เข้า-ออก รอมาฏอนพร้อมกัน เอกภาพของสังคมมุสลิม จริงหรือ ?
  จำนวนคนเข้าชม  4239

รอมาฏอนเอกภาพของสังคมมุสลิม จริงหรือ ?

โดย  อิสมาอีล    กอเซ็ม


การที่มุสลิมได้เข้ารอมาฏอนและออกอีดพร้อมกัน คือ การสร้างเอกภาพจริงหรือ?

          ปัจจุบันการเข้าบวช หรือ ออกอีฎ ของมุสลิม มักจะไม่พร้อมกัน  ซึ่งสาเหตุเกิดจากการยึดตามแนวทางของนักวิชาการที่ตีความหมายตัวบทที่แตกต่างกันออกไป  เลยทำให้เกิดความสับสนแก่มุสลิมทั่วไป  โดยเฉพาะในหมู่คนธรรมดา จนถูกมองว่าความแตกต่างของมุสลิมในประเด็นนี้จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และอาจจะนำไปสู่การแตกแยกของสังคมมุสลิม 

          ซึ่งทางสำนักจุฬาราชมนตรีจะประกาศการเข้าสู่รอมาฏอนตามการดูเดือนหรือการเข้าสู่เดือนใหม่ของประเทศไทย  แต่มีนักวิชาการบางท่าน บางกลุ่มยึดการเข้าสู่เดือนใหม่ตามการประกาศของประเทศซาอุดิอาราเบีย เลยทำให้บางครั้งแต่ละกลุ่มในประเทศไทยประกาศดูเดือนเข้าสู่รอมาฏอนไม่พร้อมกัน  และคงยากที่จะทำให้มุสลิมในประเทศไทยได้เข้าสู่รอมาฏอนพร้อมๆกัน และออกจากรอมาฏอนที่พร้อมกัน  แต่ก็มีบางปีที่เข้าสู่รอมาฏอนพร้อมกัน เช่นกัน 

          และทั้งสองแนวที่ปฏิบัตินั้นเป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวถึงของบรรดานักวิชาการที่อธิบาย และตีความจากตัวบทของ ท่านนะบี  ศอลลัลลอฮุ อะลัยอิวะซัลลัม 

         แต่บางกลุ่มมีความคิดเห็นว่าการที่มุสลิมออกอีดไม่พร้อมกันนั้น เป็นสิ่งที่มาสั่นคลอนความเป็นเอกภาพของสังคมมุสลิม    แต่ความเป็นจริงแล้วการที่มุสลิมเข้าสู่รอมาฏอน และออกอีฎไม่ตรงกันนั้นไม่ใช่เรื่องที่จะมาทำลายความสามัคคีของมุสลิมแต่ประการใด  ถ้ามุสลิมเข้าใจประเด็นที่เกิดขึ้นมันก็จะไม่เกิดความขัดแย้งกันขึ้นมา เป็นเรื่องปกติที่คนย่อมปฏิบัติตามความเข้าใจของนักวิชาการศาสนาที่ตัวเรามีความเชื่อมั่นในความรู้ของเขา  ดังนั้นไม่ว่ามุสลิมจะเข้าสู่รอมาฏอนวันไหนนั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญทั้งหมด  และไม่มีการตำหนิใดๆ แก่ผู้ที่เข้าก่อน หรือเข้าหลัง 

          และถึงแม้ว่ามุสลิมจะเข้ารอมาฏอนพร้อมกัน ก็ไม่ใช่เป็นสิ่งที่จะมาสร้างความเป็นเอกภาพของบรรดามุสลิม  แต่สิ่งที่จะมาสร้างเอกภาพที่แท้จริงในหมู่มุสลิม  คือ การปลูกฝัง อากีดะห์ หลักความเชื่อมั่นที่ถูกต้องให้แก่มุสลิม  การทำลายสิ่งที่เป็น ชีริก (ตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์) และสิ่งที่เป็นบิดอะห์ (การเพิ่มเติมในศาสนา) ต่างหาก นั่นคือสิ่งที่จะทำให้มุสลิมมีเอกภาพที่แท้จริง คือ การที่มุสลิมมีหลักอากีดะห์เดียวกัน 

        ทุกวันนี้ที่มุสลิมตั้งอยู่บนความขัดแย้งนั้น เนื่องจาก ขาดความเข้าใจในเรื่องอากีดะห์ที่ถูกต้องต่างหาก  ดังนั้นประเด็นการเข้าสู่รอมาฏอนก่อนหลังนั้นน่าจะเป็นประเด็นที่ไม่ต้องพูดถึงกันแบบเอาจริงเอาจัง หรือ เอากันให้ตายไปข้างหนึ่ง เหมือนกับว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดของการถือศีลอด  คือการที่ใครเข้าสู่รอมาฏอนก่อน หรือ หลัง  แต่มุสลิมกลับลืมเป้าหมายสูงสุดของการถือศีลอดในเดือนรอมาฏอน คือ ความยำเกรงที่อัลลอฮ์   จะประทานให้แก่เรา ผ่านกระบวนการถือศีลอด  และการกลับมาของรอมาฏอน  ในทุกปี

         หวังว่ารอมาฏอนปีนี้บรรดามุสลิมคงจะฉวยโอกาสในการทำความดี และได้บรรลุถึงจุดประสงค์ของการถือศีลอด ในเดือนอันประเสริฐนี้ คือ การมีความยำเกรงต่อพระองค์อัลลอฮ์ ให้มากที่สุด