรียกว่า“ระบบการศึกษาศาสนา (Religious System)"  การศึกษาในระบบนี้จะเน้นหนักในเรื่องศาสนา โดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนศรัทธาต่ออัลลอฮ์ ด้วยความบริสุทธิ์ใจและนำศาสนามาเป็นวิถีแห่งการดำเนินชีวิต และยอมรับว่าวะหยู(คำวิวรณ์)เป็นแหล่งที่มาของสัจธรม

           ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่เป็นระบบการศึกษาที่ได้รับอิทธิพลจากปรัชญาตะวันตกและปรัชญาเซคคิวลา(Secular)ที่แยกศาสนาออกจากการเมือง การศึกษาในระบบนี้จะไม่ยอมรับว่าวะหยู(คำวิวรณ์)คือแหล่งที่มาของความรู้  แต่จะยอมรับความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่มาจากสมมุติฐานต่าง ๆ ที่ได้รับการทดลองทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น 

           ปัจจุบันการศึกษาทั้งสองระบบดังกล่าวมีบทบาทสำคัญในประเทศมุสลิม ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากการศึกษาแบบสมัยใหม่มักได้ทำงานกับภาครัฐ และได้ดำรงตำแหน่งที่สูง  ส่วนผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากการศึกษาแบบดั้งเดิมจะวนเวียนอยู่กับการเป็นครูสอนศาสนา  บางคนอาจจะรับราชการ และได้รับตำแหน่งที่ค่อนข้างต่ำ  เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาชนส่วนใหญ่จึงมุ่งไปยังสถาบันที่ใช้ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่  โดยเฉพาะนักเรียนนักศึกษาที่มีโอกาสมักจะเลือกเรียนในสถาบันที่ใช้ระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่  ส่วนบรรดานักศึกษาที่ขาดโอกาสจะเลือกศึกษาในสถาบันการศึกษาแบบดั้งเดิม อาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ที่ทำให้ผลผลิตทางการศึกษาแบบดั้งเดิมไม่สามารถที่จะเทียบเคียงกับผลผลิตทางการศึกษาแบบสมัยใหม่

           ในประเทศไทยก็เช่นกัน การศึกษาอิสลามมีสองระบบ คือการศึกษาแบบดั้งเดิมและระบบการศึกษาแบบสมัยใหม่  บางสถาบันการศึกษาจะมีทั้งสองระบบ  แต่จะเป็นอิสระต่อกัน เช่น กรณีโรงเรียนสองระบบ และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม  ซึ่งในช่วงเช้าจะเป็นการสอนวิชาศาสนาเพียงอย่างเดียว  ส่วนในตอนบ่ายจะเป็นระบบการสอนวิชาสามัญ  แม้ในปัจจุบันโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามได้ใช้หลักสูตรบูรณาการ  แต่ไม่สามารถสรุปได้ว่า  ผลผลิตของหลักสูตรนี้จะดีกว่าผลผลิตของหลักสูตรเดิมที่แยกวิชาศาสนาและวิชาสามัญออกจากกัน ทั้งนี้เพราะหลักสูตรบูรณาการที่แท้จริงไม่ได้หมายถึงการรวมวิชาศาสนาและวิชาสามัญเข้าด้วยกันเพียงอย่างเดียว  แต่หลักสูตรบูรณาการมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้น 

           ความจริงการศึกษาในทัศนะอิสลาม  เป็นการศึกษาแบบบูรณาการ  ทั้งวิชาศาสนาและวิชาการเข้าด้วยกัน  การกลับสู่ระบบการศึกษาแบบอิสลามที่แท้จริง  จำเป็นที่จะต้องสร้างระบบใหม่ขึ้นมา  ระบบการศึกษาใหม่ต้องเป็นแบบบูรณาการที่ทั้งสองระบบสามารถศึกษาด้วยกันอย่างมีกฏเกณฑ์  และทั้งสองระบบจะแยกออกจากกันไม่ได้  ไม่ควรมีการแยกวิชาศาสนาออกจากวิชาสามัญหรือแยกวิชาสามัญออกจากวิชาศาสนา  เพราะตามทัศนะอิสลามนั้น  ไม่ได้หมายถึงการศึกษาวิชาอัลกุรอาน  หรือวิชาศาสนบัญญัติเพียงอย่างเดียว  แต่หมายถึงการศึกษาทุกสาขาวิชาที่สอนตามทัศนะของอิสลาม

          ในยุคแรก ๆ ของประวัติศาสตร์อิสลาม นะบีมุฮัมมัด   ได้ให้ความสำคัญกับวิชาการสาขาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิชาการทางศาสนาหรือวิชาการทางโลก  ดังข้อเขียนของ อะหมัด  ชาลาบี ว่า


“… เมื่อนะบีมุฮัมมัด  ถึงเมืองมะดีนะฮ์ มัสยิดของท่านก็ถูกสร้างขึ้นที่อัลมิรบัฎ  المِْربَض))  และในมัสยิดแห่งนี้  นะบีมุฮัมมัด เคยสอนเศาะหาบะฮของท่านเกี่ยวกับวิชาศาสนา  และวิชาทางโลก”

           อีกตัวอย่างหนึ่งเราเห็นได้จากเหตุการณ์หลังสงครามบะดัร ซึ่งชัยชนะในครั้งนั้นเป็นของมุสลิม  ชาวกุรอยชหลายคนถูกจับเป็นเชลยศึก  นะบีมุฮัมมัด จึงมอบหมายให้เชลยสงครามสอนลูกหลานมุสลิมที่อยู่ในนครมะดีนะฮ์ เพื่อเป็นค่าไถ่สำหรับพวกเขา  ทั้งที่เชลยสงครามเหล่านั้นไม่มีความรู้เกี่ยวกับอัลกุรอานเลย  แต่ทำไมนะบีมุฮัมมัด ถึงอนุญาตให้พวกเขาสอนบรรดาลูกๆมุสลิม  สิ่งนี้ย่อมแสดงให้ประจักษ์ว่านะบีมุฮัมมัดได้ให้ความสำคัญกับวิชาการอื่น นอกเหนือไปจากวิชาการทางศาสนา ในยุคต้นของประวัติศาสตร์อิสลามการศึกษาของชาวมุสลิมมีเพียงระบบเดียว  มีการเรียนการสอนทั้งวิชาการศาสนาและวิชาการทางโลก  ในสมัยอับบาซียะฮ์ก็เช่นเดียวกัน  วิชาศาสนาและวิชาสามัญได้รวมอยู่ในหลักสูตรเดียวกัน
 
           เมื่อพิจารณาถึงวิชาการต่างๆ ของบรรดามุสลิมในยุคต้นประวัติศาสตร์อิสลาม  เราจะตระหนักว่าวิชาการศาสนาและวิชาการสามัญนั้นไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้ และทั้งสองวิชาได้รับการบรรจุไว้ในหลักสูตรเดียวกัน  แม้กระทั่งสมัยที่ชาวมองโกลรุกรานประเทศมุสลิม 
บรรดาประเทศมุสลิมในขณะนั้นยังคงมีหลักสูตรทั่วไปเพียงหลักสูตรเดียว ไม่มีการแยกวิชาศาสนาและวิชาสามัญ  การแยกวิชาศาสนาและวิชาสามัญออกจากกันนั้นเริ่มขึ้นในศตวรรษที่ 19-20 แห่งคริสตกาล  เมื่อประเทศมุสลิมตกเป็นอาณานิคมของชาติตะวันตก

           ในต้นศตวรรษที่ 21 นี้ถือว่าเป็นสมัยของการฟื้นฟูทางการศึกษา  นักการศึกษามุสลิมต่างพยายามที่จะย้อนกลับไปสู่ ยุคของนะบีมุฮัมมัด สมัยนั้นการศึกษามีเพียงระบบเดียว แต่การบูรณาการที่แท้จริงเป็นสิ่งที่ยากในทางปฏิบัติ  เพราะมิใช่หมายถึงการรวมวิชาการต่างๆ เข้าด้วยกันอย่างไม่มีกฏเกณฑ์  แม้วิชาการจะได้รับการบูรณาการเข้าด้วยกันแล้ว  แต่สถานภาพของวิชาการต่างๆจะไม่เท่าเทียมกัน  วิชาการศาสนาจะมีสถานภาพที่สูงกว่าวิชาการอื่น ความพยายามในปัจจุบันที่ต้องการทำให้ทุกวิชามีสถานภาพที่เท่าเทียมกัน เป็นแนวคิดที่ได้รับอิทธิพลมาจากปรัชญากลุ่มวัตถุนิยม  อะลี อัชรอฟ  ได้กล่าวถึงสถานภาพของวิชาต่าง ๆ อย่างชัดเจนว่า 

“ศาสตร์ในสาขาวิชาต่างๆ นั้นมีสถานภาพที่แตกต่างกัน ศาสตร์ที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณจะมีสถานภาพที่สูงสุด… ศาสตร์ที่เกี่ยวกับคุณค่าแห่งคุณธรรมจะมีความสำคัญรองลงมา  จากนั้นก็จะเป็นศาสตร์ที่เกี่ยวกับสติปัญญา  หรือศาสตร์ที่จะนำมาซึ่งหลักการของสติปัญญา  จากนั้นก็จะเป็นศาสตร์ที่ควบคุมและจัดระเบียบจินตนาการ  และตามด้วยศาสตร์ที่จะช่วยให้มนุษย์สามารถควบคุมประสาทสัมผัส"

           จากเป้าหมายการศึกษาที่ได้เสนอไว้ในการประชุมเกี่ยวกับการศึกษาอิสลามครั้งแรกที่เมืองเจดดะฮ์ ประเทศซาอุดิอารเบีย  เราจะเห็นว่าการศึกษาในทัศนะของอิสลามเป็นการศึกษาแบบบูรณาการที่รวมวิชาสาขาต่างๆ เข้าด้วยกัน  เพื่อส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนให้มีพัฒนาการทุกด้าน  สิ่งเหล่านี้ได้ปรากฏให้เห็นในยุคแรกของอิสลาม  คำศัพท์  “วิชาศาสนาและวิชาสามัญ”  ยังไม่ปรากฏเพราะทุกสาขาวิชาถูกรวมเข้าด้วยกันภายใต้วิชาศาสนา  ที่เป็นเช่นนี้เพราะการศึกษาของชาวมุสลิมในยุคต้นของอิสลามมีเพียงระบบเดียว และหลักสูตรมีเพียงหลักสูตรเดียวเช่นกัน  แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ปัจจุบันนี้วิชาศาสนาและวิชาสามัญถูกแยกออกจากกัน  จนทำให้เกิดสองระบบ และระบบการศึกษาทั้งสองก็มีปรัชญาที่ขัดแย้งกัน  การที่เราจะบูรณาการทั้งสองระบบการศึกษานี้เข้าด้วยกันจึงเป็นสิ่งที่ยาก  ซัยยิด อะลี อัชรอฟ   มีทัศนะว่า  เป็นไปไม่ได้ที่จะบูรณาการทั้งสองระบบการศึกษาที่มีอยู่ในปัจจุบันให้วางอยู่บนปรัชญาเดียวกัน  เพราะปรัชญาของทั้งสองระบบนี้มีความขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิง

           สรุปว่า การบูรณาการการศึกษาที่สมบูรณ์แบบค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ยากในสังคมปัจจุบัน  เพราะหลักสูตร  หนังสือ แบบเรียน  วิธีการสอน ตลอดจนบุคลากรทางการศึกษาจะต้องวางอยู่บนพื้นฐานของอิสลาม  แม้ว่าจะสามารถปฏิบัติได้ในบางระดับ  แต่ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างรอบคอบ  เพราะการบูรณาการที่หละหลวมจะก่อให้เกิดผลเสียมากกว่าผลดี  อย่างไรก็ตาม เมื่อเราตระหนักว่าหลักสูตรการศึกษาในอิสลามเป็นหลักสูตรบูรณาการ  ความพยายามที่จะต้องบูรณาการการศึกษาจึงควรได้รับการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง  นักปราชญ์มุสลิมและบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมืออย่างจริงจังในการแก้ปัญหาการศึกษา  และร่วมมือสร้างหลักสูตรให้สอดคล้องกับอิสลาม  อันจะนำมาซึ่งอารยธรรมและความรุ่งเรืองแก่สังคมมุสลิม