ความเมตตาของท่านนบี ต่อสัตว์
  จำนวนคนเข้าชม  11366

 

ความเมตตาของท่านนบี ต่อสัตว์

 

เขียน ดร.อับดุลวาฮิด บุชดัก


 

ประเด็นที่สาม ความเมตตาของท่านศาสนทูต ที่มีต่อสัตว์
 

 

        ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุมัสอูด (รอฎิยัลลอฮุอันฮุ) ได้กล่าวว่า พวกเราได้เคยอยู่ร่วมกับท่านศาสนฑูต ในการเดินทางครั้งหนึ่ง และเราก็ได้เห็นหัมเราะห์ (นกตัวเล็กๆชนิดหนึ่ง คล้ายกับนกกระจอก) พร้อมกับลูกน้อยของมัน จำนวนสองตัว พวกเราได้ไปเอาลูกนกตัวเล็กๆ มาจับไว้ ต่อมาแม่นกก็ได้บินมาร้องไห้กระพือปีกกระวนกระวาย ต่อมาท่านศาสนฑูตได้กลับมายังเรา ท่านก็ได้กล่าวว่า

 

« مَنْ فَجَعَ هَذِهِ بِوَلَدِهَا رُدُّوا وَلَدَهَا إِلَيْهَا » رواه أبوداود (رقم 5270)

 

“ผู้ใดได้สร้างความเดือดร้อนให้กับแม่นกตัวนี้ ด้วยการจับลูกน้อยของมันไว้ พวกท่านจงเอาลูกน้อยของมัน คืนให้กับแม่ของมัน” 
 

(บันทึกโดยอบูดาวุด)

 

        ท่านศาสนฑูตมูฮัมมัด ได้สัมผัสถึงความรู้สึกที่หวาดกลัวตกใจของแม่นก ท่านจึงเรียกร้องให้ใช้ความอ่อนโยนกับมัน โดยการคืนลูกน้อยให้กับมัน เพื่อแม่นกจะได้สงบ และมีความสุขเยี่ยงเดิม ด้วยเหตุผลที่ว่านกก็คือ ประชาชาติหนึ่งที่พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงสร้างมา พวกมันย่อมได้รับสิทธิในการปฏิบัติที่อ่อนโยน และได้รับความเมตตา เยี่ยงเดียวกับสิทธิที่ประชาคมมนุษย์ควรได้รับ ความเมตตาในมิติของอิสลามถือว่าเป็นคุณธรรมที่ยิ่งใหญ่ ที่ทำให้ผู้มีความเมตตาได้เข้าสวนสวรรค์ 

        ดังที่ท่านศาสนทูต ได้บอกเล่าเรื่องราวในทำนองดังกล่าวกับบรรดาอัครสาวกของท่านในวันที่ท่านได้ทำการส่งเสริมให้พวกเขามีความเมตตาต่อสัตว์ว่า


« بَيْنَمَا رَجُلٌ يَمْشِى بِطَرِيقٍ اشْتَدَّ عَلَيْهِ الْعَطَشُ ، فَوَجَدَ بِئْرًا فَنَزَلَ فِيهَا فَشَرِبَ ثُمَّ خَرَجَ ، فَإِذَا كَلْبٌ يَلْهَثُ يَأْكُلُ الثَّرَى مِنَ الْعَطَشِ فَقَالَ الرَّجُلُ لَقَدْ بَلَغَ هَذَا الْكَلْبَ مِنَ الْعَطَشِ مِثْلُ الَّذِى كَانَ بَلَغَ بِى ، فَنَزَلَ الْبِئْرَ فَمَلأَ خُفَّهُ ، ثُمَّ أَمْسَكَهُ بِفِيهِ ، فَسَقَى الْكَلْبَ ، فَشَكَرَ اللَّهُ لَهُ فَغَفَرَ لَهُ » . قَالُوا يَا رَسُولَ اللَّهِ وَإِنَّ لَنَا فِى الْبَهَائِمِ أَجْرًا . فَقَالَ « فِى كُلِّ ذَاتِ كَبِدٍ رَطْبَةٍ أَجْرٌ » ـ رواه البخاري ، رقم 6009

        “ในขณะที่มีชายผู้หนึ่งกำลังเดินอยู่บนเส้นทางสายหนึ่ง เขามีความรู้สึกหิวกระหายอย่างรุนแรง ต่อมาเขาได้เจอบ่อน้ำบ่อหนึ่ง เขาก็ได้ลงไปในบ่อ เพื่อดื่มน้ำในบ่อนั้น เมื่อดื่มเสร็จแล้วเขาได้ขึ้นมาจากบ่อ ทันใดนั้นเขาก็ได้เจอสุนัขตัวหนึ่ง มันได้แลบลิ้นกินดินที่เปียกน้ำ เนื่องจากมีความกระหายอย่างรุนแรงเช่นกัน 

ชายคนนั้นก็ได้พูดขึ้นว่า “แท้จริงสุนัขตัวนี้ น่าจะมีความกระหายถึงที่สุดอย่างเดียวกับที่ฉันได้กระหาย” 

       และเขาก็ได้ลงไปในบ่ออีกครั้ง โดยใช้รองเท้าของเขาบรรจุน้ำจนเต็ม และใช้ปากของตนเองคาบรองเท้าที่บรรจุน้ำขึ้นมา และเขาก็ใช้มือเท้าปืนป่ายขึ้นจากบ่อ และได้เอาน้ำให้สุนัขตัวนั้นดื่ม  พระองค์อัลลอฮ์ได้ตอบแทนผลบุญให้กับชายผู้นั้น และได้อภัยโทษให้แก่เขา 

บรรดาอัครสาวกของท่านศาสดา มูฮัมมัด ได้ถามท่านศาสดา ว่า “เราทำความดีต่อสัตว์ เราจะได้ผลบุญกระนั้นหรือ?”

ท่านศาสนทูต ได้กล่าวว่า “การทำความดีกับทุกสิ่งทุกอย่างที่อับชื้น (หมายถึงสิ่งมีชีวิต) จะได้รับผลบุญ” 

 

(บันทึกโดยอัลบุคอรีย์ หมายเลข 6009)

         พวกเราบางคนอาจจะดูถูกดูแคลนกับการทำความดีในเรื่องดังกล่าว โดยถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย กลับไม่ให้ความสำคัญในการนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวัน แต่พระองค์อัลลอฮฺพระผู้เป็นเจ้าได้ทรงให้เกียรติกับชายผู้นั้น โดยได้กล่าวถึงชายผู้นั้นด้วยความปิติยินดีต่อการกระทำของเขา เป็นไปไม่ได้ที่พระผู้เป็นเจ้าจะไม่มองความเมตตาดังกล่าวที่ออกมาจากจิตใจของมนุษย์ พระองค์ทรงเป็นพระผู้ทรงเมตตา กรุณาปราณีเสมอ พระองค์ทรงตรัสว่า

{وَرَحْمَتِي وَسِعَتْ كُلَّ شَيْءٍ} الأعراف آية 156

“ความเมตตาของข้า ครอบคลุมเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง” 

(ซูเราะห์อัลอะฮ์รอฟ โองการที่ 156)

พระองค์อัลลอฮฺ ได้ทรงบรรยาย เป้าหมายการส่งศาสนทูตของพระองค์ว่า

{وَمَا أَرْسَلْنَاكَ إِلَّا رَحْمَةً لِلْعَالَمِينَ} ـ الأنبياء آية 107

“และเรา(อัลออฮฺ)มิได้ส่งเจ้า(มุฮำหมัด) มาเพื่ออื่นใด ยกเว้น เพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย” 

(ซูเราะฮฺ อัลอะรอฟ โองการที่ 107)

        ด้วยเหตุนี้ ท่านศาสนทูต ได้ทำการตักเตือนเหล่าอัครสาวกของท่านให้มีคุณธรรม และมีความความเมตตาอยู่เนืองๆ ดังที่มีวจนะดังนี้

«الرَّاحِمُونَ يَرْحَمُهُمُ الرَّحْمَنُ» رواه الإمام أحمد رقم 6650

“ผู้ที่มีความเมตตา พระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงเมตตาก็เมตตาต่อเขา” 

(บันทึกโดยอิมามอะหมัด)

« إِنَّهُ مَنْ أُعْطِىَ حَظَّهُ مِنَ الرِّفْقِ فَقَدْ أُعْطِىَ حَظَّهُ مِنْ خَيْرِ الدُّنْيَا وَالآخِرَةِ» رواه الإمام أحمد رقم 26001

“ผู้ใดมีจริยธรรมความอ่อนโยน แน่นอนเท่ากับเขาได้รับโชคลาภแห่งความดีงามของโลกนี้และโลกหน้า” 

(บันทึกโดยอิมามอะหมัด)

         ดังกล่าวเราจะเห็นได้ว่า คุณธรรมความเมตตาที่มีต่อสัตว์ถือเป็นประเด็นหลักของอารยธรรมอิสลามในอดีต หากท่านได้ค้นคว้าหลักธรรมของอิสลามท่านจะพบขุมทรัพย์แห่งคุณธรรมที่ได้พูดถึงความอ่อนโยน ความเมตตากรุณา 

         ดังเช่นในประวัติของศาสดาสุลัยมาน ที่ท่านได้หยุดเดินทัพด้วยกับมดตัวหนึ่งที่อยู่ที่ราบลุ่มระหว่างหุบเขา ท่านศาสดาสุลัยมาน(โซโลมอน) ถึงกับยิ้มและหัวเราะให้กับมดตัวนั้น ท่านศาสดาสุลัยมานได้นั่งสนทนากับมด ตามที่พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงดลใจ เนื่องจากมดก็คือประชาชาติหนึ่ง และเป็นสิ่งที่พระผู้เป็นเจ้าทรงสร้าง นอกจากนี้แล้ว พระองค์อัลลอฮฺได้ทรงให้มดและประชากรของมันเป็นชื่อของบทหนึ่ง(ซูเราะห์) ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน (ซูเราะฮฺ อันนัมล์) เพื่อเป็นข้อเตือนสติความจำที่นิรันดร์ และเป็นคำพูดของพระเจ้าในเรื่องราวของมด และประชาชาติของมัน เป็นคำอ่านในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ที่เป็นส่วนหนึ่งของการอิบาดะฮ์ (การภักดี) ต่อพระเจ้าไปจนถึงวันกิยามะฮฺ (วันสิ้นโลก)


 

แปลและเรียบเรียงโดย อ.มุหำหมัด บินต่วน