8. มั่นคงในความคิด
  จำนวนคนเข้าชม  2643


8. มั่นคงในความคิด

          การมีความคิดที่มั่นคงหรือการยืนหยัดในหลักการถือเป็นคุณสมบัติสำคัญของการเป็นผู้นำที่ดี เพราะเป็นธรรมดาที่ผู้นำย่อมมีความคิดและมุมมองที่ยาวไกลกว่าผู้อื่น แต่บางทีหรือบ่อยครั้งที่ความคิดอันรอบคอบและยาวไกลของเขาจะถูกคัดค้านโดยคณะที่ปรึกษาและผู้ใกล้ชิด เพราะพวกเขามองไม่ถึงอย่างที่ผู้นำมอง ผู้นำจึงจะต้องยืนหยัดในความคิดของตัวเอง ไม่ผันแปรและอ่อนไหวทันทีที่ได้รับการคัดค้านและต่อต้าน เขาจะต้องพยายามชี้แจงโน้มน้าวให้คนอื่นเห็นดีด้วยกับความคิดของเขาหากเขามั่นใจว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดีและมีเหตุผล

          ท่านอุมัรฺเราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ก็เช่นกัน ในฐานะเป็นผู้นำที่มีความคิดยาวไกลและเป็นผู้ค้นคิดงานใหม่ ๆ หลายประการนับตั้งแต่สมัยท่านนบี -ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม- ท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ จนถึงสมัยของท่านเอง หลายครั้งทีเดียวที่ท่านต้องประสบกับเสียงคัดค้านของคณะที่ปรึกษาหรือประชาชน แต่ท่านก็พยายามผลักดันสิ่งที่ท่านมุ่งมั่นเพื่อให้ที่ประชุมยอมรับเสมอ

         สิ่งที่สะท้อนถึงการมีความคิดเห็นที่มั่นคงและการยืนหยัดในความเห็นของตัวเองของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺที่เด่นชัดและมีผลต่อคนรุ่นหลังมากที่สุดในประวัติศาสตร์การปกครองของท่านดูเหมือนจะเป็นกรณีการยกเลิกการแบ่งปันดินแดนเมืองใหม่ให้แก่บรรดาเหล่าทหารผู้พิชิตดินแดน ไม่ว่าจะเป็นดินแดนอิรัก ชาม หรืออียิปต์ จากธรรมเนียมที่เคยปฏิบัติตกทอดมาตั้งแต่สมัยนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-และเคาะลีฟะฮฺอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ที่กำหนดให้แบ่งปันสี่ส่วนห้าของที่ดินและทรัพย์สินในเมืองที่แพ้สงคราม (ไม่ใช่ยอมแพ้โดยสงบ) ให้แก่เหล่าทหารผู้สู้รบ และอีกหนึ่งส่วนหนึ่งที่เหลือจะมอบให้รัฐ (ดูคำอธิบายเรื่องนี้ ในการอธิบายอัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-อันฟาล อายัตที่ 41) 

ซึ่งตามความคิดของท่านอุมัรฺนั้น ดินแดนใหม่เหล่านี้สมควรต้องเป็นทรัพย์สินของประชาชนทั้งหมดทั้งที่ผู้ที่เกิดมาแล้วหรือผู้ที่ยังไม่เกิดมา มันไม่สมควรจะตกเป็นสมบัติของกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดเป็นการเฉพาะ เพราะหากพื้นที่ขนาดมหึมาและทรัพย์สินจำนวนมากมายมหาศาลอย่างนี้ต้องถูกแบ่งปันในหมู่ทหารเพียงไม่กี่แสนนาย ความร่ำรวยมั่งคั่งของรัฐก็จะไม่กระจายแก่ประชาชนอย่างทั่วถึง และประเทศทั้งประเทศก็จะตกเป็นสมบัติของประชาชนเพียงไม่กี่ตระกูล ซึ่งสิ่งนี้เป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของอิสลาม

อีกทั้งยังมีสิ่งที่น่าสังเกตก็คือในสมัยนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-และเคาะลีฟะฮฺ อบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ นั้น เมืองที่แพ้สงครามเป็นเมืองเล็กๆ ที่มีทรัพย์และประชากรไม่มาก อย่างค็อยบัร และบรรดานักรบส่วนใหญ่ยังอยู่ในสภาพที่ยากจน อย่างบิลาล หรืออัมมารฺ อิบนฺ ยาสิร

แต่ในสมัยท่านอุมัรฺนั้น เมืองที่แพ้สงครามนั้นมีขนาดใหญ่และมีทรัพย์สินและผู้คนมากมาย เช่นอิรัก อิหร่าน ซีเรีย อียิปต์ เป็นต้น และบรรดาทหารส่วนใหญ่ก็เริ่มมีทรัพย์สินพอประมาณแล้ว ท่านจึงย้ำจุดยืนของท่านในอันที่จะไม่แบ่งปันทรัพย์สินของชาติให้แก่เหล่าทหารอีกต่อไป ท่านย้ำว่าที่กระทำเช่นนี้เพราะเห็นแก่ผลประโยชน์ของบุตรหลานคนรุ่นใหม่เป็นสำคัญ ท่านกล่าวว่า

"ขอสาบานกับผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตถ์ของพระองค์ว่า หากไม่ใช่เพราะไม่อยากให้ประชาชนคนสุดท้ายต้องเกิดมาอย่างล่อนจ่อนไม่มีสมบัติใดๆ แล้ว

แน่นอน ทุกหมู่บ้านที่ถูกพิชิตได้ ฉันจะต้องแบ่งและจัดสรรอย่างที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺเคยแบ่งและจัดสรรเมืองค็อยบัรฺมา

แต่นี่ฉันกลับปล่อยให้เป็นแหล่งทำกินของประชาชนทั่วไปได้แบ่งปันกัน" (al-Bukhariy, 1987: 4/1548: 4994)

          สิ่งนี้หากไม่ใช่เพราะการมีความคิดที่มั่นคงของท่านแล้ว โอกาสที่จะต้องล้มเลิกความคิดและโอนอ่อนตามกระแสที่เคยปฏิบัติมาก็ย่อมเป็นไปได้สูง เพราะไม่เพียงแต่ท่านคนเดียวที่ถูกรบเร้าและโดนกล่าวหาจากผู้คัดค้านว่าใช้อำนาจปฏิบัติการในสิ่งที่สวนทางกับการปฏิบัติของนบีมุหัมมัด-ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม-และท่านอบูบักรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ  แต่ข้าหลวงผู้ปกครองพื้นที่ต่าง ๆ ทั้งสะอฺดฺ อิบนฺ อบีวักก็อศ ที่อิรัก, อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ ที่อียิปต์, หรืออบูอุบัยดะฮฺที่ชาม ต่างก็ถูกเหล่าทหารเรียกร้องให้จัดสรรพื้นที่ให้กับพวกเขา ท่านจึงต้องใช้ทั้งหลักการ และเวลา ตลอดจนต้องลงพื้นที่เพื่อจัดการประชุมกับเหล่าทหารด้วยตัวเองเพื่อชี้แจงให้ทุกคนได้เข้าใจ

          อิหม่าม อัส-สูยูฏียฺได้บันทึกบรรยากาศของเหตุการณ์นี้ที่เกิดขึ้นทั่วภูมิภาคทั้งกับตัวท่านเคาะลีฟะฮฺเอง และกับข้าหลวงที่อิรัก ชาม และอียิปต์ว่า

         อิบรอฮีม อัต-ตัยมียฺ ได้เล่าว่า หลังจากชาวมุสลิมได้พิชิตเมืองใหม่ พวกเขากล่าวกับท่านอุมัรฺว่า "ขอให้ท่านจงแบ่งและจัดสรรมันให้เราเถอะ พวกเราพิชิตมันได้ด้วยกำลัง" (ไม่ใช่ด้วยสนธิสัญญา)

ท่านปฏิเสธ และตอบว่า "แล้วจะเหลืออะไรให้กับชาวมุสลิมที่เกิดมาหลังจากพวกท่านล่ะ? ฉันกลัวว่าพวกท่านจะแย่งกันทำลายแหล่งน้ำ"

ท่านจึงรับรองสิทธิในที่ดินของประชากรใหม่ โดยให้พวกเขาชำระภาษีประจำตัว (ญิซยะฮฺ) และภาษีที่ดิน (เคาะรอจ) (al-Suyutiy, n.d.: 28/367: 31287)

ส่วนที่อิรักก็เกิดเรื่องในทำนองเดียวกัน ซึ่งท่านอุมัรฺได้ส่งหนังสือไปยังสะอฺดฺ ตอนที่พิชิตอิรักได้ว่า

"ฉันได้รับหนังสือของท่านที่ระบุว่ามีคนขอให้ท่านแบ่งสรรทรัพย์สิน เฆาะนิมะฮฺ และสิ่งที่อัลลอฮ์ประทานให้กับพวกเขา ซึ่งเมื่อท่านได้รับหนังสือของฉันฉบับนี้ ขอให้ท่านตรวจดูสิ่งที่พวกเขานำมาให้ท่านที่ค่ายทหารไม่ว่าจะเป็นม้าหรือสมบัติอื่นๆ แล้วจงจัดสรรมันให้กับมุสลิมผู้เข้าร่วมสงคราม และจงปล่อยที่ดินและแม่น้ำให้แก่เจ้าของผู้ทำประโยชน์ตามเดิม เพื่อมันจะได้เป็นสมบัติของประชาชนมุสลิมทั้งมวล เพราะหากท่านจัดสรรมันแก่ผู้ร่วมสงครามแล้ว จะไม่มีอะไรเหลือให้ผู้มาภายหลังอีกเลย " (al-Bayhaqiy, 1344 A.H.:2/41: 18832)

และประชาชนจากแถบซีเรีย จอร์แดน เลบานอน และปาเลสไตน์ก็เช่นเดียวกัน ท่านกล่าวถึงหนังสือที่บิลาลและพวกได้ส่งมายังมะดีนะฮฺเพื่อขอให้ท่านเคาะลีฟะฮฺจัดสรรที่ดินว่า

 “แท้จริง ทรัพย์สินแพ้สงครามที่เราได้รับนี้ หนึ่งส่วนห้าเป็นของท่าน ส่วนที่เหลือเป็นของเรา ไม่มีอะไรเหลือให้กับผู้อื่นดังที่ท่านนบีเคยจัดสรรที่เมืองค็อยบัรฺ"

ท่านอุมัรฺจึงตอบกลับไป "ฉันจะไม่ทำอย่างที่พวกท่านพูดหรอก แต่ฉันจะให้มันเป็นของสาธารณะเพื่อชาวมุสลิมทั้งมวล” (al-Bayhaqiy, 1344 A.H.:2/67: 18856)

ส่วนที่อียิปต์ ข้าหลวงอัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ ก็ต้องถูกอัล-ซุเบรฺ อิบนฺ อัล-เอาวาม กดดันด้วยเช่นกัน ดังที่อัล-บัยหะกียฺได้กล่าวว่า

ฉันได้ยินสุฟยาน อิบนฺ วัฮบฺ อัล-เคาลานียฺ เล่าว่า "หลังจากที่พวกเราสามารถพิชิตอียิปต์โดยไม่มีสนธิสัญญา"

อัล-ซุเบรฺ อิบนฺ อัล-เอาวามก็ได้ลุกขึ้นพูดว่า "โอ้ อัมรฺ อิบนฺ อัล-อาศ ขอให้ท่านจงจัดสรรมัน"

อัมรฺตอบว่า "ไม่ ฉันจะไม่แบ่งมัน"

อัล-ซุเบรฺกล่าวว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ ท่านจะต้องจัดสรรมันอย่างแน่นอนดังที่ท่านเราะสูลุลลอฮฺเคยจัดสรรที่ค็อยบัร"

อัมรฺ ตอบว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ ฉันจะไม่จัดสรรมันจนกว่าฉันจะมีหนังสือแจ้งไปยังท่านอะมีรุลมุมีนีน”

แล้วอุมัรฺก็มีหนังสือตอบมาว่า"ฉันตั้งมันไว้เพื่อให้ลูกหลานที่นี่จะได้ทำหน้าที่รบรากับศัตรูกันต่อไป” (al-Bayhaqiy, 1344 A.H.:2/406: 13208)

          นี่คือบรรยากาศทั่วไปที่เกิดขึ้นหลังจากท่านได้มีคำสั่งยกเลิกการแบ่งสรรที่ดินให้กับทหารผู้เข้าร่วมสงคราม แต่เนื่องจากทหารของท่าน ส่วนใหญ่เป็นทหารที่มีคุณธรรมและยึดมั่นในหลักการอิสลามอย่างเคร่งครัด ท่านจึงสามารถใช้หลักการอิสลามมาชี้แจงจนพวกเขาพอใจโดยได้ยกบทบัญญัติในอัลกุรอานต่อไปนี้มาอ่านและอธิบายแก่บรรดาเหล่าทหารผู้ร่วมประชุมว่า

ความว่า : และสิ่งใด ๆ ที่อัลลอฮฺทรงมอบให้เราะสูลของพระองค์ที่ยึดมาได้จากชาวเมือง (ที่แพ้สงคราม) สิ่งนั้นย่อมเป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์

และเป็นกรรมสิทธิ์ของญาติสนิท เด็กกำพร้า ผู้ยากไร้ และผู้เดินทางที่ไร้ที่อาศัย เพื่อมันจะได้ไม่หมุนเวียนเพียงเฉพาะในวงผู้มั่งมีในหมู่พวกเจ้า

และอันใดที่เราะสูลได้นำมายังพวกเจ้า ก็จงยึดเอาไว้ และอันใดที่ท่านห้ามพวกเจ้าก็จงละเว้นเสีย และพวกเจ้าจงยำเกรงอัลลอฮฺเถิด แท้จริงอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงเข้มงวดในการลงโทษ

(สิ่งที่ยึดมาได้นั้น) เป็นสมบัติของบรรดาผู้อพยพที่ขัดสนซึ่งถูกขับออกจากบ้านเกิดเมืองนอนและต้องทอดทิ้งทรัพย์สินเพื่อแสวงหาความโปรดปรานและความยินดีจากอัลลอฮฺ อีกทั้งยังช่วยเหลืออัลลอฮฺและเราะสูลของพระองค์ คนเหล่านั้นแหล่ะคือผู้สัตย์จริง (อัล-หัชรฺ : 7-8)

ท่านอุมัรฺอธิบายชี้แจงว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ มันไม่ใช่เป็นสมบัติเฉพาะของพวกเขาเพียงพวกเดียวเท่านั้น" แล้วท่านก็อ่านต่อไปว่า

ความว่า : และบรรดาผู้ที่ได้ปลูกบ้านเรือนและความศรัทธาเตรียมไว้ก่อนพวกเขาจะอพยพมาถึงซึ่งต่างรักใคร่ผู้ที่อพยพมายังพวกเขา โดยในหัวใจพวกเขาไม่มีความต้องการหรือความอิจฉาในสิ่งที่คนเหล่านั้นได้รับมอบ

และพวกเขายังให้สิทธิแก่ผู้อื่นก่อนตัวเองถึงแม้ว่าพวกเขายังมีความต้องการอยู่มากก็ตาม และผู้ใดปกป้องความตระหนี่ที่อยู่ในตัวของเขา คนเหล่านั้นคือผู้ประสบความสำเร็จ

และบรรดาผู้ที่มาหลังจากพวกเขาโดยพวกเขากล่าวว่าข้าแต่พระเจ้าของเรา ขอทรงโปรดอภัยให้แก่เราและแก่พี่น้องผู้ซึ่งได้มีความศรัทธาก่อนหน้าเรา

และขอพระองค์อย่าสร้างความเคียดแค้นต่อบรรดาผู้ศรัทธาให้เกิดขึ้นในหัวใจของเรา ข้าแต่พระเจ้าของเรา แท้จริงพระองค์นั้นทรงเป็นผู้ทรงเอ็นดู ผู้ทรงเมตตาเสมอ (อัล-หัชรฺ : 9-10)

ท่านกล่าวเสริมท้ายว่า "ขอสาบานกับอัลลอฮฺ มุสลิมทุกคนย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินนี้ ไม่ว่าเขาจะได้รับแล้วหรือยังไม่ได้รับ จนแม้กระทั่งคนเลี้ยงสัตว์ที่อยู่ที่เอเดนก็ตาม" (al-Bayhaqiy, 1994:6/351: 12781)

          นี่คือบางตัวอย่างที่แสดงถึงการมีความคิดที่มั่นคงของเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ซึ่งผลการตัดสินใจยืนหยัดในความคิดนี่เองที่ทำให้เกิดกรมที่ดินเพื่อทำการสำรวจและขึ้นทะเบียนที่ดิน ทำให้รายได้ของกองคลังขยับตัวขึ้นสูงในทันทีที่มตินี้ถูกนำไปปฏิบัติ และด้วยรายได้อันมหาศาลนี่เองที่ทำให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ และนำรัฐอิสลามไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่