นิยามอัลกุรอาน
  จำนวนคนเข้าชม  11309

ความพยายามของบรรดาเศาะหาบะฮฺ ในการรวบรวมอัลกุรอาน (2)

โดย...ยูซุฟ  อบูบักร

นิยามอัลกุรอาน


           นิยามของอัลกุรอานทางด้านภาษา ตามรากศัพท์มาจากคำว่า “กอรออะ” ความหมายเดิมคือ “การรวบรวม” ต่อมาได้ใช้เป็นความหมายว่า “การอ่าน” เพราะอักษรต่างๆ ถูกรวบรวมขึ้นขณะที่มันถูกอ่าน นักวิชาการบางส่วนที่สนับสนุนทัศนะนี้ ได้แก่ อิมามอบูหะนีฟะฮฺ เจ้าของมัซฮับ (สำนักความคิด) อัล-หะนะฟีย์ และนักวิชาการบางท่านให้ทัศนะว่า “อัลกุรอาน” เป็นคำนามมาในรูปของกรรม (อิสมุลมัฟอูล) มาจากคำว่า “มักรูอุน” หมายถึง “สิ่งที่ถูกอ่าน” มาในรูปคำของ “มัฟอูลุน” แต่ถูกเปลี่ยนให้เป็นรูปคำ “ฟะอฺอาลุน” เช่น “กุรอานุน” ที่ใช้กันอยู่ โดยจะให้ความหมายว่า “สิ่งที่ถูกอ่านเป็นประจำ” ผู้ที่สนับแนวคิดทัศนะนี้ได้แก่ อิมามอะหฺมัด บิน ฮัมบัล เจ้าของมัซฮับอัล-หัมบะลีย์ และยังมีนักวิชาการบางท่าน อาทิ อิมามชาฟิอีย์ เจ้าของมัซฮับอัช-ชาฟิอีย์ ได้ให้ความคำนิยามของคำว่า “อัลกุรอาน” เป็นคำนามเฉพาะ เช่นเดียวกับชื่อคน หรือชื่อของสถานที่โดยมิได้แยกมาจากคำๆ ใดเลย


          นิยามทางด้านศาสนบัญญัติหรือด้านวิชาการ หมายถึง คำดำรัสของอัลลอฮฺถูกประทานลงมาให้แก่ท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ซึ่งเป็นศาสนทูตท่านสุดท้ายของพระองค์ ถูกรายงานด้วยกับสายรายงานที่ต่อเนื่องกันโดยไม่ขาดตอนและไม่มีข้อขัดแย้ง (มุตะวาติร) เริ่มต้นด้วยสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺสิ้นสุดด้วยกับสูเราะฮฺอัน-นาส  


            ส่วนคำนิยามที่ง่ายเพื่อความเข้าใจสำหรับผู้คนโดยทั่วไป อัลกุรอาน หมายถึง คัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์ เป็นคัมภีร์แห่งฟากฟ้าของศาสนาอิสลาม เป็นวะหฺยูแห่งพระผู้เป็นเจ้าที่ถูกประทานมายังท่านนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม

         และยังมีการให้คำนิยามแบบขยายความในเชิงวิชาการอีกว่า อัลกุรอาน หมายถึง เป็นวิวรณ์ (วะหฺยู) ซึ่งเป็นปาฏิหาริย์แห่งพระผู้เป็นเจ้า ถูกประทานลงมาในรูปแบบของคำ เป็นภาษาอาหรับ โดยมีญิบรีลเป็นผู้ทำหน้าที่รับมาจากอัลลอฮฺ ผ่านเลาหุลมะฮฺฟูซจากนั้นนำมาสู่จิตใจอันบริสุทธิ์ของท่านนบีมุหัมหมัด ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม ทั้งที่ถูกประทานลงมาเป็นวาระเดียวอย่างกว้างๆ และทั้งที่ถูกประทานลงมาเป็นรายละเอียด ในช่วงระยะเวลา 23 ปี โดย

          ท่านนบีมุหัมมัดได้นำเสนอสารัตถะเหล่านั้นให้แก่บรรดาเศาะหาบะฮฺกลุ่มหนึ่ง และมีเศาะหาบะฮฺอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำหน้าที่ในการจดบันทึกวะหฺยู (วิวรณ์แห่งพระเจ้า) โดยได้รับการดูแลตรวจสอบโดยตรงและอย่างต่อเนื่องจากท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม และยังมีเศาะหาบะฮฺอีกจำนวนมากที่ได้ท่องจำอัลกุรอาน ซึ่งได้รายงานกันมาด้วยสายรายงานที่ติดต่อกันอย่างน่าเชื่อถือ (มุตะวาติร) อัลกุรอานถูกบันทึกในสมัยท่านนบี ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม แต่ยังไม่ได้รวบรวมเป็นรูปเล่ม เวลาต่อมาในยุคของเคาะลีฟะฮฺอุษมาน ได้รวบรวมเป็นรูปเล่มเริ่มต้นจากสูเราะฮฺอัล-ฟาติหะฮฺจนกระทั่งปิดท้ายด้วยกับสูเราะฮฺอัน-นาส อัลกุรอานถูกแบ่งออกเป็น 30 ภาค (ญุซอฺ) หรือ 114 บท (สูเราะฮฺ) และมีมากกว่า 6,236 โองการ (อายะฮฺ) ตามการนับมาตรฐาน (ดูคัมภีร์อัลกุรอานฉบับมาตรฐานที่จัดพิมพ์โดยรัฐบาลซาอุดีอารเบีย)     

 

นิยามอัล-วะหฺยู (วิวรณ์)


         อัล-วะหฺยู นิยามทางด้านภาษาศาสตร์ มาจากรากศัพท์คำว่า อียหาฮฺ หมายถึง การแสดงนัยยะสำคัญในเรื่องหนึ่งเรื่องใดอย่างรวบรัด จะออกมาในรูปของปริศนากำกวมหรืออุปมาอุปมัยก็ตาม การแสดงนัยยะดังกล่าวอาจออกมาในรูปของการเคลื่อนไหวที่มีจุดมุ่งหมายของร่างกาย เสียงที่ไม่ได้ยิน หรือด้วยการเขียน


         นิยามทางด้านศาสนบัญญัติ หมายถึง เป็นสิ่งที่อัลลอฮฺได้สอนแก่บ่าวจากผู้ที่พระองค์ทรงคัดเลือก ในสิ่งที่พระองค์ต้องการให้เขาได้ประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็นทางนำหรือวิชาความรู้ ด้วยกับวิธีเร้นลับรวดเร็ว โดยไม่ใช่เป็นเรื่องปกติวิสัยของมนุษย์ทั่วไป จะเกิดขึ้นด้วยกับวิธีการที่หลากหลาย บางครั้งเกิดขึ้นโดยการเจรจาระหว่างบ่าวกับพระองค์ เช่น ในกรณีของนบีมูซา บางครั้งด้วยการดลใจ บางครั้งด้วยกับการฝันเห็นแล้วสิ่งนั้นก็จะปรากฏขึ้นเป็นความจริง และบางครั้งมีญิบรีลเป็นสื่อกลางในการนำอัล-วะหฺยูลงมา 

 



ชื่อ และ ความสำคัญของการบันทึกอัลกุรอาน...>>>>...Click next