อัลกุรอานสอนความรุนแรงกระนั้นหรือ ?
  จำนวนคนเข้าชม  25557

อัลกุรอานสอนความรุนแรงจนนำไปสู่ ปัญหาการก่อการร้ายกระนั้นหรือ ? 

อ. อับดุลสุโก ดินอะ

          เมื่อเราเปิดอัลกุรอานจะพบว่ามีบางข้อความในอัลกุรอานพูดถึงความรุนแรงจริงเช่นโองการที่หนึ่งอัลลอฮฺได้ตรัสความว่า

"และจงฆ่าพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่สูเจ้าพบพวกเขา" (กุรอาน 2:191)

และโองการที่สองอัลลอฮฺได้ตรัสความว่า 

"แต่ถ้าพวกเขาหันหลังให้ ก็จงจับพวกเขาและฆ่าพวกเขา ณ ที่สูเจ้าจับพวกเขาได้ และ (ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม) จงอย่าเอาพวกเขามาเป็นมิตรและผู้ช่วยเหลือ" (กุรอาน 4:89)

          ทำไม ? คัมภีร์กุรอานถึงได้กล่าวเช่นนั้น ความเป็นจริงข้อความข้างต้นยังมีข้อความก่อนหน้านี้และข้อความต่อท้ายอีกหลายประโยค หากนำเพียงข้อความข้างต้นอย่างเดียวจะทำให้เข้าใจว่าอิสลามหรืออัลกุรอานสอนให้ฆ่าได้ทุกคน ข้อความทั้งหมดในโองการที่หนึ่งมีดังนี้ อัลลอฮฺได้ตรัสความว่า

 

"และพวกเจ้าจงต่อสู้ในหนทางของอัลลอฮฺต่อบรรดาผู้ที่ทำร้ายพวกเจ้า และจงอย่ารุกราน แท้จริง อัลลอฮฺมิทรงรักผู้รุกราน และจงฆ่าพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่เจ้าพบพวกเขาและจงขับไล่พวกเขาออกไปจากที่ที่พวกเขาเคยขับไล่พวกเจ้าออกไป เพราะการกดขี่ข่มเหงนั้นร้ายแรงยิ่งกว่าการฆ่า

และจงอย่าสู้รบกับพวกเขาในมัสญิดอัลฮะรอม(เมืองมักกะฮฺ ประเทศซาอุดิอารเบีย) เว้นเสียแต่ว่าพวกเขาจะทำร้ายพวกเจ้าในที่นั้น ถ้าหากพวกเขาต่อสู้พวกเจ้า  ก็จงฆ่าเขาเสีย เช่นนั้นแหละคือการตอบแทนผู้ปฏิเสธศรัทธา 

แล้วถ้าหากพวกเขายุติ แน่นอน อัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงอภัย ผู้ทรงเมตตาเสมอ และจงต่อสู้พวกเขาจนกว่าจะไม่มีการก่อความวุ่นวาย และการกดขี่เกิดขึ้น และจนกว่าความยุติธรรมและการเคารพภักดีทั้งหมดจะเป็นสิทธิของอัลลอฮฺเท่านั้น

แต่ถ้าพวกเขายุติก็จงอย่าให้การเป็นศัตรูใดๆเกิดขึ้นเว้นแต่พวกที่สร้างความอธรรมเท่านั้น เดือนต้องห้ามก็ด้วยเดือนต้องห้ามและบรรดาสิ่งที่จำเป็นต้องเคารพนั้นก็มีกฎแห่งความเท่าเทียมกัน

ดังนั้นถ้าผู้ใดละเมิดต่อสูเจ้า ก็จงตอบโต้(การป้องกันตัว)การละเมิดของเขาเช่นเดียวกับที่เขาละเมิดพวกเจ้า แต่จงเกรงกลัวอัลลอฮฺและจงรู้เถิดว่าอัลลอฮฺนั้นทรงอยู่กับบรรดาผู้ยำเกรง"  (กุรอาน 2:190-194)

ส่วนข้อโองการที่สองมีข้อความทั้งหมดดังนี้

"พวกเขาชอบถ้าหากพวกเจ้าปฏิเสธศรัทธาเหมือนดังพวกเขา ดังนั้นพวกเจ้าจะได้กลายเป็นผู้ที่เท่าเทียมกัน ดังนั้น จงอย่าได้ยึดเอาใครในหมู่พวกเขาเป็นมิตรจนกว่าพวกเขาจะอพยพในหนทางของอัลลอฮฺ(จากสิ่งที่ต้องห้าม)

แต่ถ้าพวกเขาผินหลังให้ก็จงจับพวกเขาไว้และฆ่าพวกเขา ณ ที่ที่สูเจ้าพบพวกเขาและไม่ว่ากรณีใดก็ตามจงอย่าเอาผู้ใดในหมู่พวกเขามาเป็นมิตรและผู้ช่วยเหลือ นอกจากบรรดาผู้ที่เข้าร่วมกับกลุ่มที่พวกเจ้ามีสัญญาสันติภาพระหว่างกัน

หรือบรรดาผู้ที่เข้ามาหาเจ้าด้วยหัวใจที่ยับยั้งพวกเขามิให้ต่อสู้เจ้าเช่นเดียวกับที่จะต้องต่อสู้กับพวกเขาเอง และถ้าหากอัลลอฮฺทรงประสงค์แล้วพระองค์ทรงสามารถที่จะให้พวกเขามีอำนาจเหนือสูเจ้าและพวกเขาจะต่อสู้เจ้า

ดังนั้นถ้าหากพวกเขาถอนตัวออกไปจากพวกเจ้าและไม่ต่อสู้พวกเจ้าแล้ว และให้หลักประกันสันติภาพแก่พวกเจ้าแล้ว ดังนั้น อัลลอฮฺก็มิทรงเปิดหนทางใดสำหรับเจ้า(ที่จะทำสงครามต่อพวกเขา) พวกเจ้าจะพบพวกอื่นๆที่ต้องการจะได้รับความปลอดภัยจากพวกเจ้าเช่นเดียวกับพวกเขาเอง

คราใดที่พวกเขาถูกส่งกลับไปสู่การล่อลวงอีกพวกเขาก็จะกลับไปสู่สิ่งนั้นตามเดิม ดังนั้น ถ้าหากพวกเขามิได้ถอนตัวออกไปจากพวกเจ้าและมิได้ให้(หลักประกัน)สันติภาพแก่พวกเจ้าและมิได้ยับยั้งมือของพวกเขาไว้แล้วก็จงจับพวกเขาไว้ และจงฆ่าพวกเขา ณ ที่ใดก็ตามที่พวกเจ้าพบพวกเขา ในกรณีของพวกเขาเหล่านี้แหละที่เราได้ให้อำนาจที่ชัดเจนต่อพวกเจ้า? " (กุรอาน4:89-91)

          เมื่ออ่านข้อความจากอัลกุรอานทั้งหมดนี้แล้วไม่มีข้อความใดอนุญาตให้ฆ่าใครได้อย่างเสรี และปราศจากเหตุผล

         เมื่อพิจารณาภูมิหลังโองการดังกล่าวจะพบว่า พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงประทานข้อความอัลกุรอานแก่ท่านศาสดามุฮัมมัด ในตอนที่ผู้ปฏิเสธศรัทธาแห่งมักกะฮฺ (ประเทศซาอุดิอารเบียในปัจจุบัน) โจมตีมุสลิมอยู่เป็นประจำ นอกจากนั้นแล้วคนพวกนี้สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ประชาคมมุสลิมในนครมะดีนะฮฺด้วย มุสลิมจึงได้รับอนุญาตให้ตอบโต้ผู้รุกรานเพื่อป้องกันตัวแต่ต้องอยู่ภายใต้จริยธรรมในการทำสงคราม (โปรดดูญิฮาดหรือก่อการร้าย: อับดุลสุโก ดินอะ, มติชน , 8/04/48,หน้า6-7)

          ข้อความดังกล่าวนั้น มิใช่การอนุญาตให้มีลัทธิก่อการร้ายแต่อย่างใด แต่เป็นการเตือน ผู้รุกรานหรือผู้ก่อการร้ายต่างหาก แต่แม้จะเป็นการเตือนก็ตาม  คำสั่งในอัลกุรอานเน้นให้มีการยับยั้งและระมัดระวังในการตอบโต้ ถ้าได้ศึกษาเนื้อหาคำสอนของอัลกุรอานแล้วท่านจะต้องศึกษาเรื่องราวภูมิหลังของคำสอนดังกล่าวด้วย เพราะมันเป็นเรื่องสำคัญมาก มิเช่นนั้น คำสอนของศาสนาจะถูกนำไปตีความอย่างผิดๆ หรือใช้เพื่อบิดเบือน  เป็นเรื่องจริงที่มุสลิมบางคนและบางกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งได้นำเอาข้อความเหล่านี้ไปใช้เพื่อเป้าหมายของตนเอง

          ความเป็นจริงการฆ่าผู้หนึ่งผู้ใดโดยปราศจากความผิดเป็นถือเป็นบาปใหญ่ ในอัลกุรอานไม่อนุญาตให้ฆ่าคนบริสุทธิ์ โดยไม่คำนึงว่าเขาหรือเธอจะนับถือศาสนาใดชีวิตของมนุษย์ทุกคนมีค่าตามคำสอนของกุรอานและทางนำของศาสดามุฮัมมัด  คัมภีร์กุรอานกล่าวถึงเรื่องการห้ามฆ่าไว้ความว่า

 "และจงอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้ นอกจากด้วยสิทธิอันชอบธรรมเท่านั้นที่พระองค์ได้ทรงบัญชาแก่พวกเจ้านั้น ก็เพื่อพวกเจ้าจะได้ใช้สติปัญญา"  (กุรอาน6:151)

และอัลลอฮฺยังได้ตรัสไว้อีกความว่า

"และจงอย่าฆ่าชีวิตที่อัลลอฮฺทรงห้ามไว้เว้นแต่เพื่อความยุติธรรมและผู้ใดถูกฆ่าอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้น เราได้ให้อำนาจแก่ผู้ปกครอง(ที่จะลงโทษอย่างเท่าเทียมกันหรือให้อภัย) ดังนั้นจงอย่าได้ล่วงเกินขอบเขตในเรื่องการฆ่า เพราะเขา (ผู้ถูกอธรรม) จะได้รับความช่วยเหลือ"  (กุรอาน17:33)

"และการฆ่าผู้หนึ่งผู้ใดโดยปราศจากความผิดถือเป็นบาปใหญ่ เหมือนกับการฆ่ามนุษยชาติทั้งหมด และการไว้ชีวิตใครคนหนึ่งถือเป็นความดีเหมือนกับการไว้ชีวิตมนุษย์ทั้งหมด"  (กุรอาน  5:32)

       ความเป็นจริง ในคัมภีร์กุรอานมีข้อความมากมายที่กล่าวถึงการส่งเสริมคนทำความดีละเว้นความชั่ว และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างศาสนิกต่างๆ  แต่ผู้คนกลับไม่กล่าวถึงและนำมาปฏิบัติ ในเมื่ออัลกุรอานเป็นคัมภีร์เพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตในทุกๆด้านและมิติทีเกี่ยวข้องกับมนุษย์ และบทบัญญัติที่มีอยู่ในคัมภีร์คือกฏหมายที่มุสลิมทุกคนต้องปฏิบัติ ดังนั้น จึงเสมือนดาบสองคมที่จะนำสู่สันติภาพของโลกหากนำไปสนับสนุนความถูกต้อง ในทางกลับกันมันจะนำไปสู่ความรุนแรงและการก่อการร้ายระดับโลก

         หากคำสอนของอัลกุอานถูกนำไปตีความอย่างผิดๆหรือใช้เพื่อบิดเบือน อย่างที่มุสลิมบางคนและบางกลุ่มที่มีแนวคิดสุดโต่งได้นำเอาข้อความเหล่านี้ไปใช้ เพื่อเป้าหมายของตนเอง เพราะฉะนั้นเราต้องแยกแยะระหว่างหลักการของศาสนาที่ถูกต้องกับมุสลิม (ต่างศาสนิกก็เช่นกัน) เพราะผู้กระทำผิดเป็นคนละส่วนกัน ในขณะเดียวกัน เราจะต้องร่วมกันประณามการก่อการร้ายทุกรูปแบบที่กระทำในนามของศาสนา(ไม่ว่ารัฐหรือเอกชน)และเป็นกำลังใจต่อผู้กระทำความดี ละเว้นความชั่ว

ที่มา : ศูนย์ข่าวอิศรา