เปิดสมองของลูกรักด้วยเทคนิคการผ่อนคลาย
กิจกรรมผ่อนคลายเป็นกิจกรรมหนึ่งที่ช่วยให้เด็กมีสมองปลอดโปร่งและแจ่มใส เนื่องจากเด็กเป็นผู้ซึมซับและผู้ตอบสนองที่ยอดเยี่ยม ดังนั้นการสอนเรื่องของการเกร็งตัวและการคลายกล้ามเนื้อ
รวมถึงเทคนิคการผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง จะช่วยคลายความวิตกกังวล ช่วยเรื่องการเตรียมตัวสำหรับการนอนหลับพักผ่อนที่ยาวนาน การปรับความสมดุล การควบคุมตนเอง ทั้งยังทำให้ร่างกายได้ผ่อนคลาย เปิดสมอง และจิตใจที่แจ่มใสอีกด้วย
เทคนิคการผ่อนคลายสำหรับเด็กประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลักๆดังนี้
1. เทคนิคการผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
2. การขยายลมหายใจ
3. การคิดจินตนาการอย่างสร้างสรรค์
การเกร็งและการคลายกล้ามเนื้อ การผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
ลองให้ลูกเกร็งกล้ามเนื้อแขนทั้งสองข้าง ดูซิคะว่า ลูกแข็งแรงแค่ไหน
ให้ลูกกำมือทั้ง 2 ข้างแน่นๆและ กำค้างไว้ อย่าเพิ่งปล่อย หลังจากนั้นให้คลายออก
ตอนนี้ทำหน้าย่นๆเหมือนลูกหยี หลับตาทำหน้าผากย่น เกร็งกล้ามเนื้อ ทำค้างไว้ อย่าเพิ่งปล่อย หลังจากนั้นคลายออก
อ้าปากให้กว้างเท่าที่สามารถจะทำได้ อ้าปากค้างไว้ คุณพ่อ คุณแม่ นับ 1,2 3 ช้าๆแล้วคลายออก
ยืดหัวไหล่ให้ชิดใบหู เกร็งไว้ นับ1,2,3 แล้วคลายออก
หายใจเข้าลึกๆ พยายามยืดหัวไหล่ให้หัวไหล่ทั้ง 2 ข้างติดกัน เกร็งไว้ นับ 1,2 ,3 แล้วคลายออก
หายใจเข้าลึกๆพร้อมทั้งยื่นพุงออกมาให้พองโตให้มากที่สุด ทำค้างไว้ นับ 1,2,3 แล้วคลายออก
การขยายลมหายใจ
เด็กๆชอบฟังเสียงลมหายใจของตนเอง ในขณะที่เด็กเงียบ และฟังเสียงลมหายใจอย่างใจจดใจจ่อจะมีความสงบและผ่อนคลายเข้ามาแทนที่ การหายใจนั้นเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกันระหว่างร่างกายและจิตใจ ทำให้มีสมาธิ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ และทำให้ใจสงบ
วิธีทำ ลองให้เด็กอยู่ในความสงบ เงียบ ลองฟังเสียงและสัมผัสถึงลมหายใจของตนเอง ( คุณพ่อ คุณแม่อาจลองทำด้วย)
การหายใจอย่างลูกโป่ง หรือที่เรียกว่าการหายใจแบบพุงป่อง หรือการหายใจลึกๆ นั่นเอง
หากแอบเฝ้าสังเกตการหายใจของทารก เราจะพบว่าทารกจะหายใจลึกและพุงจะกระเพื่อมขึ้นลงอย่างเห็นได้ชัด
วิธีทำ นอนราบลงกับพื้น วางมือข้างหนึ่งไว้ที่พุง จินตนาการว่ามีลูกโป่งอยู่ในพุง
หายใจเข้าช้าๆ จินตนาการว่าลูกโป่งที่พุงพองตัวขึ้น เมื่อเป่าลมเข้าพร้อมกับยกมือขึ้น คราวนี้ค่อยๆหายใจออกช้าๆให้อากาศค่อยๆออกจากลูกโป่ง ( ทำซ้ำ 2-3 ครั้ง)กิจกรรมเพิ่มเติม
ลองจินตนาการควบคู่ไปกับการหายใจ เช่นขนาดของลูกโป่ง สีของลูกโป่ง ถามเด็กๆว่าเห็นลูกโป่งสีอะไร มีขนาดใหญ่แค่ไหน เป็นต้น
การคิดจินตนาการอย่างสร้างสรรค์
ธรรมชาติสร้างเด็กๆ ทุกคนมาให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และจินตนาการ โดยจินตนาการที่จะกล่าวถึงนี้มี 2 ประเภทคือ
ประเภทจินตนาการภาพนิ่ง คือ จินตนาการที่ผู้เล่าเป็นผู้บรรยายเรื่องราวให้เด็กๆฟัง
ประเภทที่ 2 คือจินตนาการที่เด็กๆคิดขึ้นเอง แบบนี้มักมีดนตรีประกอบ
หากคุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มเล่าเรื่องที่มีจินตนาการที่สนุกสนานให้ลูกก่อนได้ จะช่วยสร้างภาพและความสนุกสนานที่เป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ลูก ในการเล่าเรื่องของตัวลูกเองในอนาคตได้ การเล่าเรื่องที่ผ่อนคลายนับไปสู่การนอนหลับพักผ่อนนั้นควรมีเนื้อหา ดังนี้
1. มีเป้าหมายในการเล่า มีภาพประกอบในจินตนาการที่สำเร็จสมบูรณ์แบบ
2. เรื่องที่เล่ามีเนื้อหาที่เสริมแรงให้เด็กๆมีกำลังใจที่จะสามารถเอาชนะปัญหาและอุปสรรคได้
3. เรื่องที่เล่าควรเพิ่มเนื้อหาในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
เวลาเล่าเรื่องควรใช้น้ำเสียงสูงๆต่ำๆที่แสดงอารมณ์ไปกับตัวละครในเนื้อเรื่องเพื่อเป็นการสร้างภาพในจินตนาการของเด็ก โดยผูกเรื่องราวจากความสนใจของเด็ก เช่นหากเด็กๆชอบผีเสื้อ ให้จินตนาการถึงความสวยงามของผีเสื้อ ให้เด็กๆหลับตา จินตนาการถึงฝูงผีเสื้อกำลังบินมา เพื่อให้เด็กๆเห็นภาพในจินตนาการ
ควรเล่าเรื่องเวลาไหน
ช่วงเวลาปรับเปลี่ยนกิจกรรม ก่อนนอน เมื่อเวลาเริ่มต้นหรือจบบทเรียน หลังอาหารกลางวัน หลังจากกลับจากการทัศนศึกษา หรือหลังจากทำกิจกรรมที่ออกกำลังกายมาแล้ว
กิจกรรมนี้ช่วยให้ผ่อนคลาย : ทำให้สงบจากความกระวนกระวายใจ และความเครียด
ยังมีกิจกรรมอีกมากมายที่ช่วยลดความเครียด ได้ เช่นการฟังเพลง การอ่านหนังสือ การทำงานศิลปะ การเล่าเรื่องขำขัน การหัวเราะ การเล่น การออกกำลังกาย เป็นต้น ดังนั้นคุณพ่อ คุณแม่ลองเลือกทำดูนะคะ มาช่วยกันเปิดสมองของลูกให้แจ่มใสดีกว่าค่ะ
Life & Family / ดร. สุพาพร เทพยสุวรรณ