บุคคลที่จะนำพาสังคมสู่การพัฒนา
  จำนวนคนเข้าชม  9094

 

 

บุคคลที่จะนำพาสังคมสู่การพัฒนา


อาจารย์ มุญาฮิด ลาตีฟี


         พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลาย จงมีความตั้งมั่นยำเกรงต่ออัลเลาะห์ อย่างแท้จริง ด้วยการประพฤติปฏิบัติตาม ในสิ่งที่พระองค์ทรงใช้ ละเว้น ห่างไกล จากสิ่งที่พระองค์ทรงห้าม

          พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย คุตบะห์ในวันนี้ จะกล่าวในเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด ในฐานะผู้ศรัทธา กับหน้าที่ที่เราจะต้องนำมาปฏิบัติ สำหรับตัวเรา และเป็นสิ่งที่เราจะนำไปปฏิบัติกับพี่น้องของเรา นั่นคือสิ่งที่ก่อให้เกิดสายสัมพันธ์ การปฏิสัมพันธ์ การอยู่ร่วมกัน ในฐานะที่เป็นพี่น้องร่วมศาสนาเดียวกัน เป็นพี่น้องร่วมสายเลือด หรืออาจจะเป็นพี่น้องร่วมหลักการที่ศาสนาได้กำหนดไว้ว่าบุคคลนั้นเป็นพี่น้องของเรา คือบุคคลที่ยังไม่ได้เข้ารับนับถือศาสนาอิสลาม เขาก็คือพี่น้องของเราเหมือนกัน แต่สิ่งนี้มันเป็นสิ่งที่ขาดหาย เป็นสิ่งที่น้อยคนนักที่จะให้ความสำคัญ

อัลเลาะห์ ได้ทรงกล่าวเอาไว้   ใน ซูเราะห์ตุ้ลอันฟาล อายะห์ที่ 1 ว่า

“พวกเจ้าจงยำเกรง อัลเลาะห์ เถิด จงเชื่อมไมตรีต่อกัน ระหว่างพวกเจ้า (ในทางศาสนา ให้มีความรักใคร่ต่อกัน และงดเว้นการพิพาทระหว่างกันเอง)


ท่านนบี ได้กล่าวกับท่านอบูอัยยูบว่า : เอาหรือไม่ที่ฉันจะชี้แนะให้กับท่าน ถึงการกระทำหนึ่งที่อัลเลาะห์และศาสนทูตแห่งอัลเลาะห์ ทรงพอใจกิจการนั้น

ท่านอบูอัยยูบได้กล่าวว่า : หาเป็นเช่นนั้นไม่ โอ้ ศาสนทูตแห่งอัลเลาะห์

 ท่านนบี  ได้กล่าวว่า  :   صِلْ بَيْنَ النَّاسِ إِذَا تَفَاسَدُوْا (سَائَتِ اْلعَلاَقَاتُ بَيْنَهُمْ) وَقَرِّبْ بَيْنَهُمْ إِذَا تَبَاعَدُوْا

“ท่านจงเชื่อมสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์ เมื่อความสัมพันธ์ของมนุษย์เกิดขาดสะบั้นลง (ในสภาวะที่มีการพิพาท ทะเลาะเบาะแว้งในเรื่องหนึ่งเรื่องใด)

และท่านจงทำให้เขามีความใกล้ชิดกัน เมื่อเขาต่างได้ออกห่างจากกัน”


         พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย หลักการอิสลาม คือหลักการที่สูงส่ง เป็นหลักการที่เพียบพร้อม เต็มเปี่ยมไปด้วยความบริบูรณ์ ความสมบูรณ์ หาสิ่งใดที่จะก่อให้เกิดความบกพร่องแม้แต่เพียงสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็หามิได้  แต่กับบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ที่อาจจะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่อาจจะคลาดเคลื่อนต่อหลักธรรมคำสอนของอิสลาม เมื่อเขาได้รับในสิ่งซึ่งทรงคุณค่ายิ่งต่อการดำรงชีวิตอยู่ในโลกดุนยานี้ นั่นก็คือ ความรู้

          ไม่มีสิ่งใด อะไร ที่จะมีค่ายิ่งไปกว่าความรู้ซึ่งที่จะให้ก่อประโยชน์ต่อการศรัทธามั่นต่อ อัลเลาะห์  ความรู้จะทำให้ความรู้สึกของบุคคลนั้น มีความใฝ่หา อาคีเราะห์ ความรู้ซึ่งทำให้บุคคลนั้นเห็นดุนยาเป็นสิ่งที่ด้อยค่า


        พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย การประนีประนอม การออมชอม โดยบุคคลหนึ่งเป็นสื่อกลาง ต่อการที่จะไกล่เกลี่ยพิพาทความขัดแย้งที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง ที่จะต้องนำมาเป็นลักษณะของผู้ที่จะเป็นมุมินผู้ศรัทธามั่นต่อ อัลเลาะห์ และหลักการของอัลอิสลาม เพราะฉะนั้นการโกหกเป็นสิ่งที่ต้องห้าม แต่ในกรณีของการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ในฐานะที่เราเป็นสื่อกลางของคนที่มีความขัดแย้งกันนั้น ศาสนาอนุญาตให้กระทำการโกหกเพื่อให้ทั้งสองนั้นกลับมามีความรักความเอื้ออาทรความแน่นแฟ้นเหมือนเดิม

         พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย สิ่งสำคัญต่อการดำรงชีวิตของเราในดุนยานี้ ทุกสิ่งทุกอย่างนั้นเกิดจากเหตุ ปัจจัยซึ่งที่เราก่อให้เกิดสิ่งนั้น บุคคลสองกลุ่ม ถ้าหากบุคคลสองกลุ่มนี้ มีความเข้าใจในหลักการของอัลอิสลามแล้ว إن شاء الله สังคมนั้นก็จะได้รับ สิ่งซึ่งที่จะก่อให้เกิดความเจริญทั้งในด้านนามธรรม และในด้านรูปธรรม บุคคลกลุ่มแรกก็คือนักการศาสนา บุคคลกลุ่มที่สองก็คือนักการเมือง ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการที่จะนำพาสังคมสู่การพัฒนา หรือการถดถอย ปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาสังคมนั้น ด้วยกับความรู้ของปวงปราชญ์ ด้วยกับความยุติธรรมของผู้ปกครอง ด้วยกับความใจบุญของคนรวย และด้วยกับการขอดุอาอฺของคนจน สังคมใด ชุมชนใด ได้รับองค์ประกอบทั้งสี่อย่างนี้ ความเจริญก็จะติดตามมา

          แต่เมื่อใดก็ตามที่บุคคลสองกลุ่มแรก ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่สำคัญยิ่ง มีบทบาทต่อสถานะในสังคมมุสลิมในทุกๆระดับ ขาดซึ่งความเข้าใจหลักธรรมคำสอนในศาสนาอิสลามแล้ว เราจงรอคอยความหายนะ ความวิบัติที่จะเกิดขึ้นในสังคมนั้น

 ท่านอิหม่ามนาวาวี رحمه الله ได้กล่าวไว้ในหนังสืออัลอัซก้าร الأذكار ความว่า

          “สำหรับผู้รู้ ครูบาอาจารย์ กอฏี มุฟตี ผู้ที่ให้การอบรมเลี้ยงดู และบุคคลอื่น ๆ จากบุคคลที่เป็นแบบอย่าง สุนัตสำหรับเขาจะต้องออกห่างจากพฤติกรรมการกระทำ คำพูด ซึ่งที่ปรากฏเป็นประจักษ์ให้เห็นจากภายนอกนั้นเป็นสิ่งที่ขัดแย้งจากสิ่งที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าบุคคลนั้นจะปฏิบัติในสิ่งที่ถูกก็ตาม เพราะว่าการปฏิบัติในสิ่งดังกล่าวนั้น ผลเสียมันจะติดตามมา”

 

          สิ่งที่เราได้รับฟัง จากสื่อสารมวลชนในสังคมมุสลิมทุกหัวระแหง ถ้าเราจะสังเกตถึงสิ่งที่ผู้รู้นำเสนอให้กับสังคมได้รับรู้ คือสิ่งที่ก่อให้เกิดความพิพาท ขัดแย้ง ไม่ลงรอย ในสังคม นั่นคือประเด็นปัญหาที่มันก่อให้เกิดความระคายเคืองในความรู้สึกแห่งการเป็นพี่น้อง จำเป็นด้วยหรือที่การนำเสนอนั้นจะต้องเป็นประเด็นที่ต้องก่อให้เกิดความขัดแย้ง มีอะไรแอบแฝงอยู่เบื้องหลังการกระทำ บุคคลซึ่งที่จะได้รับผลจากการที่ได้ปฏิบัติของปวงปราชญ์นี้ คือบุคคลที่เป็นบุคคลสาธารณะ เขาไม่ได้มีความรู้ถึงระดับที่มีความสามารถวินิจฉัย ประเด็นปัญหาต่างๆนั้นได้

เพราะฉะนั้นท่านนบีมุฮัมมัด  ได้เตือนกับเราไว้แล้วว่า

وَيْلٌ لِأُمَّتِيْ مِنْ عُلَمَاءِ السُّوْءِ

“ความวิบัติ ความหายนะ กับประชาชาติของฉันนั้น เกิดจากน้ำมือของปวงปราชญ์ซึ่งที่ชั่ว”

         วัลอิยาซุบิลลาฮฺ  والعياذ بالله تعالى พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย สิ่งใด อะไร ที่บุคคลสองกลุ่มนี้ได้กระทำ ทั้งนักการศาสนาและนักการเมือง แน่นอนที่สุดทั้งนักการศาสนาและนักการเมืองนั้น ไม่ใช่สิ่งที่ต้องแยกออกจากกัน ต้องเป็นเนื้อเดียวกัน นักการเมืองที่เป็นมุสลิม จะต้องมีความเข้าใจในอัลอิสลาม ต้องทำความเข้าใจ ต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ ต้องปฏิบัติในสิ่งที่ตนได้รับ อมานะฮฺ ต่อการที่จะต้องดูแล สิ่งที่เป็นรูปธรรมในสังคม ในการพัฒนา ในการเยียวยา ในสิ่งต่างๆที่ตนจะต้องรับผิดชอบ ขอบข่ายหน้าที่ของตนมีเท่าใด ปฏิบัติแค่นั้น นั่นคือหลักปฏิบัติของอิสลาม

قَالَ النَّبِيُّ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ رَحِمَ اللهُ مَنْ عَرَفَ قَدْرَ نَفْسِهِ

“อัลเลาะห์ จะทรงเมตตากับบุคคลซึ่งที่มีการประมาณตน รู้ขีดความสามารถประมาณตน ว่าสามารถจะปฏิบัติ ได้ หรือ ไม่ได้”


          พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย สิ่งหนึ่งจำเป็นสำหรับบุคคลสองกลุ่ม คือการชี้แจงในสิ่งที่ตนกระทำ

         ครั้งหนึ่งที่ท่านหญิงซอฟียะห์ ภรรยาของท่านท่านนบีมุฮัมมัด  ได้มาหาท่านนบี ที่มัสยิดในช่วงเวลากลางคืน มีซอฮาบะฮฺท่านหนึ่งเดินผ่านมาเห็นท่านนบีมุฮัมมัด  คุยกับสตรีนางหนึ่งในที่มืด ซึ่งซอฮาบะห์ท่านนี้ไม่ทราบว่าหญิงผู้นั้นเป็นภรรยาท่านท่านนบีมุฮัมมัด เขาจึงมองในแง่ร้ายกับท่านนบีมุฮัมมัด  

ท่านนบี จึงเรียกและกล่าวกับซอฮาบะฮฺท่านนั้นว่า :  إِنَّهَاصَفْيَّةٌ (لَيْسَتْ إِمْرَأَةً أَجْنَبِيَّةً)       “นางคือภรรยาของฉัน ไม่ใช่หญิงอื่นหรอก”

และอธิบายให้ซอฮาบะฮฺท่านนั้นว่า : “ ไชตอนนั้นจะดำเนินอยู่ในเส้นเลือดของมนุษย์ ซึ่งบางทีมันอาจจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิด”

         นั่นคือการชี้แจง ในสิ่งที่อาจจะก่อให้เกิด ฟิตนะฮฺ คำพูดที่อาจนำมาซึ่งผลร้าย บางครั้งร้ายยิ่งกว่าฆ่ากันเสียอีก

        

 มีอีกครั้งหนึ่ง ท่านอาลีย์ ได้ดื่มน้ำในสภาพกำลังยืน บรรดาซอฮาบะหฺก็เห็น ที่ท่านอาลีย์ได้กระทำ คือ ยืนดื่มน้ำ ท่านไซยิดินาอาลีย์ ได้กล่าวว่า

رَأَيْتُ رَسُوْلَ اللهِ صَلَّى اللهُ عَلَيْهِ وَسَلَّمَ فَعَلَ كَمَا رَأَيْتُمُوْنِيْ فَعَلْتُ

“ฉันเคยเห็นท่านนบีมุฮัมมัด กระทำเสมือนสิ่งซึ่งที่พวกท่านได้เห็นฉันกระทำ”


          พี่น้องศรัทธาชนที่เคารพรักทั้งหลาย การกระทำ คำพูด การปฏิบัติ กับบุคคลสองกลุ่มนี้ มีผลอย่างยิ่งกับสังคม เมื่อใดก็ตามที่บุคคลสองกลุ่มนี้ประคับประคองตน ให้อยู่ในแนวทางของอัลอิสลามมากเท่าใด จะเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงการพัฒนาของสังคมหรือชุมชนนั้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่การพิพาท ความขัดแย้ง มันได้เกิดขึ้นแล้ว ผลลัพธ์ของมันคือ สิ่งที่อัลเลาะห์  ได้ทรงกล่าวเอาไว้ในซูเราะห์ตุ้ลอันฟาล  อายะห์ที่ 46 ว่า

قَالَ اللهُ تَعَالَى وَلاَتَنَازَعُوْا فَتَفْشَلُوْا وَتَذْهَبَ رِيْحُكُمْ

“พวกท่านทั้งหลาย อย่าได้ขัดแย้งกัน เพื่อพวกเจ้าจะได้ไม่ขลาดกลัวผู้ปฏิเสธ และเพื่อขวัญกำลังใจของพวกเจ้าจะได้ไม่หนีหายไป”

 

         ในช่วงท้ายนี้ ขอเราได้ขจัดข้อพิพาท ความขัดแย้ง ในส่วนตัวครอบครัว เพื่อนบ้าน ชุมชน สังคมทุกๆระดับ ให้พ้นจากตัวเรา ให้พ้นจากสังคมของเรา ให้พ้นจากมาตุภูมิถิ่นเกิดของเรา ก่อนที่ลมหายใจสุดท้ายแห่งชีวิตจะมาเยือน

 

 


คุตบะห์วันศุกร์ ณ มัสยิดท่าอิฐ