สติปัญญา ความรู้สึก และร่างกาย
  จำนวนคนเข้าชม  7135

สติปัญญา ความรู้สึก และร่างกาย


อาจารย์ ดาวุด สันติวิไลพร


السلام عليكم ورحمة الله وبركاته

         ท่านผู้ฟังที่เคารพ อัลฮัมดุลิลลาห์ อัลเลาะฮ์ ทรงสร้างเราให้มีความงดงามยิ่งกว่าสิ่งใดๆและพระองค์ทรงประทาน ปัจจัยยังชีพความสะดวกสบาย หวังเพื่อให้มนุษย์ ดำรงไว้ซึ่งความภักดีแด่พระองค์ ด้วยการประกอบการงานที่ดี ที่นำประโยชน์สู่ตนเอง ครอบครัวและสังคมส่วนรวม

พระองค์ อัลเลาะฮ์ ทรงดำรัส ว่า

لَقَدْ خَلَقْنَا اْلإِنْسَانَ فِى أَحْسَنِ تَقْوِيْم ٍثُمَّ رَدَدْنَاهُ أَسْفَلَ سَافِلِيْنَ إِلاَّ الَّذِيْنَ آمَنُوْا وَعَمِلُوْا الصَّالِحَاتِ فَلَهُمْ أَجْرٌ غَيْرُ مَمْنُوْنَ

 “แน่นอน เราได้บังเกิดมนุษย์มาในรูปแบบที่สวยงามยิ่ง แล้วเราได้ให้เขากลับสู่สภาพที่ตกต่ำยิ่ง

นอกจากบรรดาผู้ศรัทธาและประกอบสิ่งที่ดีงามทั้งหลาย สำหรับพวกเขาจะได้รับรางวัลอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

 

         ด้วยเหตุนี้ การประกอบการงานที่ดี การทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีประโยชน์ทั้งกับตัวเองและสังคม ดุนยาและอาคีเราะห์  จึงเป็นเป้าหมายสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้ที่มีความศรัทธาต่ออัลเลาะฮ์  และประกอบคุณงามความดี หากหัวใจของเขาไร้ซึ่งอีมาน ความคิดความอ่านของเขาก็จะไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และไม่มีพลัง ด้วยเหตุนี้เองอัลเลาะฮ์  ได้บัญชาให้เราดูแลรักษาสุขภาพให้พ้นจากภัยพิบัติที่อาจจะมีขึ้นได้  พระองค์ทรงดำรัสว่า

وَلاَتُلْقُوْا بِأَيْدِيْكُمْ إِلَى التَّهْلُكَةِ وَأَحْسِنُوْا إِنَّ اللهَ يُحِبُّ اْلمـُحْسِنِيْنَ

 “ จงอย่าโยนตัวของสูเจ้า เข้าสู่ความพินาศ และจงทำดีเถิด แท้จริงอัลเลาะฮ์ นั้นทรงรักผู้ทำความดีทั้งหลาย”


         ท่านผู้ฟังที่เคารพ หากเราสังเกตุอย่างละเอียดถี่ถ้วนต่อโองการของอัลเลาะห์ แล้ว เราจะรู้ว่าคำสั่งใช้ และคำสั่งห้ามของพระองค์นั้น จะนำความดีงามมายังตัวมนุษย์ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เราจะเห็นว่าคำสั่งทุกอย่างของพระองค์ทรงสร้างมนุษย์ด้วยความงดงามกว่าสิ่งใดๆ มนุษย์ประกอบด้วยสิ่ง 3 ประการ ที่สำคัญคือ สติปัญญา ความรู้สึก และร่างกาย ทั้ง 3 สิ่งนี้เองเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของมนุษย์หากสิ่งหนึ่งสิ่งใดบกพร่องไปแล้ว นั่นหมายความว่า การดำรงชีวิตของมนุษย์ในโลกนี้จะขาดความสมบูรณ์ไปทันที หากมนุษย์ขาดสติปัญญาเราเรียกว่าคนบ้า หากขาดวิญญาณเราเรียกว่า ศพหรือคนตาย หากร่างกายขาดส่วนใดส่วนหนึ่งเราเรียกว่าพิการ

         สรุปแล้วองค์ประกอบทั้ง 3 ประการคือ สติปัญญา ความรู้สึก และร่างกายนั้น มีความสำคัญอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้การดูแลรักษา สิ่งทั้ง 3 ประการให้ครบถ้วนสมบูรณ์ จีงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องกระทำ


ท่านผู้ฟังที่เคารพ  มนุษย์ถูกบังเกิดมาในโลกนี้  เป้าหมายสำคัญก็เพื่อการภักดีต่อ อัลเลาะฮ์ พระองค์ อัลเลาะฮ์ ทรงดำรัสว่า

وَمَاخَلَقْتُ اْلجِنَّ وَاْلإِنْسَ إِلاَّ لِيَعْبُدُوْنِ

“  เราไม่ได้สร้างญินและมนุษย์ เว้นแต่เพื่อการทำการภักดี”

 

        นั่นก็หมายความว่า การประกอบ อิบาดะห์หรือการภัคดีต่อ อัลเลาะฮ์  จึงเป็นหน้าที่หลักของมนุษย์..... อิบาดะห์ ในความหมายที่ครอบคุมในทุกๆด้านไม่เพียงแต่การ ละหมาด ถือศีลอด จ่ายซะกาต ประกอบพิธี ฮัจย์ เท่านั้น แต่อายะห์ที่ว่า

وَمَاخَلَقْتُ اْلجِنَّ وَاْلإِنْسَ إِلاَّ لِيَعْبُدُوْنِ

         นั้นหมายถึงคือ ทุกการเคลื่อนไหว ทุกย่างก้าวของชีวิตมนุษย์จะต้องดำเนินไปให้สอดคล้องกับหลักคำสอนของอิสลาม สร้างคุณความดีแก่ตนเองและครอบครัว และแก่สังคมส่วนรวม รวมทั้งไม่สร้างความไม่สบายใจต่อคนอื่น  ดังกล่าวนั้นถือเป็น อิบาดะห์  คำนิยามของคำว่า อิบาดะห์ ในหนังสือ อัล-อุบูดียะห์ ระบุไว้ว่า  อิบาดะห์ เป็นนามหรือนามที่รวบรวมทุกสิ่งที่ อัลเลาะฮ์ ทรงรักใคร่ และเขาเองก็ยินยอมปฏิบัติ


         ท่านผู้ฟังที่เคารพ อิบาดะห์ ทุกอย่างใน อิสลาม เช่นการ ละหมาด ฮัจย์ ถือศีลอด ซะกาต อื่นๆ เป็นต้น การประกอบ อิบาดะห์   ทุกอย่างจะทำอย่างพอประมาณไม่ให้เกินขอบเขต อย่างที่เราเคยได้ยินในหะดีษของท่าน นบี ที่ว่า 

“มี ซอฮาบะห์ ของท่านนบี  อยู่  3 คน หนึ่งในนั้นบอกว่า ฉันจะละหมาดตลอดทั้งคืนโดยจะไม่นอนเลย  อีกคนก็บอกว่าฉันจะถือศีลอดทุกวัน ส่วนคนสุดท้ายก็พูดว่า ฉันจะขอใช้ชีวิตโสดไปตลอดจะไม่ยอมแต่งงาน” 

แต่หลังจากท่าน นบี ได้ยินคำพูดของทั้ง 3 คนแล้ว ท่านจึงห้าม ซอฮาบะห์ ทั้ง  3 โดยกล่าวว่า 

“ฉัน ละหมาด และ นอนตอนกลางคืน ฉันถือศีลอด และละศีลอด และ ฉันก็แต่งงานกับสตรี ผู้ใดที่ปฏิเสธแนวทางของฉัน คนผู้นั้นก็ไม่ใช่พวกของฉัน”


         ท่านผู้ฟังที่เคารพ ความต้องการของร่างกาย จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องสนองตอบ และจะต้องให้สิทธิแก่มันอย่างเหมาะสม จิตวิญญานก็ประสงค์ต่ออาหารของมันคือความศรัทธา ด้วยเหตุนี้เองท่าน นบี ละหมาดในยามค่ำคืนเป็นประจำ ถือศีลอดสุนัตเป็นต้น ส่วนร่างกายย่อมมีความต้องการอาหารการกิน ซึ่งท่านนบี  ไม่ถือศีลอดทุกวัน  แต่บางวันท่านถือศีลอด และบางวันท่านไม่ได้ถือศีลอด ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้สนองความต้องการของร่างกายนั่นเอง นอกจากนั้นท่านยังแต่งงานมีครอบครัว ทั้งนี้ก็เพื่อสนองความต้องการของร่างกายในทางที่ถูกต้อง  ตามความที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนั้นก็เพื่อรักษาความสมดุลย์ของมนุษย์ เพื่อให้มนุษย์จะได้ดำรงไว้ซึ่งภาระหน้าที่หลักของตน นั่นคือการประกอบ อิบาดะห์  ต่อพระองค์ อัลเลาะฮ์ ด้วยความสมบูรณ์

 

 

คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ