6. เสียสละเพื่อส่วนรวม
  จำนวนคนเข้าชม  29491

 

6. เสียสละเพื่อส่วนรวม

          ผู้นำจะต้องเสียสละเพื่อส่วนรวม เพราะเขาคือผู้ได้รับความไว้ใจให้ทำภารกิจแทนพวกเขาเหล่านั้น พวกเขามอบหมายผู้นำรับผิดชอบทั้งตัวพวกเขา ลูกเมีย บ้านเรือน จนถึงสัตว์เลี้ยงวัวควาย มอบให้ผู้นำจัดการการศึกษา เศรษฐกิจ สังคม ให้ผู้นำดูแลทั้งยามไข้ยามป่วยและยามสุขสบาย ฯลฯ ผู้นำจึงมีภารกิจท่วมตัว มีเวลาติดลบ ไม่มีกลางวันไม่มีกลางคืนให้อยู่อย่างสุขเหมือนคนอื่น เพราะลำพังงานส่วนตัวของตัวเองก็แทบทำไม่หมดแล้ว ไหนจะต้องทำงานของคนอื่นเป็นหมื่นแสน ผู้นำจึงต้องพร้อมเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างและหวังเพียงในความโปรดปรานและเมตตาจากอัลลอฮฺ

          ท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีความเสียสละเพื่อส่วนรวมเป็นอย่างสูง ท่านถือว่า การทำงานเพื่อประชาชนนั้นผู้นำจะต้องปฏิบัติงานเพื่อส่วนรวมให้มากที่สุด ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้บทบาทในชีวิตของท่านเป็นบทบาทในฐานะบิดาของประชาชนมากกว่าบิดาของลูกๆ หรือเป็นปู่ตาของหลานๆ เพียงไม่กี่คน ท่านยอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อความสุขของส่วนรวม ยอมใช้ชีวิตด้วยความลำบากเมื่อประชาชนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะลำบาก

           ดังเมื่อเกิดวิกฤติภัยแล้งที่แคว้นหิญาซ เมื่อปี ฮ.ศ 8 ที่ท่านถึงกับสาบานว่า จะไม่รับประทานอาหารดี ๆ ตราบใดที่ประชาชนยังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยท่านประทังชีวิตเพียงด้วยขนมปังหยาบกับน้ำส้มเท่านั้น ซึ่งการรับประทานอย่างนี้ในเวลานานติดต่อกันเป็นแรมปีทำให้ใบหน้าท่านหมองคล้ำไปตลอดชีวิต ในยามค่ำคืนขณะที่ประชาชนกำลังนอนพักผ่อนอย่างมีความสุขกับครอบครัว ท่านกลับสละความสุขส่วนตนออกไปตรวจตราความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเมื่อมีกองคาราวานจากต่างเมืองเข้ามาในมะดีนะฮฺ ท่านก็จะออกไปเป็นยามช่วยเฝ้าดูแลพวกเขาท่ามกลางความมืดด้วยตัวเอง  (al-Tabariy, 1988: 2/567) นอกจากนี้ เวลาเดินทางพร้อมกับประชาชนไปที่ไหน ๆ ท่านมักจะทำหน้าที่ให้บริการประชาชนด้วยตัวเองเสมอ

 อิบนุ มันซูร (Ibn Manzur) ได้กล่าวถึงความเสียสละความสุขในการรับประทานอาหารด้วยการงดรับประทานอาหารดีๆ ในยามที่ประชาชนกำลังประสบความขัดสนว่า

ยะหฺยา อิบนฺ สะอีดได้เล่าว่า ภรรยาของท่านอุมัรฺได้ซื้อเนยให้แก่ท่านหนึ่งฟะร็อก (ประมาณสิบหกลิตร) ด้วยราคาหกสิบดิรฮัม ท่านอุมัรฺจึงถามว่า "นี่มันอะไร?"

นางตอบว่า "ฉันซื้อมันด้วยเงินของฉันเองไม่ใช่เงินของท่านหรอก เชิญรับประทานเถอะ"

ท่านอุมัรฺตอบว่า "ฉันจะไม่ชิมมันจนกว่าประชาชนได้ฟื้นดีขึ้น" (Ibn Manzur, n.d.:6/40)

เช่นเดียวกันกับอัล-อิศอมียฺ  (al-'Isamiy) ที่ได้กล่าวถึงภาพของการให้บริการประชาชนและความเสียสละท่านอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ในขณะออกเดินทางไปกับพวกเขาว่า

        ท่านอุมัรฺนั้น -ขออัลลอฮฺทรงโปรดปรานท่าน ยามเมื่อท่านจะออกเดินทางไกล ท่านจะกล่าวประกาศแก่ประชาชนตามบ้านเรือนว่า "โอ้ ประชาชนทั้งหลาย พวกท่านเตรียมเดินทางกันได้แล้ว"

แล้วก็จะมีคนกล่าวว่า "โอ้ ประชาชนทั้งหลาย บัดนี้อะมีรุลมุมินีนได้ประกาศแก่พวกท่านแล้ว เชิญทุกคนทำการเตรียมพร้อมเพื่อเดินทางได้แล้ว"

จากนั้นท่านจะกล่าวประกาศครั้งที่สองว่า "ออกเดินทางเดี๋ยวนี้"

แล้วทั้งหมดก็จะกล่าวว่า "ทุกคนเชิญขึ้นพาหนะได้แล้ว บัดนี้ท่านอะมีรุลมุมินีนได้เชิญชวนเป็นครั้งที่สองแล้ว"

และเมื่อพวกเขาเริ่มออกไป ท่านก็ขี่อูฐของท่านโดยที่ตัวของท่านมีถุงอาหารสองถุง ถุงหนึ่งมีขนมปังและอีกถุงหนึ่งมีอินทผลัมอยู่ ด้านหน้ามีถุงน้ำ ด้านหลังมีถัง ซึ่งทุกครั้งที่ท่านพักแวะท่านจะเอาขนมปังมาใส่ในถัง แล้วก็ชงน้ำกลางกระโจมให้กับผู้มาติดต่อหรือมาขอคำตัดสินได้ดื่ม

ท่านจะกล่าวกับเขาว่า "เชิญท่านรับประทานขนมปังกับอินทผลัมซิ"

แล้วท่านก็ออกเดินทางต่อ โดยท่านจะหวนกลับมายังสถานที่ ๆ ผู้คนเพิ่งออกไปเพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย ซึ่งหากพบสิ่งใด ๆ ตกอยู่ท่านก็จะเก็บไป หรือหากพบคนที่พาหนะขัดข้อง ท่านก็จะจัดการเช่าพาหนะให้เขาและนำทางเขาไปตามร่องรอยของผู้คนก่อนหน้า และเมื่อตะวันขึ้นในวันรุ่งขึ้น ผู้คนจะไม่รีบตรวจดูสิ่งของของตัวเอง เขาจะกล่าวว่า "เดี่ยว รอให้ท่านอะมีรุลมุมินีนมาถึงก่อน"

แล้วท่านอุมัรฺ ก็มาถึงในสภาพที่อูฐของท่านเหมือนกับไม้แขวนเสื้อที่เต็มไปด้วยสิ่งของตกค้างของผู้คน แล้วต่างคนก็เริ่มเข้ามาหาและบอกว่า "โอ้ อะมีรุลมุมินีน ถุงน้ำของฉัน"

ท่านย้อนว่า "เป็นไปได้อย่างไร คนใจเย็นๆ ถึงกับลืมถุงน้ำที่เขาดื่มและเอาน้ำละหมาดในนั้น? จะให้ฉันนี่คอยเฝ้าดูตลอดเวลา จะให้ฉันเบิกตาค้างตลอดคืนหรือไง?"

แล้วท่านก็มอบถุงน้ำนั้นให้ แล้วก็มีคนอื่นมาบอกอีกว่า "โอ้ ท่านอะมีรุลมินีน ธนูของฉัน"

และอีกคนหนึ่งจะมาบอกว่า "เชือกของฉัน"

หรือสิ่งต่างๆ ที่พวกเขาลืมหรือทำหล่น โดยพวกเขาจะบอกรูปพรรณของมันแล้วท่านก็ยื่นส่งกลับไปให้เขา   (al-'Isamiy, 1998: 2/476-477)

          สำหรับในด้านการเสียสละทรัพย์สินนั้น  ท่านคือบุคคลต้นแบบที่ทำการบริจาคแบบ "บริจาคผล ถือกรรมสิทธิ์ต้น" (al-'Askariy, 1997: 127) เนื่องจากท่านมอบรายได้จากสวนอินทผลัมที่ค็อยบัรฺซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ท่านหวงแหนและมีค่ามากที่สุดให้กับผู้ยากไร้และเพื่อการสงเคราะห์ในด้านต่างๆ ในสมัยนบีมุหัมมัด ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม ดังที่ อิบนุหิบบาน (Ibn Hibban) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

ท่านอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบได้ปรึกษากับท่านเราะสูลุลลอฮฺว่า "ฉันมีที่ดินแปลงหนึ่งอยู่ที่ค็อยบัรซึ่งฉันไม่เคยมีทรัพย์สมบัติใดๆ ที่มีค่ามากกว่านี้ ท่านเห็นสมควรให้ฉันทำอย่างไรล่ะ?"

ท่านเราะสูลุลลอฮฺตอบว่า "หากท่านประสงค์ ท่านก็สามารถครอบครองกรรมสิทธิ์แต่บริจาคผลประโยชน์ของมัน"

แล้วท่านอุมัรฺก็ถือครองกรรมสิทธิ์และบริจาคผลประโยชน์ของมัน โดยห้ามขาย ห้ามมอบ ห้ามถือเป็นมรดก แต่ผลประโยชน์ทั้งหมดจะใช้บริจาคแก่คนยากไร้ คนขัดสนในยามเดินทาง ส่วนที่เหลือให้มอบแก่โครงการเพื่อหนทางของอัลลอฮฺและผู้ไร้ถิ่นฐาน ทั้งนี้ผู้ดูแลสามารถใช้ประโยชน์ได้ตามสมควร

          และสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการเสียสละเพื่อส่วนรวมอย่างใหญ่หลวงของท่านอุมัรฺเราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ก็คือการเสียสละอำนาจให้กับประชาชนโดยไม่คิดที่จะมอบให้แก่ลูกหลานหรือคนใกล้ชิดได้สืบทอด ทั้งๆ ที่มีอำนาจอย่างเต็มที่ที่จะทำอย่างนั้นได้ ซึ่งการเสียสละนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความบริสุทธิ์ใจในการเสียสละสิ่งอื่นๆ ว่ามิใช่เป็นการเสียสละอย่างเสแสร้ง หรือเป็นการ "เสียสละปลาเล็กเพื่อหวังจะให้ได้ปลาใหญ่" อย่างที่หลายคนมักถือปฏิบัติ ทั้งนี้ท่านได้ให้คำตอบแก่ผู้ที่เสนอให้แต่งตั้งอับดุลลอฮฺ อิบนฺ อุมัรฺ ผู้เป็นบุตรชายให้ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺสืบต่อจากท่านว่า

"ฉันไม่พึงให้พวกฉันได้เป็นผู้นำของพวกท่านอีกแล้ว ฉันไม่ต้องการจะสืบอำนาจให้ผู้ใดในบ้านของฉันต่อไป หากสิ่งที่ฉันกระทำมาเป็นความดี พวกเราก็ได้รับกันแล้ว และหากว่าเป็นความชั่วพวกเราก็จะได้ปลอดพ้นไปจากมัน

ในบรรดาคนในบ้านอุมัรฺขอให้อุมัรฺคนเดียวก็พอที่ต้องถูกตรวจสอบและไต่สวนเกี่ยวกับความรับผิดชอบต่อการงานของประชาชาตินบีมุหัมมัด ฉันได้ทุ่มเทอย่างเต็มที่แล้วและห้ามมิให้ใครในบ้านมาสืบอำนาจ ซึ่งหากฉันรอดพ้นอย่างมือเปล่าไม่มีบาปหรือไม่ได้บุญก็สบายใจแล้ว

 ดังนั้น จงคิดให้ดีซิ หากฉันแต่งตั้งคนสืบทอด คนที่ดีกว่าฉันก็เคยแต่งตั้งมาแล้ว (คืออบูบักรฺ) และหากฉันปล่อยเรื่องนี้โดยไม่แต่งตั้งใคร คนที่ดีกว่าฉันก็เคยปล่อยไม่แต่งตั้งใครมาแล้ว (คือท่านนบีมุหัมมัด -ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-) (al-Tabariy, 1988: 2/580)