การระงับอารมณ์
  จำนวนคนเข้าชม  17597

การระงับอารมณ์


        ศรัทธาชนที่มีเกียรติทั้งหลาย จงยำเกรงอัลลอฮฺ เถิด และจงทำความรู้จักกับอารมณ์ในตัวของเราที่เรียกว่า “นัฟซู” เพื่อหาทางระงับและสยบมันลงให้ได้ อย่าได้ตกเป็นทาสของมันโดยเด็ดขาด

         อารมณ์ของมนุษย์ เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้เสมอ บางครั้งอารมณ์ดี บางครั้งอารมณ์ร้าย และที่อันตรายยิ่งก็คือ อารมณ์ชั่ววูบ เพราะเมื่อมันเกิดขึ้นแล้ว ก็อาจทำให้เจ้าของอารมณ์ที่ว่านี้ สามารถกระทำความผิดร้ายแรงต่างๆ ได้โดยง่าย เช่น ทะเลาะวิวาท ชกต่อยกัน แย่งชิงทรัพย์สิน ข่มขืน กระทำชำเราอนาจาร และถึงฆ่ากันตาย ซึ่งล้วนแต่เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบทั้งสิ้น

          ดังนั้น อารมณ์ จึงเป็นสิ่งที่เราจะต้องเรียนรู้ถึงวิธีการที่จะควบคุมอารมณ์ และสยบมันลงให้จงได้ เพราะถ้าไม่สามารถควบคุมได้แล้ว มนุษย์ที่ต้องตกเป็นทาสของอารมณ์ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง โดยปกติ อารมณ์ของมนุษย์จะทำหน้าที่ฉุดดึงมนุษย์ไปสู่ความชั่วตลอดเวลา ยามใดที่อำนาจใฝ่ดีในตัวของคนเราอ่อนกำลังลง (อำนาจใฝ่ดี คือ ตักวา) การตักวา คือ ความยำเกรงหรือสำนึกที่คอยกระตุ้นเตือนให้เราทำความดีและละอายที่จะทำความชั่วต่ออัลลอฮฺ เมื่อสำนึกที่ว่านี้อ่อนกำลังลง อารมณ์ใฝ่ต่ำก็จะเข้าครอบครองและบงการมนุษย์ไปสู่ความชั่วต่างๆ


        ดังนั้น เราจะพบว่า ปัญหาต่างๆ ที่เลวร้ายทางด้านพฤติกรรมของมนุษย์ที่แสดงออกให้เห็น เช่น ดื่มสุรา ลักขโมย ผิดประเวณี ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากบุคคลที่สูญเสียพลังทางด้านตักวาทั้งสิ้น เพราะยามใดก็ตามที่มุสลิมมีพลังตักวา(ยำเกรง)อยู่อย่างมั่นคงภายในใจ เขาย่อมจะเกิดสำนึกที่จะคอยกระตุ้นเตือนให้ทำความดี และละอายต่ออัลลอฮฺ  ที่จะกระทำความผิด อารมณ์ใฝ่ต่ำย่อมไม่อาจเข้าไปยึดครองเนื้อที่ภายในใจของคนๆ นั้นได้ และย่อมไม่มีพลังพอจะบงการให้เขาไปทำความผิดได้

ท่านศาสนทูตมุฮัมหมัด ได้กล่าวถึงอารมณ์ชนิดนี้ว่า

“คนที่มีสติ คือ คนที่สามารถสยบอารมณ์ของตนเองลงได้ และเขาจะกระทำการงานที่จะเป็นประโยชน์ให้แก่เขาภายหลังจากเสียชีวิตไปแล้ว

ส่วนคนที่อ่อนแอ ก็คือ คนที่ตกเป็นทาสของอารมณ์ และหวังลมๆ แล้งๆ จากอัลลอฮฺ”

(บันทึกโดยอัตติรมิซีย์)


          ศรัทธาชนที่มีเกียรติทั้งหลาย เมื่อเราได้ทราบถึงผลร้ายของอารมณ์แล้ว เราก็ควรจะต้องศึกษาสาเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ขึ้นมา เพื่อที่จะได้หาทางควบคุมและระงับมันลงให้ได้ สาเหตุที่ทำให้คนตกเป็นทาสของอารมณ์มีหลายสาเหตุด้วยกัน อาทิเช่น ความเกียจคร้าน ความขี้ขลาด ความโกรธ ความริษยา

          ความเกียจคร้านในการทำอิบาดะฮฺ ทำให้หัวใจตายด้าน มีจิตใจแข็งกระด้าง เหินห่างจากพระองค์อัลลอฮฺ  ห่างไกลจากคนที่มีคุณธรรม อันเป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ตกเป็นทาสของอารมณ์ได้ง่ายที่สุด ความเกียจคร้านในการงาน ทำให้เป็นคนต้อยต่ำ ล้าหลังไม่ทันเพื่อนฝูงในการสร้างตนเอง คนเกียจคร้าน แม้นว่าจะมีทรัพย์สินเงินทองอยู่มากเท่าใด ไม่นานนักก็จะค่อยๆ หมดไปในที่สุด เพราะไม่มีการขวนขวายหามาเพิ่มเติม มีแต่ใช้จ่ายออกไปเท่านั้น และเมื่อหมดตัวก็ย่อมหาทางให้ได้ทรัพย์มาโดยวิธีการง่ายๆ ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากอบายมุข และการประกอบอาชญากรรม

          ความขี้ขลาดจะทำให้พลาดโอกาสอันงดงามที่จะได้รับความโปรดรานต่างๆ ของอัลลอฮฺ เมื่อเกิดความขี้ขลาด อารมณ์ก็จะเข้าครอบครอง และบงการไม่ให้ต่อสู้ในวิถีทางที่ถูกต้อง และในวิถีทางของอัลลอฮฺ ความริษยาอาฆาต ความโกรธ และความโลภก็เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มนุษย์ตกเป็นทาสของอารมณ์

          คนที่มีความอิจฉาริษยา จะมองไม่เห็นอะไรสำคัญนอกจากตัวเอง ไม่มีอะไรสำคัญกว่าผลประโยชน์ของตนเอง เมื่อเห็นใครได้ดีมีความสุข จะเกิดความกระวนกระวายอยู่ไม่เป็นสุข อยากให้ความได้ดีมีสุขของผู้อื่นสูญสิ้นไป และตกมาเป็นของตน บางครั้งถึงกับลงมือประกอบอาชญากรรมเพียงเพื่อให้ความปรารถนาของตนเป็นจริงขึ้นมา

          ความโกรธ ถ้าเกิดขึ้นกับผู้ใดแล้ว ก็ยากที่จะหักห้ามอารมณ์ร้ายไว้ได้ เพราะความโกรธนั้นมาจากชัยตอน และชัยตอนก็ถูกสร้างขึ้นมาจากธาตุไฟ อารมณ์จึงปะทุขึ้นได้ง่ายเหมือนไฟเมื่อเกิดความโกรธ ด้วยเหตุนี้ ท่านนบี  จึงได้กล่าวแก่คนที่มาขอให้ท่านสั่งเสียว่า “เจ้าจงอย่าโกรธ” ท่านได้กล่าวซ้ำถึง 3 ครั้ง ก็เพื่อให้คนที่กำลังโกรธเกิดความยับยั้งชั่งใจก่อนที่จะกระทำการใดลงไป และท่านนบี ยังได้กล่าวอีกว่า


“คนที่แข็งแรงนั้น ไม่ใช่คนที่สามารถคว่ำคนอื่นให้ล้มลงได้ แท้ที่จริง คนที่แข็งแรงนั้น ก็คือ คนที่สามารถควบคุมตนเองได้ขณะโกรธ”

(รายงานโดยบุคอรีย์ และมุสลิม)


         ท่านนบีไม่ได้ตัดสินความแข็งแรงว่า อยู่ที่การมีพละกำลังมาก แต่อยู่ที่การสามารถควบคุมอารมณ์ของตนไว้ได้ขณะโกรธ เพราะคนที่ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ย่อมเป็นผู้ที่ชนะเสมอ

ท่านนบี ได้แนะนำวิธีการระงับความโกรธโดยให้กล่าวคำว่า    أَعُوْذُ بِاللهِ مِنَ الشَّيْطَانِ الرَّجِيْمِ  “อาอูซุ บิลลาฮฺ มินัช ชัยฏอนิร รอญีม”

ความหมาย  “ข้าขอให้อัลลอฮฺช่วยคุ้มครองให้พ้นจากการล่อลวงของชัยฏอน”

(รายงานโดยบุคอรีย์และมุสลิม)


ท่านนบี ได้กล่าวอีกว่า

 “พึงรู้เถิดว่าความโกรธคือถ่านไฟที่อยู่ในใจของมนุษย์ พวกท่านไม่เห็นดอกหรือว่าตาของเขาแดงก่ำและกรามของเขาพองโต

พราะฉะนั้น ใครที่มีอาการเช่นนั้นให้เขารีบไปอาบน้ำละหมาด (อาบน้ำวูฎูอฺ)

(รายงานโดยอัตติรมิซีย์)


         ศรัทธาชนที่รักทั้งหลาย จากการศึกษาทำให้เราได้ทราบว่า สาเหตุสำคัญที่จะทำให้เราต้องตกเป็นทาสของอารมณ์นั้น คือ ความเกียจคร้าน ความขี้ขลาด ความริษยาอาฆาต และความโกรธ  ถ้าหากเราสามารถระงับสิ่งเหล่านี้ไว้ได้ เราก็จะสามารถระงับอารมณ์ไว้ได้ และได้ชื่อว่าเป็นผู้เข้มแข็งที่สุด

 

 


ที่มา: หนังสือคุตบะฮฺวันศุกร์ โดยสำนักจุฬาราชมนตรี (นายประเสริฐ มะหะหมัด)