12. ประหยัด อยู่อย่างพอเพียง
  จำนวนคนเข้าชม  3723


12. ประหยัด อยู่อย่างพอเพียง


          การมีความประหยัดและอยู่อย่างพอเพียงนับเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้นำ เพราะผู้นำคือผู้ที่ประชาชนให้การศรัทธาและลอกเลียนแบบ หากเขาประหยัด ประชาชนก็จะประหยัดตาม ปัญหาทางเศรษฐกิจของชาติก็จะลดลง รายได้ของประเทศก็จะดีขึ้น แต่หากผู้นำอยู่อย่างฟุ่มเฟือย ประชาชนก็จะฟุ่มเฟือยตาม มีเท่าไรก็ไม่รู้จักพอ กระทั่งเกิดภาวะวิกฤติปัญหาเศรษฐกิจและสังคมที่ยากจะเหยียวยาและแก้ไข

          เคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ อิบนฺ อัล-ค็อฏฏ็อบ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ เป็นผู้นำที่มีความเป็นอยู่อย่างประหยัดและพอเพียง เป็นผู้นำที่ภูมิใจในความสำเร็จของหน้าที่มากกว่าภูมิใจในภาพลักษณ์ที่หรูหราของตัวเอง เป็นผู้นำที่มุ่งมั่นจัดหารายได้เข้ากองคลังหลวงมากกว่าจะหารายได้ให้ตัวเองและครอบครัว ท่านกำหนดเงินเดือนและสวัสดิการประจำตำแหน่งของตัวเองให้เป็นเพียงแค่การมีอาหารสำหรับตัวเองและครอบครัวในระดับปานกลางของบุคคลทั่วไป มีเสื้อผ้าปีละสองชุด คือชุดฤดูหนาวกับชุดฤดูร้อน และมีค่าใช้จ่ายเพื่อไปทำหัจญ์และอุมเราะฮฺที่นครมักกะฮฺปีละหนึ่งครั้ง ซึ่ง al-Suyutiy ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า

อัล-อะหฺนัฟ อิบนฺ ก็อยสฺ เล่าว่า "ในขณะที่พวกเรากำลังนั่งอยู่หน้าประตูบ้านของท่านอุมัรฺ ก็มีหญิงคนหนึ่งเดินผ่านมา พวกเขากล่าวว่า "เธอคือทาสหญิงของอะมีรุลมุมินีน "

ท่านจึงกล่าวว่า "นางไม่ใช่ทาสหญิงของอะมีรุลมุมินีนหรอก และก็ไม่สมควรที่จะเขาจะครอบครองด้วยซ้ำไป แต่นางคือสมบัติของคลังหลวง"

เราจึงถามว่า "แล้วสมบัติจากคลังหลวงมีอะไรบ้างที่ท่านสามารถครอบครองได้?"

ท่านตอบว่า "แท้จริง สมบัติจากคลังหลวงที่อุมัรฺสามารถครอบครองได้มีเพียงเสื้อผ้าสองชุด ชุดหนึ่งเพื่อใช้ในฤดูหนาวและอีกชุดหนึ่งเพื่อใช้ในฤดูร้อน และสิ่งจำเป็นที่ฉันต้องใช้จ่ายเพื่อทำหัจญ์และอุมเราะฮฺ  ตลอดจนอาหารของฉันและครอบครัวที่เป็นอาหารของชาวกุร็อยชฺคนหนึ่งที่มีฐานะไม่ใช่คนร่ำรวยที่สุดหรือคนที่ยากจนที่สุด ซึ่งนอกเหนือจากสิ่งนี้ ฉันก็คือประชาชนมุสลิมธรรมดาคนหนึ่งเท่านั้นเอง"  (al-Suyutiy, 1952: 1/116)

          จากรายได้ประจำตำแหน่งในจำนวนดังกล่าว ที่ท่านเองเป็นผู้กำหนด ทำให้สภาพความเป็นอยู่ของท่านสอดคล้องเป็นอย่างยิ่งกับรายได้ที่ท่านได้รับมา

อัล-สุยูฏียฺ (al-Suyuyt}iy) ได้กล่าวถึงสภาพชีวิตประจำวันของท่านเคาะลีฟะฮฺอุมัรฺ เราะฎิยัลลอฮฺ อันฮฺ ว่า 

ท่านอุมัรฺในขณะที่เป็นเคาะลีฟะฮฺนั้นท่านได้สวมเสื้อยาวจากผ้าหยาบที่มีรอยปะเย็บด้วยด้ายจากเส้นเชือกของต้นอินทผลัม ท่านวนเวียนตรวจตรารอบๆ ตลาดโดยมีไม้เรียวอยู่บนคอเพื่อใช้สั่งสอนประชาชน เมื่อท่านเดินพบเมล็ดพืชหรือสิ่งตกหล่น ท่านก็จะเก็บและโยนเข้าไปยังบ้านเรือนของประชาชนเพื่อพวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์ (al-Suyutiy, 1952: 1/116)

          เช่นเดียวกันกับอิบนุ อัล-เญาซียฺ (Ibn al-Jawziy) ที่ได้กล่าวถึงความเรียบง่ายของท่านในยามเดินทางว่า

อับดุลลอฮฺ อิบนฺ อามิร อิบนฺ เราะบีอะฮฺเล่าว่า "ฉันเคยเดินทางกับท่านอุมัรฺจากมะดีนะฮฺไปยังมักกะฮฺเพื่อทำหัจญ์และกลับมาด้วยกัน ปรากฏว่าท่านไม่เคยกางกระโจมหรือมีที่สำหรับให้ท่านได้เข้าอยู่ในที่ร่มเลย ท่านเพียงแต่ขึงเสื่อหรือผ้ากับต้นไม้ แล้วก็เข้าไปอยู่ใต้ร่มเงาของมัน" (Ibn al-Jawziy, n.d.: 463)

         ทั้งนี้ การเดินทางไปทำหัจญ์ของท่านมีค่าใช้จ่ายเพียงสิบหกดีนาร์เท่านั้น ซึ่งค่าใช้จ่ายเพียงน้อยนิดจำนวนนี้ได้กลายเป็นอุทาหรณ์แก่คนรุ่นหลังเพื่อให้พวกเขาได้พิจารณาตัวเองว่าเป็นคนประหยัดหรือฟุ่มเฟือย ดังที่สุฟยาน อัล-เษารียฺได้กล่าวตักเตือนแก่เคาะลีฟะฮฺอัล-มะฮฺดียฺว่า

"ท่านอุมัรฺไปทำหัจญ์และใช้จ่ายในกิจการหัจญ์ของท่านเพียงสิบหกดีนาร์เท่านั้นเอง แล้วท่านทำหัจญ์ล่ะ ท่านใช้จ่ายในหัจญ์ของท่านเป็นคลังๆ เลย"

อัล-มะฮฺดียฺกล่าวว่า "แล้วจะให้ฉันทำอย่างไรล่ะ จะให้ฉันใช้จ่ายเหมือนท่านหรือ?"

ท่านตอบว่า "ให้เกินกว่าที่ฉันใช้จ่ายขึ้นสักหน่อยและต่ำกว่าที่ท่านใช้จ่ายลงสักนิด" (al-Khatib al-Baghdadiy, n.d.: 4/161)

         และไม่เพียงแต่ท่านคนเดียวเท่านั้นที่อยู่อย่างพอเพียง แต่ท่านยังจะหมั่นตรวจสอบบุคคลในครอบครัวให้ดำรงชีวิตอย่างประหยัดและพอเพียงด้วย ซึ่งแม้กระทั่งการซื้ออาหารตามใจชอบโดยไม่มีการระงับตัวเองก็ถือว่าเป็นการฟุ่มเฟือยแล้วในทัศนะของท่าน

อัล-สุยูฏียฺ(al-Suyutiy) กล่าวว่า

อัล-หะสัน เล่าว่า "ท่านอุมัรฺได้มาหาอับดุลลอฮฺบุตรชายของท่านในขณะที่เขากำลังกินเนื้ออยู่

ท่านถามว่า "นี่มันเนื้ออะไรกัน?"

เขาตอบว่า "เรารู้สึกอยากกิน"

ท่านกล่าวว่า "ทุกครั้งที่เจ้าเกิดอยากกินอะไรสักอย่างหนึ่งแล้วเจ้าก็กินมันทันทีหรือ? ถือเป็นการฟุ่มเฟือยแล้วสำหรับคนที่กินทุกสิ่งที่ตนอยากกิน" (al-Suyutiy, n.d.: 27/222: 29946)

          จากคุณสมบัติการมีความประหยัดอย่างนี้เอง ทำให้ท่านได้กำหนดเป็นนโยบายให้ข้าหลวงทุกคนนำไปปฏิบัติ โดยทุกครั้งที่ท่านจะแต่งตั้งข้าหลวง ท่านจะมอบเงื่อนไขสี่ประการให้เขานำไปปฏิบัติ หากปฏิบัติไม่ได้ ถือว่าข้าหลวงคนนั้นมีความผิดและต้องถูกลงโทษ

เงื่อนไขสี่ประการดังกล่าวคือ

ต้องไม่ขี่ม้าชั้นดี

ต้องไม่รับประทานอาหารชั้นดี

ต้องไม่สวมเสื้อผ้าชั้นดี

และต้องไม่ปิดประตูกีดกั้นการเข้าพบของประชาชน

(al-Suyutiy,1952: 1/116)