ผู้นำกับความอธรรม
  จำนวนคนเข้าชม  7150

     

ผู้นำกับความอธรรม

 

وَإِذِ ابْتَلَى إِبْرَاهِيمَ رَبُّهُ بِكَلِمَاتٍ فَأَتَمَّهُنَّ قَالَ إِنِّي جَاعِلُكَ لِلنَّاسِ إِمَامًا قَالَ وَمِن ذُرِّيَّتِي قَالَ لاَ يَنَالُ عَهْدِي الظَّالِمِينَ  

 البقرة: 124


คำแปล

และจงรำลึกถึงขณะที่พระผู้อภิบาลของอิบรอฮีมได้ทดสอบท่านด้วยพระบัญชาบางประการแล้วท่านก็ได้สนองตามพระบัญชานั้นโดยครบถ้วน 

พระองค์อัลลอฮ์ตรัสว่า  “แท้จริง  ข้าจะตั้งให้เจ้าเป็นผู้นำสำหรับมนุษย์ ”
 
อิบรอฮีมกล่าว่า             “และจากลูกหลานของข้าพระองค์ด้วย ” 

พระองค์ตรัสว่า             “สัญญาของข้าจะไม่ได้แก่บรรดาผู้อธรรม ”                                                           

(อัล-บะเกาะเระฮ์:124)

 

  ความหมาย

          หลังจากที่อัลลอฮ์  ได้ประท้วงการเชื่อถือผิดๆ  ของอะฮ์ลุลกิตาบพร้อมกับได้ชี้แจงให้พวกเขาทราบว่า  พวกเขากำลังปฎิเสธการศรัทธาต่อนบีที่พวกเขากำลังรอคอยอยู่ตามที่ได้ระบุเป็นข่าวดีในคัมภีร์ของพวกเขานั้น  พระองค์ได้ทรงแจ้งให้พวกเขาทราบในอายะฮ์นี้อีกว่า  รากฐานที่อิสามตั้งมั่นอยู่นั้น  คือ  แนวทางของท่านนบีอิบรอฮีม  และเชื้อสายที่ชาวยิวและอาหรับมุชริกยกย่องและสืบเผ่าพันธุ์มา  ก็คือเชื้อสายของท่านนบีอิบรอฮีมนั่นเอง  ดังนั้นชาวยิวจึงย่อมไม่มีความดีเด่นอะไรเหนือชาวอาหรับ  ในการที่อ้างว่าพวกเขาสืบเชื้อสายมาจากท่านนบีอิบรอฮีม  และเจริญรอยตามศาสนาของท่าน  ทั้งนี้ก็เพราะว่าชาวอาหรับก็สืบเชื้อสายมาจากท่านนบีอิบรอฮีมเหมือนกัน  และนับถือศาสนาอันเป็นแนวทางของท่านด้วย  จึงกล่าวได้ว่าทั้งชาวยิวและอาหรับนั้นมีเชื้อสายและศาสนาอันเดียวกัน 

         ที่อัลกุรอานได้ตอบโต้อะฮ์ลุลกิตาบนั้น   เพื่อปรับปรุงและแก้ไขศาสนาของพวกเขา  ในส่วนที่พวกเขาบิดเบือน ต่อเติม และหลงลืมเท่านั้น  นอกจากนี้อัลกุรอานยังได้พิสูจน์ยืนยันในเอกภาพของอัลลอฮ์ และให้ความบริสุทธิ์แด่พระองค์อีกด้วย  ส่วนที่อัลกุรอานได้ตอบโต้พวกที่สักการะเจว็ดนั้น  เพื่อขจัดการปฏิบัติเช่นนั้นให้หมดสิ้นไป  เพราะเป็นการปฏิบัติที่งมงาย  ทั้งนี้เป็นการตอบโต้ด้วยหลักฐานที่เกี่ยวกับการใช้สติปัญญาบ้าง  และที่เกียวกับสิ่งที่อยู่ในจักรวาลบ้าง ซึ่งหลักฐานเหล่านั้นปรากฏอยู่ทั่วไปในซูเราะฮ์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  ในบรรดาซูเราะฮ์มักกียะฮ์
              


 อธิบาย

 “ และจงรำลึกถึงขณะที่พระผู้อภิบาลของอิบรอฮีมได้ทดสอบท่านด้วยพระบัญชาบางประการ  แล้วท่านก็ได้สนองตามพระบัญชานั้นโดยครบถ้วน “
  

          คือ มุฮัมมัด จงรำลึกและกล่าวแก่พวกของเจ้าที่เคารพสักการะเจว็ดและบุคคลทั่วๆไปให้ทราบ ขณะที่อัลลอฮ์  ทรงทดสอบท่านนบีอิบบรอฮีม  โดยที่ท่านได้รับคำสั่งให้ประกอบกิจการบางอย่าง  แล้วท่านก็ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นอย่างครบถ้วนด้วยความเรียบร้อย  ดังที่พระองค์ทรงชมเชยท่านไว้ ซึ่งมี ความว่า


      “ และอิบรอฮีมผู้ซึ่งปฏิบัติหน้าที่โดยสมบูรณ์……”

อัล-นัจญฺมุ:37

           
           ในการใช้ให้รำลึกถึงเวลาของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตนั้น  หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นโดยตรง ทั้งนี้ก็เพราะเวลาเป็นส่วนประกอบอันสำคัญของเหตุการณ์  เมื่อได้รำลึกถึงเวลาก็ย่อมทำให้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นได้โดยละเอียด  ประหนึ่งว่าเขากำลังมองสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นด้วยตาของเขาเอง
        
           อัลกุรอานมิได้เจาะจงว่า  พระบัญชาบางประการนั้นคืออะไรบ้าง  ในการนี้จึงทำให้มีความเห็นแตกต่างกันไป  บางท่านกล่าวว่า  พิธีกรรมฮัจญ์  บางท่านก็ว่า  บรรดาดวงดาว ดวงอาทิตย์  และดวงจันทร์ที่นบีอิบรอฮีมเห็นซึ่งท่านเข้าใจในตอนแรกว่า  มันเป็นพระผู้เป็นเจ้า  แต่เมื่อมันต่างโคจรลับแสงไป  จึงทำให้ท่านสามารถรู้ถึงพระผู้เป็นเจ้าอันแท้จริง  และการมีเอกภาพของพระองค์  ชาวอาหรับสมัยที่อายะฮ์นี้ถูกประทานมาย่อมรู้ความหมายของพระบัญชาดังกล่าวนี้ดีว่า หมายถึงอะไร  เพราะมิปรากฏว่ามีใครถามท่านนบีมุฮัมมัด   เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย

 
 “ พระองค์ตรัสว่า  แท้จริง  ข้าจะตั้งให้เจ้าเป็นผู้นำสำหรับมนุษย์”

   
            คือ อัลลอฮ์ จะแต่งตั้งให้นบีอิบรอฮีมให้เป็นรอซูลนำมนุษย์ไปสู่ทางอันเที่ยงตรง  โดยทำหน้าที่ชี้แจงแนะนำและประพฤติตนให้เป็นตัวอย่างอันดีงาม  ซึ่งเขาเหล่านั้นจะเชื่อฟังและเจริญรอยตามท่านต่อเนื่องกันไปจนกระทั่งถึงวันกิยามะฮ์  แล้วนบีอิบรอฮีมก็ทำการเชิญชวนมนุษย์ให้ศรัทธาต่ออัลลอฮ์ และให้เอกภาพแด่พระองค์  ตลอดจนเทิดพระองค์ไว้เหนือการตั้งภาคีใดๆทั้งสิ้น
  
          คำเชิญดังกล่าวนี้ยังคงถือปฏิบัติสืบต่อเนื่องกันตลอดมา ในหมู่ลูกหลานของท่านทั้งนี้เนื่องจากไม่เคยมีศาสนาใดที่ให้เอกภาพแด่อัลลอฮ์  พระองค์ได้ทรงกล่าวยืนยันว่า อิสลามนั้นเป็นแนวทางของท่านนบีอิบรอฮีม


“ ท่านกล่าวว่า  และจากลูกหลานของข้าพระองค์ด้วย”


          คือ นบีอิบรอฮีมได้วิงวอนต่ออัลลอฮ์ ให้ทรงแต่งตั้งลูกหลานของท่านให้เป็นรอซูลด้วย  ทั้งนี้เนื่องจากนบีอิบรอฮีมเป็นปุถุชนซึ่งตั้งอยู่บนวิถีทางแห่งธรรมชาติ  ก็ย่อมปรารถนาที่จะให้ลูกหลานของท่านได้รับความดีงามทั้งในร่างกาย สติปัญญา  และความประพฤติซึ่งมิใช่ของแปลกแต่ประการใด  เพราะมนุษย์ย่อมปรารถนาที่จะให้ลูกหลานของตนดีกว่ายิ่งๆขึ้นไปเสมอ

      
 “ พระองค์ตรัสว่า  สัญญาของข้าจะไม่ได้แก่บรรดาผู้อธรรม”

    
            คือ  อัลลอฮ์ ทรงสัญญากับนบีอิบรอฮีมว่า  พระองค์จะให้เป็นไปตามที่ท่านปรารถนา  ก็เฉพาะแต่ลูกหลานของท่านที่เป็นคนดีเท่านั้น  เพราะผู้อธรรมย่อมไม่เหมาะสมที่จะเป็นแบบอย่างแก่มนุษย์ด้วยประการทั้งปวง
      
          ในการกล่าวถึงความอธรรมซึ่งเป็นสิ่งขัดขวางการเป็นผู้นำหรือเป็นรอซูลนั้น  เพื่อต้องการให้ลูกหลานของนบีอิบรอฮีมระมัดระวังตัวและอบรมลูกๆของตนให้ห่างไกลจากความอธรรม  จะได้ไม่ตกอยู่ในสภาพที่ไม่เหมาะสมแก่ตำแหน่งอันสำคัญนี้  ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงส่งและประเสริฐยิ่ง  นอกจากนี้  ยังไม่ต้องการให้พวกเขาไปปะปนกับพวกอธรรมอีกด้วย
      
          สรุปแล้ว  การเป็นผู้นำหรือรอซูลนั้น  ผู้ทีมีจิตใจอธรรมมีความประพฤติไม่ดีงามย่อมไม่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าว  และไม่มีทางที่จะได้รับเกียรติให้ดำรงตำแหน่งนั้นได้ เพราะงานที่สำคัญยิ่งของผู้นำนั้นคือการขจัดความอธรรม  และการบ่อนทำลายให้หมดสิ้นไป  แต่ถ้าผู้มีอำนาจเป็นผู้อธรรมและทำการบ่อนทำลายเสียเองแล้ว  เขาย่อมไม่พึงปรารถนาที่จะจัดการตัวเองเป็นแน่


                                                                         

 คัดจาก วารสารสายสัมพันธ์ ( อัร-รอบิเฏาะฮ์ )