ความเสมอภาคระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในศาสนาอิสลาม
  จำนวนคนเข้าชม  11419

ความเสมอภาคระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในศาสนาอิสลาม


ฟัตวา เชค อุซัยมีน


คำถาม

ศาสนาอิสลามมีความเข้าใจอย่างไรเกี่ยวกับความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง?

และการที่ผู้หญิงทำงานร่วมกับผู้ชายในรูปลักษณ์และบรรยากาศที่อาจนำพาไปสู่เรื่องเสื่อมเสียนั้น สอดคล้องต่อความเข้าใจดังกล่าวหรือไม่?

         ถ้าใช่จริง ก็อยากทราบว่าความหมายของดำรัสของอัลลอฮฺที่ว่า "และพวกเธอจงประจำอยู่ในบ้านของพวกเธอและอย่าได้แสดงตนประเจิดประเจ้อเยี่ยงการประเจิดประเจ้อของพวกญาฮิลียะฮฺ" อัลอะฮซ้าบ/33 คืออะไร?

         และคำสั่งที่ได้มีการสัมทับไว้ในอายะฮฺข้างต้น เป็นคำสั่งที่สั่งเฉพาะต่อบรรดาภรรยาของท่านร่อซูล  เท่านั้น หรือเป็นคำสั่งที่หมายรวมถึงบรรดาภรรยาของมุสลิมคนอื่นหรือบรรดามุสลิมะคนอื่นๆทั้งหมด นับตั้งแต่ช่วงเวลานั้นเป็นต้นไปจนถึงวันกิยามะฮฺ ด้วยกันแน่?


มวลการสรรเสริญเป็นสิทธิ์ของอัลลอฮ์


คำตอบ

          เรายังคงได้รับคำถามเกี่ยวกับเรื่องความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกันอยู่เรื่อยๆ และรู้สึกดีที่จะพูดว่า จริงๆ แล้วความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกันไม่ใช่เรื่องที่ถูกสั่งใช้ไว้ในอัลกุรอานหรืออัซซุนนะฮฺ เลย แต่สิ่งที่อัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺสั่งหรือสัมทับไว้คือ ”ความยุติธรรม” ต่างหาก อัลลอฮฺ ตรัสความว่า

 

"แน่นอน อัลลอฮฺได้ทรงสั่งใช้ให้มีความยุติธรรม และทำดี ตลอดจนการรักษาสิทธิของผู้เป็นญาติ"

( อันนะฮฺล์/90)

ท่านนบี  กล่าวว่า “และพวกท่านจงยำเกรงต่ออัลลอฮฺและจงมีความเป็นธรรมระหว่างลูกๆของท่านเถิด”

และได้กล่าวอีกว่า “ใครที่มีภรรยาสองคน แล้วเกิดมีความลำเอียงไปทางฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ในวันกิยามะฮฺเขาผู้นั้นจะมาในสภาพที่ลำตัวคดเอียง”

 

         จากที่กล่าวมานี้ ผู้ที่พอจะมีเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการสื่อความหมายของคำที่ถูกเลือกใช้ในประโยค ก็จะไม่สงสัยเลยว่า ระหว่างคำว่ายุติธรรมกับคำว่าเท่าเทียมนั้น มีความแตกต่างกันมาก เนื่องจากคำว่า เท่าเทียมหรือเสมอภาคตามรูปลักษณ์ภายนอก หมายถึง การทำให้ของที่ไม่เหมือนกันหรือแตกต่างกัน กลายเป็นของที่เท่ากันและไม่ต่างกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับสติปัญญาและตัวบท ซึ่งจะต่างกับคำว่า ยุติธรรม


         เนื่องจาก ความยุติธรรม หรือ เป็นธรรม หมายถึง การให้ผู้ที่มีสิทธิ์ ได้รับตามสิทธิ์ที่ตนควรได้ และกำหนดให้แต่ละคนได้ตามฐานะที่เหมาะสมกับตน ซึ่งการจัดสรรในลักษณะนี้ เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับทั้งหลักเกณฑ์ทางด้านสติปัญญาและตัวบทของศาสนบัญญัติ ด้วยเหตุนี้เอง จึงไม่ปรากฏคำสั่งใดๆเลยในอัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺ ที่สั่งเกี่ยวกับเรื่องความเสมอภาคระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง หากแต่คำสั่งที่ปรากฏนั้น จะสั่งเกี่ยวกับเรื่องของความเป็นธรรม

         จริงๆแล้วควรให้บรรดานักเขียนตลอดจนบรรดานักวิชาการมาใช้คำว่า “ความเป็นธรรมหรือความยุติธรรม” ดีกว่าที่จะใช้คำว่า “ความเสมอภาคหรือเท่าเทียมกัน” ทั้งนี้เนื่องจากในคำว่า ความเสมอภาค มีความหมายค่อนข้างกว้างหรือกำกวมเกินไป ซึ่งอาจก่อให้เกิดข้อเคืลอบแคลงขึ้นได้ ต่างกับคำว่า ความเป็นธรรม ที่เป็นคำที่มีความหมายชัดเจนในตัว และเป็นคำที่สามารถสื่อความหมายได้ตรงตามจุดประสงค์ของคำ อันหมายถึง การทำให้ผู้ที่มีสิทธิ์ทุกคน ได้รับตามสิทธิ์ที่ตนมี


          และหากท่านได้ลองพิจรณาอัลกุรอ่านดู ท่านจะพบว่า จริงๆแล้วข้อความส่วนใหญ่ในอัลกุรอ่านจะพูดไปในเชิงปฏิเสธความเท่าเทียมหรือความเสมอภาคในรูปลักษณ์ที่เรากำลังพูดถึงกันอยู่นี้ ดังเช่น

 "..คนที่บริจาคก่อนการพิชิตและร่วมต่อสู้ในหมู่พวกเจ้า ย่อมไม่เท่าเทียมหรอก คนเหล่านี้ย่อมมีฐานะที่เหนือกว่าบรรดาคนที่บริจาคและร่วมต่อสู้หลังจากการพิชิต.."

( อัลฮะดีด /10)

"ระหว่างพวกที่ไม่ได้ออกรบโดยไม่มีอุปสรรค์ จากบรรดผู้ศรัทธานั้น ย่อมไม่เท่าเทียมกับบรรดาผู้ทำญิฮาด ด้วยทรัพย์สินและร่างกายของพวกเขา "

(อันนิสาอฺ/95)

".จงกล่าวเถิดว่า ระหว่างคนตาบอดกับคนตาดีนั้นเท่าเทียมกันหรือไม่ หรือระหว่างความมืดกับความสว่างไสวนั้น เท่าเทียมกันหรือ."

(อัรเราะดฺ/16)

         และยังมีอายะฮฺอัลกุรอ่านอีกจำนวนมากที่กล่าวในทำนองนี้ ซึ่งล้วนแล้วแต่ปฏิเสธความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมทั้งสิ้น และเราก็ไม่ทราบและไม่รู้จักเลยว่า ในอัลกุรอ่านและอัซซุนนะฮฺมีหลักฐานที่สัมทับให้มีความเท่าเทียมกันอยู่ด้วย ดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงเป็นเช่นนี้ การสร้างความเป็นธรรมให้แก่ผู้หญิง ต้องหมายถึง การมอบหมายหน้าที่ ที่เหมาะสมกับข้อจำกัดในความเป็นผู้หญิงแก่พวกเธอ และมอบหมายหน้าที่แก่ผู้ชายให้เหมาะสมกับความเป็นชายเช่นกัน


         ส่วนการให้ผู้ชายกับผู้หญิงเข้ามาร่วมงานหรือมีส่วนร่วมในหน้าที่เดียวกัน ซึ่งเป็นชนิดงานที่ต้องมีการปะปนกัน มีการพูดคุยกันหรือมองกัน ตลอดจนมีพฤติกรรมอื่นที่เป็นไปในทางที่ไม่เหมาะสมเกิดขึ้น ก็คงไม่ต้องสงสัยเลยว่า งานชนิดนี้ถือเป็นงานที่ขัดกับบทบัญญัติของอิสสลาม ที่ถูกกำหนดไว้ในคัมภีร์ของอัลลอฮฺและในแบบอย่างของท่านรอซูล เพราะในคัมภีร์ของอัลลอฮฺ  พระองค์ได้ทรงกล่าวไว้ในอายะฮฺที่ผู้ตั้งคำถามได้กล่าวถึง ว่า

"และพวกเธอจงประจำอยู่ในบ้านของพวกเธอและอย่าได้แสดงตนประเจิดประเจ้อเยี่ยงการประเจิดประเจ้อของพวกญาฮิลียะฮฺยุคแรก"

( อัลอะฮซาบ/33)

 และพระองค์ก็ได้ทรงกล่าวอีกว่า

"และเมื่อพวกท่านต้องการขอสัมภาระใดจากพวกนาง ก็จงขอจากพวกนางข้างหลังสิ่งปิดกั้น

การกระทำดังกล่าวเป็นความสะอาดที่สุดต่อหัวใจของพวกท่านและต่อหัวใจของพวกนาง"

( อัลอะฮฺซาบ/53)


           ดังนั้นถ้าหากผู้ชายมีธุระต้องพูดคุยกับผู้หญิง เขาจะพูดคุยกับนางก็ต่อเมื่อเขาอยู่ข้างหลังสิ่งปิดกั้นเท่านั้น แล้วจะเป็นอย่างไรกับการพูดคุยกันโดยไม่ได้มีธุระหรือความจำเป็นใดๆเลย ส่วนคำกล่าวของพระองค์ที่ว่า

 "การกระทำดังกล่าวเป็นความสะอาดที่สุดต่อหัวใจของพวกท่านและต่อหัวใจของพวกนาง"

 

         บ่งบอกให้ทราบว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการกระทำหรือพฤติกรรมที่ขัดต่อสิ่งที่ได้มีการกำชับเอาไว้ เมื่อนั้นก็จะมีการเติมสิ่งสกปรกลงไปในหัวใจ และเป็นการลบภาพความขาวสะอาดของหัวใจให้หมดไปในที่สุด เป็นที่ทราบกันดีว่าในเมื่อการกระทำตามบัญญัติที่กล่าวมา เป็นความสะอาดที่สุดต่อหัวใจของบรรดาอุมมะฮาตุลมุอฺมินีน (มารดาของบรรดาผู้ศรัทธา) ดังนั้นกับคนอื่นๆย่อมคู่ควรต่อการชำระล้างหัวใจและออกห่างจากสิ่งที่จะคอยสร้างความโสโครกให้หัวใจ ยิ่งกว่าอย่างแน่นอน

         จากหลักฐานต่างๆ จึงบอกได้ว่า อัลกุรอ่านได้ชี้แนะให้ผู้หญิงพยามอยู่ห่างจากผู้ชายไว้ แต่ถ้าเกิดมีธุระหรือมีความจำเป็นจะต้องมีการพูดคุยกันเกิดขึ้น ก็ให้เขาคุยกับนางโดยที่เขาอยู่ข้างหลังสิ่งปิดกั้น ส่วนในอัซซุนะฮฺ ท่านนบี   ได้กล่าวไว้เกี่ยวกับเรื่องการละหมาดว่า

“แถวที่ดีที่สุดของผู้ชายก็คือแถวแรก ส่วนที่แย่ที่สุดก็คือแถวสุดท้าย และแถวที่ดีที่สุดของผู้หญิงก็คือแถวสุดท้าย ส่วนที่แย่ที่สุดก็คือแถวแรก”

(อบูฮุรอยเราะฮฺ / มุสลิม )

ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ผู้หญิงออกห่างจากผู้ชายให้ได้มากที่สุดแม้กระทั้งในสถานที่ประกอบอิบาดะฮฺ

 


อาบีดีณ โยธาสมุทร แปลและเรียบเรียง