ดะค็อน...ความขมุกขมัว
  จำนวนคนเข้าชม  6762

“ดะค็อน” ความขมุกขมัว


ดร.อิสมาอีลลุตฟี จะปะกียา


         ให้เราได้พิจารณาความหมายของหะดีษอีกบทหนึ่งจากหุซัยฟะฮฺ บิน อัล-ยะมานที่ท่านได้บอกว่า คนอื่นๆ ได้ถามท่านศาสนทูต เกี่ยวกับสิ่งที่ดี แต่ฉันได้ถามท่านเกี่ยวกับสิ่งที่ชั่วร้ายเพราะกลัวว่ามันจะประสบกับตัวฉัน

ฉันได้ถามท่านว่า โอ้ ท่าน ศาสนทูต แท้จริงแล้ว แต่ก่อนนั้น พวกเราเคยอยู่ในยุคสมัยญาฮิลียะฮฺและความชั่วร้าย แล้วอัลลอฮฺก็นำความดีงามเหล่านี้มาให้เรา หลังจากยุคแห่งความดีงามของอิสลามนี้ยังจะมีความชั่วร้ายอีกหรือไม่?

ท่านศาสนทูต ตอบว่า “ใช่”

ฉันถามต่อไปว่า แล้วหลังจากความชั่วร้ายนั้นจะมีความดีงามอีกครั้งไหม?

ท่านตอบว่า “ใช่ แต่ทว่ามันปนกันกับรอยด่างขมุกขมัว(ดะค็อน)”

ฉันถามท่านว่า อะไรคือความขมุกขมัวที่ว่านั้น?

ท่านตอบว่า “คือกลุ่มคนที่เดินด้วยเส้นทางอื่นที่ไม่ใช่เส้นทางของฉัน และใช้แนวทางอื่นที่ไม่ใช่แนวทางของฉัน เจ้าจะยอมรับพฤติกรรมบางส่วนพวกเขา และจะปฏิเสธพฤติกรรมของพวกเขาอีกบางส่วน”

ฉันถามท่านต่อไปว่า แล้วหลังจากความดีงาม(ที่ขมุกขมัว) ดังกล่าวยังจะมีความชั่วร้ายอีกหรือไม่?

ท่านตอบว่า “ใช่ มีผู้ประกาศเชิญชวนที่ยืนอยู่ ณ ประตูนรก ใครที่ตอบรับพวกเขาก็จะถูกพวกเขาโยนลงสู่นรก”

ฉันกล่าวแก่ท่านว่า โอ้ ศาสนทูตลุลอฮฺ ได้โปรดอธิบายคุณลักษณะของพวกเขาแก่ฉันเถิด

ท่านตอบว่า “พวกเขาเป็นลูกหลานของเรา และพูดภาษาของเรา”

ฉันถามท่านต่อไปอีกว่า โอ้ ท่านศาสนทูต ท่านจะสั่งเสียอะไรแก่ฉัน ถ้าสมมติว่าสิ่งนั้นได้เกิดขึ้นมาทันก่อนที่ฉันจะตาย?

ท่านตอบว่า “เจ้าจงยึดมั่นอยู่กับกลุ่มญะมาอะฮฺของประชาชาติอิสลามและผู้นำของพวกเขา”

ฉันถามท่านว่า ถ้าไม่มีญะมาอะฮฺและไม่มีผู้นำเล่า?

ท่านตอบว่า “เจ้าจงปลีกตัวออกห่างจากกลุ่มต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมด แม้ว่าเจ้าจำเป็นจะต้องกัดกินรากไม้ก็ตาม กระทั่งความตายได้มาเยือนเจ้าก็ให้เจ้าจงยึดมั่นอยู่เช่นนั้นอย่าได้เปลี่ยนแปลง”

(อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 3606, มุสลิม หมายเลข 3434)


          ความหมายของคำว่า “ดะค็อน” หรือความขมุกขมัวดังกล่าว หมายถึงหัวใจที่เสียหายมีรอยด่างกับอิสลาม หรือหัวใจที่เคียดแค้น เป็นสิ่งที่สื่อว่า “ความดีงาม” ที่มาหลังจาก “ความชั่วร้าย” นั้นไม่ใช่ความดีงามของอิสลามที่บริสุทธิ์อีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่ถูกคละเคล้าด้วยความสกปรกไปเสียแล้ว มันไม่เหมือนความดีงามของอิสลามในยุคสมัยของท่านศาสนทูต ด้วยเหตุนี้เมื่อท่านนบี  ถูกถามเกี่ยวกับข้อเท็จจริงของ “ดะค็อน” ที่ว่า ท่านจึงตอบว่า

“คือกลุ่มคนที่เดินด้วยเส้นทางอื่นที่ไม่ใช่เส้นทางของฉัน และใช้แนวทางอื่นที่ไม่ใช่แนวทางของฉัน”

          นี่คือผลของ “ดะค็อน” ที่ก่อให้เกิดความเสียหายซึ่งมีอยู่ในหัวใจของพวกเขาเหล่านั้น จากนั้นท่านยังได้พูดต่อไปว่า เจ้าจะยอมรับพฤติกรรมบางส่วนพวกเขา และจะปฏิเสธพฤติกรรมของพวกเขาอีกบางส่วน” หมายความว่า เจ้าจะยอมรับพฤติกรรมบางส่วนพวกเขา และจะปฏิเสธพฤติกรรมอีกบางส่วน ทั้งนี้เพราะในหมู่คนเหล่านั้นมีทั้งคนที่ยึดถือกับ สุนนะฮฺและความยุติธรรม และมีทั้งคนที่เรียกร้องไปสู่บิดอะฮฺและการข่มเหงรังแกโดยอธรรม

        เรื่องดังกล่าวนี้ได้เคยเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่สมัยเศาะหาบะฮฺ เราะฎิยัลลอฮุอันฮุม เช่นในสมัยของมุอาวียะฮฺและการปกครองหลังจากนั้นเรื่อยมา ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกที่เหตุการณ์เยี่ยงเดียวกันนั้นจะมีให้เห็นในยุคสมัยของเราด้วย


         อย่างไรก็ดี แม้ว่าสภาพของประชาชาติจะมีทั้งผู้ที่ยึดมั่นในสุนนะฮฺของท่านศาสนทูต  และผู้ที่ชื่นชอบกับบิดอะฮฺ แต่ก็ยังถือว่ายังเป็นประชาชาติแห่ง “ความดีงาม” แต่อาจจะคละเคล้ากับ “ความขมุกขมัว” คือ ดีแต่ไม่ค่อยผ่องใส หรือดีแต่ไม่เต็มเปี่ยมเหมือนเดิม นี่คือการบอกเล่าของจากหะดีษของท่านนบี  ดังกล่าวผ่านการอธิบายของอุละมาอ์ด้านหะดีษ วัลลอฮุอะอฺลัม

         เพราะหลังจากนั้น จะไม่มียุคแห่งความดีที่ว่าแล้ว แต่จะมียุคแห่ง “ความชั่วร้าย” ในรูปของ “ผู้ป่าวประกาศเชิญชวนที่ยืนอยู่ ณ ประตูนรก” นั่นคือกลุ่มชนทุกกลุ่มที่เรียกร้องเชิญชวนผู้คนทั้งหลายให้ทำผิดประหนึ่งกำลังยืนอยู่บนบานประตูของนรกญะฮันนัม ซึ่งพวกเขาก็เป็นลูกหลานจากเชื้อสายที่ได้ชื่อว่าเป็นมุสลิมด้วยกันนี่เอง “พวกเขาเป็นลูกหลานของเรา และพูดภาษาของเรา” หมายถึงเป็นลูกหลานเชื้อสายอาหรับและพูดภาษาอาหรับ

         กลุ่มที่ว่านี้มีทัศนะจากอุละมาอ์หะดีษบางท่านอธิบายว่าคือกลุ่มเคาะวาริจญ์และกลุ่มอื่นๆ เยี่ยงเดียวกันที่ชอบยึดอำนาจการปกครอง จนกระทั่งพวกเขาหลุดออกไปจากสัจธรรมแห่งอิสลามเสียเอง นี่คือความหมายของ “ผู้ป่าวประกาศเชิญชวนที่ยืนอยู่ ณ ประตูนรก” ตามความเห็นของอุละมาอ์หะดีษ วัลลอฮุอะอฺลัม


         ท่ามกลางสภาพที่มี “ผู้ป่าวประกาศเชิญชวนที่ยืนอยู่ ณ ประตูนรก” ซึ่งจะนำมนุษย์ไปสู่ปากเหวแห่งนรกนั้น ท่านศาสนทูต   ได้มีคำสั่งให้มุสลิมทุกคนยึดมั่นอยู่กับกลุ่มญะมาอะฮฺของเหล่าชาวมุสลิมและผู้นำของพวกเขา แม้ว่ากลุ่มดังกล่าวจะมีความอ่อนแอหรือผู้นำไม่มีความยุติธรรมในการปกครอง ขอเพียงแค่ว่าพวกเขารวมตัวกันบนฐานแห่งการเชื่อฟังต่อเคาะลีฟะฮฺ หรืออะมีรฺ หรืออิมาม หรือชื่ออะไรก็ตามแต่ที่ถูกเรียกผู้นำกลุ่มในยุคสมัยนั้นๆ ซึ่งผู้นำที่ว่ายังคงอยู่ในกรอบของ “ประชาชาติเดียวกัน” หมายถึงว่าโดยผิวเผินแล้วยังทำการอิบาะอฺและมีความยำเกรงต่ออัลลอฮฺอยู่ แม้ว่าจะคละเคล้าปะปนกับบิดอะฮฺและคุเราะฟาตบ้าง ซึ่งอุละมาอ์หลายคนได้ผูกโยงความหมายของญะมาอะฮฺจากหะดีษนี้เข้ากับคำว่า “ญะมาอะฮฺ” ในหะดีษที่กล่าวถึงความแตกแยกของประชาชาติดังที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว

อบู ญะอฺฟัรฺ อัฏ-เฏาะบะรีย์ ได้กล่าว

“ที่ถูกต้องก็คือ ความหมายของคำว่า “ความดีงาม” ในหะดีษนั้น หมายถึงการยึดมั่นอยู่กับญะมาอะฮฺที่เชื่อฟังผู้นำที่พวกเขาเห็นพ้องกันยกให้เขาเป็นผู้นำ ดังนั้น ใครก็ตามที่คัดค้านและทำลายสัตยาบันที่ให้ไว้เขาก็คือผู้ที่หลุดออกไปจากญะมาอะฮฺ”

และนี่คือข้อเท็จจริงของคำว่า “ประชาชาติเดียวกัน” วัลลอฮุ อะอฺลัม


อัฏ-เฏาะบะรีย์ ยังได้กล่าวเสริมว่า

“ในหะดีษนี้สื่อว่า เมื่อใดก็ตามที่มวลชนไม่มีผู้นำที่เหมาะสม เป็นเหตุให้พวกเขาแตกออกเป็นพรรคเป็นพวกมากมาย ดังนั้นก็อย่าได้ตามกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่แตกแยกนี้ แต่จงปลีกตัวออกห่างจากกลุ่มต่างๆ เหล่านั้นถ้าหากเขาทำได้ เพราะเกรงว่าอาจจะต้องตกเข้าไปสู่ความชั่วร้ายได้ถ้าหากว่าเข้าไปพัวพันกับกลุ่มหนึ่งกลุ่มใด”

เว้นแต่ว่า ถ้าไม่สามารถทำได้เช่นนั้น ก็อาจจะอนุโลมให้เข้าไปเกี่ยวข้องได้พร้อมกับต้องระมัดระวังต่อความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายได้ วัลลอฮุอะอฺลัม

อิบนุ หะญัรฺ อัล-อัสเกาะลานีย์ ได้กล่าวว่า

“จากหะดีษนี้ได้บทเรียนว่า เป็นการตำหนิและประนามผู้ที่คิดหลักการอื่นที่ค้านกับอัลกุรอานและสุนนะฮฺ และทำให้อัลกุรอานและสุนนะฮฺเป็นเพียงแค่สาขาที่แตกออกมาจากหลักการที่ตนคิดค้นอุตริขึ้นมา


         มาเถิด มาร่วมกันพยายามนำตัวเองและกลุ่มต่างๆ แต่ละกลุ่ม สู่การสร้างผู้นำและญะมาอะฮฺ พร้อมกับให้มีการหันหน้าเข้าหากันระหว่างกลุ่มต่างๆ ทั้งหมด เพื่อให้เกิด “ประชาชาติหนึ่งเดียวกัน” ( مَّةُٗأ وَٰحِدَةٗ - อุมมะตัน วาหิดะฮฺ)  ท่ามกลางกระแสคลื่นความด่างพร้อยของหัวใจ การกระทำบิดอะฮฺ และพฤติกรรมแบบญาฮิลียะฮฺที่พยายามต่อต้านอิสลามอันแท้จริงไม่ให้เป็นวิถีชีวิตของเรา ซึ่งเป็นพฤติกรรมในหมู่คนของเราเอง ด้วยความอดทนที่เต็มเปี่ยมและตระหนักถึงคุณค่าของอิสลามที่กำลังถูกลดทอนลงไปอย่างมากในยุคหลังๆ นี้ วัลอิยาซุ บิลลาอฮฺ มิน ซาลิก

จงฟังคำสั่งเสียของท่านศาสนทูต  ที่ว่า

“ประชาชาติที่ดีที่สุดของฉันคือคนในยุคสมัยฉัน จากนั้นก็คือคนยุคถัดไปแล้วก็คนยุคถัดไปจากพวกเขา”

(อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 2458, มุสลิม หมายเลข 4601)

ท่านศาสนทูต ได้กล่าวว่า

“คนที่ดีสุดคือคนในยุคสมัยของฉัน แล้วก็คนที่ในยุคถัดไป จากนั้นก็คือ คนในยุคถัดไปอีก

แล้วจะมีกลุ่มหนึ่งมา เป็นกลุ่มที่บางครั้งก็ปฏิญาณตนก่อนที่จะสาบาน หรือบางครั้งก็สาบานก่อนที่จะปฏิญาณ

(เป็นการเปรียบเปรยถึงสถาพความบกพร่องและความไร้จริยธรรมที่เกิดขึ้นกับพวกเขา)”

 

 (อัล-บุคอรีย์ หมายเลข 3650, มุสลิม หมายเลข 6632)

แปลโดย : อุษมาน อิดรีส, ซุฟอัม อุษมาน

ที่มา : มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา