เมื่อลูกเป็นเด็กขี้หวง!
  จำนวนคนเข้าชม  17539

ไขปัญหา มองทางแก้ เมื่อลูกเป็นเด็กขี้หวง!
 
  


"พ.ท.นพ.กมล แสงทองศรีกมล"
 
 
       "แบ่งให้เพื่อนเล่นบ้างสิคะลูก" "อย่าดื้อสิคะ" "เดี๋ยวเพื่อนไม่มาเล่นด้วยนะ" เป็นคำบอกกล่าวเชิงขอร้อง ที่เชื่อว่า พ่อแม่หลายคน เคยใช้พูดกับลูกกันมาบ้างแล้ว เนื่องจากอาการขี้หวงของลูก ที่ไม่ยอมแบ่งของให้คนอื่นเล่น โดยเฉพาะกรณีพี่น้อง ที่มักจะเกิดขึ้นได้บ่อย จากนั้น จึงค่อยๆ ลามไปถึงเพื่อนที่โรงเรียนตามลำดับ สร้างความหนักใจให้กับคุณพ่อคุณแม่ไม่ใช่น้อย
       
       "พ.ท.นพ.กมล แสงทองศรีกมล" แพทย์สาขากุมารเวชศาสตร์ จิตเวชเด็ก และวัยรุ่น โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวถึงอาการขี้หวงในเด็ก ได้คำอธิบายว่า อาการหวงของของเด็ก เป็นภาวะทางอารมณ์ประเภทหนึ่ง พบได้บ่อยในเด็กอายุ 3-5 ขวบ หรือวัยกำลังเรียนชั้นอนุบาล ซึ่งเป็นพัฒนาการตามวัย ที่มักเกิดขึ้นได้กับเด็กทุกคน
      
       "เด็กวัยนี้ ไม่สามารถแยกแยะระหว่างความเป็นเจ้าของถาวร และความเป็นเจ้าของชั่วคราวออกได้ชัดเจน เช่น แม่บอกให้ลูกซึ่งเป็นพี่ที่อยู่ในวัยอนุบาล แบ่งของเล่นให้น้องวัย 2 ขวบเล่น ทำให้คนพี่เกิดความรู้สึกไม่อยากให้ เพราะเข้าใจว่า ของที่ให้น้อง จะไม่กลับคืนมาอีก ดังนั้น เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องปกติ"
      
       คุณหมอ กล่าวต่อไปว่า อาการขี้หวง อาจมีปัจจัยเสริม ที่ทำให้เด็กกลายเป็นคนหวงของมากขึ้น หนึ่งในปัจจัยดังกล่าว คือ การเลี้ยงดูของพ่อแม่ เห็นได้จากบางบ้าน ที่ฝึกลูกในเรื่องของการเคารพสิทธิส่วนบุคคลมาดี เด็กจะหวงของน้อยกว่าบ้านที่พ่อแม่ไม่ฝึกในเรื่องนี้ให้กับลูก
      
       เช่น พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่มีลูก 2 คน มักจะบอกให้พี่ต้องเสียสละของเล่นให้น้อง ทั้งๆ ที่เป็นของของพี่ ทำให้คนพี่รู้สึกว่า ตัวเองถูกละเมิดสิทธิ์ คนพี่จึงกลายเป็นคนอารมณ์หงุดหงิดง่าย เวลาเพื่อนยืมของเล่น อาจจะเกิดอาการหวงมาก เพราะตัวเองถูกน้องที่บ้านละเมิดสิทธิ์เป็นประจำ
      
       หรือบางรายแทนที่จะอารมณ์หงุดหงิดง่าย อาจกลายเป็นคนยอมได้ทุกเรื่อง ปฏิเสธไม่เป็น หรือไม่กล้าปกป้องสิทธิของตัวเองก็เป็นได้ และในขณะที่ตัวน้อง ถ้าได้รับการตามใจจากพ่อแม่บ่อยครั้ง โตขึ้นจะกลายเป็นคนเอาแต่ใจ และละเมิดสิทธิ์ของคนอื่นได้ง่าย
      
       ดังนั้น พ่อแม่ต้องสอนให้น้องรู้จักเคารพสิทธิของคนอื่น เวลาจะเล่นของของพี่ ควรสอนให้ขออนุญาตพี่ก่อน หรือ รอให้พี่เล่นเสร็จก่อน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้คนพี่รู้สึกน้อยใจ หรือถูกกด เพียงเพราะเป็นพี่ที่จะต้องยอม หรือเสียสละให้น้องในทุกเรื่อง ดังนั้น เมื่อลูกคนโตได้รับการยอมรับตามสถานภาพที่เหมาะสม การแบ่งปัน และการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จะตามมาเอง
      
       ด้านตัวพี่ก็เหมือนกัน ถ้าอยากเล่นของของน้อง พ่อแม่ต้องสอนให้พี่บอกกล่าว หรือขออนุญาตน้องด้วย ไม่ใช่รื้อมาเล่นโดยพลการ อย่างไรก็ดี ถ้าพี่ หรือน้องแบ่งของให้คนใดคนหนึ่งเล่น พ่อแม่ต้องชมความมีน้ำใจของลูกทันที เพื่อที่ลูกจะได้ภูมิใจในการกระทำที่เป็นผู้ให้ของตัวเอง แต่ถ้าลูกเกิดอาการหวง จนหงุดหงิด และกรีดร้อง แนะนำให้พ่อแม่ทำเพิกเฉย ในขณะเดียวกัน ถ้าไปทำร้ายคนอื่นร่วมด้วย อาจจะต้องปรับพฤติกรรมกันอีกที ซึ่งเรื่องนี้ ต้องดูเป็นกรณีไป
 
 
       นอกจากนี้ คุณหมอบอกต่อว่า ถ้าบ้านใด ที่มีลูกคนเดียว แต่กลับเป็นเด็กขี้หวงของ คุณหมอแนะนำว่า พ่อแม่ควรปลูกฝังให้เด็กรู้จักการให้ และรู้จักแบ่งปันคนอื่น  ทั้งนี้เพื่อที่ลูก จะได้ซึมซับความมีจิตใจดี มีคุณธรรม และจริยธรรมต่อไป ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้รับที่ดีแล้ว ยังเป็นผู้ให้ที่ดีอีกด้วย ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ต้องปลูกฝังให้ลูกตั้งแต่เด็ก
      
       "ถ้ามีเพื่อนมายืมของลูกเราไปเล่น พ่อแม่ต้องบอกให้ลูกรู้จักแบ่งปัน แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าบอกลูกว่า จะเอามาคืนเมื่อไหร่ ก็ต้องเป็นคำนั้นด้วย เพราะเด็กจะรู้สึกอยากได้ของคืนอยู่ตลอดเวลาอยู่แล้ว และถ้าแม่ยังไม่เอาของจากคนที่ยืม มาคืนลูกตามกำหนด หรือเกิดความเกรงใจ เลยบอกลูกไปว่า เดี๋ยวแม่ซื้อให้ใหม่นะลูก การกระทำตรงนั้น อาจทำให้เด็กหวงของมากขึ้น และไม่อยากให้เพื่อนเล่นในครั้งต่อไปก็เป็นได้" 
       
       แม้ว่าอาการ "ขี้หวง" ในเด็ก จะเป็นเรื่องเล็ก ที่ไม่คิดว่าจะส่งผลอะไรกับลูก แต่ถ้าพ่อแม่ไม่เข้าใจ และละเลย อาจส่งผลด้านลบต่อพฤติกรรมของลูกในตอนโตได้ เช่น มีอารมณ์หงุดหงิดง่าย เจ้าอารมณ์ ดังนั้นสิทธิส่วนบุคคล ถือเป็นเรื่องจำเป็น ที่พ่อแม่ต้องสอน และปลูกฝังตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะกรณีพี่กับน้อง รวมไปถึงในเรื่องของการให้ ที่พ่อแม่ควรหมั่นพาลูกไปบริจาค รู้จักช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ซึ่งกิจกรรมตรงนี้ สามารถลดนิสัยขี้หวง ให้เปลี่ยนมาเป็นการแบ่งปัน และรู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แทนได้ไม่น้อย
 
 


Life & Family / Manager online