สวรรค์ เส้นทางแห่งความอดทน
  จำนวนคนเข้าชม  9734

 

 

 

สวรรค์ เส้นทางแห่งความอดทน

 


มีใครไม่เคยนึกจินตนาการถึงสวรรค์บ้าง?

          สถานที่ที่เต็มไปด้วยความสุข วิมานเมฆ นางฟ้า เทวดา ดาวดึงส์ สวรรค์ชั้นเจ็ด พาราไดส์ สวนเอเดน โลกแห่งยูโทเปีย ... ฯลฯ และอีกหลายคำที่วนเวียนอยู่ในภาพความนึกฝันของมวลมนุษย์ทุกเชื้อชาติ ไม่ว่าจะต่างเผ่าต่างพันธุ์หรือต่างศาสนาต่างความเชื่อ ทุกคนล้วนอยากลิ้มลองรสชาติความสุขในสวรรค์  ไม่มีใครที่รู้จักสวรรค์ดีกว่าผู้สร้างสวรรค์ และไม่มีใครที่อาจมอบสวรรค์ให้แก่ผู้ใดได้นอกจาก พระผู้เป็นเจ้าแห่งสากลจักรวาล

 "แท้จริงอัลลอฮฺจะทรงนำบรรดาผู้ศรัทธาและปฏิบัติความดีทั้งหลาย เข้าสู่สรวงสวรรค์ ซึ่งมีสายน้ำไหลผ่านเบื้องล่างมัน

พวกเขาจะถูกประดับประดาด้วยกำไลที่ทำจากทองคำและไข่มุก เสื้อผ้าของพวกเขาเหล่านั้นล้วนทำมาจากแพรไหม"

(سورة الحج: 23)

          ในคัมภีร์ของพระองค์ อัลลอฮฺได้บอกอย่างชัดแจ้งว่า พระองค์เตรียมสวรรค์ไว้สำหรับผู้ศรัทธาและปฏิบัติความดี สองเงื่อนไขหลักที่มิอาจแยกจากกันได้เลย

 "และจงบอกข่าวดีแก่บรรดาผู้ศรัทธาและปฏิบัติความดีทั้งหลาย ว่าสำหรับพวกเขานั้นมีสวนสวรรค์เตรียมไว้ให้ 

ซึ่ง ณ เบื้องล่างของมันมีแม่น้ำไหลผ่าน ทุกครั้งที่พวกเขาได้รับริซกีเป็นผลไม้(ในสวรรค์)

พวกเขาจะกล่าวว่า นี่เป็นสิ่งที่เราเคยได้รับริซกีมาแล้ว(บนโลก) พวกเขาจะได้รับสิ่งที่คล้ายกัน

และสำหรับพวกเขายังมีคู่ครองที่บริสุทธิ์เตรียมไว้ และจะได้พำนักอยู่ในนั้นอย่างนิรันดร"

(سورة البقرة: 25)

 

          การศรัทธาต่ออัลลอฮฺอย่างบริสุทธิ์ใจ ปราศจากการตั้งภาคีใดๆ และการน้อมรับคำสั่งของพระองค์ด้วยการแปรออกมาในรูปของการปฏิบัติความดีทั้งหลาย คือภาพรวมทั่วไปของผู้มีสิทธิจะได้เข้าสวรรค์   กระนั้น ในความเป็นจริง ยังมีคุณสมบัติอื่นบางประการที่เป็นเหมือน “เงาตามตัว” บรรดาผู้ศรัทธาและผู้ทำดีทุกคน ซึ่งหากปราศจากมันแล้ว บางทีพวกเขาอาจจะไปไม่ถึงจุดหมายและมิอาจบรรลุถึงความปรารถนาได้

  

ความอดทน หรือ “อัศ-ศ็อบรฺ” คือคุณสมบัติหนึ่งที่จะพูดถึง

         ถ้าอีมานและอามัลศอลิหฺ คือเงื่อนไขของการเข้าสวรรค์ .. อัศ-ศ็อบรฺ คือปัจจัยต่อมาที่ไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เพราะเหตุใด? เพราะเป็นสิ่งที่อัลลอฮฺกำหนดมาว่าผู้ศรัทธาต่อพระองค์จะต้องถูกทดสอบ !!!

 

"หรือมนุษย์คาดคิดว่าพวกเขาจะถูกปล่อยให้กล่าวว่า “เราได้ศรัทธาแล้ว” โดยปราศจากการทดสอบใดๆ ?

แท้จริง เราได้ทดสอบบรรดาผู้คนก่อนหน้าพวกเขา ดังนั้น เพื่ออัลลอฮฺจะได้รู้บรรดาผู้ที่สัจจริงและจะได้รู้บรรดาผู้ที่โกหก"

(سورة العنكبوت: 2-3)

          อีมานไม่ใช่ของราคาถูก แน่นอนที่สุดผลตอบแทนคือสวนสวรรค์ ฉะนั้นจึงต้องมีการคัดสรรผู้ที่เหมาะสมจะได้รับรางวัลอันยิ่งใหญ่นี้จริงๆ นี่คือความหมายที่อัลลอฮฺบอกว่าเพื่อพระองค์จะได้รู้ว่าใครที่สัจจริงในการศรัทธาต่อพระองค์ และใครที่ไม่สัจจริง เพื่อเป็นการจำแนกมนุษย์ตามระดับความศรัทธาของพวกเขา เพื่อให้ผ่านบรรลุการถูกทดสอบ ผู้เข้าสอบทุกคนย่อมต้องอาศัยความอดทนเป็นธรรมดา

         มนุษย์ทุกคนล้วนต้องประสบกับบททดสอบในชีวิตด้วยกันทั้งสิ้น บททดสอบของผู้ศรัทธานั้นใหญ่กว่าและหนักกว่าผู้ปฏิเสธหลายเท่า ทั้งนี้เพราะผลตอบแทนของพวกเขาเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่มิอาจจะเปรียบเทียบกับสิ่งใดได้ในโลกนี้  ท่านนบี ศ็อลลัลลอฮฺ อะลัยฮิ วะสัลลัม พูดถึงการทดสอบของมนุษย์ว่า

“ดุนยาคือคุกของมุอ์มิน และเป็นสวรรค์ของกาฟิรฺ”

 (มุสลิม 2956)

สุบหานัลลอฮฺ ! มีสำนวนใดที่จะเปรียบเปรยได้ชัดเจนมากกว่านี้ ?

          อุละมาอ์ท่านหนึ่งถูกถามว่า “แล้วมุมินที่มีชีวิตสุขสบาย มีทรัพย์สมบัติมากมายในโลกนี้เล่า มันจะเป็นคุกสำหรับเขาได้อย่างไร? ในขณะที่กาฟิรฺบางคนแทบจะไม่มีเสื้อผ้าใส่ อย่างนี้จะเรียกว่าสวรรค์สำหรับเขาเช่นนั้นหรือ?”

          ท่านตอบว่า “ใช่ ทรัพย์สมบัติในโลกนี้ไหนเลยจะมากกว่าความสุขในสวรรค์ ถ้าจะเทียบกับความสถาพรในโลกหน้าอันนิรันดร์แล้ว ชีวิตมุมินผู้นั้นในดุนยานี้ยังเหมือนอยู่ในคุกอยู่วันยังค่ำ ส่วนกาฟิรฺนั้นเล่า ชีวิตเขาในโลกที่มีเสื้อผ้าใส่เพียงตัวเดียวยังนับว่าเป็นสวรรค์สำหรับเขา ถ้าจะเทียบกับการถูกทรมานทรกรรมและถูกจองจำในนรก” !!! 

อัลลอฮุอักบัรฺ ! ลาอิลาฮะ อิลลัลลอฮฺ !

   

      อย่างไรก็ดี การทดสอบที่หนักหน่วงที่สุดของมุอ์มินผู้ศรัทธามิได้เป็นการทดสอบในเรื่องปัจจัยยังชีพ นั่นอาจจะเป็นส่วนหนึ่ง(ดู อัลกุรอาน สูเราะฮฺ อัล-บะเกาะเราะฮฺ อายะฮฺ 155) แต่การทดสอบจริงของผู้มีอีมานลึกซึ้งกว่านั้น ตามระดับชั้นของความศรัทธาและปัจจัยทั้งภายในภายนอก

          คำว่า “อีมาน” ที่เราแปลกันว่าศรัทธานั้น ไม่ได้มีความหมายเพียงแค่การเชื่อ แต่ยังรวมถึงการยอมรับและปฏิบัติตาม ดังนั้นเส้นทางของมุมิน จึงเป็นเส้นทางของการขวนขวายความสมบูรณ์ เป็นเส้นทางของการต่อสู้ดิ้นรนเพื่อค้นหาความโปรดปรานจากพระผู้อภิบาล

         สิ่งที่ อัล-หะสัน อัล-บัศรีย์ ได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า

“อีมาน มิใช่เป็นการเพ้อฝันหรือการตกแต่งให้ดูวิจิตร หากแต่มันคือสิ่งที่ปักหลักอยู่ในใจ และแสดงออกให้เห็นด้วยการปฏิบัติ”

(มุศ็อนนัฟ อิบนิ อบี ชัยบะฮฺ 30351, 35211)

          การปฏิบัติที่ว่า คือการน้อมรับคำสั่งของอัลลอฮฺ ด้วยการแสดงออกตามแบบฉบับของท่านศาสนทูตผู้ยิ่งใหญ่ ท่านนบี มุหัมมัด  ให้ตรงและถูกต้องมากที่สุด ซึ่งไม่ง่ายเหมือนแค่การพูดด้วยปาก หากแต่ต้องการความจริงจังและจริงใจที่สูงส่งยิ่ง

         นอกจากจะต้องปฏิบัติความดีแล้ว อีกด้านหนึ่ง ยังต้องละทิ้งและห่างจากความชั่วและสิ่งต้องห้ามทั้งหลายด้วย เพราะความดีจะสมบูรณ์ได้เช่นไรถ้าหากความชั่วไม่ถูกละทิ้ง บางทีบางครั้ง การละจากความชั่วใช่ว่าจะง่ายไปกว่าการทำดี เพราะท่านนบี เคยบอกว่า

“สวรรค์ถูกห้อมล้อมด้วยความน่ารังเกียจ(สิ่งที่ขัดกับอารมณ์) และนรกถูกห้อมล้อมด้วยความปรารถนาของตัณหา”

(มุสลิม 2822)

สรุปแล้ว ทั้งสองด้านล้วนต้องอาศัยความอดทนด้วยกันทั้งนั้น

 

อัลลอฮฺได้อธิบายอย่างชัดเจนว่า

 "จงกล่าวต่อปวงบ่าวผู้ศรัทธาทั้งหลายว่า พวกเจ้าจงยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าเถิด สำหรับผู้ทำดีนั้น ในโลกนี้เขาก็จะได้รับความดี

แผ่นดินของอัลลอฮฺนั้นกว้างขวางนัก แท้จริงผู้อดทนนั้นจะได้รับผลตอบแทนที่มากมายโดยมิต้องคำนวณ"

(سورة الزمر: 10)

 

          ประการแรก อายะฮฺนี้สั่งให้ “ผู้ศรัทธา” ยำเกรงต่ออัลลอฮฺ นั่นแสดงว่าศรัทธาแล้วก็มิใช่การแสดงว่าจะยำเกรงต่อพระองค์ แต่ต้องพยายามเพื่อให้เกิดความยำเกรง ด้วยการศึกษาคำสอนต่างๆ ของพระองค์และปฏิบัติตามนั้น

         ประการต่อมา ในอายะฮฺบอกว่า ผู้ทำดีจะได้รับผลตอบแทนแม้กระทั่งในโลกนี้ ชัดเจนยิ่งว่าการศรัทธาไม่ใช่การอยู่เฉยๆ แต่เป็นการลงมือทำและต้องทำให้ดีที่สุด เพราะคำว่า “อิหฺสาน” ในอายะฮฺข้างต้น หมายถึง ทำให้ดีถึงที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้

         จากนั้น อัลลอฮฺได้แทรกว่า แผ่นดินของพระองค์นั้นกว้างใหญ่ไพศาล เป็นการบอกให้ผู้ศรัทธาทั้งหลายทราบว่า หากมีอุปสรรคใดๆ ขวางกั้นในการปฏิบัติตามบัญชาของอัลลอฮฺ ณ ที่หนึ่งที่ใด ก็จงทนต่อสู้จนกว่าจะหมดวิธีแล้วจึงหาทางออกไปยังที่อื่นเสีย

         ทั้งสามประการข้างต้น มีปัจจัยร่วมแห่งความสำเร็จอันเดียวกัน นั่นคือ ต้องอดทน ดังนั้นผลสรุปที่ออกมาจึงยิ่งใหญ่มาก พระองค์ลงท้ายอายะฮฺด้วยการประกาศว่า สำหรับผู้อดทน ไม่ว่าจะอดทนเพื่อยกระดับความยำเกรง อดทนเพื่อทำความดี หรืออดทนต่ออุปสรรคในการดำเนินชีวิตตามครรลองอิสลาม ทุกคนล้วนจะได้รับผลตอบแทนที่มิอาจคำนวณจากพระองค์ผู้ทรงเมตตาและปรานียิ่ง  ผลตอบแทนที่ว่านั้นจะเป็นสิ่งอื่นไปเสียไม่ได้ นอกจากสวนสวรรค์วิมานอันนิรันดร ...

 

         ที่กล่าวมาข้างต้น คือการต้องอดทนของผู้ศรัทธาในกระบวนการยกระดับตนเอง เป็นการอดทนในชั้นปัจเจกบุคคล   ความอดทนในระดับที่สูงขึ้น คือการอดทนในการเป็นผู้ศรัทธาที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคมรอบข้าง พร้อมๆ กับการดูแลเอาใจใส่ครอบครัวของตนเอง  ท่านนบี ได้กล่าวว่า

“มุอ์มินที่คลุกคลีกับคนอื่น และอดทนต่อความเดือดร้อนที่มาจากพวกเขา

ย่อมดีกว่า/ได้รับผลบุญที่ยิ่งใหญ่กว่า มุมินที่ไม่คลุกคลีกับคนอื่น และไม่อดทนต่อความเดือดร้อนที่ต้องประสบจากพวกเขา”

(อิบนุ มาญะฮฺ 4032 ,เป็นหะดีษหะสัน ดู ฟัตหุล บารีย์ 10:512)

          ผู้ศรัทธาไม่ใช่ผู้สันโดษ นอกจากจะต้องรับผิดชอบดูแลและสั่งสอนสมาชิกในครอบครัวให้เป็นบ่าวที่ดีของอัลลอฮฺแล้ว ยังต้องเป็นคนที่อยู่กับคนอื่นในสังคมด้วย เพื่อเป็นตัวอย่างในการนำสิ่งดีๆ ให้กับพวกเขา และหักห้ามพวกเขาจากการละเมิดบัญญัติของอัลลอฮฺ ทั้งปวง ด้วยเหตุนี้อัลลอฮฺจึงสอนให้พวกเราหมั่นขอดุอาอ์ต่อพระองค์ว่า

"โอ้ พระผู้อภิบาลแห่งเรา ได้โปรดประทานแก่เราจากคู่ครองของเรา และลูกหลานของเรา ซึ่งความรื่นรมย์/ความเย็นตาเย็นใจ

และโปรดประทานให้เราเป็นผู้นำของบรรดาผู้ยำเกรง"

 (سورة الفرقان: من الآية 74)

 

         อายะฮฺนี้สอนเราอย่างชัดเจนว่าต้องให้ความสำคัญกับครอบครัว อันเป็นแก้วตาดวงใจของเรา และยังต้องเป็น “ผู้นำของบรรดาผู้ยำเกรง” “อัล-อัมร์ บิลมะอฺรูฟ วะ อัน-นะฮฺย์ อะนิล มุงกัรฺ” หรือการเชิญชวนสู่ความดีและการหักห้ามจากความชั่ว นั่นคือผู้ที่เอาใจใส่ต่อสังคมรอบข้าง ด้วยการเป็นตัวอย่างที่ดี ร่วมพัฒนา ร่วมแก้ปัญหา และไม่ละเลยในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม

         โดยนัยแล้ว อายะฮฺนี้บอกอีกว่า จำเป็นต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วย เพราะครอบครัวของเราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอก ทั้งเราและสมาชิกในครอบครัวจะดำรงชีวิตอย่างเปี่ยมสุขและปลอดภัยได้อย่างไร ถ้าหากสังคมรอบข้างมีแต่ความเละเทะ  ทั้งการรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม สองประการดังกล่าวย่อมต้องอาศัยความอดทนอย่างยิ่งยวด

ด้วยเหตุนี้ ในอายะฮฺต่อมาอัลลอฮฺจึงประกาศอีกครั้งถึงผลตอบแทนจากการอดทนในเรื่องเหล่านี้ว่า

"พวกเขาเหล่านั้น จะได้รับผลตอบแทนเป็นห้องนอนในวิมานอันสูงส่ง ด้วยเหตุที่พวกเขาอดทน

และจะได้รับการทักทายในนั้นด้วยคำกล่าวต้อนรับ และ สลาม"

(سورة الفرقان: 75)

         ถึงแม้ผลตอบแทนดังกล่าวจะถูกประทานแก่เหล่าอิบาดุรเราะห์มานที่มีคุณสมบัติทั้งหมดตามอายะฮฺที่ 63-74 ในสูเราะฮฺ อัล-ฟุรกอน แต่ข้อสังเกตที่งดงามยิ่ง คือการจัดลำดับอายะฮฺ ซึ่งอัลลอฮฺได้ระบุผลตอบแทนนี้ทันทีหลังอายะฮฺที่พระองค์ทรงชี้นำให้พวกเรากล่าวดุอาอ์เพื่อให้ได้ครอบครัวที่เปี่ยมสุขและสังคมอุดมสันติ

         ที่สำคัญที่สุด คือ “ความอดทน” ยังถูกระบุว่าเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ความปรารถนาที่ใฝ่ฝันบรรลุเป้าหมาย และได้รับผลตอบแทนอันเปี่ยมยิ่งด้วยเกียรติจากพระองค์อัลลอฮฺ ในสวรรค์วิมานแห่งอาคิเราะฮฺ

อัลลอฮฺอักบัรฺ !

          อันดับสุดท้าย คือความอดทนในระดับสากล หรือระดับประชาชาติ เป็นความอดทนในกระบวนการปะทะขัดแย้งระหว่าง “อัล-ฮัก” กับ “อัล-บาฏิล” ระหว่างรัศมีแห่งอิสลามกับความมืดมนของญาฮีลิยะฮฺ ระหว่างฝ่ายหนึ่งที่รับใช้พระเจ้ากับอีกฝ่ายหนึ่งที่เป็นปฏิปักษ์กับพระองค์

         การยื้อแย่งระหว่างสองฝ่ายนี้มีมานมนาน และจะไม่จบสิ้นตราบเท่าที่ยังมีโลกให้มนุษย์ได้อาศัย นอกเหนือจากที่มันเป็นการปะทะในรูปแบบหลากหลายกระบวน แสดงออกมาทั้งในลักษณะของสงครามทางอาวุธ ทางยุทธศาสตร์ ทางความคิด ทางวัฒนธรรม ทางอารยธรรม ทางจิตวิทยา ทางเศรษฐกิจ และอีกมากมาย  ทั้งสองฝ่ายเคยยึดครองทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามที่ถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์

          วันนี้ เห็นได้ชัดเจนยิ่งว่า บรรดาผู้น้อมรับคำสั่งของอัลลอฮฺอยู่ในข้างที่เพลี่ยงพล้ำอ่อนแอ ในขณะที่ฝ่ายตรงข้ามกลับเป็นมากกว่ามหาอำนาจ หยิ่งผยองลำพองตน ทะนงเหนือผู้คนทุกผู้บนแผ่นดิน ทำตนเสมือนเป็นพระเจ้า (ขออัลลอฮฺทรงปกป้องเราด้วยเถิด)

          ประชาชาติแห่งอีมาน บางครั้งก็เกิดความรู้สึกท้อแท้ ขยาด หมดหวัง โศกเศร้า ฯลฯ เมื่อมองไม่เห็นว่าทางไหนที่จะเป็นทางรอดและนำพวกเขาให้สามารถต่อกรกับมหาอำนาจผู้ไม่ยุติธรรม ซึ่งครอบครองความก้าวหน้าทันสมัยทุกประเภทอยู่ในมือ เหนือคนอื่นทั้งมวลในโลก

อัลลอฮฺทรงเตือนให้เราสำนึกว่า

"เจ้าอย่าได้หลงตามความเคลื่อนไหวของบรรดาผู้ปฏิเสธในดินแดนต่างๆ มันเป็นเพียงความสุขอันชั่วคราว

แล้วที่กลับคืนของพวกเขาก็คือนรกญะฮันนัม และมันเป็นที่พำนักอันเลวยิ่ง

ทว่าบรรดาผู้ที่ยำเกรงต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขาต่างหากเล่า ที่มีสวรรค์เตรียมไว้สำหรับพวกเขา มีสายน้ำต่างๆ ไหลอยู่เบื้องล่าง

พวกเขาจะอยู่อาศัยในนั้นอย่างถาวร เป็นการต้อนรับ/ตอบแทนจากอัลลอฮฺ และสิ่งที่อยู่ ณ อัลลอฮฺนั้นย่อมดีกว่าสำหรับปวงผู้มีคุณธรรม"

 (سورة آل عمران: 196- 198)

 

          สุบหานัลลอฮฺ ! มีเหตุอันใดที่ทำให้เราต้องขยาดและท้อแท้ ในเมื่ออำนาจที่พวกเขาครอบครองเป็นเพียงแค่ “ความสุขอันน้อยนิด”“ญะฮันนัม” ! และในเมื่อบั้นปลายของพวกเขาจะต้องกลับไปสู่พระองค์ ไหนเล่าความเข้มแข็งของผู้ศรัทธา ไหนเล่าพลังอันยิ่งใหญ่ของความยำเกรง ที่พระองค์สัญญาว่าจะตอบแทนให้ด้วยสวรรค์อันนิรันดร์กาล !? แน่แท้ มีเพียงแต่ “ความอดทน” เท่านั้น ที่จะประคับประคองให้เรายืนหยัดอยู่เส้นทางแห่งการต่อสู้นี้ได้ ดังนั้น ในท้ายสูเราะฮฺ อาล อิมรอน ถัดจากอายะฮฺข้างต้นแค่อายะฮฺเดียว อัลลอฮฺจึงได้สั่งว่า

 "โอ้ บรรดาผู้มีอีมาน จงอดทนเถิด และจงสู้อดทน(กับพวกเขา)ต่อไปเถิด และจงปกปักษ์รักษาให้มั่น

และจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺ เพื่อพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ"

 (سورة آل عمران: 200)

         ความอดทนแค่ครั้งเดียวอาจจะไม่เพียงพอเสียแล้ว เรายังต้องการ “แข่งกันอดทน” กับฝ่ายตรงข้ามด้วย พระองค์สั่งให้เราอดทนมากกว่าที่พวกเขาอดทน ในเมื่อพวกเขาพยายาม มุมานะ และอดทนที่จะทำลายสัจธรรมได้ เหตุใดเราจึงไม่สามารถที่จะสู้อดทนเพื่อปกป้องและเชิดชูความสูงส่งของคำสอนอันบริสุทธิ์นี้ ?

         พระองค์ไม่ได้สั่งให้เราแค่ทนอยู่เฉยๆ แต่สั่งให้ “ปกปักษ์และพิทักษ์รักษา” อุดมการณ์อันเป็นสัจธรรมที่สูงส่งของเราด้วย พร้อมทั้งให้ผสมผสานกับกระบวนการแห่ง “ตักวา” หรือการยึดมั่นในความยำเกรงต่อพระองค์    สูตรทั้งหมดนี้ คือยาขนานแท้ที่จะนำประชาชาติแห่ง “อัล-ฮัก” สู่เส้นทางแห่งชัยชนะและความสำเร็จในที่สุด  แน่นอนยิ่ง ชัยชนะอันยิ่งใหญ่และสุดยอดแห่งความสำเร็จนั้นคือสวรรค์อันสถาพร และเส้นทางแห่งสวรรค์ก็คือเส้นทางที่ต้องอดทน ดังที่ประจักษ์ชัดจากทั้งหมดที่ได้กล่าวมา

 

          ณ วันนี้ ประชาชาติแห่งอีมาน มีความมานะอดทนแค่ไหนที่จะยกฐานะตนเองให้เป็นผู้ที่ยำเกรงอย่างสุดซึ้งต่อพระผู้อภิบาลของพวกเขา? เราอดทนได้หรือไม่ที่จะหลีกเลี่ยงให้พ้นห่างจากการกระทำบาปทั้งหลายที่ยั่วต่อมตัณหาและอารมณ์อยู่ทุกขณะจิต? เราสร้างสังคมในครอบครัวให้เป็นที่โปรดปรานของอัลลอฮฺหรือยัง? เราทำอะไรบ้างเพื่อร่วมแก้ไขให้สังคมรอบข้างดีขึ้น? สุดท้าย เรามีความขันติ ความอดทน และความอดกลั้นมากแค่ไหน? ที่จะเผชิญหน้ากับการท้าทายของกระแสที่ปล่อยมาจากอีกฝ่ายหนึ่งตรงกันข้าม ซึ่งครอบคลุมอยู่ ณ ทุกอณูแห่งอากาศบนพื้นแผ่นดินขณะนี้ ? อัลลอฮฺได้ตรัสว่า

 "หากแม้นพวกเจ้าอดทนและตักวา ก็ไม่มีอันที่แผนการของพวกเขาจะให้โทษแก่พวกเจ้าได้เลยแม้แต่น้อย"

 (آل عمران :120)

          คำตอบทั้งหมดมิอาจจะปราศจาก “อัศ-ศ็อบรฺ” หรือ ความอดทน ได้เลย หากเราต้องการที่จะเป็นผู้ได้รับความสำเร็จ ผู้ที่ได้รับการทักทายในสวรรค์ว่า

 

ขอสันติสุขมีแก่พวกท่านทั้งหลาย ด้วยการที่พวกท่านอดทน และนั่นคือแหล่งพำนักสุดท้ายที่ดียิ่ง ”

 (سورة الرعد: 24)
 

          มีคำทักทายอื่นใด ที่เราท่านอยากจะได้ยินและปรารถนาจะได้รับ มากกว่าคำทักทายนี้อีกเล่า !? ขออัลลอฮฺทรงประทานเตาฟีก ... อามีน

 

 

 

ซุฟอัม  อุษมาน / Islam House