จริยศาสตร์
  จำนวนคนเข้าชม  24977

 

ความหมายจริยศาสตร์

โดย  อิจรลาลีย์


          เชิงภาษา   จริยะในภาษาอาหรับตรงกับคำว่า   الأخلاق ( อัล-อัคลาค )  ซึ่งในรูปศัพท์แล้ว  คำว่า “ อัคลาก” เป็น พหูพจน์ของ الخلق ( อัล-คุลุก )  หมายถึง สัญชาติญาณ ความเคยชิน ธรรมชาติที่มีอยู่ในตัวมนุษย์  สิ่งที่ประพฤติปฏิบัติอยู่เป็นประจำ  คำว่า “ คุลุก” มีปรากฏอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน อยู่ 2 ที่ ดังในบท อัล-กอลัม ดำรัสที่ว่า  

  " และแท้จริงเจ้านั้น อยู่บนคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ "    ( 68/4 )  

  และในบท อัชชุอะรออฺ  ดำรัสที่ว่า

" นี่ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากเป็นเรื่องโกหกในสมัยก่อนๆ"  ( 19 / 137 )

           พระดำรัสของอัลลอฮ  ที่ปรากฏคำว่า “คุลุก” ในสองที่นี้ ให้ความหมายต่างกัน  ดังปรากฏว่าในที่แรก เป็นการกล่าวในลักษณะสรรเสริญ ชมเชย ฐานะเป็นบรรทัดฐานพฤติกรรม   คุณธรรมหรือจริยธรรมในที่นี้มาจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งพระองค์ทรงประทานผ่านเทวทูตแห่งพระองค์ แก่หัวใจของท่านศาสดามุฮัมหมัด  เพื่อบัญชาให้ท่านยึดถือเป็นคุณธรรมประจำตัวท่านและเป็นแบบฉบับอันดีงามแก่ผู้ติดตามท่านในภายหลัง  หมายถึงเมื่อพระองค์ทรงประทานอัลกุรอานเป็นบทบัญัติแห่งพระองค์แก่ท่านศาสดาแล้ว  ท่านศาสดามีน้าที่โดยสมบูรณ์ในการปฏิบัติตามสิ่งที่พระองค์ทรงบอกกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ ซึ่งแน่นอนว่าพฤติกรรมทั้งหมดของท่านล้วนเป็นอรรถาธิบายที่ลึกซึ้ง ละเอียดลออแก่พระคัมภีร์   จึงสรุปได้ว่า คำว่า “คุลุก” ในความหมายแรก หมายถึง ธรรมชาติประจำตัวมนุษย์ ความเคยชิน สัญชาติญาณ ที่อัลลอฮ ทรงกำหนดไว้เป็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์     
                                                                                             
          ขณะที่อีกพระดำรัสหนึ่งเป็นการกล่าวบรรยายถึงคุณลักษณะที่สืบต่อกันมาของชนรุ่นก่อน  กล่าวคือเป็นธรรมเนียมประเพณี สืบต่อกันมาจากชนก่อนหน้าท่านศาสดาฮู๊ด อะลัยฮิสสลาม ( Hud ) ที่ทำหน้าที่เชิญชวน  ตักเตือน  แต่แล้วกลุ่มชนของท่านกลับตอบรับท่านด้วยการปฏิเสธและเย้ยหยัน  โดยกล่าวอ้างว่าสิ่งที่ท่านนำมานั้นเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของชนรุ่นก่อนๆ 

                                                                         
          จริยธรรมในเชิงภาษาแล้วจึงหมายความถึง ภาคแสดงภายในของมนุษย์ ซึ่งก็คืออุปนิสัย หรือ ธรรมชาติตัวตนที่แท้จริงของบุคคลนั้นๆ   ส่วนภาคแสดงภายนอกนั้น เรียกว่า  พฤติกรรม หรือความประพฤติ ที่เปิดเผยและแสดงออกมา หากเป็นพฤติกรรมที่ดี ก็ถือว่ามีจริยธรรม และหากเป็นพฤติกรรมตรงกันข้าม ก็ถือว่าไร้จริยธรรม ดังนั้น ความประพฤติจึงถือเป็นเครื่องหมายบ่งชี้ถึงอุปนิสัยภายในและพฤติกรรมภายนอก       
                                                                                                                         

ความหมายสากล 

           คือ ศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของชีวิตที่มีจริยธรรม สนับสนุนให้รู้จักจุดมุ่งหมายของชีวิต ชี้แจงถึงกฏเกณฑ์การตัดสินและมาตรวัดระดับจริยธรรม   เป็นศาสตร์ที่อธิบายถึงความหมายของความดีและความชั่ว   ดีคืออะไร ไม่ดีคืออะไร แบบอย่างอันสูงส่งที่มนุษย์พึงยึดถือปฏิบัติตามคืออะไร จริยศาสตร์ศึกษาว่า อะไรควรเว้น อะไรควรทำ อะไรผิด อะไรถูก อะไรดี อะไรชั่ว โดยเปรียบเทียบความประพฤตินั้นกับความดีเลิศทั้งหลาย 
 
           กล่าวโดยสรุปคือ  “เป็นศาสตร์ที่นำพาสู่หนทางที่พึงกระทำ สู่สิ่งที่พึงจะเป็น”   จริยศาสตร์จึงถือเป็นตัวแปรสำคัญในการชี้นำบุคคลให้อยู่บนรากฐานการตัดสินใจที่มั่นคง แน่วแน่ ไม่คล้อยตามอารมณ์และความต้องการของตน     เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยอุดมคติอันสูงสุดที่มีความสัมพันธ์อยู่กับชีวิตมนุษย์
    
          จริยศาสตร์(Ethics) หมายถึงสาขาหนี่งของปรัชญาที่ว่าด้วยการแสวงหาความดีสูงสุดของชีวิตมนุษย์ การแสวงหากฎเกณฑ์ในการตัดสินความประพฤติของมนุษย์ว่าอย่างไรถูก ไม่ถูก ดี ไม่ดี ควร ไม่ควร จะพิจารณาของคุณค่าทางศีลธรรม (ราชบัณฑิตยสถาน,2540:34)              

          สำหรับคำนิยามเฉพาะของจริยศาสตร์ อิสลาม คือ ศาสตร์ที่ประมวลไว้ด้วยเรื่องของคำพูด การกระทำ ที่จำเป็นต้องตั้งอยู่บนมูลฐาน กฎเกณฑ์ กติกามารยาท ที่สอดคล้องและสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับคัมภีร์ของอัลลอฮ และแนวทางการปฏิบัติของท่านศาสดามุฮัมหมัด   จริยธรรมจึงไม่ได้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของศาสนาแต่เป็นแก่นแท้ เป็นจิตวิญญาณของอิสลาม

     
พฤติกรรมตามธรรมชาติของมนุษย์

           พฤติกรรม คือ การกระทำตามเจตจำนงค์ เพื่อให้เกิดผลดังที่ตั้งเจตนาไว้ การกระทำที่เป็นผลจากเจตจำนงค์ จากความคิด ความตั้งใจของผู้กระทำเท่านั้นที่เรียกว่าพฤติกรรม และเป็นการกระทำที่แบ่งแยกระหว่างมนุษย์กับสัตว์  เพราะสัตว์มีเพียงการกระทำที่มาจากสัญชาติญาณเท่านั้น และมนุษย์เป็นผลจากการผสมผสานระหว่างดินและวิญญาณ จึงเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่พร้อมประพฤติในด้านดีและด้านไม่ดีอย่างเท่าเทียม หากแต่มนุษย์ทุกคนถูกสร้างมาพร้อมกับการมีสิทธิ์เลือกอย่างเสรีระหว่างสิ่งดีและสิ่งไม่ดี ดังปรากฏในพระคัมภีร์  ว่า              

"พระองค์ทรงดลใจชีวิตให้รู้ทางดีและทางชั่ว"   ( อัชชัมซฺ 91/ 8 )
                              
"และเรา( อัลลอฮ )ได้ชี้แนะทางแห่งความดีและความชั่วให้แก่เขาแล้ว"     (อัลบะลัด 90 /10 )
 
          พลังธรรมชาติที่ฝังอยู่ในมนุษย์ทุกคน คือ พลังแห่งสติปัญญา พลังแห่งความคิด ใครที่ใช้สติปัญญาในการขัดเกลาตนเอง ทำให้ตนบริสุทธิ์จากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย นั่นย่อมแสดงถึงชัยชนะ ส่วนใครที่ดับพลังสติปัญญานี้ ย่อมพบกับความผิดหวังและขาดทุน

                       
" แน่นอน ผู้ที่ขัดเกลาชีวิต ย่อมได้รับความสำเร็จ และแน่นอนผู้หมกมุ่นในการชั่ว ย่อมล้มเหลว"   ( อัชชัมซฺ 91/ 9-10 )        

          จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมมนุษย์เป็นเรื่องที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ หากได้รับการอบรม ขัดเกลา เมื่อมนุษย์เคยชินกับภาวะแวดล้อมใด พฤติกรรมมนุษย์ก็สามารถคล้อยตามสภาวะแวดล้อมนั้นๆ  อิสลามจึงได้ส่งเสริมและกำชับในเรื่องจริยธรรมอันดีงาม  หากพฤติกรรมมนุษย์เป็นสิ่งคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลงแล้ว ก็เท่ากับว่า อิสลามได้สั่งใช้ในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ หรือ กลายเป็นว่าบัญญัติอิสลามเป็นสิ่งไม่มีความหมาย ซึ่งดังกล่าวเป็นไปไม่ได้โดยเด็ดขาด                                  

ท่านศาสดา มุฮัมมัด กล่าวว่า    

“ความสุขุมมีขึ้น ด้วยการหมั่นสุขุม ความอดทนมีขึ้น ด้วยการหมั่นอดทน และะความรู้จะมีขึ้น ด้วยการหมั่นเรียนรู้”

พระคัมภีร์อัลกุรอานระบุว่า  

"และจงตักเตือนเถิด แท้จริง การตักเตือนนั้นจะยังประโยชน์แก่บรรดาผู้ศรัทธา "   ( อัซซาริย๊าต 51 / 55 )  

          จึงเป็นที่เข้าใจชัดเจนแล้วว่า อุปนิสัย พฤติกรรมของมนุษย์ย่อมสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้เสมอ หากมนุษย์ถูกสร้างมาพร้อมกับอุปนิสัยที่ตายตัวแล้ว การตักเตือนดังปรากฏในพระดำรัสข้างต้น จะมีประโยชน์ต่อมนุษย์ได้อย่างไร

ความสัมพันธ์ระหว่างจริยธรรมและพฤติกรรมมนุษย์
 
          เมื่อทราบแล้วว่าอุปนิสัยคือภาคแสดงภายในตัวมนุษย์ และพฤติกรรมคือภาคแสดงภายนอก ทั้งสองจึงมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่น  เปรียบดั่งลักษณะความสัมพันธ์ของ ผล และ เหตุ ของสิ่งที่เกิดและสิ่งที่ทำให้เกิด  หากแต่ไม่สามารถกล่าวได้ว่า เฉพาะอุปนิสัยเท่านั้นที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของมนุษย์ เพราะในความเป็นจริงแล้วยังคงมีภาวะแวดล้อมอื่นๆที่เกี่ยวข้องและอาจส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรมของมนุษย์ ซึ่งสิ่งดังกล่าวอาจสามารถระงับพฤติกรรมนั้นๆจากผู้กระทำได้  ดังเราจะเห็นได้ว่า ไม่จำเป็นที่ผู้ที่ได้ชื่อว่ากล้าหาญ จะต้องเป็นคนกล้าหาญอยู่ตลอดเวลา เพราะในบางสถานการณ์ความเจ็บป่วยอาจทำให้เขาไม่สามารถแสดงถึงความกล้าหาญของตนในสถานการณ์ใด สถานการณ์หนึ่งได้ เป็นต้น

 

 

Part 2  Next >>>>Click